Category: บทความทั้งหมด

AHF TaLks : ธรรมดามหาศาล Normal is more
Post

AHF TaLks : ธรรมดามหาศาล Normal is more

AHF TaLks: March 2024   “เอชไอวีรักษาได้ ไม่ต้องกลัว ทุกวันนี้สามารถอยู่ร่วมกัน ทานข้าวด้วยกัน ใช้ชีวิตร่วมกันได้ตามปกติ” คำพูดของผู้ใหญ่บ้านที่มีทั้งความจริงใจ เข้าใจง่าย เป็นตัวอย่างของการสื่อสารในชุมชนที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจว่าเอชไอวีไม่ได้ติดกันได้ง่าย ๆ และถึงแม้จะเป็นก็สามารถรักษาได้ ทำให้ปัจจุบันทุกคนในชุมชนใช้ชีวิตและอาศัยอยู่กับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติ พูดคุยกัน กินข้าวกินน้ำร่วมกันได้ ไม่มีใครรังเกียจใคร เพราะเกิดจากความเข้าใจ เปิดใจยอมรับ และให้โอกาสผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน.. จากวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายและธรรมดาของผู้คนในแดนดินถิ่นอีสานในอดีต ต้องพบเจอกับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ย่อมต้องเกิดเป็นความหวาดกลัวเป็นธรรมดา ความท้าทายใหม่เริ่มเกิดขึ้นในชุมชนเมื่อ “เอชไอวี” เข้ามาเป็นบททดสอบใหม่ในช่วงแรก ๆ ในยุคที่ผู้คนล้มตายจากโรคนี้ราวกับใบไม้ร่วง เกิดเป็นภาพจำฝังใจของคนในชุมชนที่ว่า “เอดส์ = เป็นแล้วตาย” AHF Thailand ขอทำหน้าที่กระบอกเสียงในการรณรงค์และส่งเสริมความสำคัญของ “วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านเรื่องราวของความธรรมดาที่มีความหมายและคุณค่าต่อใครอีกหลายคนอย่างมากมาย ในสังคมของการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนในชุมชน เรียนรู้จากอดีตและเติบโตสู่ปัจจุบันจนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความโอบอ้อมอารี ความเข้าอกเข้าใจ เป็นสังคมที่เรียบง่าย ธรรมดา ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และคนในชุมชนต่างมีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่   การตีตรา (Stigma) คืออะไร ? การตีตรานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ที่มีต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลในสังคมที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม นำไปสู่การปฏิบัติที่แสดงถึงการรังเกียจ กีดกัน ทั้งทางสายตา คำพูด การกระทำ ทำให้บุคคลเหล่านั้นถูกแบ่งแยก ถูกจำกัดพื้นที่ทางสังคม หรือที่เราเรียกว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)   “เอดส์” บททดสอบใหม่ในชุมชน ช่วงแรกที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย เป็นช่วงที่คนในสังคมเกิดความหวาดระแวงสูง กลัวติดเชื้อ เกิดการตีตราและรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ บ้านโคกน้อย ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้ “ถ้ามีเพื่อนในหมู่บ้านมาบอกว่าคนนี้น่าจะเป็นโรคเอดส์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง ใครเห็นก็กลัว ก็น่าสงสารอยู่แต่ก็ไม่อยากเข้าใกล้” คุณแม่พิมลศรี ทำสิมมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าถึงสถานการณ์เอชไอวีช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาในชุมชน “คนจะไม่กล้าเข้าใกล้เลย แม้แต่เดินสวนกันก็ต้องเดินไกล ๆ ต้องกลัวไว้ก่อน” คุณแม่นงนุช สีเทา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวจริง ๆ “ญาติพี่น้องรับไม่ได้ เพราะตอนนั้นเอชไอวีเข้ามาใหม่ ๆ บางคนเป็นแล้วก็ปล่อยตัวเอง อยู่ไปตามยถากรรม ยังไม่มีใครเข้ามาช่วย ช่วงนั้นหมอก็กลัวและไม่กล้าเข้าใกล้เหมือนกัน” คุณปุณยวีย์ ฤาชา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกน้อย ย้ำถึงความน่ากลัวของเอชไอวีในขณะนั้น “คนสมัยก่อนถ้ารู้ว่ามีบ้านผู้ป่วยเอชไอวีอยู่ใกล้เขาก็จะไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากเข้าไปใกล้ชิด ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเลย” คุณพิเชฐ พรหมนารท ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน พูดถึงสถานการณ์ตอนนั้นเป็นเสียงเดียวกันกับทุกคน และนั่นคือความจริงที่สังคมต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่ชื่อว่า “เอชไอวี/เอดส์”   สังคมแห่งการไม่ตีตรา น่าสนใจว่า จากวันที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในชุมชน ผู้นำและคนในชุมชนต่างมีการจัดการและรับมือกับเอชไอวีและเอดส์อย่างไร แน่นอนว่าการจะปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนในชุมชนเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี ทัศนคติของคนก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจ เกิดการยอมรับ เห็นอกเห็นใจและให้โอกาสกัน   “แม่ไปอบรมแล้วก็กลับมาคุยให้ทุกคนฟังว่าเอชไอวีมันไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ไปหากันคบกันได้ พอรู้แล้วเราก็รับกันได้ในชุมชน เดี๋ยวนี้เขาก็อยู่ร่วมกันกับเราได้ ก็ธรรมดา คนที่เป็นโรคอื่นก็อาจจะตายไวกว่าโรคเอดส์” คุณแม่นงนุช สีเทา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าถึงจุดเปลี่ยนของตัวเองและชุมชนที่นำไปสู่การไม่ตีตรา “แม่เป็น อสม. รับรู้เรื่องเอชไอวีจากคุณหมอ โรคนี้ถ้าผู้ป่วยมีการเข้ารับการรักษา เราก็สามารถพูดคุยกับเขาได้ ไปกินข้าวกินน้ำ ไปเยี่ยมเขาได้ ไม่กลัวเอดส์เลย” คุณแม่พิมลศรี ทำสิมมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าไปพรางทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ “อสม. ก็กระจายข่าวประชาสัมพันธ์ว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ ไม่ต้องกลัว และก็ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ทุกวันนี้ครอบครัวเขาก็อยู่ด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน ทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันได้ตามปกติ” คุณปุณยวีย์ ฤาชา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกน้อย หมู่ 4 คิดว่าปัจจุบันเกิดเปลี่ยนแปลงไปมาก จากตอนนั้นถ้าใครเป็นแล้วต้องแยกห้องอยู่คนเดียว ใช้ชีวิตเพียงคนเดียวไป “เขาเป็นเราก็ไม่ได้ติดจากเขาง่าย ๆ หรอก สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ให้กำลังใจกันได้ ถ้าเราไปรังเกียจเขา เขาก็จะไม่มีกำลังใจต่อสู้กับโรคของเขา ก็เลยเป็นปกติแล้วทุกวันนี้ คนเป็นไม่เป็นก็อยู่ร่วมกันได้” คุณผ่องศรี โพโน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)...

