คุณคิดว่า คำว่า “อาสาสมัคร” มีความหมายและคุณค่าอย่างไรบ้าง ในโลกที่ผู้คนมากมายยังต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาสาสมัครคือหนึ่งในคนที่พร้อมจะยื่นมือและช่วยพากันเดินออกมาจากหนทางที่มืดมน อาสาสมัครจึงไม่ใช่เพียงแค่อาชีพ แต่อาจเป็นอะไรที่มากกว่านั้น
ครั้งนี้ AHF Thailand จึงอยากพาทุกคนไปรู้จักกับกลุ่มคนที่ทำงานอาสาสมัคร คอยให้ความช่วยเหลือกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาอย่างยาวนานให้ลึกซึ้งและเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการค้นหาความหมายและคุณค่าของคำว่า “อาสาสมัคร” ไปพร้อมๆ กันค่ะ
คุณท็อป-ณัฐอธิณัฐ ชุติธัชมาศวัชรา
อาสาสมัครน้องใหม่จากมูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์
แม้จะเป็นอาสาสมัครน้องใหม่ อายุงานอาจไม่มากเท่ากับรุ่นพี่ในสายงานเดียวกัน แต่หัวใจที่มีจิตอาสาของคุณท็อปไม่ได้น้อยไปกว่าใคร คุณท็อปผันตัวจากงานด้านโรงแรม มาลงแรงเป็นอาสาอย่างเต็มตัวเมื่อปีที่ผ่านมานี่เอง
“เมื่อก่อนผมทำงานในรีสอร์ทที่พัทยา ในช่วงที่เริ่มอิ่มตัวกับงานที่ทำ ก็มีโอกาสได้เจอกับพี่เอก-สมชัย พรหมสมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ พี่เอกเลยถามว่าอยากมาลองเป็นอาสาดูไหม แต่ค่าตอบแทนไม่เยอะนะ ตอนนั้นคิดว่า อายุก็เข้าเลขสามแล้ว อยากหาอะไรที่มันท้าทายทำ ช่วงแรกๆ ก็ทำควบคู่กับงานประจำ แต่พอเจอโควิด ก็เลยมาเป็นอาสา เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เต็มตัว”
ด้วยความที่ไม่เคยทำงานอาสามาก่อน ก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คิดแค่ว่าทำเป็นงานเสริม แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณท็อปกลับเกิดความรู้สึกบางอย่างที่พิเศษอยู่ในใจ
“เราเกิดความสบายใจ เพราะว่าเราได้ช่วยเหลือคน ได้เดินทางไปเรียนรู้ การอบรมต่างๆ เริ่มรู้สึกดีกับงานตรงนี้มากขึ้นและสนุกกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ พอเราได้เข้ามาทำจริงๆ เราได้ความรู้เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเรื่องยารักษา เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เราสามารถนำความรู้ไปบอกต่อกับคนอื่นได้อย่างถูกต้อง ทั้งเพื่อน คนรู้จัก หรือคนที่มาขอความช่วยเหลือจากเรา บอกได้เลยว่างานตรงนี้ทำให้เราโตขึ้นหรือมีพัฒนาการมากขึ้น”
ทุกเคสที่เข้ามาคือเส้นทางแห่งการเรียนรู้
ถึงแม้จะทำงานมาได้แค่ 1 ปี แต่ก็เป็น 1 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความประทับใจ
