Real Life Talk: แม่เอ๋-บุรากร ศิริทรัพย์ มากกว่ารักคือการให้

Real Life Talk: แม่เอ๋-บุรากร ศิริทรัพย์ มากกว่ารักคือการให้

แม่เอ๋-บุรากร ศิริทรัพย์ มากกว่ารักคือการให้

“ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบใดที่ยังมีชีวิต เราก็สร้างคุณค่าให้ตัวเองได้” เจ้าของประโยคธรรมดาที่กระแทกใจไม่ใช่น้อยนี้คือ แม่เอ๋-บุรากร ศิริทรัพย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ หน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เรามีโอกาสได้พูดคุยกับแม่เอ๋ในหลากหลายเรื่อง ทั้งแง่มุมของการใช้ชีวิต และบทบาทของเจ้าหน้าที่มูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ เราเชื่อว่าเรื่องราวของแม่เอ๋จะทำให้คุณประทับใจอย่างแน่นอน

 

พลังจากความสิ้นหวัง

แม่เอ๋

“ทุกคนมีคุณค่ากับใครคนใดคนหนึ่งเสมอตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบใดที่ยังมีชีวิต เราก็สร้างคุณค่าของตัวเองได้”

 

แม่เอ๋เล่าย้อนให้เราฟังว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้อยู่ร่วมกับเชื้อมานานกว่า 20 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับได้ในตอนแรก แต่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าลุกขึ้นแล้วก้าวเดินไปข้างหน้า “ช่วงนั้นมรสุมชีวิตมาก รู้ผลตรวจเลือดเราก็เฟลแล้ว แถมช่วงปี 40 ฟองสบู่แตก ตกงานอีก มีรายได้จากการร้องเพลงวันต่อวัน ท้อแท้สิ้นหวังจนเกือบจะคิดสั้น แต่พอดีหน้าแม่ลอยมาเลยไม่ทำ เราไม่อยากทำให้แม่เสียใจ ก็เลยอดทนอยู่ หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี ก็เริ่มคิดจะกลับไปทำงาน เลยตัดสินใจไปหาหมอ เพราะอยากรู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้นานแค่ไหน ต้องทำอย่างไงกับชีวิตต่อไป”

แม่เอ๋เลือกทำการรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสิน และที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เธอได้เข้าสู่วงการจิตอาสาจนต่อยอดมาถึงการทำงานที่มูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ “ตอนนั้นเรียกว่าเป็นยุคบุกเบิกเลยก็ได้ การรักษาที่นี่มันเป็นบรรยากาศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แล้วเราก็ได้เจออาจารย์หมอที่มีทัศนคติที่ดี คอยสอนเรา ให้ความรู้ต่างๆ ถือเป็นอาจารย์คนแรกก่อนที่เราจะมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง การรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสินทำให้เราได้เริ่มต้นงานจิตอาสา รู้สึกทำแล้วมีความสุขเพราะได้ช่วยเหลือคน ทั้งที่ไม่มีค่าตอบแทนอะไร ถึงตอนนั้นยังค่อนข้างลำบากแต่ก็ยินดีที่จะทำ”

จุดเริ่มต้นจากงานจิตอาสาที่โรงพยาบาลเลิดสิน แม่เอ๋ได้รับการโหวตให้เป็นประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ของ กทม. ในเวลาต่อมา “หลังจากได้รับการโหวต ก็มีโอกาสได้เจอกับคนไข้ในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย ทำให้ได้ช่วยคนเยอะขึ้นไปอีก แม่ทำงานตรงนั้นกว่าสิบปี จึงได้มาร่วมงานกับเดอะพอสฯ”

 