AHF TaLks : HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส
Post

AHF TaLks : HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส

AHF TaLks: January 2024 Title: HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส Written By: Komon Sapkunchorn   “คนที่อยากทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ตต้องทำให้สุด ไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วจบ เพราะชีวิตคนมันไม่จบง่ายขนาดนั้น ต้องช่วยให้เขาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่และดูแลตัวเองได้” เมื่อพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงได้หรือที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” ก็จะประกอบไปด้วยสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิตามกฎหมาย ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ และความเสมอภาค สิทธิดังกล่าวรวมถึงสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เชื่อว่า..เกือบทุกคนรู้ว่าตนเองมีสิทธิประเภทใด แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้เรื่องนี้.. เพราะคิดว่าถ้าไปโรงพยาบาลจะต้องมีค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายาที่แพง พอเจ็บป่วยจึงไม่อยากไปรักษา… และมีอีกหลายคนที่รู้ว่าตนเองมีสิทธิบัตรการรักษา แต่ก็ไม่มีแม้กระทั่งค่ารถเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล…   AHF Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House) องค์กรชุมชนที่ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่เมืองพัทยามากว่า 16 ปี เมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยประชากรที่หลากหลายทั้งคนไทยและคนต่างชาติ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการสนทนาครั้งนี้ “HON: Health and Opportunity Network (เครือข่ายสุขภาพและโอกาส) เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต (Care and Support) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ดูแลสุขภาพและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดหรือด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เริ่มต้นภารกิจหลักด้วยการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเน้นกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันเพิ่มมิติการทำงานออกไปอีกหลายด้าน เช่น เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ และยาเสพติด ในอนาคตมีแผนจะเปิดให้บริการตรวจเอชไอวีด้วย” พี่ทิดเกริ่นถึงภารกิจของ HON สั้น ๆ เมืองพัทยากับความท้าท้ายในการทำงาน “พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายของประชากรมาก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา และความหลากหลายทางเพศ หลายธุรกิจที่นี่เป็นสถานบันเทิงและธุรกิจขายบริการทางเพศ ในอดีตผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าเข้ามาหางานทำเพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงคนที่บ้าน อาจจะเรียกว่ามา “ตกทอง” ก็ได้ สมัยนั้นพัทยาเปรียบดั่งเมืองซิวิไลซ์ มีงานมีอาชีพให้ทำมากมาย เป็นสวรรค์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มาใช้ชีวิตอย่างอิสระ ได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง แต่สิ่งที่ตามมาและไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ พบการติดเชื้อเอชไอวีสูงในพื้นที่นี้” พี่ทิดย้อนเวลากลับไปเพื่อเล่าให้เห็นภาพพัทยาในขณะนั้น ทำงานกับสาวประเภทสองและเกย์ “เราทำงานกับกลุ่มน้อง ๆ สาวประเภทสองและเกย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มากในพัทยา และองค์กรเราก็เข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุด คิดว่างานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต (Care and Support) มันมีสเน่ห์ ทำให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลากับวิถีชีวิตของเคส เช่น การที่ทีมลงไปทำงานที่โรงพยาบาลก็จะเจอเคสที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ก็จะกลับมาแชร์กัน และช่วยกันคิดหาวิธีหรือแนวทางในการช่วยเหลือ กระบวนการแก้ไขปัญหาเคสต่อเคสที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเติบโตไปกับงานที่เราทำ” เคสหญิงไร้บ้าน ยากที่สุดในการช่วยเหลือ “คือ เคสนี้เป็นหญิงไร้บ้าน อาสาสมัครของเราไปเจอเธออาศัยอยู่ใต้สะพานที่ข้ามไปแหลมบาลีฮาย ช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดด้วย พอทีมเราลงพื้นที่ไปถึง ดูเหมือนเธอจะมีอาการป่วยทางจิตที่เป็นผลมาจากการใช้สารเสพติด เพราะชอบพูดคนเดียว บางทีก็คุยกับเสาไฟฟ้า ประเมินจากภายนอกแล้วน่าจะเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วยเพราะเริ่มมีอาการป่วยบางอย่าง พอได้พูดคุยกันก็รู้ว่าเธอเพิ่งออกจากเรือนจำมาอาศัยอยู่แถวนี้ แล้วก็ขายบริการแบบอิสระด้วย ที่สำคัญเธอไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่รู้ว่าเธอเป็นใครมาจากไหน เคสนี้จึงเป็นเคสที่ยากมาก ๆ ถึงมากที่สุดที่เราเคยเจอมา” แค่เริ่มเรื่องก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เราคิดไม่ออกเลยว่าทีม HON จะเริ่มช่วยเหลือเคสนี้ที่จุดไหนก่อน..   “สิ่งเดียวที่เธอมีติดตัวคือใบประวัติจากโรงพักคล้ายรูปถ่ายผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี พูดหรือสื่อสารได้ยาก เราทำงานกับเคสนี้เป็นปี จุดประสงค์ไม่ใช่แค่พยายามให้เธอได้เข้าสู่ระบบการรักษาเท่านั้น แต่เรายังช่วยให้เธอได้มีบัตรประชาชนเพราะเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้เธอมีสิทธิในการรับการรักษาได้ เราจึงเริ่มจากจุดแรกด้วยการสืบหาญาติ ก็ค่อย ๆ ถามไป เพราะเธอจะเล่าได้เป็นท่อนสั้น ๆ จึงรู้ว่าเคยมีญาติอยู่ที่อำเภอพานทอง เลยรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีเพื่อไปทำบัตรประชาชน พอไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทำให้ไม่ได้เพราะเอกสารที่มีไม่สามารถระบุตัวตนได้” ค้นทะเบียนราษฏร์เพื่อทำบัตรประชาชน “เราจึงไปขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสวัสดิการสังคมเมืองพัทยา เพื่อขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ให้ช่วยค้นหาเอกสารทะเบียนราษฏร์ โชคดีที่เอกสารจากโรงพักมีเลข 13 หลักติดอยู่ด้วย ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าเธอเป็นคนไทยแน่นอน ต่อมาก็พบข้อมูลว่าเธอมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และเคยมีสิทธิรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ขณะที่เธอก็เริ่มมีอาการป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยให้น้องในทีมไปช่วยประสานในการคัดทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอ พร้อมทั้งเตรียมเอกสารของ HON ไปยื่นด้วยเพื่อรับรองว่าเราทำงานด้านนี้จริงและกำลังให้การช่วยเหลือคนนี้ให้เข้าสู่ระบบการรักษาจริง ๆ ในที่สุดเธอก็ได้บัตรประชาชน” พี่ทิดทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กังวลต่อจากนั้นเรื่องแรก คือ บัตรประชาชนจะหายอีกมั้ยถ้ากลับไปอยู่อาศัยที่เดิม เรื่องที่สอง คือ เธอยังไม่ยอมเข้าสู่ระบบการรักษา “เราพยายามพูดคุยเพื่อให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจและไว้วางใจไปเรื่อย ๆ สักระยะหนึ่งจนเธอตัดสินใจเข้ารับการรักษา รวมเวลาเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่ไปเจอ ผ่านช่วงโควิด จนถึงวันที่ได้บัตรประชาชน ได้ยากิน สิ่งที่สำคัญต่อจากนั้น คือ แล้วเธอจะกินยาได้มั้ย ตรงเวลามั้ย และจะเก็บยาที่ไหน” พี่ทิดพูดพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างเอ็นดูกับเคสนี้ ซึ่งเรารับรู้ได้ว่า HON ไม่ได้ทำเพียงเพราะมันเป็นแค่หน้าที่ แต่พวกเขาทำด้วยแพชชั่นที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ๆ นึงให้ดีขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้จริง ๆ นั่นคือสิ่งที่พวกเขายึดมั่นในการทำงานเสมอมา “เราจึงใช้ระบบเดียวกับที่อาสาสมัครของเราไปดูแลเคสอื่น ๆ คือ ช่วงแรกเอายาไปให้เธอกินทุกวัน และนั่งดูด้วยว่ากินจริงมั้ย...

AHF TaLks : คำตอบสุดท้าย…ว่าเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อใคร
Post

AHF TaLks : คำตอบสุดท้าย…ว่าเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อใคร