“เคสที่ผมประทับใจคือเคสแรกที่ผมดูแลเอง มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง เริ่มแรกภรรยาเขามารักษาก่อน ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดตอนตี 3 เพื่อให้มาถึงกรุงเทพฯ 6 โมงเช้า มาเอาใบส่งตัวต่อจากคลินิก แล้วรออีกวันเพื่อไปโรงพยาบาล ตอนแรกที่เขามาก็ยังไม่รู้เส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่รู้ขั้นตอนการย้ายสิทธิ์ มีปัญหามากมาย ผมดูแลทุกขั้นตอนทุกอย่าง จนเขาบอกว่าเดี๋ยวจะพาสามีมารักษาที่นี่ด้วย เพราะว่าน้องดูแลดีมาก พอสามีเขาเข้ามา ก็เหมือนกันเลย เราต้องดูแลทุกอย่าง จนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคิดว่าเป็นพ่อแม่เรา”
“ดังนั้นการทำงานตรงนี้ทำให้เรามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องเยอะแยะเลย ก็ทำให้เรารู้สึกดี เพราะเราเป็นคนญาติน้อย ผมมีแม่อยู่คนเดียว ตอนนี้ก็เสียไปแล้ว พอมีคนเข้ามาในชีวิตให้เราช่วยเหลือ ก็รู้สึกอบอุ่นดีครับ”
การทำงานอาสา จึงไม่ใช่การทำงานมิติเดียว แต่ต้องเอาหัวใจของเขามาใส่ในใจเรา จึงไม่แปลกที่อาสาสมัครบางคนอาจเผลอไปอินกับชีวิตของเคสได้ง่ายๆ ซึ่งคุณท็อปก็เคยประสบกับเหตุการณ์นั้น แต่ก็สามารถจัดการอารมณ์และชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี
“ผมอินทุกเคสเลย ผมมาคิดถึงว่าถ้าเป็นตัวเองจะทำยังไง เราก็รู้สึกว่าต้องช่วยเขาต่อไปอีกเรื่อยๆ คอยติดตามผลตลอด มันทำให้เราอินเหมือนเข้าไปอยู่ในชีวิตเขา เขามาขอบคุณเรา มันทำให้ผมรู้สึกตื้นตัน แต่ผมพยายามไม่เอาเรื่องมาใส่ในชีวิตของตัวเองมาก พอเราอยู่ตรงนั้น ฟังเรื่องราวของเขาแล้ว หาวิธีแก้ปัญหาให้เขาแล้ว ผมก็พยายามจะไม่ต่อ เพราะผมเคยเห็นเจ้าหน้าที่หลายๆ คนเก็บเรื่องไปต่อในชีวิต มันทำให้เครียด ผมเลยได้ข้อคิดว่า เราจะเครียดไปทำไม ถ้าเรามัวแต่เครียดกับเคสนี้ แล้วเคสอื่นๆ ล่ะ จะช่วยยังไง”
“อีกวิธีหนึ่งคือ เราต้องมองหาปัญหาของผู้เข้ามาปรึกษาให้เจอก็จะช่วยแก้ปัญหาได้เร็ว เริ่มต้นเขาอาจจะมาด้วยปัญหาเรื่องการย้ายสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้วเขาอยากได้เพื่อนพาไป เป็นต้น ยกตัวอย่างอีกเคสหนึ่ง สิทธิ์เขาว่างเลยเด้งกลับไปที่โรงพยาบาลบ้านเกิด อยากจะย้ายกลับมารักษาที่กรุงเทพฯ และอยากเปลี่ยนโรงพยาบาลด้วย แต่ก็กลัวว่าที่ใหม่จะมีปัญหา จะเจอคนเข้าใจไหม หรือจะเจอคนรู้จักหรือเปล่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะแนะนำแค่เรื่องย้ายสิทธิ์ และบอกปากเปล่าให้เขาไปลองรักษาที่ใหม่ แต่ไม่ได้ช่วยหรือให้คำแนะนำอะไร เพราะลืมนึกไปว่าการที่เขาต้องไปเจออะไรใหม่ๆ เจอพยาบาลดุ หรือเดินทางลำบาก จะทำให้เขาเกิดแพนิคและกลัวการรักษาได้”
งานอาสาทำด้วยใจ ถึงไม่มีใครซัพพอร์ตก็ยินดีทำ
