AHF Thailand Effect the Series: โรงพยาบาลสมุทรสาคร…เสียงที่เราอยากให้ทุกคนฟัง

AHF Thailand Effect the Series: โรงพยาบาลสมุทรสาคร…เสียงที่เราอยากให้ทุกคนฟัง

สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำประมง อุตสาหกรรม และการเกษตร ซึ่งทำให้สมุทรสาครต้องการกำลังคนในการทำงานไม่น้อย แต่เมื่อแรงงานในประเทศขาดแคลน จึงจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทน มีแรงงานมากมายที่เจ็บป่วยระหว่างที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย งานบริการและดูแลด้านสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้แรงงานข้ามชาติหลายคนจะมีหลักประกันสุขภาพจากรัฐคอยช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีอีกมากที่ขาดสิทธิไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดช่องว่างและการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลสมุทรสาครต้องแบกรับภาระไม่ใช่น้อย

AHF Thailand มองเห็นปัญหาและภาระงานที่หนักหน่วงของโรงพยาบาลสมุทรสาคร จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในด้านการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยเอชไอวีและแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษา ให้สามารถดูแลและเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากที่สุด โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ AHF Thailand Effect the series ครั้งนี้ จึงได้รับเกียรติจาก พี่อ้อ-ขนิษฐา ปานรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริการแรงงานข้ามชาติ โรงพยาบาลสมุทรสาคร มาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานในแง่มุมที่คนนอกอย่างเราๆ สัมผัสได้ถึงการทำงานเชิงรุกที่หนักหน่วง ภาระที่หนักอึ้ง แต่ขณะเดียวกันก็อิ่มเอมใจทั้งผู้รับและผู้ให้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่แบ่งแยก

แรงงานข้ามชาติ

เมื่อไถ่ถามถึงการทำงานของฝ่ายบริการแรงงานข้ามชาติว่ามีขอบข่ายการทำงานอย่างไร พี่อ้อ ผู้คลุกคลีทำงานด้านนี้มายาวนานกว่า 30 ปี ก็พรั่งพรูเรื่องราวมากมายอย่างกระตือรือร้น เหตุที่ใช้คำว่าคลุกคลี เพราะทีมงานของพี่อ้อนี้ทำงานเชิงรุก ต้องลงพื้นที่เข้าไปหากลุ่มเป้าหมาย ทำงานคลุกคลีจนเป็นที่รู้จักของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่

“เราดูแลแรงงานข้ามชาติตั้งแต่เกิดจนตาย คำว่าเกิด ไม่ใช่เกิดเป็นเด็กเล็ก แต่หมายถึงการเข้ามามีชีวิตในเมืองของเรา พวกเขาต้องมีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีประกันสุขภาพ ก็ต้องมีประกันสังคม เราก็คือทีมงานดูแลแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เมื่อรักษาแล้วไม่มีเงิน ความเป็นอยู่ไม่ดีนัก เราก็จะสามารถช่วยเหลือได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้เขามีชีวิตที่มีความสุข เราไม่ได้คิดเรื่องความต่างชนชั้น เชื้อชาติ สำหรับโรงพยาบาลสมุทรสาครนั้น ไม่เคยมี”

พี่อ้อเล่าให้ฟังว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม สมัยก่อน ก่อนที่จะมีแรงงานข้ามชาติ ที่นี่จะมีแต่แรงงานชาวอีสาน ต่อมาเมื่ออีสานมีความเจริญมากขึ้น พวกเขาจึงย้ายกลับถิ่นฐาน ทำให้สมุทรสาครเกิดการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องมีแรงงานทดแทนจากเพื่อนบ้านเข้ามา ซึ่งปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่โรงพยาบาลสมุทรสาครต้องดูแลนั้น ส่วนมากจะเป็นชาวพม่า 70% และเกินกว่าครึ่งของชาวพม่าเป็นชาวมอญ ดังนั้นทีมงานของพี่อ้อจึงต้องมีล่ามเพื่อให้เข้าใจบริบทของแรงงานกลุ่มนี้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ถามว่าเราทำงานอะไรกับแรงงานข้ามชาติบ้าง เราทำทุกงาน เราทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เรามีออกหน่วยเคลื่อนที่ไปในชุมชน และมีเรื่องการไปเยี่ยมแม่และเด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ตอนนี้เราวางกำลังก็คือ การสร้างอาสาสมัครไว้เหมือนเป็นตาวิเศษ ถ้าเกิดอะไรขึ้นในชุมชน เขาก็จะแจ้งข้อมูลเข้ามาทันที”