“การตรวจเจอเอชไอวี ไม่ใช่การตรวจเพื่อหยุด   แต่เป็นการตรวจเพื่อไปต่อ แล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข”   นี่ไม่ใช่คำพูดที่แต่งเติมให้สวยหรู หรือประดิดประดอยขึ้นมาเพื่อสร้างภาพ แต่มันคือคำพูดที่กลั่นออกมาจากใจของคนที่ได้ชื่อว่า “พยาบาล” ในฐานะผู้ให้บริการแก่คนไข้หรือผู้รับบริการ ที่มีความมุ่งหวังให้คนไข้ทุกคนได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น เธอเป็นหัวหน้างานควบคุมโรค และรับผิดชอบงานเอชไอวี/เอดส์ (HIV Co) ด้วย ซึ่งดูเหมือนเป็นตำแหน่งงานที่มีคนสนใจไม่มากนัก “แต่ทุกโรงพยาบาลต้องมี” มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านน่าจะอยากรู้กันแล้ว ว่าทำไมเธอจึงเลือกทำงานนี้ งานที่ท้าทาย และต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าที่หลายคนคิด AHF TaLks ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “เอชไอวีโค” หรือ ผู้ประสานงานด้านเอชไอวีของโรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี คุณฟ้า พรทิพย์ แซ่ลิ้ม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หญิงแกร่งแห่งวงการเอชไอวีอีกท่านหนึ่ง ที่มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ ผู้ที่คิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษา มีเรื่องราวน่าสนใจและมีคุณค่ามากมายเกิดขึ้นที่นี่ และเราจะขออนุญาตเรียกเธอว่า “พี่ฟ้า” เหมือนที่คนไข้เรียก โรงพยาบาลบ้านบึง มีคนไข้เอชไอวีที่อยู่ในการดูแลเกือบ 800 คน แบ่งออกเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ต้องขังเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี ซึ่งในภาพรวมจะมีจำนวณคนไข้เอชไอวีสูงกว่าโรงพยาบาลทั่วไป โดยมีภารกิจหลักในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีผลเลือดเป็นบวกให้เข้าสู่กระบวนการรักษา “คลินิกเอชไอวีจะเปิดให้บริการสัปดาห์ละหนึ่งวัน แต่สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกวัน ซึ่งปกติจะมีคนไข้เข้ามาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุก ๆ วันอยู่แล้ว ส่วนในแต่ละวอร์ดของโรงพยาบาล หากตรวจพบคนไข้ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะส่งเข้ามาที่คลินิกเอชไอวีได้ทุกวัน โดยจะนัดให้พบคุณหมอก่อนที่จะเริ่มการรักษา” พี่ฟ้าเกริ่นให้ฟังถึงภารกิจหลัก   ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไข้เอชไอวี “พี่คิดว่าในแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น เรื่องสิทธิการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมไปถึงค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ประกอบกับในพื้นที่ของเราเป็นเขตอุตสาหกรรม คนไข้ของโรงพยาบาลบ้านบึงจึงเป็นกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิรักษาได้น้อยมาก เมื่อตรวจพบเชื้อเอชไอวีแล้วจะเป็นกลุ่มที่ยากลำบากที่สุดในการเข้าสู่กระบวนการรักษา เริ่มจากเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา เรื่องนี้จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาที่ต่อเนื่อง” “ส่วนปัญหาของคนไข้กลุ่มประชาชนทั่วไปจะอยู่ในช่วงเริ่มและหลังการรักษา ตลอดจนการคงอยู่ในระบบ สาเหตุหลัก คือ ต้องทำงาน ไม่สะดวกมารักษา หลายรายเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งในกรณีนี้ บางรายยังไม่มีสิทธิการรักษาเพราะเพิ่งมาเริ่มงาน บริษัทยังไม่สามารถขึ้นสิทธิประกันสังคมให้ ทำให้มี อัตราคนไข้ที่ขาดการติดตาม (Lost to follow up) เกิดขึ้นบ้างในช่วงจังหวะของการเปลี่ยนผ่าน ก็จะทำให้คนไข้ได้เริ่มยาช้าลง” พี่ฟ้ามีสีหน้าและแววตาที่กังวลเมื่อพูดถึงคนไข้กลุ่มนี้   จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลบ้านบึงและโรงพยาบาลอีกหลายแห่งประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ซึ่งแม้จะเป็นช่องว่างสำคัญที่ผู้ให้บริการหน้างานมักพบเจอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามในการหาทางช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้ลดลง บางครั้งพี่ฟ้าต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าเดินทางให้คนไข้ แต่หลัง ๆ มีคนไข้กรณีนี้มากขึ้นจนไม่สามารถช่วยได้ทุกราย “ช่วงแรกที่ AHF ติดต่อเข้ามาก็ไม่รู้ว่าองค์กรนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร ตอนนั้นพี่เพิ่งจะเข้ามารับผิดชอบงานเอชไอวีได้เพียง 2 ปี เลยไปสอบถามพี่เอชไอวีโคคนเก่าเขาก็บอกว่าไม่รู้จัก เพราะปกติจะทำงานตอบโจทย์ตัวชี้วัดของจังหวัดเท่านั้น เราก็เลยสงสัยว่าเป็นมูลนิธิอะไร จึงเปิดโอกาสให้เข้ามาคุย พอได้ฟังแล้วเหมือนจะเป็นประโยชน์กับคนไข้และผู้รับบริการ ดูแล้วน่าจะช่วยสนับสนุนการทำงานของคลินิกเอชไอวีได้” พี่ฟ้าเริ่มเห็นโอกาสในการช่วยคนไข้ที่ดูแลอยู่ได้มากขึ้น   ทีมจิตอาสา กำลังหนุนสำคัญ “ปกติแล้วพี่ไม่ได้ทำงานคนเดียว มีทีมอาสาสมัครที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาช่วยสนับสนุนงานของคลินิก ไม่ว่าจะเป็นงานติดตาม ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ซึ่งเดิมทีเราไม่มีค่าตอบแทนให้เขาเลย เขาต้องเสียสละหยุดงาน 1 วันต่อสัปดาห์เพื่อมาช่วยงานที่คลินิก นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านคนไข้ที่หายไป หรือไม่มาตามนัด ถ้าจะอาศัยทีมของโรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่สามารถติดตามได้ทั่วถึงแน่ ๆ ตอนนั้นคิดว่าหาก AHF สามารถสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ อาสาเหล่านี้ได้บ้าง ก็จะทำให้เขาอยู่ช่วยงานคลินิกได้นานขึ้น เพราะเขาช่วยเราได้มาก และนั่นจะทำให้ปัญหาคนไข้ที่ขาดการติดตามการรักษา (Lost to follow up) ลดน้อยลง” พี่ฟ้าเริ่มมีรอยยิ้ม   เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง “หลังจากที่ AHF ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของคลินิก สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนไข้ขาดนัดน้อยลงและเริ่มยาได้เร็วขึ้น เพราะภารกิจหลักของเราคือ ต้องการให้คนไข้เริ่มยาได้เร็วที่สุดหลังจากทราบผลเลือด ยกตัวอย่าง เช่น คนไข้บางรายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติสิทธิการรักษา แต่จ่ายค่าตรวจเลือดไปหมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะเริ่มยาได้ยังไง เพราะยาก็ราคาเม็ดละ 30 บาท เราก็บอกคนไข้ว่า ไม่มีปัญหา เราจะเริ่มยาให้ แล้วไปจัดการสิทธิของตัวเองให้เรียบร้อย โดยใช้งบประมาณจาก AHF ช่วยเหลือเขาไปก่อนในครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกว่ายอดการทำโครงการ Same Day ART มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามตัวชี้วัดเลย” พี่ฟ้ายิ้มมากกว่าครั้งแรก นอกจากกรณีแรกแล้ว คนไข้เอชไอวีในเรือนจำก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน บางรายต้องโทษจากที่อื่นและถูกส่งเข้ามาที่เรือนจำ ทำให้สิทธิการรักษาจะยังไม่ย้ายตามมาทันทีในช่วงแรก จึงทำให้กลายเป็นคนไข้ไร้สิทธิโดยอัตโนมัติ “เดิมทีทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองทั้งหมด แต่พอ AHF เข้ามาสนับสนุน เราก็สามารถนำงบประมาณตรงนี้มาช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล เช่น ค่าตรวจรักษาและค่ายา ดังนั้น หากตรวจพบว่าคนไหนมีเชื้อเราก็จะให้เริ่มยาทันที เพราะการอาศัยอยู่ในสถานที่ปิดในเรือนจำอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ง่าย” นี่คือสิ่งที่พี่ฟ้าเน้นย้ำเสมอว่า ทำยังไงก็ได้ให้คนไข้ในเรือนจำได้เริ่มยาเร็วที่สุด   ทำไมถึงเลือกทำงานเอชไอวี ?...