โอบกอดด้วยความเข้าใจ

แม่เอ๋

หน้าที่หลักของแม่เอ๋ในมูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ คือ การช่วยเหลือสมาชิกที่อยู่ร่วมกับเชื้อให้สามารถวางแผนชีวิตได้ ทั้งในเรื่องการทำงาน และการใช้ชีวิตให้มีคุณค่า “หน้าที่ของแม่คือเป็นที่ปรึกษา และตอนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก AHF Thailand ให้ทุนมาทำโครงการต่างๆ ดูแลคนไข้ที่ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนอื่นๆ ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายๆ องค์กรที่ชวนแม่ไปทำงานด้วย แต่อุดมการณ์มันไม่ใช่เราก็ปฏิเสธไป แต่สำหรับเดอะพอสฯ อุดมการณ์เราค่อนข้างไปทางเดียวกัน แม่จึงไม่ลังเลเลยตอนที่เดอะพอสฯ ชวนให้มาทำงานด้วยกัน” แม่เอ๋เล่าว่าความแตกต่างของมูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ คือการทำงานในลักษณะครอบครัว ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือเหมือนเพื่อน “ที่เราทำงานด้านนี้เพราะเราอยากจะช่วย มันต้องไม่มีกรอบอะไรที่จะมาบีบบังคับ ซึ่งเดอะพอสฯ ตอบโจทย์แม่มาก เพราะจริงๆ แล้ว สำหรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ปัญหามันไม่ใช่แค่สุขภาพอย่างเดียว มันมีตั้งหลายมุมที่เขาไม่สามารถคุยกับใครได้ แต่เพราะเราเป็นเพื่อนไง เราไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่จะมาตัดสินเขา เราเป็นคนที่เข้าใจ อันนี้คือจุดที่เดอะพอสฯ สนับสนุนให้เราทำ เราก็ไม่เคยทิ้งคนไข้เก่าๆ ถ้าเขาโทรมาขอคำปรึกษา เราก็ยินดี”

 

ยิ่งให้ยิ่งได้รับ

แม่เอ๋

การทำงานตรงนี้มันเป็นกำลังใจให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่าอยู่มีใครที่ต้องการเราอีกหลายคน”

 

การทำงานตรงนี้มันเป็นกำลังใจให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่าอยู่ มีใครที่ต้องการเราอีกหลายคน” การให้ความช่วยเหลือด้วยใจบริสุทธิ์ของแม่เอ๋ ทำให้หลายคนยกเธอเป็นไอดอล แต่แม่เอ๋กลับมองเห็นเป็นโอกาสที่ดีว่า เธอจะสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ ต่อไปได้ “แต่ก่อนแม่เคยทำวิดีโอกับองค์กร พอได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้รับสายจากทางใต้ บอกว่าเราเป็นไอดอล ซึ่งคนที่โทรมาในตอนนั้นเขาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และอยากส่งต่อความห่วงใยไปถึงลูกศิษย์และเพื่อน พอเรารู้อย่างนี้ เราก็มีความรู้สึกดีใจ ที่เราสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ต่อไปได้

“ที่สำคัญแม่อยากจะปรับมุมมองของผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ความรู้สึกว่า HIV ก็เป็นแค่โรคโรคหนึ่ง ซึ่งคนอยู่กับมันก็ดูแลกันไป จุดสำคัญคือ อย่าเอามันกลับมาทำร้ายตัวเอง ถ้าเราไม่เอามันกลับมาทำร้ายตัวเอง เราก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าเรากลัวแล้วปิดกั้น ถึงจุดหนึ่งมันจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา สุดท้ายก็มาโทษตัวเองว่าไม่ดี ไม่มีคุณค่า แม่เชื่อว่า หากเรายังรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เมื่อนั้นคุณจะอยู่อย่างเหมาะสม และเปล่งประกาย เหมือนแม่”

 

เรียนรู้ที่จะ “รัก”

แม่เอ๋

“จนถึงตอนนี้ แม่คิดว่าตัวเองไม่ได้ขาดความรักเลย ความรักมันเต็มมากจริงๆ มันก็ทำให้ชีวิตมีความสุขแม่รู้สึกแบบนี้มาเกือบสิบปีนะ”

 

ความรักเป็นสิ่งสวยงาม และไม่ได้จำกัดนิยามแค่ความรักแบบชายหญิงหรือความเสน่หาเท่านั้น มุมมองด้านความรักของแม่เอ๋เปลี่ยนไป และเป็นผลพ่วงที่ได้จากการทำงานด้านนี้