ช่องว่าง

แรงงานข้ามชาติ

“แรงงานข้ามชาติที่มักพบมี 2 ประเภท คือ แรงงานข้ามชาติที่มีหลักประกันสุขภาพ คือ ประกันสุขภาพ หรือ ประกันสังคม สอง แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิการรักษา เช่น แรงงานที่ไม่ได้ไปต่อประกันสังคม หรือไม่ต่อประกันสุขภาพ ทำให้สิทธิการรักษาพยาบาลว่าง ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิการรักษาอะไรเลย

“ในกรณีที่เขาเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เขาก็เข้ามารักษานะ แม้ไม่มีตังค์ เราก็รักษาให้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร สมมติค่ารักษา 3 หมื่นบาท เขาอาจจ่ายแค่ 500 บาทก่อน หลังจากนั้นก็จะทำค้างชำระไว้ บางคนก็หายไป บางคนก็กลับมาจ่าย แต่จ่ายน้อย เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือให้เขาเข้าสิทธิการรักษาใดสักสิทธิหนึ่ง

“มันจึงมีช่องว่างของคนที่ไม่มีสิทธิการรักษา จริงๆ เมื่อมารักษาต้องจ่ายค่ารักษาเอง เราขอทุนไปหลายที่ ให้ช่วยเรื่องคนที่หลุดสิทธิ เพราะโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระตรงนี้ อีกทั้งเวลามีโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยก็หายากินเอง แต่เมื่อเจ็บป่วยมากๆ ค่อยเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลซึ่งอาจทำให้รักษาไม่ทันท่วงที และไม่มี NGO ไหนมาช่วยเลย”

ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงพยาบาลสมุทรสาครและ AHF Thailand ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขาดสิทธิการรักษาหรืออยู่ระหว่างช่วงรอยต่อในเรื่องค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงการกระตุ้นให้มีหลักประกันสุขภาพอีกด้วย

จังหวะที่พอดี

แรงงานข้ามชาติ

โรงพยาบาลสมุทรสาครเริ่มทำงานกับ AHF Thailand มาตั้งปี พ.ศ. 2557 จวบจนปัจจุบัน พี่อ้อแอบกระซิบว่า ดีใจมาก เพราะไม่เคยมีองค์กร NGO ไหนที่สนับสนุนการทำงานได้นานขนาดนี้ ก่อนหน้าที่พี่อ้อจะมารู้จักกับ AHF Thailand ตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโครงการ NAPHA Extension เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิการรักษาหรือคนไทยที่ไม่มีสิทธิเบิกยาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

“ตอนหลังงบประมาณตรงนี้ไม่มี พอไม่มี เราก็เป็นจังหวัดเดียวที่โชคดีมี AHF เข้ามาหนุน AHF ก็เหมือน NAPHA Extension คือเข้ามาดูแลแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิ ทำให้เราน่าจะรอดอยู่ที่เดียวในตอนนั้น”

เหตุที่โครงการ NAPHA Extension ต้องยุติไปนั้น ก็เพื่อผลักดันให้ทุกคนได้เข้าสู่ระบบ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะยังมีคนที่ยังว่างสิทธิอยู่ และไม่ขึ้นสิทธิก็มี