“งานอาสาตรงนี้ ก็คิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ ถึงไม่ใครซัพพอร์ต แม้ไม่ได้ช่วยด้วยการลงมือทำ แต่เราก็ยังสามารถให้ความรู้เขาได้อยู่ ตอนนี้ผมก็ดูแลช่องทางโซเซียลมีเดียต่างๆ รวมถึงไลน์และโทรศัพท์ด้วย ถ้าใครโทรเข้ามา หรือแชทมา ผมก็จะให้คำปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การกินยา หรือว่าเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ”
“ที่ผมไม่คิดจะทิ้งงานตรงนี้ก็เพราะว่างานอาสาให้อะไรกับตัวผมหลายอย่าง แต่ที่เห็นได้ชัดเลย คือให้ความรู้ใหม่ๆ ให้ความสบายใจที่เราได้ไปช่วยเคส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยิบย่อยหรือเรื่องใหญ่แค่ไหน ทุกเรื่องเป็นความภาคภูมิใจของเรา จากคนคนหนึ่งที่ไม่เคยทำอะไรพวกนี้เลย แล้วพอเราได้มาทำ มันก็ทำให้รู้สึกดี”
คุณวิลล่า-วิลล่า ปริปุณนะ
อาสาสมัครตัวแม่จากกลุ่ม M-CAN ขอนแก่น
หากจะพูดถึงอาสาสมัครตัวแม่แห่งจังหวัดขอนแก่น คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “พี่วิลล่า” จากผู้รับมาเป็นผู้ให้อย่างเต็มทั้งตัวและหัวใจ คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาสาสมัครมายาวนานกว่า 15 ปี และให้คำนิยามตัวเองแบบติดตลกว่า เหมือนเสาสัญญาณโทรศัพท์ค่ายดัง ที่มีสัญญาณครอบคลุมสำหรับสาวประเภทสองทุกพื้นที่เพื่อให้การดูแลอย่างทั่วถึง
“พีวิลล่าเป็นคนขอนแก่นค่ะ แต่ก่อนที่จะมาทำงานอาสา พี่เป็นนางโชว์อยู่ที่พัทยา แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่ขอนแก่น มาเป็นแม่ค้าตามตลาดนัด แต่ก่อนพี่ไม่มีบ้านนะ และเป็นแค่คนไข้คนหนึ่งที่มารับยาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ก็มาเจอกับพี่ๆ ที่ทำงานด้านนี้ เขาก็ชวนเราไปอบรมด้วย ซึ่งพี่เป็นคนกล้าพูด เรียนรู้เร็ว กล้าแสดงออก เลยทำให้มีโอกาสเริ่มทำงานอาสา”
“ทำงานไปได้สักพักก็เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตพี่คือ พี่ถวายฎีกาขอความช่วยเหลือจากในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วท่านก็มาสร้างบ้านให้ หลังจากนั้นพี่ก็ทำงานเพื่อชุมชนอย่างเต็มที่เลย พี่ออกโมบายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ออกอีเว้นท์ชุมชน ไปตามโรงเรียน ไปหมดเลยค่ะ ตอนนั้นพี่ก็เปิดตัวเลย ไม่ปิดบังว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ”
การทำงานของพี่วิลล่า จึงไม่ใช่ทำตามหน้าที่เท่านั้น พอใส่หัวใจลงไป สิ่งที่ทำทั้งหมดจึงเป็นมากกว่าแค่การประกอบอาชีพ
“บางทีพี่ก็ไปถึงที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นตี 5 ก็มี เพราะการที่เราไปแต่เช้ามันเป็นข้อดี เราไปช่วยจัดอุปกรณ์ เตรียมประวัติ จัดเตรียมไว้ให้พี่ๆ พยาบาลที่จะลงงานประมาณ 8 โมงเช้า แล้วก็รอเพื่อนๆ มาเข้ารับบริการ พอเราไปถึงก่อนเวลาเราก็ได้สื่อสารพูดคุยกับเพื่อนๆ ได้ ไม่ใช่ในเชิงวิชาการ แต่พี่จะพูดเหมือนตัวเองเป็นแอร์โฮสเตส สวัสดีค่า ยินดีต้อนรับเข้าสู่สายการบินนกเค้าแอร์ไลน์ จะพาเพื่อนๆ เดินทางไปสู่สถานีสุขภาพดี อะไรต่างๆ เราก็ขายขำไป แล้วก็อธิบายขั้นตอนการรับบริการต่างๆ ต้องเดินไปทางไหน อยู่ประตูไหน บัตรคิวเป็นแบบไหน ซึ่งเขาก็จะสนุก เวลาพี่คุยกับเพื่อนๆ พี่จะไม่ใช้คำพูดในเชิงตำหนิเลย เพื่อไม่ให้เขารู้สึกแย่ ก็ถือว่าเป็นงานที่เรารัก”