AHF TaLks : คลินิกสายใจ ต่อลมหายใจ ให้ชีวิตใหม่ ใครอีกหลายคน
Post

AHF TaLks : คลินิกสายใจ ต่อลมหายใจ ให้ชีวิตใหม่ ใครอีกหลายคน

“เวลามองคนไข้ HIV เราต้องมองเขาเหมือนคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำให้เขาเป็นคนพิเศษหรือแปลกจากคนอื่น” นี่คือคำพูดของผู้นำองค์กร ที่สะท้อนความคิดในการปฏิบัติและให้บริการกับคนไข้ทุกคนของโรงพยาบาลบางละมุงอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงว่าจะต้องดูแลคนไข้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งในปัจจุบันเอชไอวีเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ และหากคนไข้ที่เข้าสู่การรักษาเร็ว ก็จะสามารถมีชีวิตยืนยาวกว่าบางโรคด้วยซ้ำไป   บทความฉบับนี้ AHF Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลบางละมุงเกี่ยวกับภารกิจและการดูแลงานด้านเอชไอวี ซึ่งโรงพยาบาลตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยว (พัทยา) อาจมีโอกาสที่จะเกิดความชุกของโรคสูงกว่าอีกหลายพื้นที่ บุคลากรทุกท่านของที่นี่มีหัวใจของการเป็นผู้ให้สูงมาก เริ่มตั้งแต่ท่านผู้อำนวยการ คุณหมอ ไปจนถึงพี่พยาบาล ที่ถือเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้งสูงสุดในการทำงาน ทำให้เรารับรู้ได้ถึงพลังบวกตลอดการพูดคุย รู้สึกดีใจแทนคนไข้ทุกคนที่ได้พบเจอและได้รับบริการที่ดีจากโรงพยาบาลแห่งนี้   ท่านแรกที่ได้พูดคุยคือท่าน ผอ. นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง ท่านเล่าให้เราฟังว่าโรงพยาบาลบางละมุงเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นนำในภาคตะวันออกที่นักท่องเที่ยวเชื่อถือ ประชาชนไว้วางใจ มีนโยบายหลักในการพัฒนาการดูแลทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประชาชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ พร้อมทั้งเน้นยุทธศาสตร์การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ โดยยึดมั่นในมาตรฐาน และบริการด้วยน้ำใจ “โรงพยาบาลบางละมุงให้ความสำคัญกับงานด้านเอชไอวี/เอดส์มาก เนื่องจากพื้นที่ของเราเป็นลักษณะพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เฉพาะ มีโอกาสเกิดความชุกของเอชไอวีสูงกว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทย นอกจากการดูแลรักษาแล้ว เรายังเน้นการควบคุมป้องกันการเกิดความชุกของโรค จึงมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาให้มากที่สุด เรามีบุคลากรที่เชี่ยวชาญงานด้านเอชไอวีและมีประสบการณ์สูง สามารถขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนได้” ท่าน ผอ.วิชัย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น   เติมเต็มในส่วนที่ขาด “โรงพยาบาลได้ให้การดูแลรักษาคนไทยและผู้มีสิทธิการรักษาต่าง ๆ แต่ยังมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาเนื่องจากเป็นคนไข้ไร้สิทธิและประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย องค์กรภาคเอกชนรวมถึงมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ก็จะมาให้ความช่วยเหลือคนไข้ในส่วนนี้ อีกทั้งในกรณีที่เป็นคนไทยที่มีสิทธิในการรักษาแต่มีความขัดสนด้านค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าบริการทางการแพทย์บางรายการ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร AHF ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุนส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ต้องขอบคุณ AHF ที่เข้ามาสนับสนุนได้ถูกที่ถูกเวลา ในการดูแลช่วยเหลือคนไข้เอชไอวีโดยเฉพาะผู้ที่เข้าไม่ถึงการรักษา” นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง โดยทั่วไปแล้ว หากผู้บริหารองค์กรมีนโยบายที่ดี แต่ขาดทีมงานที่มีความสามารถและความเข้าใจในเนื้องาน ย่อมจะทำให้งานสะดุดและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอายุรแพทย์ ที่รักษาคนไข้เอชไอวีมากว่า 10 ปี ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วแต่ก็ยังเข้ามาช่วยดูแลรักษาคนไข้เอชไอวีอยู่ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ให้การรักษา “ส่วนใหญ่ผมกับทีมงานจะเจอคนไข้ที่มีความยากลำบากในการเข้าสู่ระบบการรักษา หลัก ๆ เลยคือเรื่องสิทธิ รองลงมาคือเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นี่คือช่องว่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการรักษาและการนัดหมาย ปัจจุบันเรามีคนไข้เอชไอวีกว่า 3,000 คน ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ส่วนตัวรู้สึกสงสารและเห็นใจคนไข้ที่อยากเข้าสู่กระบวนการการรักษาแต่สิทธิไม่ครอบคลุม เช่น ไม่สามารถตรวจเช็คผลเลือดในบางรายการ หรือมีการเจาะเลือดเพื่อประกอบการวินิจฉัย รวมถึงยาบางตัวที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” คุณหมอโหน่ง นายแพทย์ธนากร อรุณงามวงศ์ รองผู้อำนวยการฯ และอายุรแพทย์ พูดด้วยสีหน้าแววตาที่เห็นใจคนไข้จริง ๆ ในบางครั้ง พวกเขาอาจไม่ต้องการหมอที่เก่ง เขาแค่ต้องการหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจเขา รับรู้ว่าเขามีปัญหาอะไร เช่น เรื่องเงิน หรือเรื่องเวลาทำงานที่มักเป็นเวลาเดียวกับที่หมอนัด สิ่งเหล่านี้มักเป็นข้อจำกัดในการรักษาอยู่บ่อยครั้ง คุณหมอจึงพยายามหาหนทางเพื่อช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอหากเทียบกับจำนวนคนไข้   งบประมาณถูกส่งไปถึงคนไข้โดยตรง “ก่อนหน้านี้เราพบคนไข้ที่เป็นโรคฉวยโอกาสมาก แต่หลังจาก 5-10 ปี ที่มีการรณรงค์ให้กินยาต้านไวรัส กินยา PrEP, PEP ตลอดจนการส่งเสริมให้มี One-Stop Service และ Same-Day ART จำนวนคนไข้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสที่ต้องนอนโรงพยาบาลก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับมีโครงการของ AHF เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ บางคนอาจคิดว่าเราเอาไปจัดอบรมหรือกิจกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แต่สำหรับที่นี่ บอกได้เลยว่าโครงการของ AHF มีประโยชน์มาก เราส่งงบประมาณไปถึงคนไข้โดยตรงไม่ว่าจะเป็นการซื้อถุงยังชีพ, เครื่องอุปโภคบริโภค, ค่าใช้จ่ายในการเจาะเลือดเพื่อร่วมการวินิจฉัย, ค่าเดินทางในการมารับการตรวจ ซึ่งทำให้คนไข้ที่ขาดการติดตามกลับมามีกำลังใจเข้าสู่การรักษาได้อย่างต่อเนื่อง และไม่กลัวเอชไอวีอีกต่อไป” คุณหมอโหน่งพูดด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเมื่อพูดถึงคนไข้ที่ท่านได้ให้การช่วยเหลือ   ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด แล้วก้าวไปด้วยกัน “ผมอยากให้ผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคน ปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวีว่าเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ และอยากให้บุคลากรทางการแพทย์คิดว่าเอชไอวีก็เป็นเหมือนโรคธรรมดาทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน หากเป็นแล้วก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เหมือนโรคอื่น ๆ ต้องมีการคัดกรองหรือการอธิบายให้คำปรึกษาที่ดีเพื่อให้คนไข้เข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วที่สุด ส่งเสริมให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ ทั้งนี้ อยากให้สังคมเปิดใจ ให้เขายืนได้ ทำงานได้ เชื่อว่าสังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้น และเอชไอวีก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป” คุณหมอพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวัง นายแพทย์ธนากร อรุณงามวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง และอายุรแพทย์ และอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนำพาคนไข้เข้าสู่ระบบการรักษา คนที่ใกล้ชิดและคอยให้คำปรึกษาคนไข้มากที่สุดก็คือ “พยาบาล” ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องมีความรู้เรื่องเอชไอวีและมีความเข้าใจคนไข้เป็นอย่างมาก เพราะการให้คำปรึกษาของพยาบาลมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การรักษาของคนไข้   “พัทยา” เมืองท่องเที่ยว คนไข้หลากหลาย “คลินิกสายใจจะดูแลคนไข้ 2 กลุ่ม คือ เอชไอวีและวัณโรค เป้าหมายของเรา คือ ต้องการให้คนไข้เอชไอวีเริ่มการรักษาเร็ว...

AHF TaLks : ปฏิบัติอย่างเท่ากัน เพื่อสังคมที่เท่าเทียม
Post

AHF TaLks : ปฏิบัติอย่างเท่ากัน เพื่อสังคมที่เท่าเทียม

“คนที่ติดเชื้อเอชไอวีก็มีพ่อ แม่ พี่ น้อง มีครอบครัวที่ต้องดูแล   ดังนั้น ชีวิตของคนที่ติดเชื้อ กับ คนที่ไม่ติดเชื้อจึงเหมือนกัน   ถ้าหากคุณเลือกปฏิบัติกับเขา ก็จะมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย” ในเดือนมีนาคมนี้ ยังคงอยู่ในห้วงของการรณรงค์ “วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล” ซึ่งทั้งในประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศทั่วโลก ต่างมีการจัดกิจกรรมรณรงค์และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งปีนี้บ้านเราชูประเด็น “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงานหยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมกันแสดงออก ถือเป็นสัญญาณอันดีที่ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน แต่หากได้ฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนทำงานด้านเอชไอวีแล้ว พบว่ายังมีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการขอผลตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานในบางองค์กรและบางหน่วยงานอยู่ นั่นเท่ากับว่า “การเลือกปฏิบัติ” ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย โดยไม่ได้มองคนเป็นคนเท่ากัน ไม่ได้มองคนที่ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ทำงานจริง ๆ   บทความครั้งก่อน AHF Thailand ได้นำเสนอมุมมองของนายจ้างที่ปฏิบัติต่อลูกจ้างและผู้สมัครงานอย่างโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ หนึ่งในองค์กรชั้นนำของไทยที่มีนโยบายเคารพสิทธิและความเท่าเทียมของพนักงานอย่างชัดเจนมากว่า 30 ปี โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้อยู่ร่วมเอชไอวีหรือไม่ ครั้งนี้ เราอยากชวนท่านผู้อ่านมารับฟังมุมมองในฝั่งของลูกจ้างกันบ้างครับ พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ว่าจะมีมุมมองที่เหมือนหรือแตกต่างกับนายจ้างอย่างไร อะไรที่ทำให้การเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้รู้ว่าตนเองมีสุขภาพพร้อมทำงาน แต่หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ขณะที่ผลตรวจสุขภาพควรเป็นความลับเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล   นโยบายที่ล้าหลัง “ผมคิดว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องนี้ สำหรับประเด็นการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดออก เพราะมีแนวคิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระหรืออุปสรรคในการทำงาน ส่วนประเด็นในเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ค่อนข้างคลุมเครือและเปิดช่องว่างให้องค์กรละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยภาพรวมคิดว่าบ้านเรามีปัญหานี้มานานพอสมควร ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน นำมาซึ่งนโยบายการบังคับกีดกันให้มีการตรวจสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ซึ่งกีดกันโอกาสการทำงานของพวกเขา และเป็นนโยบายที่ล้าหลังไปแล้วในปัจจุบัน” คุณอภิวัฒน์ ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและน่าคิด แม้ภาครัฐจะลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเพื่อสร้างการยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยบริษัทหรือนายจ้างไม่มีสิทธิปฏิเสธการรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งมองว่านี่เป็นเพียงแค่นโยบายที่ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องยอมรับความจริงว่ายังคงมีองค์กรที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และเลือกที่จะไม่รับพวกเขาเข้าทำงานด้วยเหตุผลอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสในระดับดีจนไม่พบเชื้อแล้ว สามารถทำงานได้ปกติเหมือนคนอื่น ๆ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า นายจ้าง องค์กร หรือบริษัทมีความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์แค่ไหน   ละเมิดจนเป็นเรื่องปกติ “เขายังไม่ได้ลงแข่งเลย แต่ถูกคัดออกเพียงเพราะว่ามีเชื้อเอชไอวี” “นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังส่งผลกระทบไปยังผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีด้วย นี่คือสิ่งที่ผิดปกติ แต่เราก็อยู่กับความผิดปกติ ความไม่เท่าเทียมและการละเมิดแบบนี้จนเคยชิน โดยมีฐานคิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพราะว่าเขาเป็นนายจ้าง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างทำอะไรกับลูกจ้างก็ได้ คำถาม คือ คุณจะเลือกคนที่ความสามารถ หรือที่ผลเลือด ? และคิดว่านโยบายลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีกับธุรกิจหรือองค์กรที่จะไปตอบโจทย์เรื่องสิทธมนุษยชน” คุณอภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย “คนที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็มีพ่อ แม่ พี่ น้อง มีครอบครัวที่ต้องดูแล ดังนั้น ชีวิตของคนที่ติดเชื้อ กับ คนที่ไม่ติดเชื้อจึงเหมือนกัน ถ้าหากคุณเลือกปฏิบัติกับเขา ก็จะมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย” อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+)   ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังคงมีองค์กรที่มีนโยบายตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานอยู่จริง คุณนิว-พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds & Girls Act Thailand ได้เล่าให้เราฟังถึงเรื่องที่เธอทราบจากเยาวชนที่เธอดูแลอยู่ “สำหรับนายจ้าง หากปฏิเสธที่จะรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน ก็ไม่มีผลอะไร แต่สำหรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ถ้าเขาไม่ได้งานก็จะส่งผลกระทบต่ออีกหลายชีวิตในครอบครัวของเขา ซึ่งน้องส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาจากมูลนิธิ ไม่มีพ่อแม่คอยสนับสนุน นั่นอาจทำให้พวกเขาไม่กล้าไปสมัครงานที่ไหนอีกเลย เหมือนเป็นการบังคับและปิดโอกาสไม่ให้เขาเลือกอาชีพที่สุจริต” “จากการทำงานกับน้อง ๆ เยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้รู้ว่ามีหลาย ๆ องค์กรกีดกันน้องเพราะผลตรวจสุขภาพซึ่งมีผลตรวจเอชไอวีรวมอยู่ด้วย น้องถูกละเมิดในการดูผลตรวจสุขภาพ ทำให้ถูกปฏิเสธในการรับเข้าทำงานโดยไม่แจ้งสาเหตุใด ๆ จึงได้แนะนำน้องให้ไปสมัครงานในองค์กรที่เรามีข้อมูลว่าเขาไม่ขอดูผลเลือด และน้อง ๆ ก็ได้เข้าทำงานที่นั่น ที่ที่ไม่ใช่งานในฝันของพวกเขา” คุณนิว เล่าด้วยน้ำเสียงที่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของน้องๆ ที่ถูกกระทำและเลือกปฏิบัติ “ผมมองว่าในปัจจุบันไม่ควรมีการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานแล้ว มันทำให้หลายคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่สามารถทำงานที่พวกเขาอยากทำได้ ส่วนองค์กรที่ยังมีนโยบายนี้อยู่ก็จะไม่ได้บุคลากรที่มีความสามารถเข้าไปทำงาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม อาจดูเหมือนเป็นบริษัทที่ล้าหลัง ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี ทำให้เสียภาพลักษณ์เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น” อีกหนึ่งเสียงจาก คุณ ป. แกนนำมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds   ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อต้องหยุดตีตราตนเองก่อน “ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ฉันเป็นผู้ติดเชื้อที่กินยาจนสามารถยับยั้งไวรัสให้อยู่ในปริมาณที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว นั่นคือ การไม่พบเชื้อ เท่ากับ การไม่ส่งต่อเชื้อ (U=U) ฉันก็ใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดคุยกับเพื่อนผู้ติดเชื้อด้วยกัน โดยผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดก็คือโรงพยาบาล ที่จำเป็นต้องให้ข้อมูลและจัดบริการที่เป็นมิตรให้กับผู้รับบริการ ทำให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในระบบการรักษาด้วยความสบายใจ ในขณะที่สภาพแวดล้อมนอกโรงพยาบาล เช่น การรับสมัครงานก็ไม่จำเป็นต้องขอผลตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน...