“ประเด็นเรื่องสิทธิขาด หนึ่ง บางคนไม่กล้าที่จะมา เพราะใช้เงินเยอะ สอง บางคนมา แต่ไม่มีเงินรักษา เพราะรู้ว่าอย่างไรก็ได้รับการรักษา เพราะฉะนั้น AHF จึงช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้มากเลย ไม่ใช่แค่นี้นะ เมื่อเราออกหน่วยหรือไปคัดกรอง เขาก็ให้ชุดตรวจด้วย แรงงานข้ามชาติทุกวันนี้เขาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่งาน ถ้ามาโรงพยาบาลก็กลัวว่านายจ้างจะรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงได้ออกหน่วยส่งเสริมสุขภาพเคลื่อนที่ไปในชุมชน โดยออกประมาณอาทิตย์ละครั้ง หรือ สองครั้ง แล้วแต่ช่วงเหตุการณ์”

สิ่งละอัน พันละน้อย

แรงงานข้ามชาติ

“AHF เป็น NGO ที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการทำแผนงานร่วมกันทุกปี รับฟังความคิดเห็นของโรงพยาบาล และเข้าใจบริบทการทำงานในพื้นที่ แต่ถ้าเป็นองค์กรบางที่อาจจะกำหนดว่าต้องใช้งบสำหรับยาอย่างเดียวและจำกัดความคิดเห็น ซึ่งทำให้ไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก งานอาจจะสำเร็จ รักษาได้ แต่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการเหล่านั้นมีความสุขไหม มันอาจจะไม่มี”

งบประมาณของ AHF จึงไม่ได้ถูกนำไปใช้แค่เรื่องการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยส่งเสริมการทำงานด้านสุขภาพในเชิงรุกอย่างรอบด้าน โดยผู้ป่วยโครงการได้เป็นจิตอาสาตามหอพักของตนเอง เพื่อให้ความรู้เฝ้าระวังโรคในหอพักและรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง มีการแจกของรางวัล จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชุมชนร่วมกับโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เราเข้าถึงชุมชนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และการทำงานเชิงรุกจะสำเร็จได้ก็ต้องใช้สิ่งละอัน พันละน้อย ช่วยให้เข้าถึงใจคนอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

ใช้ยาสามัญประจำบ้าน เข้าถึงชุมชน

แรงงานข้ามชาติ

“เราได้งบจาก AHF ซื้อยาพวกนี้ไปออกหน่วย เพื่อเป็นเครื่องมือให้เราเข้าถึงคนในชุมชนได้มากขึ้น และยังเป็นการรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแรงงานข้ามชาติในชุมชนที่มีการเจ็บป่วยเล็กน้อย

“พม่าชอบพวกของใช้ อย่างเช่น แชมพู ไม่งั้นกวักมือเรียกไปเถอะ ไม่มีใครมา เพราะฉะนั้นถ้าเรามียาดม ยาหม่อง มีอะไรอย่างนี้ เวลาเราตั้งบูธ เขาจะมาดูว่ามีอะไรบ้าง ก็จะเข้ามาหา ไม่สบาย ปวดเมื่อย ยานวดก็ชอบ

“การทำงานส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เป็นการทำให้เราเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ยาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เป็นน้ำจิ้มที่ช่วยได้ระดับหนึ่ง เพราะบางคนเจ็บป่วยเล็กน้อย เขาก็ไม่ไปหาหมอ และอาจได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่เวลาไปออกหน่วย เขาจะมาวัดความดันก่อนว่าปกติไหม เขามีโอกาสเป็นเบาหวานไหม เราก็เลยได้โอกาสแถมว่าอยากตรวจเอชไอวีด้วยไหม ถ้าเราพบว่ามีคนที่เสี่ยงหรือพบว่ามีเชื้อ ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป โรงพยาบาลสมุทรสาครจึงได้เน้นการสอนให้ความรู้และเน้นการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและแรงงานข้ามชาติทุกคน”

