ห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษา โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นหนึ่งในหน่วยงานของโรงพยาบาลรัฐที่มีการดูแลและรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งกาย จิต และสังคม รวมถึงการให้บริการแบบ one stop service ที่สามารถเอาชนะใจผู้รับบริการจนได้คะแนนประเมินสูงถึง 99 คะแนน จาก 100 คะแนน ทำไมห้องแห่งนี้ จึงครองใจผู้รับบริการขนาดนี้ พี่เอ-พิพัฒนานนท์ ทารี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยนอกอายุรกรรม และหัวหน้าห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษา จะมาเปิดหัวใจของห้องตรวจแห่งนี้ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวให้พวกเราฟังกัน
จากคลินิกกำลังใจ สู่ห้องตรวจ 502
ห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษานั้น ได้เปิดให้บริการและคำปรึกษาด้าน HIV มายาวนานกว่า 13 ปีแล้ว มีการปรับเปลี่ยนชื่อและโยกย้ายสถานที่มาไม่น้อย จนปัจจุบันตั้งอยู่ ณ อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 5 ของโรงพยาบาลเลิดสิน จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงคนไข้กลุ่มเล็กๆ แต่ได้รับความไว้วางใจจากผู้รับบริการด้วยการตรวจรักษาที่ได้มาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันห้องตรวจนี้มีคนไข้ในการดูแลทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติกว่า 3,800 คน เรียกได้ว่า หากนึกถึงโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการและคำปรึกษาด้าน HIV ก็จะนึกถึงที่นี่เป็นแห่งแรก
“ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่าคลินิกกำลังใจ แต่เปลี่ยนเพราะชื่อค่อนข้างเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดการตีตรา ทุกคนจะสงสัยว่าคลินิกกำลังใจเป็นคลินิกตรวจรักษาอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนไข้ที่มารับการรักษาไม่กล้าเอาใบนัดไปแสดงให้ที่ทำงาน ญาติ หรือว่าเพื่อนเห็น เนื่องจากว่ามันไม่เหมือนทั่วๆ ไป เราก็เลยตัดคำว่าคลินิกกำลังใจออก เพื่อไม่ให้เกิดความดึงดูดน่าสนใจ เพื่อที่เขาจะสามารถขอใบรับรองแพทย์ เอาใบนัดไปยื่นกับแผนกกับออฟฟิศได้ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เราพยายามปรับให้ผู้รับบริการอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีที่สุด ไม่ให้เกิดกรณีพิเศษ กลุ่มพิเศษ หรือตีตรามากขึ้นกว่าเดิม”
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกคนถึงเทใจให้คะแนนประเมินการดูแลคนไข้ของที่นี่สูงมาก เพราะบุคลากรของที่นี่นึกถึงหัวใจของผู้รับบริการเป็นสำคัญนั่นเอง
หัวใจของผู้รับบริการ
การเข้ามารับบริการที่นี่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพี่เอได้วางระบบและตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไปหมด เพื่อไม่ให้ผู้มารับบริการเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญนั้นก็ทุกข์มากอยู่แล้ว