AHF TaLks : ค่าของ “ฅน” อยู่ที่อะไร ?
Post

AHF TaLks : ค่าของ “ฅน” อยู่ที่อะไร ?

ยินดีด้วยค่ะ คุณผ่านการสอบสัมภาษณ์งาน พรุ่งนี้ให้คุณไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลที่เราแจ้ง แล้วนำเอกสารมาส่งในวันเริ่มงานนะคะ… เชื่อว่าประโยคข้างต้นนี้คงทำให้ผู้สมัครงานที่เปี่ยมไปด้วยความหวังหลายคนใจฟูสุด ๆ เพราะนั่นหมายถึงการเดินตามความฝันของเขากำลังจะเริ่มต้นขึ้น ความรู้ความสามารถของเขาที่สั่งสมมาทั้งชีวิตกำลังจะได้นำมาใช้พิสูจน์ตัวเอง แต่ในชีวิตจริงความหวังของบางคนกลับดับลงเพียงเพราะเงื่อนไขการขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะระบุการรับรอง 5 โรค ได้แก่ วัณโรคระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีการแสดงอาการอย่างชัดเจน แต่บางแห่งกลับละเมิดสิทธิของผู้สมัครงานด้วยการตรวจสถานะเอชไอวีโดยไม่สมัครใจ มันยุติธรรมแล้วหรือที่ศักยภาพของคนหนึ่งคนและโอกาสที่เขาจะได้สร้างอนาคตเพื่อดูแลครอบครัวจะต้องถูกปิดกั้นเพียงเพราะกระดาษแผ่นเดียว ?   บทความนี้ AHF Thailand อยากเชิญผู้อ่านทุกคนร่วมคิดอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ในประเด็นการขอผลตรวจเลือด (HIV) ก่อนเข้าทำงาน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร และมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานของคน ๆ หนึ่ง  เราได้รับเกียรติจาก คุณสุวัฒน์ วงศ์โชติวัฒนา ผู้อำนวยการภาคพื้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลประจำประเทศไทย กัมพูชา และมัลดีฟส์ ของเครือไฮแอทที่นอกจากจะยึดมั่นเคารพสิทธิและความเท่าเทียมของพนักงานทุกคนแล้ว ยังเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่มีนโยบายไม่ขอดูผลเลือดของพนักงานมากว่า 30 ปี อะไร…ที่ทำให้โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ กล้าที่จะคิดต่างจากองค์กรอื่นในยุคที่เอชไอวีและเอดส์กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ? ไฮแอทมีธุรกิจโรงแรมทั่วโลก  สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มก่อตั้งเมื่อ 31 ปี ที่แล้ว ปัจจุบันมีโรงแรมชั้นนำหลายแห่ง เช่น โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี กรุงเทพฯ หัวหิน สมุย และภูเก็ต เป็นต้น มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติทำงานที่นี่ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ อายุ สถานศึกษา วุฒิการศึกษา ทุกคนเป็นพนักงานเท่าเทียมกับหมด ไม่มีคำว่า ผมเป็นผู้บริหาร หรือคุณเป็นลูกจ้าง เพราะวัฒนธรรมองค์กรของไฮแอทให้ความสำคัญในเรื่องการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม “แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ เราเป็นองค์กรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือ Cross Culture ไม่ว่าพนักงานจะศาสนาอะไรก็ตาม แต่เราขอให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถสื่อถึงอัตลักษณ์ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร มีการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและการเติบโตในสายงาน โดยไม่ได้พิจารณาที่วุฒิการศึกษาเป็นหลัก แต่เราดูที่ความสามารถของพนักงานว่ามีศักยภาพพอมั้ย ยกตัวอย่างน้อง ๆ ชาวเขาที่เรารับมาจากภาคเหนือ ปัจจุบันเป็นถึงซูส์เชฟ (Sous Chef) ซึ่งเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าแผนกครัวเลยทีเดียว” คุณสุวัฒน์ เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของพนักงานคนนั้น และอีกหลาย ๆ คน   จากวันนั้นถึงวันนี้ 30 ปี กับนโยบายไม่ตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ในยุคนั้นการดำเนินธุรกิจไม่เพียงแต่สายงานโรงแรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีและเอดส์ ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ขณะนั้นโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เริ่มก่อตั้งในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2535 เรื่องเอดส์เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย มีคำพูดฮิตติดหูว่า “เอดส์เป็นแล้วตาย” เป็นโรคที่คนไทยกลัวที่สุดในสมัยนั้น “ตอนนั้น แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (Thailand Business Coalition on AIDS: TBCA) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ตอกย้ำความชัดเจนให้กับนโยบายด้าน HR ของเรา ที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยเราเชื่อว่าศักยภาพและความสามารถของพนักงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลเลือด และมันก็เป็นจริงเช่นนั้นเสมอมา เราไม่เคยขอดูผลเลือด (HIV) ของพนักงานมา 31 ปีแล้ว และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้คนดีมีความสามารถเข้าทำงาน” “หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายนี้ เริ่มต้นจากการที่ผมตระหนักว่าการแก้ปัญหาต้องเน้นไปที่การป้องกันไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ จึงได้เสนอให้ผู้บริหารได้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมให้พนักงานทุกคนได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี ซึ่งผู้บริหารได้ตอบรับข้อเสนอนี้ ผมจึงได้เชิญ ดร. สุปัญญา ล่ำซำ ผู้อำนวยการสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) ในขณะนั้น มาบรรยายให้ความรู้ด้านเอชไอวีกับผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งหลังจากจบการบรรยาย ทุกคนมีความเข้าใจเรื่องเอชไอวีมากขึ้น และรู้ว่าโรคนี้ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ สามารถใช้ชีวิตได้ ทำงานร่วมกันได้”   “พนักงาน” คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอันดับหนึ่ง ในยุคเริ่มต้นของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ในประเทศไทย ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง “เรามองว่าพนักงานของเราคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอันดับแรกขององค์กร เพราะถ้าไม่มีพนักงาน เราก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น เราจึงดูแลพนักงานของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้เขาได้ส่งต่อการดูแลลูกค้าของเราได้ดีที่สุดเช่นกัน” คุณสุวัฒน์ เล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น  คุณสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เครือไฮแอทของเรามีวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า “Our company purpose” คือ We care for people so they...