เมื่อเข้าถึงชุมชน ทำให้ค้นพบ

แรงงานข้ามชาติ

“ได้มีโอกาสไปชุมชนมอญ ที่ประเทศเมียนมา พบว่าหมู่บ้านนี้เหลือแต่ผู้หญิงกับเด็กที่เป็นกำพร้า เพราะสามีตายหมดแล้ว ไปแล้วก็เศร้าใจ คนส่วนใหญ่เป็นเอชไอวีและไม่รู้ตัวว่าเป็น แล้วกลับบ้านไปพร้อมกับเชื้อ ภรรยาก็ติดและตาย เลยเหลือแต่ลูกเท่านั้น หลายบ้านเหลือแต่ลูก หลายบ้านเหลือแต่เมีย บางคนที่เหลืออยู่ ถ้าสามีเขาไม่ตาย เขาจะเป็นคนฆ่าเอง เพราะเขาคิดว่าอย่างไรก็ตายแน่ คิดว่าเอชไอวีไม่มียารักษา ซึ่งจริงๆ มันมียารักษาแต่พวกเขาไม่รู้ หรือเข้าไม่ถึง”

ออกหน่วย ช่วยต่อชีวิต

แรงงานข้ามชาติ

“เราพบเคสหนึ่งในโครงการของ AHF ป้าอ้วน ชาวพม่า ติดเชื้อจากแฟน และไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ แฟนมาทำงานออกเรือ และต่อมาเสียชีวิต เหลือแค่ป้าอ้วนกับหลาน 2 คน ป้าอ้วนก็มาที่คลินิกที่เราออกหน่วยนี่แหละ ป้าอ้วนไม่น่าเป็นเอชไอวีมากๆ ทั้งอ้วนท้วนสมบูรณ์ และน่ารักมาก อายุ 50 กว่าแล้ว แต่หลานไม่ได้เป็น ป้าอ้วน ก็มาเจาะเลือด แล้วก็เจอ มันเศร้ามาก ที่ผ่านมาป้าอ้วนไม่เคยตรวจเลย ใช้ชีวิตปกติ พอพบว่าเป็น ป้าอ้วนก็ไปรับยา ปัจจุบันยังมีชีวิตและยังคงรับยาอยู่ เคสป้าอ้วนเป็นเคสที่พี่รู้สึกว่าเราไปตรวจดีไหมนะ แต่ถ้าไม่ไปตรวจป่านนี้ป้าอ้วนอาจตายไปแล้ว เพราะไม่ได้รับการรักษา และจะเป็นโรคฉวยโอกาสโดยที่เขาไม่รู้ตัว แต่เมื่อเขาได้รับการรักษา ก็ทำให้ป้าอ้วนมีชีวิตในการดูแลหลานๆ เพราะถ้าไม่มีป้าอ้วนก็คงไม่มีใครดูแลหลาน เพราะฉะนั้นป้าอ้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกองทุนของ AHF เลย

“การที่เราเอาเงินมาออกหน่วย เปิดโอกาสให้ได้ค้นพบ ได้รักษา รักษาได้ไม่อั้น ไม่ว่าคุณเป็นโรคอะไรก็ตาม หรือเป็นโรคแทรกซ้อนก็ตาม อย่างที่เราดูแลเคสป้าอ้วนได้มาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ถามว่าช่วยชีวิตคนได้ไหม ได้เยอะ เพราะบางคนไม่มีโอกาส แต่โครงการของ AHF ทำให้เขามีโอกาสตรงนี้”