“พี่จะทำระบบ fast track ของคนไข้ไว้แล้ว พยาบาลจะแค่แนะนำการทำประวัติที่ชั้น 1 เสร็จแล้วเขาจะแนะนำผู้รับบริการคนนั้นมาที่ชั้น 5 มาพบพี่เลย คลินิกนี้จะเป็น one stop service ให้คำปรึกษา ตรวจรักษา จ่ายยา เสร็จในห้อง จบ คนไข้ไม่ต้องไปที่อื่น ยกเว้นการเงินเท่านั้น โดยระบบนี้พี่เริ่มทำมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว เราจะไม่ให้คนไข้ไปตระเวนตามห้องตรวจต่างๆ เพื่อลดความรู้สึกที่ไม่ดีของเขา
“เพราะว่าเอชไอวีเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ ค่อนข้าง toxic สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่าผลตัวเองบวก หรือผู้ที่ผ่านอุบัติเหตุที่คาดว่าเขาอาจเสี่ยงติดเชื้อ เขาอยากรู้ว่าผลเลือดจะเป็นอย่างไร เช่น แม่บ้านของโรงแรม รวบขยะเจอเข็มเจาะน้ำตาลปลายนิ้วของลูกค้ามาทิ่ม เขาจะติดไหม ซึ่งตรงนี้เราทำให้เขาคลายความวิตกกังวลได้ ลดความเครียดของผู้รับบริการลงได้”
นอกจากการวางระบบที่เอื้อต่อจิตใจของผู้รับบริการแล้ว หัวใจสำคัญของคลินิกและบุคลากรของที่นี่คือ การรักษาความลับของคนไข้ 100%
“พี่จะย้ำกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ จุดประสงค์ของการรักษาของคนไข้ มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้นอยู่ เขาสามารถคุยกับพี่ได้เลย อย่างเช่น ผมไม่โอเคกลัวคนที่ทำงานรู้ คนในโรงพยาบาลรู้ แฟ้มประวัติไม่ตีตราผมได้ไหม เราก็จะมีการแยกแฟ้มเวชระเบียนให้ พี่มองว่า คนไข้อ่อนไหวกับสิ่งที่เป็น remark เล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ เขาก็ดูรู้ว่าทำไมแฟ้มนี้มี แฟ้มนี้ไม่มี สิ่งที่ผู้รับบริการต้องการ อะไรที่เราดูแลได้ เราก็จะทำ หรือคนไข้ไปต่างประเทศ ปกติยาให้สูงสุดแค่ 6 เดือน แต่พี่กับอาจารย์แพทย์จะให้ยาสำหรับ 8-9 เดือนไปเลย แล้วแต่คนไข้สะดวก คนไข้ก็จะไม่ต้องกลับมาหรือขาดยาที่ต่างประเทศ
“มาตรฐานของการให้บริการก็จะเคร่งครัดในเรื่องของความลับ เราพยายามลดระบบทุกอย่างในกระบวนการให้น้อยและสั้นที่สุด ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คนไข้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเลย ในคนไข้ที่มีอาการคงที่ คนไข้สามารถรีเควสผ่าน Line@ ได้ว่า วันนี้ผมมีนัด ผมต้องการให้ส่งยาทาง 1. ไปรษณีย์ 2. Kerry 3. Grab แล้วแต่คุณเลือก คุณสามารถรีเควสเราได้ เพื่อเอื้อทุกอย่างให้คนไข้ได้รับการรักษา ไม่ขาดยา และยายังถึงมืออย่างปลอดภัย ขอให้คนไข้แจ้งความประสงค์ เราจะคงไว้ซึ่งระดับการรักษาตามมาตรฐาน แล้วพยาบาลคัดกรองของเราก็จะเน้นเรื่องความลับ การรักษาสิทธิ์ แค่บอกว่ามารับยาต้าน ทุกอย่างก็จะจบ ไม่ต้องมานั่งรอขึ้นสิทธิ์ใดๆ”
ดูแลให้รอบด้าน
การให้คำปรึกษาของคลินิกนั้น ไม่ใช่การให้คำปรึกษาแค่เรื่องโรคอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตของคนไข้ให้เขาสามารถกลับไปอยู่ร่วมกับสังคมได้ และให้เขายังคงอยู่ในระบบการรักษาตลอดชีวิต