AHF TALKS : อนาคต Sex Work  ในวันที่เรามองคน “ไม่” เท่ากัน
Post

AHF TALKS : อนาคต Sex Work  ในวันที่เรามองคน “ไม่” เท่ากัน

…เรากล้าที่จะมองคนทุกคน..เป็นคน “เท่ากัน”  รึเปล่า ?   เมื่อ Sex work คืองานอาชีพหนึ่ง ดังนั้น คนที่เป็น Sex worker ก็ควรจะได้รับสิทธิพื้นฐานเทียบเท่ากับคนที่ทำงานอาชีพอื่น ๆ หรือไม่ ? นี่คือคำถามที่อยู่ในใจคนที่ประกอบอาชีพนี้ ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็คือ “อาชีพขายบริการทางเพศ” ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง และในบ้านเรายังถือว่าเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะดีกว่าไหม ? ถ้าทำให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ในเมื่อเขาใช้ร่างกายของเขาในการประกอบอาชีพ และไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้อื่น เมื่อต้นเดือนธันวาคม AHF Thailand มีโอกาสได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ในหัวข้อ “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน อนาคต Sex Worker ประเทศไทย” ประกอบกับวันที่ 17 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อยุติความรุนแรงต่อพนักงานบริการ (International Day to End Violence Against Sex Workers) งานนี้จึงถูกจัดขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้สังคมไทยรู้ว่ายังมีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคมของเรา เราเคยสงสัยไหมว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้พวกเขาเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป..   ในเมื่ออาชีพงานบริการมีหลากหลายประเภท และหนึ่งในนั้นคือ “อาชีพขายบริการ” ถ้าพูดกันตรง ๆ มันก็คืออาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง แต่สังคมไทยเราเปิดใจยอมรับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เราทุกคนรับรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ทั่วทุกหนแห่งบนโลกใบนี้ แต่ด้วยกำแพงมายาคติแห่งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม ทำให้เราเลือกที่จะซุกเรื่องนี้ไว้ใต้พรมมาช้านาน ซึ่งถูกกฎหมายตีตราว่า การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ผิด แต่ทำไม ผู้ซื้อบริการกลับไม่มีความผิด ? นี่คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิและเสรีภาพในการประกอบสัมมาอาชีพ นำมาสู่การที่เรามอง “คน” ไม่เท่ากัน “ในเส้นทาง 32 ปี ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพี่น้อง sex worker จะเห็นความยากในทุกมิติ จนมาถึงจุดหนึ่งที่เราเสนอให้นำเรื่องนี้ขึ้นมาบนดิน ก็จะมีเสียงสะท้อนกลับมาหนาหูว่า ต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนค้าประเวณีหรือ ? อยากให้ประเทศเป็นที่น่าอับอายมากกว่านี้หรือ ? ซึ่งในความเป็นจริงก็มีพี่น้องในผับบาร์ที่ยืนขายบริการอยู่ มีคนได้ประโยชน์ แต่ไม่สามารถพูดได้เลย เชื่อว่าท่ามกลางความยากนี้ มันต้องมีหนทางให้เราไปต่อ” คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา แม้รู้ว่าหนทางนี้ยากลำบากแค่ไหน แต่เราเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กรที่ทำงานด้านนี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่น่ากังวลอีกต่อไป ขอเพียงแค่เราจับมือกันเดินหน้าทำงานต่อ จนกว่าจะถึงวันที่ “ปลดล็อก” ให้กับพี่น้องพนักงานบริการได้ แต่กลับเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย   พิษโควิด ทุบเศรษฐกิจพัง Sex worker ตกงาน ต้องยอมรับว่าในช่วงที่โควิดกระหน่ำเข้ามาในบ้านเรา ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงชาวบ้านตาดำ ๆ ต่างได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายคนที่รอด และมีอีกหลายคนที่ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “ทันทีที่ได้รู้ว่าพี่น้อง sex worker ได้รับผลกระทบจากโควิด และกลายเป็นคนตกงานทันทีหลังจากสถานบริการปิดตัวลง ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน จึงได้จัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อพนักงานบริการ COVID-19’ ขึ้นมาในนามของ SWING เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพี่น้อง sex worker ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ปรากฎว่ามีผู้บริจาคเข้ามารวดเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เราจึงรู้ว่าสังคมไทยมีคนใจเปิดเยอะมาก พร้อมให้การช่วยเหลือโดยไม่มีการตีตราหรือประณามใด ๆ ต้องบอกว่าเครือข่ายที่คนไทยช่วยเหลือกันเองนี้ ทำให้พี่น้องเรารอดจากวิกฤติครั้งนั้นมาได้”   คนขายผิด แต่ทำไมคนซื้อไม่ผิด ? พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ให้ความหมายของ “การค้าประเวณี” ไว้ว่า “การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำ และผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ” ซึ่งถ้าอ่านทั้งฉบับแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ผู้ที่ขายบริการจะมีความผิด แต่ผู้ซื้อบริการจะไม่มีความผิดที่ชัดเจน ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นข่าว คนที่ไปซื้อบริการทางเพศถูกจับ “เราคิดว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และสังคมส่วนหนึ่งก็ยอมรับที่มันเป็นแบบนี้ พี่น้องที่เข้ามาทำงานนี้เพราะว่าเขาต้องการมีงานทำ ต้องการมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว เขาใช้เนื้อตัวร่างกายของเขา และพยายามรับผิดชอบตัวเองไม่ให้เป็นภาระของสังคม แต่ทำไมสิ่งที่ sex worker ทำ ถึงเป็นสิ่งที่ผิด และก็มีคนมาเก็บเบี้ยบ้ายรายทางกับเขา ส่วนใหญ่พี่น้อง sex worker คิดที่จะทำอาชีพนี้ชั่วคราวเพื่อเก็บเงิน แต่เท่ากับว่ากฎหมายนี้ยืดอายุให้เขาถูกกฎขี่ และต้องอยู่ในอาชีพนี้นานขึ้น”...

