Category: บทความทั้งหมด

อย.ปลดล็อก “ชุดตรวจ HIV” ซื้อจากร้านขายยาตรวจเองได้
Post

อย.ปลดล็อก “ชุดตรวจ HIV” ซื้อจากร้านขายยาตรวจเองได้

อย.ออกประกาศปลดล็อกให้ประชาชน ซื้อชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเองได้จากร้านขายยา ชี้เป็นทางเลือกคัดกรองแทนไปตรวจที่สถานพยาบาล ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ วันนี้ (18 เม.ย.2562) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 และประกาศกระ ทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ.2562 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 เม.ย.2562 สาระสำคัญของการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือมีการกำหนดนิยามสำคัญที่เกี่ยวข้องกำหนดคุณภาพมาตรฐานและข้อกำหนด ซึ่งต้องผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานระดับประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ISO 13485 รวมถึงกำหนดให้แสดงฉลากต่อผู้บริโภคในประเด็นที่สำคัญต่างๆ เช่น ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ วิธีการเก็บรักษา คำเตือน ข้อควรระวัง องค์ความรู้เกี่ยวกับระยะการตรวจหาการติดเชื้อไม่พบของชุดตรวจนั้น ๆ แบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ช่องทางการให้ข้อมูลสนับสนุนของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าในการใช้ชุดตรวจดังกล่าวผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผล การเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการ หมายเลขโทรศัพท์ที่ให้คำปรึกษาเพิ่มเติมโดยตรงได้ โดยการแปลผล แสดงเป็นภาพอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน และมีข้อความว่า “ใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองเท่านั้น หากตรวจพบ มีปฏิกิริยา ต้องได้รับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัยได้” ชี้เป็นทางเลือกคัดกรองแทนไปตรวจที่สถานพยาบาล นพ.ธเรศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ผู้รับใบอนุญาตผลิต หรือนำเข้าจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ถูกตรวจควรรู้ ก่อนการตรวจ และภายหลังทราบผลการตรวจ โดยอยู่ในภาชนะบรรจุ เพื่อให้กระบวนการให้คำปรึกษามีความชัดเจน ตลอดจนการเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกัน โดยอาจทำในลักษณะขั้นตอนหรือกระบวนการที่ชัดเจน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย. โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศฯ กำหนด “การยุติปัญหาเอดส์ โดยปลดล็อกให้ประชาชนการเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มทางเลือกในการตรวจคัดกรองแทนที่ต้องไปตรวจ ณ สถานพยาบาลเท่านั้น” ทำให้ประชาชนทราบถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีโอกาสป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังบุคคลอื่น แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การตรวจเพื่อรู้สถานการณ์การติดเชื้อเร็วจะทำให้สามารถเริ่มรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย
Post

สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย

จากสถิติในปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประมาณ 440,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน แม้ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจะลดลงมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่กลับพบว่าประชากรบางกลุ่มมีอัตราการติดเชื้อที่สูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานบริการ คนข้ามเพศ เยาวชน และผู้ใช้สารเสพติด นอกจากนี้ คู่นอนและคู่สมรสของประชากรกลุ่มดังกล่าว รวมถึงประชากรข้ามชาติ และผู้ต้องขัง ต่างล้วนมีความเปราะบางต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยุติเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 ด้วยการกำหนดเป้าหมายในระดับประเทศ อันได้แก่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อผู้ใหญ่รายใหม่ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปี ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและกลุ่มประชากรหลัก เพื่อดำเนินการตามนโยบายยุติเอดส์ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการป้องกันและรักษา อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการให้บริการโดยชุมชน ภายใต้หลักการ RRTTR: ซึ่งหมายถึง Reach (เข้าถึง), Recruit (นำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่บริการสุขภาพ), Test (ตรวจหาการติดเชื้อ), Treat (รักษาด้วยยาต้านไวรัส) และ Retain (ทำให้คงอยู่ในระบบ)