“พี่คิดว่า พี่เป็นเหมือนเสาสัญญาณโทรศัพท์ค่ายหนึ่ง เพราะพี่เป็นกระเทยตัวแม่ ต้องการครอบคลุมกระเทยให้ทุกพื้นที่ เพื่อนรอบตัวพี่ก็ทานยาต้านเหมือนกันหมด โชคดีที่เขาได้อยู่ใกล้พี่และได้รับข้อมูลการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง”
แต่กว่าพี่วิลล่าจะได้มาถึงจุดที่ทุกคนให้การยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้นไม้ที่เติบใหญ่ย่อมต้องผ่านอุปสรรคทดสอบมากมายเสมอ
“สมัยที่พี่มาอยู่ใหม่ๆ ชาวบ้านแอนตี้มาก ไม่ยอมรับเลย เหมือนจะไม่ให้เราอยู่ในสังคมได้เลย เพราะวิธีการทำงานของพี่ใช้วิธีการเปิดตัวตั้งแต่แรก ให้เขาเห็นว่าเป็นเอชไอวีแล้วมันไม่ตาย สำหรับพี่การเปิดตัวมันดีนะ ถึงคนจะมองว่ามันเป็นดาบสองคมก็ตาม”
“พอเราได้ทำงานร่วมกับ อบต. เทศบาล หรือหน่วยงานอื่นๆ เราก็พยายามอัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้คนได้รู้ หลังจากนั้น 3 ปี ทัศนคติในชุมชนเปลี่ยนหมดเลย บ้านพี่เป็นที่แจกถุงยางอนามัยด้วย หรือตอนที่ลูกเขาป่วย 4-5 ทุ่ม ก็มาตามพี่ไปช่วยดูลูกให้ พี่ก็ไปหมด ถือว่าเราได้ทำงานร่วมกับชุมชนจริงๆ ตอนนี้ทุกคนในชุมชนมองเราเป็นเพื่อน ขับรถก็มาทักทายว่ากินข้าวหรือยัง ทำอะไรอยู”
“มองอีกมุมก็ถือว่าโชคดีมากที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในพื้นที่และใกล้เคียงเขาให้เกียรติเรามาก ช่วงแรกที่ทำงาน เราไม่มีเสื้อไม่มีป้าย เวลาลงชุมชนก็จะลำบากว่าเรามาทำอะไร ขายของหรือเปล่า พอเราเสนอปัญหาและก็ได้รับการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทำงานได้สะดวกขึ้น”
ยังฮักคือเก่า…
การทำงานอาสาสมัครลงพื้นที่ ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบเจอเคสของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ที่ทั้งหนักหนาสาหัส ยากง่ายมากมายนับไม่ถ้วน แต่พี่วิลล่าและทีมงานก็ไม่เคยท้อถอย บางเคสต้องใช้เวลาและลงแรงเพื่อให้ความช่วยเหลือจนเกือบถอดใจ แม้ไม่ใช่เคสที่พี่วิลล่ารับผิดชอบโดยตรง แต่น่าประทับใจไม่น้อย ซึ่งเคสนี้สื่อให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า การยอมรับและความเข้าใจจากคนในครอบครัวนั้นสำคัญต่อชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อมากแค่ไหน โดยพี่ยุทธ-ประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่ม M-CAN เป็นผู้ดูแลเคสนี้ด้วยตัวเอง