AHF TALKS : อนาคตเยาวชนไทยกับเป้าหมายการยุติเอดส์
Post

AHF TALKS : อนาคตเยาวชนไทยกับเป้าหมายการยุติเอดส์

หากเราลองมองลึกลงไปในระดับชุมชนและสังคม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเยาวชนไทยช่วงอายุ 15-29 ปี ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง สาเหตุและสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พฤติกรรมทางเพศของเยาวชนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยและไม่ปลอดภัย จากข้อมูลยังพบอีกว่า มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำกว่าเป้าหมายในกลุ่มนักเรียน และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วทั้งโลกยังคงต้องทำงานหนักเพื่อยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเยาวชน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมากเพราะเราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 ปี ในการทำงานเพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2030 ตามที่ประชาคมโลกร่วมกันตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อพูดถึงเรื่องของเยาวชน หนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ AHF Thailand ที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง นั่นก็คือ “ลิตเติ้ลเบิร์ด” ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณนิว พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds และผู้ประสานงานโครงการ Girls Act ของ AHF ที่ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว เธอยอมรับว่าปัจจุบันยังพบปัญหาของเยาวชนกับเอชไอวีหลายข้อที่องค์กรยังต้องทำงานหนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างของคนทำงาน ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดยังคงเดินหน้าเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด   “ปัญหาส่วนใหญ่ที่ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดเจอในเยาวชนโดยเฉพาะเพศหญิง คือ เคสที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่เด็กและเติบโตมาจากสถานสงเคราะห์ เคสที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และเคสที่ติดยาเสพติด หลายเคสที่ครบกำหนดออกจากมูลนิธิหรือสถานสงเคราะห์ไปแล้วมักจะเจอปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เพราะสถานที่แรกที่น้อง ๆ เยาวชนที่เป็นผู้หญิงเหล่านี้จะไปอยู่อาศัยคือบ้านแฟน และกลายเป็นปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวตามมา” ปัญหาเหล่านี้คือเรื่องจริงที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งคุณนิวบอกว่าช่วยกันคิดและหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่ตลอด แต่ก็ยังไม่เจอวิธีที่ทำให้ปัญหานี้หมดไป แม้จะมีท้อบ้าง แต่เมื่อเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วก็ตั้งใจว่าจะทำเต็มที่ เพราะอยากเห็นเยาวชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ในชุมชนที่นิวอาศัยอยู่ จะมีทั้งเพื่อนและคนรู้จักที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่กล้าไปหน่วยบริการชุมชน เพราะกลัวว่าจะเจอคนรู้จัก หรืออาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะกลัวคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น MSM ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด นิวก็จะเข้าไปคุยกับเค้าให้คำแนะนำและข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง โดยสัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับ จนเค้าไว้ใจเราก็พาไปตรวจและเข้าสู่กระบวนการรักษา” เมื่อการทำงานมีทั้งเรื่องที่ง่ายและเรื่องยาก แต่คุณนิวก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคนั้น ตรงกันข้าม ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานมากขึ้น เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้ก้าวข้ามฝันร้าย หรือตราบาปในชีวิตของพวกเขา สมดังที่เธอตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่นี่ ปัญหาเยาวชนหยุดกินยาต้าน “อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เจอคือ น้องที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายคนเมื่อออกจากมูลนิธิไปแล้ว หยุดยากันเยอะมาก จากสถานะสีเขียวกลายไปเป็นสีเหลือง และจากสีเหลืองกลายเป็นสีแดง เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก เราจึงออกไปหาน้อง ๆ เหล่านี้ และได้คำตอบว่า ส่วนหนึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเขายอมทำงานเพื่อให้มีรายได้เป็นรายวัน แลกกับการไปหาหมอเพราะคิดว่าเสียเวลาทั้งวัน แถมไม่ได้เงิน” “อีกสาเหตุหนึ่งเพราะสภาพแวดล้อม เช่น เพื่อนร่วมงานในสถานบันเทิงที่มีค่านิยมว่ากินยาต้านแล้วรู้สึกว่าป่วย สุขภาพแย่ลงกว่าตอนไม่กิน รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับแขกแบบไม่ป้องกัน เพราะเพื่อนบอกต่อ ๆ กันมาว่า เคยมีอะไรกับแขกคนนี้มาแล้ว แต่ไม่เห็นติดเชื้อหรือมีอาการป่วย” จะเห็นได้ว่าทัศนคติของเยาวชนเหล่านี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก หากปล่อยให้เด็กมีค่านิยมผิด ๆ ต่อไป การยุติเอดส์ภายในปี 2030 ก็คงเป็นแค่เป้าหมายลอย ๆ ซึ่งในเคสลักษณะนี้ ทีมลิ้ตเติ้ลเบิร์ดต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยและติดตามน้อง ๆ กลุ่มนี้ถึงหน้างาน (สถานบันเทิง สถานที่ทำงาน) เป็นระยะเวลานานและใช้งบประมาณไปมากพอสมควร จนได้มาซึ่งความไว้ใจ ได้คำตอบ และคำมั่นสัญญาว่าจะมาตรวจสุขภาพปีละครั้ง นั่นคือความสำเร็จสเต็ปแรกที่ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดทำได้ เคสที่ทำให้ยังคงต่อสู้เพื่อชุมชน “ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงาน นิวตั้งใจว่าจะทำงานเพื่อเยาวชนไปจนกว่าโรคเอดส์จะหมดไป ถ้าถามถึงเคสที่เป็นแรงบันดาลใจ ขอเลือกเคสที่ยากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา คือ น้องผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบันอายุ 19 ปี แล้ว คบกับแฟนที่มีอารมณ์รุนแรง ทำให้น้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด ตกอยู่ในสภาพปางตายหลายครั้งแต่เลิกกับแฟนไม่ได้ นิวเข้าไปช่วยน้อง ไปเอาน้องออกมาจากตรงนั้น แต่น้องก็กลับไปคบกันเหมือนเดิม เราให้คำปรึกษาน้องทุกวัน ๆ จนรอบที่ 4 ตัดสินใจว่าจะไม่ช่วยแล้ว สุดท้ายน้องตัดสินใจเดินออกมาเอง มาขอบคุณเราที่ทำให้รู้ว่าเขาเป็นอะไรบ้าง และสัญญาว่าจะไม่กลับไปอีก นิวได้ยินแบบนั้นก็ใจฟูอย่างบอกไม่ถูก มันทำให้เราคิดได้ว่าที่ทำมาไม่เสียเปล่า แถมเป็นแรงผลักดันให้เราคิดจะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป” อนาคตการทำงานด้านเอดส์กับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน “จากสถานการณ์ที่พบในปัจจุบันคิดว่าการทำงานด้านเอดส์กับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนยังเป็นงานที่ยากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตน้อยกว่า วุฒิภาวะและข้อมูลความรู้ประกอบการตัดสินใจที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยังคงเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถทลายลงได้ แต่ลิตเติ้ลเบิร์ดจะยังคงทำงานต่อไป และจะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับโรคเอดส์ ตราบใดที่ยังมีเป้าหมาย ยังมีทุนจากผู้สนับสนุนในระดับประเทศและระดับโลก” กองทุนโลกกับภารกิจด้านเอชไอวี “ในฐานะที่ลิตเติ้ลเบิร์ดทำงานด้านเอชไอวีกับเยาวชน อยากให้กองทุนโลก (Global Fund) สนับสนุนเงินทุนให้หลายประเทศทั่วโลกได้ทำงานเพื่อต่อสู้กับเอชไอวีและโรคเอดส์ต่อไป เพราะถ้าไม่มีกองทุนนี้ ก็จะไม่มีคนทำงานด้านนี้ และอาจทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้” คุณภาพยาดีขึ้น แต่ทำไมคนไม่กิน ? แม้ว่าปัจจุบันจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของเป้าหมายการยุติเอดส์ในปี 2030 แล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 ปี แต่คุณนิวเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ความสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 90% จะไปถึงจุดที่ U=U  (Undetectable = Untransmittable) ซึ่งหมายถึงไม่พบเชื้อเท่ากับไม่แพร่เชื้อ “ตอนนี้ เรายังเจอปัญหาที่ว่า แม้ปัจจุบันมีการผลิตยาต้านไวรัสที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ทำไมพบว่ามีจำนวนคนที่หยุดกินยาหรือไม่กินยังคงมีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีค่านิยมในการหยุดกินยา รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยและไม่ปลอดภัย จะมีการให้ความรู้อย่างไร การดูแลเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้ออย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องนำไปศึกษาร่วมกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป” แม้ว่าลิตเติ้ลเบิร์ดจะเป็นองค์กรเล็ก ๆ...