“พี่ให้คำปรึกษาคนไข้ก่อนตรวจและหลังตรวจเลือดเอชไอวี ให้คำปรึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาการดำรงชีวิตของคู่ผลเลือดต่าง (Serodiscordant) หมายถึงคนหนึ่งบวก คนหนึ่งลบ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขาหย่าร้างกัน ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้ อีกบทบาทหนึ่งของเราในการให้คำปรึกษาคือ เรื่องลูกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ เราก็จะมาวางแผนเรื่องการดูแล ว่าเราจะดูแลเขาอย่างไรให้ลูกไม่ติดเชื้อ ให้แม่ได้รับยาต้าน ให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษา และเป็นคลินิกที่จ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี”
นอกจากการให้คำปรึกษา พี่เอขยายความเรื่องขั้นตอนการตรวจรักษาของคลินิกให้เราฟังอีกว่า
“พี่ให้คำปรึกษาเสร็จ คัดกรองความเสี่ยงต่างๆ เสร็จ ก็จะส่งตรวจเลือด ถ้ามีประเด็นที่จะต้องส่งต่อ อย่างเช่น กรณีมีโรคอื่นที่จะต้องรักษาร่วม เราก็จะส่งไปหลังจากฟังผลเลือดเสร็จ แต่ถ้าไม่มีโรคร่วม เมื่อให้คำปรึกษาหลังตรวจเลือดเสร็จ (post-test counselling) เราก็จะแนะนำวิธีป้องกัน การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไรให้เขามีผลเลือดที่เป็นปกติ และเป็นลบตลอดไป
“แต่ถ้ากรณีผลการตรวจเลือดนั้นเป็นบวก เราก็ต้องให้เขาเข้าสู่ระบบการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ตามนโยบายของประเทศที่บอกว่า Any CD4 คือไม่ว่าจะตรวจค่า CD4 เจอเท่าไรก็ตาม ก็ให้เริ่มยาได้เลย ถ้าคนไข้พร้อม และจะดูแลคนไข้ตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่กับเรา
“กรณีคนไข้ไม่มีสิทธิ์ที่โรงพยาบาล เราก็จะประสานงานส่งต่อหน่วยงานสนับสนุนที่เขาสามารถให้การรักษาคนไข้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เขาเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ 100%
“คนไข้กลุ่มเอชไอวี เราต้องดูแลแบบองค์รวม คือกาย จิต สังคม กาย ทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีสุขภาพแข็งแรง จิต เขามีความสุขไหม กินยาได้ไหม อยู่ได้ไหม สังคม เขาอยู่กับสังคมแล้วโอเคไหม ทำงานต่อได้ไหม ทำอย่างไรก็ได้ ถึงแม้เขาไม่แฮปปี้กับเรา แต่ต้องให้เขาอยู่ในระบบการรักษาไว้ให้ได้ เพราะว่ายาต้านต้องกินตลอดชีวิต แต่ถ้าเมื่อไรที่เขาเกิดความรู้สึกไม่กล้าเข้าถึงการบริการ ถึงแม้เขาจะเคยกินยามาแล้ว เขาก็อาจจะหายไปจากระบบ และไม่กินยาได้ ผลเสียก็จะเกิดตามมา”
อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน
ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านการดูแลสุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ทุกอุปสรรคพี่เอและเจ้าหน้าที่ต่างก็พยายามปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อให้การบริการอย่างดีที่สุด