“เคสมีปัญหาขาดยา มีปัญหาในครอบครัว การยอมรับผลเลือดตัวเองและครอบครัว โดนแฟนทิ้ง ทำให้เครียดเลยไม่อยากกินยาและรักษาต่อ แรกๆ เคสปฏิเสธการช่วยเหลือจากเรา ก็พยายามโทรคุยแต่ไม่รับสาย ให้เพื่อนรับแทน เราก็โทรหาประมาณ 3ครั้ง/1สัปดาห์ จนเราอ่อนใจ ครั้งสุดท้ายก่อนวางสาย เราบอกว่าถ้าไม่ไหวให้โทรหาเรานะ สุดท้ายน้องก็โทรมาเล่าถึงสาเหตุของการหยุดยา เรารับฟังและหาสาเหตุและวิธีแก้ใขปัญหาร่วมกัน คุยกันจนเข้าใจและน้องรู้สึกดีขึ้น สรุปปัญหาของน้องที่จะช่วยคือการบอกผลเลือดกับครอบครัว”
“เราไปช่วยเป็นสื่อกลางในการบอกผลเลือดกับครอบครัว ตกลงวัน เวลา สถานที่ที่จะไป พอไปถึงน้องมารับเรา และขอให้เราจอดรถไว้ตรงนี้แล้วเดินไปเพราะกลัวข้างบ้านแถวนั้นรู้ ไปถึงบ้านเคส ก็มีครอบครัวของน้อง 4 คนนั่งรออยู่ มี ย่า ยาย พี่สาว และน้าชาย”
“พอไปถึงเราก็ทักทายปกติ เราถามก่อนว่า รู้ไหมเรามาเยี่ยมเคสเพราะอะไร น้องเคยบอกอะไรบ้าง ย่าตอบว่า มาบอกอาการของโรคที่น้องเป็นใช่ไหม เราถามกลับไปว่าแล้วมีใครรู้ไหมว่าน้องเป็นโรคอะไร ทุกคนบอกไม่รู้เพราะน้องไม่บอก รู้แต่ว่าต้องไปหาหมอและต้องกินยาตลอด เราเลยบอกไปว่าโรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้นะ แต่ต้องกินยาตลอดไปและตรงเวลาแค่นี้เอง เราบอกอาการและการรักษาโรค โดยไม่บอกชื่อโรค แค่บอกว่าเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง”
“เราถามกลับไปที่เคสให้น้องได้เล่าถึงความรู้สึกตัวเองและอยากจะบอกอะไรกับญาติๆ บ้าง น้องหันมามองเรา ในแววตาเหมือนมีน้ำตาเอ่อออกมา สุดท้ายน้องก็บอกว่าจริงๆ น้องเป็นอะไร พูดไปก็ร้องไห้ไป น้องขอโทษทุกคนที่ต้องมาเดือดร้อนเพราะตัวเอง คนข้างๆ คือ ย่าและยาย ก็ร้องไห้บอกสงสารหลาน และเข้ามากอดพร้อมกับพูดว่า ‘ยังฮักคือเก่า’
“เป็นภาพที่ประทับใจมาก ก่อนกลับเราให้ข้อมูลเรื่องการรักษา การอยู่ร่วมกัน และการให้กำลังใจคนไข้ เพราะเราเชื่อว่าโรคนี้จะต้องดูแลกายและใจไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นเราโทรถามน้องว่าเป็นอย่างไรบ้าง น้องบอกดีมากและโล่งใจเพราะคนในครอบครัวเข้าใจตัวเองมากขึ้น ต่อไปน้องจะตั้งใจกินยาและดูแลสุขภาพต่อไป”
พี่วิลล่าบอกกับเราได้อย่างเต็มปากว่า นี่คืองานที่รักที่สุด แม้จะไม่มีใครมาสนับสนุน ก็ยืนยันจะทำต่อไป
“มันเป็นงานที่เรารัก ไม่รู้จะพูดยังไง มันเหมือนเป็นจิตวิญญาณ ไม่ว่าเราจะไปสื่อสารกับชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล เวลาที่เราส่งสารไปแล้วมีคนมาฟังเรา มันทำให้เรามีพลัง เพื่อจะทำให้เพื่อนๆ น้อง และคนที่เข้ามารับบริการมีความสุข มีกำลังใจ และได้รอยยิ้ม”
คุณเตย-รชยาภรณ์ธวี ธนวัตน์เทวากุล
อาสาสมัครหัวใจแกร่งจาก HON House พัทยา