วันถุงยางอนามัยสากล 2561
Post

วันถุงยางอนามัยสากล 2561

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงเอชไอวีด้วย โดยจะเห็นได้จากการรณรงค์ที่เข้มข้นในช่วงปี 2532-2544 ส่งผลให้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในพนักงานบริการหญิงสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ปัจจุบัน มีนวัตรรมการป้องกันใหม่ๆ ออกมามากมาย เช่น PEP หรือ Post Exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นยาที่รับประทานหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสเชื้อ หรือยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี, PrEP หรือ PreExposure Prophylaxis หรือการให้ยาต้านไวรัสก่อนการรับหรือสัมผัสเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดย PrEP นั้นสามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบของยากิน หรือสารฆ่าจุลินทรีย์ (microbicides) ในรูปของเจลผสมยาต้านไวรัสใส่ในช่องคลอดหรือทวารหนัก เป็นต้น แม้จะมีนวัตกรรมการป้องกันใหม่ๆ ออกมาก็ตาม เอเอชเอฟเชื่อว่า ถุงยางอนามัยยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อป้องกันการต่อเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพราะถุงยางอนามัยมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง ดังนั้น ทุกๆ ปีเอเอชเอฟทั่วโลกจึงได้จัดงานวันถุงยางอนามัยสากลขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และที่สำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักว่าการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าอาย แต่คือการดูเองตัวเองและมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ สำหรับในปี พ.ศ. 2561 เอเอชเอฟ ได้ร่วมกับ SCB ART Box เพื่อจัดงานวันถุงยางอนามัยสากลหรือ International Condom Day ขึ้น โดยในปีนี้ธีมของงานก็เหมือนเช่นทุกๆ ปี นั่นคือ Always in fashion หรือ “ถุงยางอนามัย ทันสมัยอยู่เสมอ” เพื่อเน้นย้ำว่า ไม่ว่าเราจะมีเครื่องมือในการป้องกันใหม่ๆ อะไรออกมาก็ตาม แต่ถุงยางอนามัยก็ยังไม่เคยล้าสมัย งานในปีนี้เราจัดขึ้นในงาน SCB ART Box ข้างสถานี Airport Rail Link มักกะสัน โดยบรรยากาศในวันนั้นคราครำไปด้วยนักช็อปที่ชื่อชอบบรรยากาศของตลาดฮิปๆ อย่าง ART Box ที่เต็มไปด้วยของสวยๆ งามๆ และอาหารอร่อยๆ บูธของเอเอชเอฟในวันนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ มากมายที่นำนักช็อปในวันนั้นย้อนกลับไปยังอดีตในสมัยที่ถุงช็อบปิ้งลัคกี้ยังคงเป็นที่นิยม ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบงานในวันนั้นว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนสามารถมอบให้กับตัวเองได้เช่นกัน นอกจากกกิจกรรมสนุกๆ และของรางวัลมากมายแล้ว เอเอชเอฟยังมีบริการตรวจเลือดเพื่อหารการติดเชื้อเอชไอวีแบบรู้ผลเร็วอีกด้วย โดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย การตรวจในวันนั้นทำให้หลายคนโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยังไม่เคยตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนได้รู้ว่าจริงๆ แล้วการตรวจเอชไอวีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ดังเช่น เสียงสะท้อนจากน้องนักศึกษาคนหนึ่งในวันนี้นบอกว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าการตรวจเอชไอวีจะง่ายขนาดนี้ แต่ก่อนคิดมาตลอดว่ามันเจ็บและใช้เวลามาก เสียดยที่น่าจะจัดงานนี้ตั้งแต่เช้าๆ จะได้ลองพาเพื่อนมาตรวจด้วย” นั่นคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และเอเอชเอฟจะมุ่งมั่นต่อไปเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ ให้สมกับธีมของวันถุงยางอนามัยสากลที่เอเอชเอฟเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ว่า Always in fashion