เยี่ยมบ้าน สานสัมพันธ์

แรงงานข้ามชาติ

“การเยี่ยมบ้านของผู้มีเชื้อเอชไอวี ไม่ได้เยี่ยมบ้านธรรมดา พวกพี่ทำงานกัน ไม่ได้เน้นรักษาร่างกาย แต่จิตใจสำคัญที่สุด คนไข้ของเราทุกคนไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม จะได้รับการดูแลทางด้านจิตใจควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพด้วย พี่จะเก็บข้อมูลไว้ในแอพลิเคชั่นทั้งหมด พิกัดของคนไข้อยู่ตรงไหน ก็ปักหมุดไว้เลย เมื่อมีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ก็สามารถมีพิกัดข้อมูลผู้ป่วยเก็บไว้ติดตามและให้งานต่อเนื่อง และข้อมูลจะเข้าถึงเฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น บางทีเขาไม่มีเวลาคุยกับหมอ หรือว่าเขารู้สึกว่ากินยาแล้วรู้สึกไม่ดีเลย คนที่ไปเยี่ยมบ้านก็จะรายงานกลับมาแล้วมาแจ้งหมอและจะกลับบอกคนไข้ว่าเพราะอะไร ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อคนไข้และรักคนไข้ พวกนี้มันทำให้คนไข้มีความสุข และใช้ชีวิตอย่างคนอื่นได้

“เราใช้งบประมาณนี้ในการจ้างล่าม 1 คน จ้างเจ้าหน้าที่ 1 คน ในการทำงานด้านนี้ เจ้าหน้าที่ก็จะมารายงานว่า คนไข้คนนี้เป็นใคร ใช้สิทธิอะไร ซึ่งช่วยบ่งบอกว่าคนๆ นี้ กินยาอะไร CD4 เท่าไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อไปเยี่ยมแต่ละเคส มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ก็ลงบันทึกไว้หมด ทำให้เราเห็นจำนวนในการระบาดของเอชไอวีมันอยู่ตรงไหนของชุมชนบ้าง ถามว่าถ้าไม่มีเงินที่จะจ้างล่ามลงไปเฉพาะเพื่อช่วยเรื่องการสื่อสาร เราก็จะไม่ได้ข้อมูล และไม่สามารถทำงานเชิงลึกได้ การทำงานเชิงลึกจึงมีประโยชน์สำหรับหมอ หมอจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างในแต่ละคน

“สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพที่ AHF ให้มา เราสามารถนำเงินเหล่านี้ไปเน้นส่งเสริมมากกว่ารักษา ถ้าเราเน้นการส่งเสริมมากกว่ารักษา คนที่จะเป็นเคสใหม่จะน้อยลง นี่คือหัวใจของมันนะในความรู้สึกของพี่ มันคือหัวใจของกองทุนที่เข้ามาแล้วได้ใช้อย่างลื่นไหล และนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ใจแลกใจ

แรงงานข้ามชาติ

“AHF สนับสนุนสิ่งของอุปโภค-บริโภค จำนวน 500 ชุด ตอนช่วงโควิดหนักๆ ตอนนั้น แรงงานข้ามชาติบางคนตกงาน บางคนลำบาก ตรงนี้เราจึงมีการสร้างอาสาสมัคร และลงไปเคาะประตูดูว่ามีคนเป็นโควิดไหม หากพบว่าแรงงานข้ามชาติถูกกักตัว 14 วัน เราก็จะเอาอุปกรณ์เหล่านี้ไปให้เขาดำรงชีพให้ได้ 14 วัน ทำให้เขามีชีวิตที่มีความสุขในขณะที่ถูกกักตัว ไม่ต้องเครียดมาก

“นอกจากนี้ยังนำมามอบเป็นกำลังใจในการทำงานของอาสาสมัคร เพราะถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่มีเงินไปซื้อ ซึ่ง AHF เขาก็เห็นว่าการทำงานเชิงรุก อาจจะต้องใช้ข้าวของสนับสนุนต่างๆ ทำให้เกิดงาน เขาก็ให้ เพื่อเอาไปทำงานได้ มันก็สามารถช่วยชีวิตคนที่ได้ ทำให้อาสาสมัครมีกำลังใจในการทำงานว่า ไม่ได้ทำงานอย่างเดียว แต่ทำแล้วมีของเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เขามีความสุข”