“สมัยวัยรุ่นแม่เป็นคนที่โหยหาความรัก อยากมีแฟน พยายามที่จะเอาเซ็กส์แลกรัก แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้ ทำให้เราเรียนรู้ เราเริ่มรักคนอื่นแบบอื่น คือไม่ได้รักแบบแฟน รักแบบลูก แบบเพื่อน รักแบบพี่น้อง

“จนถึงตอนนี้แม่คิดว่าตัวเองไม่ได้ขาดความรักเลย ความรักมันเต็มมากจริงๆ มันก็ทำให้ชีวิตมีความสุข แม่รู้สึกแบบนี้มาเกือบสิบปีนะ ตั้งแต่ก่อนที่จะมาทำเดอะพอสฯ ตอนเราทำงานกับกลุ่มเป็นจิตอาสา คือคนกลุ่มนี้เขาพูดอะไรกับใครไม่ได้ พอมาเจอกัน ทำให้เราคุยกันได้ทุกเรื่อง โชคดีที่แม่คิดได้แบบนั้น แม่ก็ปรับบรรยากาศ ถึงไม่มีแฟน แต่เราให้ความรักความหวังดีกับเขาไป สุดท้ายเราก็ได้กลับมา

“สิ่งสำคัญที่สุดที่แม่พยายามบอกกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อคือ เราต้องรักตัวเองก่อน ซึ่งจะทำอย่างไง เราก็ต้องเริ่มจากการยอมรับ ยอมรับสิ่งที่เรามีที่เราเป็นให้ได้ก่อนอันดับแรก อย่างตัวแม่เอง แม่ไม่โทษว่าเราผิดพลาด แต่แม่ยอมรับว่า ทางที่เราเดินมาเราก็เลือกเอง มองว่าเป็นความโชคดีที่เราได้เลือกทำเองทั้งหมด ถึงแม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จ แม้มันจะผิดพลาด ต้องเผชิญอะไรเยอะแยะมากมาย แต่ก็เป็นวิถีของเรา เราก็ยังต้องอยู่ แต่ถ้าตายไปวันไหน เราไม่ได้เสียดายแล้ว เพราะเราใช้ชีวิตที่เราเลือกเองทุกอย่างอย่างคุ้มค่า”

 

แค่ปรับมุมมองความคิด ชีวิตเปลี่ยน

แม่เอ๋

“HIV ก็เป็นแค่โรคโรคหนึ่งซึ่งคนอยู่กับมันก็ดูแลกันไปจุดสำคัญคือ อย่าเอามันกลับมาทำร้ายตัวเองถ้าเราไม่เอามันกลับมาทำร้ายตัวเองเราก็จะอยู่ได้แต่ถ้าเรากลัวแล้วปิดกั้น ถึงจุดหนึ่งมันจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา”

 

หลายคนยังมองว่า HIV คือโรคร้าย เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่แม่เอ๋กลับมีมุมมองดีๆ ต่อโรคนี้มาเล่าให้เราฟัง โอกาสของคนกลุ่มนี้มันก็ยังไม่ได้เต็มร้อย โอกาสยังถูกลดทอนลงไป ถามว่าถ้าเราไม่รอโอกาส เราก็สร้างโอกาสให้กับตัวเอง ซึ่งแม่ก็เห็นหลายคนที่มีตรงนี้ ยกตัวอย่าง มีอยู่คู่หนึ่ง ก่อนหน้านี้ทำงานโรงงาน กินเงินเดือน อยู่ห้องเช่า ไม่มีอะไรเลย แต่พอได้รับเชื้อก็เปลี่ยนตัวเอง สามีภรรยากลับมารักกันดี ซื่อสัตย์ต่อกัน มีความรู้สึกว่าเขาจะเริ่มสร้างครอบครัว เขาไม่เป็นลูกจ้างละ ก็ทำงานอาชีพอิสระ มีกิจการของตัวเอง สุดท้ายปลูกบ้านได้ ซื้อรถ ถ้ายังทำงานโรงงานเหมือนเดิมก็คงไม่มีแบบนี้ นี่ก็คือตัวอย่าง ที่ทำให้เราเห็นว่ามันก็ไม่ได้มีแต่มุมร้ายๆ ถ้าเรามองให้เป็น มันก็เป็นตัวผลักดัน ทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิต

