เอชไอวีคืออะไร?
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเอชไอวี
HIV
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเอชไอวี
มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทั่วไปอาจรู้สึกกลัวและกังวลกับการตรวจเอชไอวี ลองมาเรียนรู้ด้วยกันถึงวิธีการตรวจเอชไอวี ด้วยข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี ดังรายละเอียดด้านล่างกันเถอะ.
เอชไอวีคืออะไร?
“เอชไอวี” มาจากคำว่า “Human Immunodeficiency Virus (HIV)” เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์ของร่างกายคน มันจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภททีเซลล์ (T-cell) หรือที่เรียกว่า “ซีดีสี่ (CD4)” ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นเมื่อเอชไอวีไปทำลายซีดีสี่ (CD4) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู่กับเชื้อโรคหรือการติดเชื้อต่างๆได้หากผู้นั้นไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี
เอดส์คืออะไร?
“เอดส์” มาจากคำว่า “Acquired Immune Deficiency Syndrome (AIDS)” หมายถึง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี คนทั่วไปอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวนานหลายปีได้โดยไม่มีอาการใดๆ แม้ว่าจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายก็ตาม แต่เมื่อเซลล์เลือดเลือดขาวประเภททีเซลล์หรือที่เรียกว่าซีดีสี่ (CD4) ถูกเชื้อเอชไอวีทำลายลงอย่างมากจนร่างกายเริ่มไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคหรือการติดเชื้อต่างๆ ก็จะถือว่าผู้นั้นเริ่มเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์)
เราติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร?
เราอาจติดเชื้อเอชไอวีได้จากของเหลวและสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นที่อวัยวะเพศทั้งชายและหญิง น้ำนม น้ำเมือกจากทวารหนัก
หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางช่องบาดแผลเล็ก ๆ ที่ฉีกขาด ที่ช่องทวารหนัก อวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และช่องปาก (แม้ว่ากรณีนี้จะพบได้น้อยมากก็ตาม) นอกจากนี้แผลอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น เริม หรือซิฟิลิส จะยิ่งทำให้เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หากมีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้เชื้อเอชไอวียังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ด้วยไม่ว่าจะในช่วงตั้งครรภ์หรือระหว่างการให้นมบุตรก็ตาม สำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็อาจติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติงานและสัมผัสกับของเหลวหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี (แม้ว่ากรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ยากมากก็ตาม)
ส่วนการติดเชื้อเอชไอวีในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือการบริจาคอวัยวะก็เกิดขึ้นได้ยากมากเช่นกัน หากมีการตรวจคัดกรองอย่างดีตั้งแต่แรก
เชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อผ่านทางของเหลวหรือสารคัดหลั่งในร่างกายดังต่อไปนี้
น้ำลาย อาเจียน อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา เหงื่อ หรือ น้ำปัสสาวะ
HIV
วิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาเอชไอวีให้หายขาด แต่ก็มีวิธีการรักษาเพื่อให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนทั่วไปได้ อย่างไรก็ดี มีวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ
วิธีการต่าง ๆ ต่อไปนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี:
การใช้ถุงยางอนามัย: เมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
การใช้เข็มสะอาด: ทุกครั้งที่จะใช้ยาเสพติดด้วยการฉีด จะต้องใช้เข็มใหม่ที่สะอาดทุกครั้ง
การสอบถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมา: การทราบถึงสถานะการมีเชื้อเอชไอวีของคู่ของคุณจะช่วยทำให้คุณสามารถหาวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ทั้งนี้ ยังมีผู้มีเชื้อเอชไอวีอีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทยที่ยังไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวี ดังนั้นคุณจึงควรที่จะชวนคู่ของคุณไปตรวจเอชไอวีพร้อมกัน
การมีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมา: ในระหว่างการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ หรือการใช้สารเสพติด อาจเป็นการยากที่คุณจะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยหรือใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างถูกต้อง หากคุณคิดว่าคุณอาจจะต้องดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ หรือใช้สารเสพติด แต่ก็ยังอยากมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คุณสามารถขอคำปรึกษาจากเราได้
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม หรือซิฟิลิส จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้นในการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการที่ปรากฏเด่นชัด
การงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือการมีคู่เพศสัมพันธ์น้อยราย: การมีคู่เพศสัมพันธ์น้อยรายจะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
อาการของโรค
ผู้มีเชื้อเอชไอวีหลายคนไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค เชื้อเอชไอวีสามารถอยู่ในร่างกายของคนได้นานนับสิบปีหรือนานกว่านั้นโดยมิได้แสดงอาการใด ๆ เลย ในช่วงระยะสุดท้ายของโรคซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) อาจมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลียอย่างมาก ท้องเสียเรื้อรัง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด เป็นต้น อาการเหล่านี้เกิดขึ้นมักเกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงและไม่สามารถที่จะควบคุมหรือต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้นได้
สำหรับกรณีที่เพิ่งติดเชื้อเอชไอวีได้ประมาณ 2 สัปดาห์จนถึงประมาณ 1 เดือน จะเป็นช่วงที่ร่างกายของผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเอชไอวีจะมีปริมาณเชื้อเอชไอวีสูงมากและสามารถถ่ายทอดเชื้อดังกล่าวให้ผู้อื่นได้หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเอชไอวีมักจะมีอาการป่วยเหมือนไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนจะต้องมีอาการเหล่านั้น
หากคุณเป็นผู้มีเชื้อเอชไอวี
แม้ว่าการติดเชื้อเอชไอวีจะถือเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่พึงระลึกไว้เสมอว่ามันเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจำนวนมากมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพดี การมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายไม่ได้เป็นเหมือนโทษประหารชีวิต ดังนั้น ผู้มีเชื้อเอชไอวีจึงจะไม่เสียชีวิตภายในไม่กี่ปีเหมือนอย่างในอดีต
ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เริ่มมีการผลิตยาต้านไวรัสซึ่งใช้ในการรักษาเอชไอวี การรักษาเอชไอวีด้วยการทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำจะส่งผลให้เชื้อเอชไอวีในร่างกายลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อเอชไอวี (undetectable level) ดังนั้น หากคุณเป็นผู้มีเชื้อเอชไอวี คุณก็ยังสามารถมีสุขภาพดีและแข็งแรงได้เหมือนคนทั่วไป และสามารถได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านการรักษาได้ หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ลองเข้ามาที่เว็บไซต์