สร้างบรรยากาศ เปิดใจกับเคสใหม่

แรงงานข้ามชาติ

“นอกจากนั้น AHF ให้เงินในการอบรมสำหรับเคสใหม่ สมมติว่าเราเป็นเคสใหม่ เราจะได้รับการอบรมให้รู้ว่า หนึ่ง เราคือใคร เป็นโรคอะไร ต้องรักษานานแค่ไหน ยานี้จะมีปัญหายังไง ในการอบรมจะมีเภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ และทีมงานเราเข้าอบรมกับทีมเคสใหม่ เคสใหม่ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่แค่คุณกินยาสักพักแล้วคุณจะรู้สึกว่าหายแล้วนะ คุณจะอยู่กับเราไปนานเท่านาน ถ้าคุณออกจากตรงนี้ไปประเทศพม่า คุณยังสามารถรับยาที่พม่า เอาใบส่งตัวไปแล้วไปรับยาได้

“ก่อนที่ AHF จะเข้ามา เราเปิดอบรมเหมือนกันแต่ไม่มีอาหารให้กิน น้ำท่าเบิกไม่ได้ ได้แค่น้ำธรรมดา พอเรามีงบตรงนี้ เราก็จะเลี้ยงอาหารพวกเขาได้ เขาก็จะได้กินอาหารอร่อยๆ ได้กินกาแฟกับเขาบ้าง ทำให้รู้สึกมีความสุข การที่เรามาพูด เอ้า เคสใหม่เข้ามาเลย แล้วพูดสอน แต่ไม่มีอะไรกินนะ เพราะไม่มีอะไรจะเลี้ยง สอนๆ เสร็จมันก็ไม่ได้บรรยากาศที่เป็นกันเอง

“เอชไอวีคือเคสที่ถ้าเราไม่เข้าใจกัน เขาก็ไม่อยากจะเล่าให้ฟังกันนะ แต่พอเราเป็นกลุ่มเดียวกัน เขาก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง ไม่ปิดบัง เหมือนเป็นเพื่อน เขาก็จะเล่าว่าเป็นอะไรที่รู้สึกแย่ เพราะเขาไม่รู้เลยว่าแฟนเขาเอามาติด ชีวิตเขาเปลี่ยนไป เขาต้องระวังตัวเอง เขาต้องกินยาต่อเนื่อง ยานี่ก็ลำบากลำบนเหลือเกิน พอได้ฟัง คนอื่นๆ ก็จะรู้สึกว่า เขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว คนเหล่านี้ยังอยู่ได้ ทำไมเขาจะอยู่ไม่ได้ นั่นคือบริบทที่ทำให้บรรยากาศมันดีขึ้นของเงินงบนี้”

นอกจากการสนับสนุนที่ได้กล่าวมาแล้ว งบประมาณส่วนนี้ยังได้ถูกจัดสรรนำไปใช้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการทำงานในเชิงรุก อย่างการนำไปใช้ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำเสื้อ ทำป้าย โลโก้ หรือเหรียญต่างๆ เพื่อนำไปมอบให้แก่อาสาสมัคร

“นี่คือวัสดุอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการลื่นไหลในการทำงาน ถ้าเราเขียนงบประมาณปกติ มันไม่สามารถเบิกจากรัฐได้ และนี่คือสิ่งที่ AHF สนับสนุนแล้วมันทำให้เกิดผลงานได้ดีในการทำงานเชิงรุก