“เรื่องอัตรากำลังคนทำงานเป็นอุปสรรคเยอะ มันไม่บาลานซ์กับสัดส่วนของผู้รับบริการ ทำให้การบริหารจัดการไม่เพียงพอ แต่เราก็พยายามแก้ไข้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยใช้ Line@ เป็นช่องทางในการสื่อสารกับคนไข้ คนไข้สามารถเลื่อนนัดผ่านไลน์ได้ กินยาแล้วมีอาหารผื่นขึ้นหรือแพ้ยา สามารถส่งรูปแล้วปรึกษาได้ เรื่องใบนัด คนไข้ตรวจรักษาเสร็จ ไม่ต้องรอรับ กลับบ้านได้เลย เราจะลดทุกอย่างกระบวนการ เพื่อให้มันสั้นและกระชับ เพื่อประโยชน์ของคนไข้
“จุดอ่อนของเราคือ เรายังไม่สามารถสื่อสารภาษานานาชาติอาเซียนได้ เราไม่สามารถจัดจ้างล่ามเพื่อสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติได้ เวลาแจ้งผลเลือด จึงไม่สามารถคุยได้แบบตัวต่อตัว ต้องหาบุคคลที่สามมา หรือพี่ต้องต่อสายหาแกนนำอาสาสมัครที่เป็นแกนนำต่างชาติให้ช่วยบอกผลเลือด ซึ่งความเป็นส่วนตัวตรงนี้มันจะหายไป แต่อย่างไรก็ต้องทำ เพื่อให้เขาได้รับการรักษา เราต้องขออนุญาตก่อนว่าเราจะคุยกับคนที่ 3 นะเพื่อมาเป็นล่ามให้เรา คุณจะโอเคไหม ส่วนนี้ก็ยังเป็นปัญหากับเราอยู่”
ปัญหาเรื่องกระบวนการบริหารจัดการอาจพอแก้ไขได้บ้าง แต่ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมคนไข้โดยตรงนั้น อาจแก้ได้ยากกว่า
“ปัญหาที่พบคือ คนไข้ไม่กินยา หรือกินบ้างไม่กินบ้าง ปัญหานี้เป็นปัญหาหลัก และเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งต้องประเมินและเข้าถึงเขาให้ได้ว่า อะไรทำให้เขาไม่กินยา การรับรู้อะไรของเขาที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาควรหรือไม่ควรกินยา
“อีกเคสหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ เพศชาย คนไข้น่ารัก แต่ปัญหาคือคนไข้ไม่มีที่พักประจำ คนไข้มารับยาต่อเนื่องประจำ แต่ไม่ค่อยตรงนัด เราก็ไม่มั่นใจว่าขาดยาหรือเปล่า คนไข้บอกว่าไม่ได้ขาดยา แต่ยามักจะหายด้วยการย้ายถิ่น เก็บของเก่าไปเรื่อยๆ คือเรายังเข้าไม่ถึงเพราะยังไม่มีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน”
ผลกระทบจาการขาดยาคือภาวะเจ็บป่วย ยาเหมือนตัวที่จะไปครอบเชื้อไวรัส เมื่อไรที่เราเปิดประตูให้เชื้อเอชไอวีออกมา มันก็จะแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ระดับภูมิคุ้มกันก็จะต่ำลง ทำให้คนไข้ป่วย ถ้าอาการหนักก็เสียชีวิตได้ ส่วนในกรณีที่ขาดไม่นาน ขาดบ่อยหรือถี่ ก็อาจพบปัญหาการดื้อยา ต้องปรับเป็นสูตรยาที่แพงมากขึ้นหรือต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม บางคนโรคฉวยโอกาสก็อาจจะตามมาช่วงที่ขาดยาได้ เช่น วัณโรคปอด วัณโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
“แต่ในอนาคตพี่แพลนไว้ว่าจะร่วมกับ AHF Thailand คือ การเยี่ยมบ้านในเขตที่เข้าถึงค่อนข้างยาก ไปสำรวจปัญหาว่า อะไร ทำไมขาดยา ทำไมไม่มาตามนัด หรือขาดนัดบ่อยๆ ตัวเราอาจจะออกไปลงพื้นที่ไม่ได้ แต่ถ้าเรามีตัวแทนที่มีความรู้หรือแกนนำที่คนไข้ไว้ใจ เราก็จะสามารถไปสำรวจปัญหาที่บ้านของเขาได้”
การทำงานกับ AHF Thailand