จากอดีตมาม่าซังในบาร์เมืองพัทยาที่ผันตัวมาเป็นอาสาอย่างเต็มตัว คอยช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากทางตันของชีวิต เพราะได้เห็นการทำงานเพื่อสังคมของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่จุดประกายแรงบันดาลใจให้พี่เตยหันมาใช้ชีวิตในแบบที่ตามหามาตลอด
“สมัยก่อนพี่ทำงานในบาร์ วันหนึ่งขณะนั่งทำงานอยู่ ก็เห็นกลุ่มสาวประเภทสองมาแจกถุงยาง แล้วประชาสัมพันธ์ให้คนไปตรวจเลือด แนะนำว่าคลินิกเขาอยู่ที่ไหน เราก็คิดว่าทำไมดีจังเลย เพราะคนที่มาแนะนำเขาก็เป็นคนทำงานบาร์เหมือนกัน เราก็สนใจ”
“จากนั้นพี่ก็เริ่มไปร่วมกิจกรรมกับองค์กรนั้น ตอนกลางวันเขาจะมีกิจกรรมต่างๆ มีการกินข้าวร่วมกัน พอได้เข้าไปตรงนั้นรู้สึกประทับใจ พี่เลยสมัครสมาชิกไว้ พอหลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ทำงานบาร์แล้ว เลยไปขายประกันชีวิตอยู่ 2 ปี ที่กรุงเทพฯ แต่รู้สึกไม่เหมาะกับตัวเอง สุดท้ายก็กลับมาพัทยา มาเปิดร้านอาหารตามสั่งกับร้านเสริมสวย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ก็มาชวนให้เราไปทำงานด้วย ตอนไปสัมภาษณ์ก็ใส่ชุดแม่ครัวไปเนี้ยละ พอสัมภาษณ์ผ่านเขาให้มารายงานตัว แต่ก็ไปไม่ได้ ติดงานศพปู่ที่ต่างจังหวัด เลยพลาดงานนั้นไป พอเสร็จธุระทางบ้านก็กลับมาที่พัทยา”
ถึงแม้จะพลาดโอกาส แต่พี่เตยก็ยังให้ความสนใจเรื่องงานลักษณะนี้อยู่ และได้มีโอกาสมาทำงานที่ Hon House
“ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่างานนี้คืองานอะไร เราแค่อยากจะมีเพื่อน เพราะในนั้นมีสาวประเภทสองเยอะมาก เราแค่อยากรู้ว่าตรงนั้นเขาทำอะไรกัน และในที่สุดเราก็ได้เริ่มมาเรียนรู้ในเรื่องของการให้คำปรึกษา การอบรม การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เราทำงานมา 10 กว่าปี ก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ ตอนนั้นมีแหล่งทุนมาซัพพอร์ต แต่หลังจากแหล่งทุนเขาจากไปแล้ว ก็ปรับแผนการทำงานกันใหม่ เราก็ทำศูนย์ดร็อปอินควบคู่กับร้านเสริมสวยไปด้วย เพื่อให้น้องๆ เข้ามาในศูนย์ดร็อปอิน มาทำผม ทำเล็บ เสริมสวยได้ ทั้งหมดนี่ได้ประโยชน์หลายต่อมาก เพราะการเข้ามาในศูนย์ดร็อปอินมันยังมีการตีตราอยู่ น้องๆ เขาก็ไม่กล้าเข้ามาตรวจกันตรงๆ แต่นี่มาทำสวยกัน ส่วนรายได้ที่ได้จากการเสริมสวยเราก็เอามาเข้าออฟฟิศ มาช่วยน้องๆ ที่มาเข้ารับบริการที่ขัดสนจริงๆ มีข้าว มีน้ำ มีที่นอนให้ เรามองว่าทุกคนที่เข้ามาที่นี่เป็นครอบครัวของเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ไหน วันหนึ่งก็ต้องกลับมาเยี่ยมกัน เราพยายามสร้างความสัมพันธ์แบบนี้ มากกว่าให้เขามองว่าเราเป็นผู้ให้บริการ”
เคียงข้างจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์ของพี่เตยเรื่องนี้ตอกย้ำได้ดีถึงคำว่า เราต้องดูแลกันทั้งชีวิต