“อีกคู่หนึ่งตอนคุยในกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน ภรรยาก็บอกว่าต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่ทำให้เขาได้สามีคนใหม่ เพราะสามีคนเดิมของเขาเปลี่ยนไป จากคนที่สำมะเลเทเมา ไม่ดูแลครอบครัว ก็เปลี่ยนมาดูแลครอบครัวจนลูกโต ลูกโตรับปริญญาหมดแล้ว ชีวิตเขาเปลี่ยนไปเลย เห็นไหมของแบบนี้มันอยู่ที่มุมมองว่าจะมองยังไง ถ้ามองว่าบั่นทอน ก็จะยิ่งบั่นทอนเข้าไปใหญ่ แต่ถ้ามองให้เป็นแรงผลัก มันก็เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตชั้นดีเลย”

 

แม่เอ๋ขอฝาก

แม่เอ๋

“ถ้าตายไปวันไหน เราไม่ได้เสียดายแล้วเพราะเราใช้ชีวิตที่เราเลือกเองทุกอย่างอย่างคุ้มค่า”

 

ก่อนที่การพูดคุยจะจบลง เราขอให้แม่เอ๋ฝากกำลังใจถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อและผู้ที่กำลังใช้ชีวิตแบบมีความเสี่ยง “แม่อยากให้มองตัวเองให้มีค่าเข้าไว้ ทุกคนมีคุณค่ากับใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบใดที่ยังมีชีวิต เราก็สร้างคุณค่าของตัวเองได้ แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยมีใครเห็นคุณค่า ซึ่งแม่ว่าในโลกนี้ไม่มี อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเห็นค่าของคุณ เพราะฉะนั้นถ้าสุดท้ายคนเห็นค่าคุณไม่เยอะ คุณก็ค่อยๆ สร้างไป สร้างคุณค่าของตัวเอง หลังจากรับเชื้อแล้วก็ไม่สาย และไม่จำเป็นจะต้องให้ทุกคนเห็น แค่มีใครบางคนที่เห็นค่าคุณ คุณก็ประสบความสำเร็จแล้วในสิ่งที่คุณทำ คนที่พลาดไปแล้ว อย่ามานั่งตอกย้ำตัวเอง

“อาจารย์หมอเคยเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม เข้าไปถามพระอาจารย์ว่า อาจารย์ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต อาจารย์ก็ไม่ตอบ ก็ถามอีก อาจารย์ก็มอง ข้างๆ อาจารย์มีถังน้ำอยู่ อาจารย์ก็จับเศรษฐีเอาหัวกดน้ำ ดิ้นทุรนทุราย สักพัก อาจารย์พูด โยมรู้หรือยังว่าอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต จากนิทานเรื่องนี้ ก็เลยคิดว่า เมื่อไรที่เราไม่มีชีวิตอยู่ มันก็ไม่มีอะไรสำคัญแล้ว สิ่งที่สำคัญมันไม่มีอะไรที่ทำได้ เราไม่มีโอกาส ชีวิตคือโอกาส เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ให้มีชีวิตไว้ก่อน

“ส่วนคนที่กำลังเดินบนเส้นทางความเสี่ยงแม่อยากให้นึกถึงคนที่รักไว้เยอะๆ พูดง่ายๆ จะทำอะไรนึกถึงคนที่รักเราก่อน คือแม่มองในมุมทุกเจนเนอเรชั่น ถ้าวัยรุ่น หักห้ามใจหรืออารมณ์ตัวเองไม่ได้ แม่ก็ว่าไม่ใช่เรื่องผิด อย่าไปคิดว่าเราบังคับตัวเองไม่ได้ เราผิด เราแย่ มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามันมีอะไรเข้ามา เราก็ต้องกล้าที่เผชิญกับมัน และรับมืออย่างมีสติแล้วกัน”

สามารถติดตามข่าวสาร การทำงานต่างๆ และเรื่องราวดีๆ ของมูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ได้ที่ https://www.facebook.com/pozhome/

ภาพจาก Love Lense Project โดย ศานิต นิธิกุลตานนท์ และติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pg/sanit.portfolio/photos/?tab=album&album_id=2062056140507607