AHF TALKS : We will fight till the end of HIV/AIDS
Post

AHF TALKS : We will fight till the end of HIV/AIDS

ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี หลายคนเป็นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถขององค์กร หลายคนทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทำประโยชน์ให้กับคนในสังคม เราต่างรับรู้ได้ถึงความเท่าเทียม เราต่างเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน แต่กว่าที่สังคมไทยจะมาถึงจุดนี้ไม่ง่ายเลย มีเรื่องราวมากมายในอดีต ที่ต้องอาศัยความเสียสละของคนรุ่นก่อน ตลอดจนการทำงานหนักในการผลักดันสิ่งต่าง ๆ  เพื่อวางรากฐานสิทธิการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างเป็นรูปธรรมมาจนถึงทุกวันนี้   AHF Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย หนึ่งในแกนนำยุคแรกที่ทำงานด้านเอชไอวี ซึ่งคุณอภิวัฒน์ได้ให้ฉายาตนเองแบบติดตลกว่า ตนเป็นมารร้ายในสายตาใครหลายคน ไม่มีใครอยากให้ไปเยี่ยมเยียนเท่าไหร่ เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบหรือติดตามงาน คุณอภิวัฒน์เล่าว่าในยุคแรก ๆ ที่เชื้อเอชไอวีเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้สร้างความสับสนให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก “ในอดีตเราอยู่กับความไม่เข้าใจเรื่องเอดส์พอสมควร ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ หลายคนสูญเสียโอกาสในการรับการรักษา เพราะยามีราคาแพงมาก และยังไม่มีแผนการรักษาหรือระบบการดูแลอย่างชัดเจน จะเห็นว่าผู้ติดเชื้อจะถูกนำไปทิ้งไว้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานสงเคราะห์และวัด นำมาซึ่งความหวาดกลัว และการรังเกียจกีดกัน” การสื่อสารผิดวิธีทำให้เกิดการตีตรา “เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีการสื่อสารที่ทำให้คนหวาดกลัวโรคเอดส์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้มีผลกระทบระยะยาวตามมา ซึ่งเรื่องเอดส์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทางเพศในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย เมื่อสังคมตีกรอบแบบนี้ จึงทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ” สิ่งที่คุณอภิวัฒน์เล่านั้น สามารถสะท้อนมุมมองของคนในสังคมยุคนั้นได้ว่า โรคเอดส์เป็นโรคน่ารังเกียจ เป็นแล้วตาย เกิดจากความสำส่อนทางเพศ และไม่อยากข้องเกี่ยวด้วย แต่มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลรักษา เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปให้นานที่สุด “ในอดีต ผมและเพื่อน ๆ เชื่อในเรื่องการเป็นเจ้าของปัญหา เอชไอวีไม่ควรเป็นเรื่องของกลุ่ม Key populations เท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องของเราทุกคน จึงล้มลุกคลุกคลานร่วมกันต่อสู้และผลักดันเชิงนโยบาย โดยมีเป้าหมายในการเข้าถึงสิทธิการรักษาและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยการเคารพในความเท่าเทียม จากเป้าหมายแรก ๆ คือ จากที่ไม่มียา ก็ทำให้มียา จากราคาที่แพงก็ต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรทำให้ยามีราคาถูกลง”   อีกหนึ่งความสำเร็จที่ภาคภูมิใจของคุณอภิวัฒน์ คือ การต่อสู้เพื่อให้มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการต่อสู้จนมียาต้านไวรัสเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อทุกคนในประเทศให้เข้าถึงระบบการรักษาอย่างดีที่สุด “ปัจจุบันการเข้าถึงสิทธิการรักษาของไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ มีสูตรยาตัวใหม่ อันเนื่องมาจากการทำงานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่บูรณาการร่วมกัน แต่เรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้นเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถทำให้หมดไปจากสังคมไทยได้ แม้จะมีองค์กรรัฐและเอกชนหลายแห่งจะประกาศนโยบายไม่ต้องตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานแล้วก็ตาม” แม้ว่าปัจจุบันจะมีการรักษา การให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้ออย่างทั่วถึง แต่ก็ยังมีคนที่หายไปจากระบบ (Lost to follow up) อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย นี่อาจเป็นหนึ่งในรอยรั่ว (Gap) ที่ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ “ควรต้องมีแผนการติดตามอย่างจริงจัง ว่าทำไมถึงหายไป เพราะชีวิตคน ๆ นึง มีหลายมิติ หลายปัจจัย มิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบ เช่น ความไม่สบายใจในการกินยา สูตรยาเป็นมิตรได้มาตรฐานตามแนวทางของประเทศหรือไม่ หรือปัญหาสภาพเศรษฐกิจทางบ้าน เป็นต้น แกนนำและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต้องช่วยกันออกแบบระบบการดูแลคนเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”   ผู้ติดเชื้อ สีแดง สีเหลือง สีเขียว “ตัวระบบบริการควรส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อให้สามารถดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้ เราจะออกแบบระบบนี้อย่างไร ซึ่งอาจต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อออกเป็นกลุ่มให้ชัดเจน เช่น กลุ่มสีแดง คือ กลุ่มที่มาใหม่ มีปัญหาความทับซ้อนเรื่องโรคฉวยโอกาส และต้องอาศัยการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่พัฒนาขึ้นมาจากสีแดง ซึ่งระบบจะต้องออกเป็นให้เขาพัฒนาไปเป็นสีเขียวให้ได้ กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากสีแดงและสีเหลือง มีความรับผิดชอบในการกินยา สามารถจัดการชีวิตคนเองได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อมีการวิเคราะห์โดยแบ่งผู้รับบริการออกเป็นประเภทอย่างชัดเจนแล้ว จะนำไปสู่การออกแบบระบบให้บริการที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างแท้จริง” นอกจาก 3 กลุ่มนี้ คุณอภิวัฒน์ยังเสนออีกกลุ่มที่ไม่มีสี คือ กลุ่มคนที่ Lost to follow up ซึ่งจะต้องมีระบบการให้บริการที่พิเศษกว่า 3 กลุ่มแรก ปัจจุบันแกนนำกลุ่มผู้ติดเชื้อกำลังทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาของคนกลุ่มนี้ และนำไปออกแบบระบบบริการที่ตรงความต้องการ สามารถลดจำนวนของผู้รับบริการที่หายไปจากระบบได้มากขึ้น เสนอให้มี 95 ตัวที่ 4 “95 ตัวที่ 4 นี้ เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในระบบได้อย่างมีความสุข และช่วยแก้ปัญหา  Lost to follow up เช่น คนที่ขึ้นเลข NAP แล้วหายไปไหน และเราจะติดตามคนเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบได้อย่างไร จำเป็นต้องวิเคราะห์และออกแบบระบบบริการให้ตอบโจทย์และทำให้เขาเห็นว่า การเข้าถึงการรักษาจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้อย่างไร” คุณอภิวัฒน์เล่าให้เราฟังว่า มีความสุขที่ได้เห็นการเข้าถึงการรักษา ทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน “ผมเห็นผู้ติดเชื้อหลายคนมีอายุยืนยาวและสูงวัยกันเยอะมาก และเขาใช้ชีวิตอยู่ได้ภายใต้บริบทที่เขาอยู่ มีลูกมีหลาน เด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อตั้งแต่แรกเกิดก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเขาก็ไม่ตาย เขาก็อยู่ได้นะ” ข้อจำกัดของการทำงานด้านเอชไอวี “ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนคนทำงาน ประเทศไทยมีกลไกคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ เรามีคณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่เป็นกลไกที่ไม่ได้มีงบประมาณในการทำงาน เป็นลักษณะกลไกแบบงานวิชาการและราชการพอสมควร ถึงแม้จะมีภาคประชาสังคมร่วมในคณะก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลให้เราต้องพึ่งพางบประมาณจากต่างประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน” กองทุนโลกเข้ามาเติมเต็มการทำงานภาคประชาสังคม “องค์กรที่จัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนกลไกการทำงานด้านเอชไอวีให้กับองค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ และกองทุนโลกก็เป็นหนึ่งในงบประมาณมาให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด...

AHF TALKS : ยุติเอดส์ปี 2030 เป้าหมายสำคัญของประชาคมโลก
Post

AHF TALKS : ยุติเอดส์ปี 2030 เป้าหมายสำคัญของประชาคมโลก

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) ให้หายขาดได้ และยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ยังไม่ได้รับยาต้าน ที่น่าเป็นห่วงคือหลายคนไม่รู้สถานะตนเอง ทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อไปยังผู้อื่น ประชาคมโลกจึงได้ร่วมกันตั้งเป้ายุติการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งประเทศไทยเอง ก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” และสอดคล้องกับเป้าหมาย 95-95-95 ภายในปี พ.ศ. 2573 AHF Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยมาเกือบทั้งชีวิต คุณพร้อมบุญได้เล่าถึงความสำคัญในการสานต่องานของ Care International (ประเทศไทย) จากอดีตจนกลายมาเป็นมูลนิธิรักษ์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย   “เมื่อ 40 ปีที่แล้วเราคือ องค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศกัมพูชาและขยายขอบเขตการดำเนินงานเรื่อยมา จนเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิรักษ์ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยยังคงสานต่องานขององค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย” “ปัจจุบันองค์การแคร์ดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชนทั้งในประเทศและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสากลในระดับโลก มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ประชาคมเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิความเสมอภาค สามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนด้อยโอกาส ชุมชนยากจน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในงานพัฒนา” มูลนิธิรักษ์ไทยมีภารกิจที่สอดคล้องกับภารกิจของ AHF Thailand ในงานด้าน HIV/AIDS ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักเพื่อตรวจหาเชื้อและพาเข้าสู่การรักษาโดยเร็วที่สุด โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ “การยุติเอดส์ภายในปี 2030” ซึ่งหลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า จะยุติเอดส์ได้จริงหรือ ? “UNAIDS เริ่มวิตกว่าการยุติเอดส์อาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่องานด้าน HIV/AIDS ทำให้หลายประเทศคิดว่า การยุติเอดส์อาจมีแนวโน้มไม่สำเร็จตามเป้าหมาย” ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สูงมาก ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถชะลอผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ซึ่งในการทำงานก็จำเป็นต้องมีงบประมาณเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ PR ประเทศไทย “ในอดีตประเทศไทยมีองค์กรที่เป็นแหล่งทุนภาคประชาสังคมน้อยมาก มูลนิธิรักษ์ไทยจึงสมัครเป็นผู้รับทุนหลัก (Principal Recipient : PR) กับกองทุนโลก (Global Fund) ตั้งแต่การระดมทุนรอบที่ 2 โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลไกความร่วมมือในประเทศ (Country Coordinating Mechanism: CCM) เพราะต้องการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและบทบาทสำคัญในฐานะ PR ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือครอบคลุมไปถึง Key populations ที่สำคัญอีกหลายกลุ่ม เช่น ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ” คุณพร้อมบุญเล่าให้ฟังว่า Global Fund เป็นองค์กรทุนนานาชาติเดียวที่ยืนหยัดมุ่งมั่นในการยุติโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากแหล่งทุนอื่นที่มักเป็นระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 3 ปี ประกอบกับการมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) หลากหลายกลุ่มเข้ามาช่วยพัฒนาโครงการ “Global Fund เน้นเรื่องความโปร่งใสของการนำงบประมาณไปใช้ แต่ละโครงการจะมีการชี้แจงรายละเอียดในเอกสารงบประมาณที่มีความละเอียดกว่า 300 รายการ ซึ่งเราได้ทำตามมาตรฐานอย่างเต็มที่จนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเหตุผลที่รักษ์ไทยให้คุณค่าและความสำคัญกับ Global Fund” “ในแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศก็จะมีบริบทและความสามารถแตกต่างกัน ซึ่ง Global Fund จะมีกลไกให้แต่ละประเทศวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง เช่นในไทยเองมีความพร้อมเรื่องการรักษา มียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาวัณโรคเพียงพออยู่แล้ว Global Fund จึงให้งบประมาณสนับสนุนงานเชิงรุกด้านการเข้าถึงประชากรหลักที่ไทยยังเข้าถึงได้น้อย” บทบาทภาคประชาสังคมต่อการยุติเอดส์ “ปัจจุบัน Global Fund ได้กำหนดให้แต่ละประเทศมี PR แค่ 2 ประเภท คือ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ (ในประเทศไทย คือ กรมควบคุมโรค) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 PR ได้รับทุนและร่วมกันขับเคลื่อนงานมุ่งไปสู่เป้าหมายการยุติเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย และนี่ถือเป็นบทบาทสำคัญของรักษ์ไทยในฐานะ PR ของภาคประชาสังคม” เมื่อรักษ์ไทยทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในระดับสากล ก็ย่อมต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “Global Fund เน้นให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่มประชากร และคิดว่าไม่มีองค์กรใดที่มี Scale เทียบเท่ากับ Global Fund ที่มีการให้ทุนทั่วโลกราวพันล้านดอลลาร์ต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศสมาชิกและเอกชนที่บริจาคเงินตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน”...