“มีเคสน้องคนหนึ่งที่เรารู้จักตั้งแต่ปี 55 เจอที่โรงพยาบาลเป็นบางครั้ง แล้วจู่ๆ น้องก็หายไป จนปี 62 เราได้เจอเขาอีกครั้งนึง เป็นการเจอที่เราเห็นแล้วว่าต้องช่วยเหลือเขาอย่างเร่งด่วน เพราะน้องขาดยา ไม่รักษาต่อเนื่อง และมีโรคแทรกซ้อน ช่วงนั้นพี่ก็เป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับไปส่งพาไปหาหมอ ซึ่งปกติแล้วน้องเขาจะอยู่กับย่า แต่ย่าเพิ่งเสีย แล้วเขาน่าจะมีปัญหากับญาติ จนต้องไปย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเราได้เห็นที่พักของเขาแล้วก็อดเป็นห่วงไม่ได้ มันเป็นบ้านร้าง น้ำไฟ ไม่มี แล้วเขาจะอยู่ยังไง เราก็ได้คุยกับเพื่อนบอกว่าเราขอฝากน้องไว้สักอาทิตย์เพื่อให้เขาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ระหว่างนั้นเราก็ติดต่อกับเทศบาลประสานงานเรื่องการไปอยู่บ้านพักฟื้น แต่น้องก็ไม่ยอมไปอยู่ อยากอยู่ที่บ้านตัวเอง เราก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของเขา”
“แต่พอเขากลับไปอยู่บ้าน ร่างกายน้องแย่ลงกว่าเดิม เราก็ยังไปรับส่งพาน้องไปหาหมอเหมือนเดิม จนครั้งสุดท้ายไปได้แค่ครึ่งทางน้องหมดสติ เราก็แบกน้องขึ้นหลัง วิ่งไปโรงพยาบาล ระหว่างที่น้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ประมาณ 1 อาทิตย์เราก็เป็นคนเข้าไปดูแลตลอด แต่ในที่สุดน้องไม่ไหวแล้วก็เสียชีวิต เราก็เป็นคนจัดการทุกอย่าง ส่งน้องจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขา”
นอกจากนี้ยังอีกเคสหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า อาสาสมัครพร้อมให้ความช่วยเหลือและใส่ใจแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้รู้สึกอบอุ่นไม่เบาเลยทีเดียว
“มีคุณยายท่านหนึ่ง อายุ 80 ปี แล้ว ใช้ชีวิตลำบาก เดินไม่ได้จากแผลที่ขาและหัวเข่าเสื่อม บ้านพักเป็นเพิงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเลยและยังต้องดูแลลูกที่มีอาการจิตเวชอีก คุณยายอ่านหนังสือไม่ออก ไม่มีนาฬิกาเตือนในการกินยา เก็บยาไว้ในตะกร้าตามที่ต่างๆ ไว้ แต่ก็จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ตรงไหนบ้าง ทางเราเลยให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการช่วยประสานงานกับหน่วยงานเพื่อติดตามเรื่องการขอทุนและจัดหานาฬิกาเพื่อจะได้นำมาใช้ในการดูเวลาการกินยาให้ถูกต้องและต่อเนื่อง ตอนนี้คุณยายมีวิธีการกินยาใหม่คือ จากการฟังเพลงชาติตอน 8 โมงเช้า จากเสียงตามสายของเทศบาล ส่วนกลางคืน เปิดวิทยุฟังข่าวตอน 2 ทุ่ม แต่ตอนนี้มีปัญหาคือถ่านวิทยุหมดแล้ว เราก็ให้ความช่วยเหลือ”
ทุกวันคือการเรียนรู้
จากจุดเริ่มต้นของพี่เตยที่เข้ามาทำงานอาสาเพราะอยากมีเพื่อน จนมาถึงทุกวันนี้งานอาสากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสร้างความสุขให้ทุกวัน