ห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษา ทำงานกับ AHF Thailand มาประมาณ 2 ปีแล้วจากการแนะนำของแกนนำ เมื่อศึกษาทำความรู้จัก จึงพบว่า AHF Thailand คือหน่วยงานที่มีหัวใจอยากจะช่วยเหลือเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้ออย่างแท้จริง โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ใด นอกจากจะสามารถช่วยยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดต่อไป
“พอเราเห็นเนื้อหาโครงการ เขาไม่ได้เพิ่มภาระงานให้เราเลย แต่กลับมาช่วยงานเราในการดูแลคนไข้กลุ่มเอชไอวี ก็ไปนำเรียนท่านผู้อำนวยการว่า มีโครงการที่ดีนะ ท่านก็ให้อำนาจเราตัดสินใจ ก็เลยตัดสินใจตอบตกลง
“สำหรับงบประมาณจาก AHF Thailand เขาก็จะสอบถามเราก่อนว่าเราขาดอะไร เขาจ้างน้องผู้ช่วยคนหนึ่งมาให้เพราะเราขาดอัตรากำลังในการให้บริการคนไข้ นอกจากนี้ยังมีในส่วนงานด้านตัวชี้วัดคุณภาพที่มาช่วยเราวิเคราะห์ว่า ตัวชี้วัดคุณภาพของเราควรเป็นอะไร ควรพัฒนาปรับปรุงตัวชี้วัดตัวไหน ส่วนในเรื่องการดูแลเคส ดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อ เขาก็มาช่วยสนับสนุน มีงบประมาณในส่วนของการจัดกิจกรรมกลุ่มของผู้ติดเชื้อ ช่วยค่าเดินทางของผู้ติดเชื้อ อย่างเช่นเคสของคุณลุงที่ไม่มีที่อยู่ รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือสำนักงานที่จำเป็นสำหรับผู้รับบริการเขาก็ช่วยเรา”
พี่เอบอกกับเราเพิ่มเติมว่า AHF Thailand เป็นหน่วยงานเอกชนแรกที่ทำงานด้วยแล้วรู้สึกมีความสุข เพราะนโยบายของ AHF คือการสนับสนุนคนทำงานให้สามารถทำงานบรรจุเป้าหมายสำเร็จอย่างราบรื่น มากกว่าการหวังผลตัวชี้วัดเป็นตัวเลข
“AHF เป็นหน่วยงานแรกของเอกชนที่พี่ได้เข้าร่วม ได้ทำ MOU กับโรงพยาบาลเลิดสิน ก็รู้สึกดีในสิ่งที่ AHF ให้เรามา เขาไม่ได้ก้าวล้ำเข้ามาเรื่องงาน ปล่อยให้เราทำงานอิสระ และให้การสนับสนุนในสิ่งที่เรารีเควสไปเพื่อแก้ปัญหาของคนไข้ AHF ตอบสนองทุกอย่างและช่วยเหลือเรา ทั้งเรื่องของงาน ทุน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ AHF ช่วยได้หมดเลย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ ต่อผู้รับบริการทั้งหมด รวมถึงช่วยวิเคราะห์ว่าจุดบกพร่องของเราตรงไหน จุดดีของเราตรงไหน เราสามารถที่จะมาพัฒนาปรับปรุงตัวเราเองได้อย่างไรบ้าง”
สุดท้ายนี้ เมื่อถามไถ่ถึงการทำงานในอนาคตของห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษา กับ AHF Thailand ทุกโปรเจ็คต์ที่พี่เอได้พูดถึงนั้น ล้วนเป็นแผนงานที่นึกถึงหัวใจของผู้รับบริการทั้งสิ้น
“โปรเจ็คต์ที่อยากพัฒนาต่อไปคือ ทำอย่างไรให้คนไข้ ผู้รับบริการมีความสุข และอยู่กับเราได้ อยู่กับสังคมได้ มีการใช้บริการอย่างมีความสุข และพัฒนาในเรื่องของกระบวนการให้บริการให้ดีต่อไป”
โรงพยาบาลเลิดสิน
ที่อยู่: 190 ถนนสีลม แขวงศรีเวียง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
เบอร์โทร: 02 353 9800-1
Line@:
คลินิกกำลังใจ @buddystation
Counselling 502 @712kbidw