Post

กิจกรรมวันเอดส์โลก 2561

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเป็นวันแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในปี พ.ศ. 2524 ทุกๆ ปี มูลนิธิเอดส์เฮ็ลท์แคร์จึงได้จัดงานรณรงค์ขึ้นทั่วโลกเพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เกิดความตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับเอชไอวีได้ ขอเพียงมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่กีดกัน ตีตรา หรือเลือกปฏิบัติ ก็จะช่วยให้นำไปสู่การป้องกันและดูแลรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น ในปี 2561 เอเอชเอฟได้ร่วมกับ ART Box จัดงานวันเอดส์โลกขึ้นที่ตลาดสามย่าน ซึ่งเป็นงานแรกที่ทั้งเอเอชเอฟและ ART Box ได้จับมือกันอย่างเป็นทางการ ตลอดระยะเวลาสี่วัน นอกจากนักช็อปนักชิมทั้งหลายจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารมากมายและสนุกกับการจับจ่ายซื้อสินค้าฮิปๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตลาด ART Box แล้ว นักช็อปกว่าหนึ่งพันคนยังได้ร่วมกิจกรรมที่บูธของเอเอชเอฟที่เต็มไปด้วยเกมมากมายที่ไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชไอวี และการตรวจเลือดอีกด้วย ภายในงานนอกจากบูธกิจกรรมแล้ว เรายังมีบูธตรวจเลือดแบบรู้ผลเร็ว ซึ่งตลอดระยะสี่วันมีผู้รับบริการตรวจเลือดทั้งหมด 229 และแจกจ่ายถุงยางอนามัยไปกว่า 8.000 ชิ้น จริงๆ แล้วการที่เอเอชเอฟจัดให้มีบูธตรวจเลือดกลางตลาดขนาดใหญ่เพราะเราต้องการสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับรู้ว่าการตรวจเลือดเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการดูแลและรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด ซึ่งเจตนาของเราในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จ เพราะเราได้เห็นภาพของแม่ที่พาลูกมาตรวจ เพื่อนพาเพื่อนมาตรวจ พ่อค้าแม่ค้าภายในงานหรือแม้แต่กระทั่งช่างไฟก็ยังให้ความสนใจมาตรวจเลือดที่บูธของเราด้วย จนกระทั่งมีเสียงสะท้อนจากผู้มาร่วมงานว่า “นี่แหละ normalization ของจริง” “ไม่น่าเชื่อว่าจะมีบูธตรวจเลือดอยู่กลางชุมชนที่คนพลุกพล่านขนาดนี้ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ” “นี่แหละคือสิ่งที่เราควรทำ ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การทำงานกับกลุ่มเสี่ยง โปรโมทแต่กลุ่มเสี่ยง แล้วคนทั่วไปจะไปตรวจที่ไหน พี่ไม่คิดว่าจะมีตรวจเลือดที่นี่ด้วยนะ มันเริศมาก” บนเวทีหลักเรายังมีกิจกรรมของเอเอชเอฟ ซึ่งไฮไลต์ของงานเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่เอเอชเอฟได้ให้การ สนับสนุนคนไข้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีครบจำนวน 1,000,000 คนทั่วโลกเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลานั้นนักช็อปนักชิมหน้าเวทีต่างยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพร้อมเปิดไฟเพื่อร่วมฉลองกับเอเอชเอฟ จนทาง ART Box เองถึงกับบอกว่า “ตั้งแต่จัดอาร์ตบ็อกซ์มานอกจาก The Toy ที่ทำแบบนี้ได้ก็มีเอเอชเอฟนี่แหละ” ในวันสุดท้ายเรายังมีไฮไลต์พิเศษ เพราะได้รับคิวจากคุณศานิต ช่างภาพชื่อดัง พร้อมทั้งน้องเป๊กน้องกาย และแม่เอ๋ จากโครงการ Love Lens ที่มาถ่ายทอดมุมมองความคิดดีๆ ที่มีต่อเอชไอวี/เอดส์ ท่ามกลางคนจำนวนมากโดยไม่รู้สึกเลยว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สมกับความตั้งใจที่เราต้องการให้สังคมมองว่าเอชไอวีเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งที่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ขอเพียงมีความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องเท่านั้น เอเอชเอฟจะยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ต่อไปทุกๆ ปี เพื่อช่วยให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคุณได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้สังคมของเราได้ตระหนักว่าความเข้าใจเท่านั้นที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ได้