“ตลอดระยะเวลาการทำงาน พี่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ตื่นมาทำงาน ไม่ว่าเคสจะดื้อหรือจะยุ่งยากทำให้เรารำคาญ แต่เราก็จะหาวิธีช่วยเหลือเขา บางทีเรื่องของการทำงานมันอยู่ที่เราดีไซน์ ให้มันเหมาะกับตัวเรา ผู้ป่วยแต่ละคนชีวิตมีหลายมิติมาก เพราะฉะนั้นหน้างานในแต่ละวันก็จะไม่เหมือนกัน สำหรับพี่ความเชื่อใจในครั้งแรกเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องทำให้เขารู้สึกโอเค ปลอดภัย ไว้วางใจเรา หลังจากนั้นเราก็ไม่ต้องพูดอะไรอีก พอครั้งต่อไปเขาเจอเราก็จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้เราฟังเลย”
นอกจากการเรียนรู้และจัดการการทำงานในแต่ละวันให้ลงตัวแล้ว การจัดการอารมณ์และความรู้สึกภายในของตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่พี่เตยทำมาตลอดเช่นกัน
“เรามีพลังภายในตัวเรา เราฝึกทุกวัน ไม่ว่าเคสจะตายตรงหน้าเราก็มีสติเสมอ พี่เป็นคนที่ไม่เอาเรื่องคนไข้มาไว้กับตัวเอง จะจัดการความคิด ความเครียด ความกังวล ของเคสและเรื่องของตัวเอง ไม่เพิ่มเรื่อง ไม่เก็บมาคิด ให้เครียดหรือกังวลตาม แต่ถ้าเครียดมากๆ ก็จะหาคนคุยด้วยเหมือนกัน เราต้องระบายออกบ้างบางที ซึ่งพอคุยแล้วก็จะโล่ง จากนั้นค่อยหาทางแก้ปัญหาด้วยกันต่อไป”
“การทำงานตรงนี้ ทำให้พี่มีทัศนคติและรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด และเราก็ได้เรียนรู้จากเคส พี่ว่างานพี่มันไม่ใช่จิตอาสา แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ทำงานมาสิบกว่าปีช่วงที่ไม่มีเงินเข้ามาซัพพอร์ต แต่ทำไมเราทำได้ เราอยู่ได้ นั่นก็เพราะว่าเรามีพลังที่จะทำตรงนี้ มันกลายเป็นชีวิตของเราแล้ว เงินสำคัญนะ แต่สิ่งที่เรามุ่งประเด็นไปคือการทำงาน ชีวิตของคนมันสำคัญกว่า ถึงวันหนึ่งจะไม่มีเงินไม่มีแหล่งทุน เราก็ต้องหาทางขับเคลื่อนองค์กร บางครั้งเคยมีความคิดที่จะไม่ทำแล้ว แต่ก็ฉุกคิดว่าถ้าเราไม่ได้ทำแล้ว น้องๆ จะอยู่ยังไง เราก็ทิ้งเขาไม่ได้”
เหล่าอาสาสมัครทั้ง 3 ท่าน แม้จะอยู่กันต่างสถานที่ ต่างองค์กร แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถสัมผัสได้เหมือนๆ กัน คือหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ อาสาสมัครจึงไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นงานชีวิตที่ต้องใช้ใจนำทางอยู่พอสมควร AHF Thailand ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนให้เหล่าอาสาสมัคร องค์กรและภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ร่วมกับเชื้อให้กลับมาแข็งแรงและหัวใจอิ่มสุขได้อีกครั้ง
สุดท้าย หลายคนคงเห็นแล้วว่า ความหมายและคุณค่าของคำว่า “อาสาสมัคร” ของทั้ง 3 ท่านนั้นคืออะไร แล้วความหมายและคุณค่าของของคำว่า “อาสาสมัคร” ของคุณล่ะ มีนิยามว่าอย่างไรกันบ้าง