“การทำงานทุกอย่าง เราได้การสนับสนุนจากสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ ไม่กี่บาทนะ ค่าบริหารจัดการเหล่านี้ เดือนละ 1,500 บาทเอง กับค่ายาสามัญประจำบ้าน เดือนละไม่เท่าไร เขาช่วยเราได้และช่วยคนไข้ได้มหาศาล คนไข้ที่พอมีสิทธิเราก็จะดึงเขาเข้าสิทธิให้หมดเลย ยกเว้นคนที่ไม่มีสิทธิเท่านั้นที่จะยังคงอยู่ตรงนี้ คนไข้ของ AHF จึงน้อยลง แต่ในภาพรวมใหญ่ เราเอามาใช้ในการดูแลทุกๆ ด้าน และสนับสนุนให้เราสามารถนำมันมาสร้างนวัตกรรมงานได้หลากหลาย แต่ถ้าเบิกกับรัฐมันยาก”

สร้างคน สร้างอนาคต

แรงงานข้ามชาติ

แม้พี่อ้อใกล้จะเกษียณแล้ว แต่เมื่อถามว่าจะหยุดทำงานตรงนี้ไหม หลายๆ คนคงจะเดาคำตอบของพี่อ้อได้ เพราะยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่พี่อ้อและทีมอยากจะทำเพื่อช่วยเหลือและดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขาดโอกาสต่อไป

“จริงๆ ก็คงทำหน้าที่ต่อไป เราจะทำให้คนไข้เอชไอวีเป็นแกนนำมากขึ้น ตอนนี้กำลังนำคนไข้เอชไอวีมาอบรมเป็นแกนนำอาสาสมัคร เพื่อทำให้เขาสามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์และทำให้มองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้คือ การดูแลคนไข้ที่ไม่ค่อยมีโอกาส ให้เขามีโอกาสต่อไป สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ

ใครอยากติดตามผลงานของพี่อ้อและทีมงานด้านบริการแรงงานข้ามชาติ โรงพยาบาลสมุทรสาคร สามารถติดตามได้ทางเพจ Migrant Health Volunteers รพ.สมุทรสาคร กันได้ ซึ่งเพจนี้ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่พี่อ้อและทีมงานได้สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าข่าวสาร ให้ความรู้กับประชาชนและแรงงานข้ามชาติ รวมถึงเป็นสื่อสำหรับการเรียนการสอนให้กับอาสาสมัครอีกด้วย

“เรามีแอดมินเป็นหมอพม่า อยู่ที่พม่าอีก 1 คน อยู่ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นอาจารย์อีกหนึ่งท่าน ที่จะทำการตรวจสอบและช่วยเหลือในด้านข้อมูล บางครั้งข้อมูลส่งมาจากพม่า บางครั้งข้อมูลส่งมาจากเรา มีหมวดวิชาแต่ละวิชาที่เราสอน สอนเสร็จ อาสาสมัครก็เข้าไปดู แล้วทำข้อสอบ เก็บหน่วยกิตครบ ก็จะได้เสื้อและบัตรอาสาสมัคร ทั้งหมดนี้เพิ่งเปิดตัวมาได้เดือนกว่าๆ ถือว่าเป็น new normal ในการสอน”

 

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากโรงพยาบาลสมุทรสาครไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก AHF Thailand ทั้งข้อจำกัดต่างๆ และภาระอันหนักอึ้งที่โรงพยาบาลแห่งนี้ต้องแบกรับ เพื่อช่วยเหลือชีวิตแม้เพียงหนึ่งชีวิตให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้

“AHF ให้โอกาสพบคนที่ไม่มีโอกาส คนที่มีสิทธิว่าง ไม่มีสิทธิในการรักษา เพราะฉะนั้นพอเขาว่ามีโครงการนี้อยู่นะ นั่นคือโอกาสที่เขาจะได้รับการรักษาแล้ว และจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข พอเขากินยาต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ เขาก็ไปทำงานต่อไปได้ คนป่วยเป็นเอชไอวีเป็นเรื่องธรรมดาแล้วนะสมัยนี้ เพราะโควิดน่ากลัวกว่า”

 

โรงพยาบาลสมุทรสาคร

ที่อยู่: 1500 ถนนเอกชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
เบอร์โทร: 034 427 099

Facebook : Migrant Health Volunteers รพ.สมุทรสาคร