Category: กิจกรรม AHF Thailand

FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY
Post

FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY

วันที่ 10 กันยายน 2562 ในงาน ASEAN Civil Society Conference/ ASEAN People Forum 2019 Thailand หรือ ACSC/APF 2019 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต AHF Thailand ได้จัดกิจกรรม FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ยาในประเทศไทย โดยจากคุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และคุณเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ราคายาในปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพในปัจจุบัน ยาสำคัญหลายตัวที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้ทุกวันมีราคาที่สูงเกินกว่าที่จะสามารถจ่ายไหวได้ ทำให้คนตกอยู่ในสภาวะยากจนเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าบริษัทยามีวิธีการอย่างไรในการกำหนดราคายา และในขณะเดียวกันผู้บริโภคกลับไม่มีอำนาจต่อรองราคายาเลยแม้แต่น้อยเหมือนกับที่สามารถต่อรองราคาสินค้าอื่น ๆ ในตลาดทั่วไปได้ ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา หรือ TRIPS ถูกใช้เป็นเครื่องมือของประเทศที่พัฒนาแล้วในการบังคับให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยาขนาดใหญ่ ทำให้คนในประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็นต่อชีวิตได้น้อยลง อาทิ ยารักษาเบาหวานบางตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นราคาจากเดิมถึง 17 เท่า ทั้งที่เป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ทุกวัน โดยอ้างว่าเป็นการยาที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ที่จริงคือการนำเอาสารตั้งต้นต่าง ๆ นำมาทำส่วนผสมใหม่ โดยส่วนใหญ่บริษัทยามักจะทำในลักษณะนี้แล้วอ้างว่าเป็นยาตัวใหม่นำมาจดทะเบียนสิทธิบัตรยาในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่รัฐตามไม่ทัน ซึ่งจริง ๆ แล้วยาเหล่านี้แม้นักศึกษาเภสัชกรรมปีสุดท้ายก็สามารถผลิตขึ้นเองได้ ในประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญญาราคายาเช่นกัน โดยจากการผลักดันของภาคประชาสังคมทำให้เกิดการทำ Compulsory licensing (CL) หรือมาตรการทางกฎหมายที่อนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถใช้สิทธิในการผลิต การใช้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข เราได้มีประสบการณ์ในประเทศไทยจากยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาโรงมะเร็ง และล่าสุดคือยารักษาไวรัสตับอักเสพซี ซึ่งมาเลเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำ CL ซึ่งมีผลทำให้ยารักษาไวรัสตับอักเสพซีถูกลงมาถึงร้อยละ 50 ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงมีความสำคัญต่อการเข้ามามีบทบาทในการติดตาม และการที่จะตั้งคำถามต่อการตั้งราคายาของบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก การใช้ข้อมูลวิจัยและข้อมูลทางยุทธศาสตร์ในการเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อน ประการที่สอง การใช้เวทีสาธารณะเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ปัญหาไปพร้อมกัน และประการที่สาม การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่จะต้องมีการทำงานไปด้วย สามารถรับชมหนังสั้น DRUG$ THE PRICE WE PAY ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lZQe1eDuUeU

16 September 201916 September 2019by
ประชุมทวิภาคีเพื่อพัฒนากลไกการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ
Post

ประชุมทวิภาคีเพื่อพัฒนากลไกการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ

มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนกองทุนโลก ร่วมกับ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (ประเทศไทย) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง และกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาประเทศเมียนมาร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกการส่งต่อผู้ป่วยและการสะท้อนผลระหว่างประเทศบริเวณชายแดนจังหวัดระนอง ประเทศไทย และเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมทวีสินค้า โรงแรมทินิดี จังหวัดระนอง โดยมีนายแพทย์กัมพล ลิ่มทองนพคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยะภูมิโรงพยาบาลระนอง จังหวัดระนอง เป็นประธานในการเปิดประชุม การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับทวิภาคีเพื่อพัฒนากลไกและความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค ผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และมาลาเรีย ระหว่างประเทศบริเวณชายแดนจังหวัดระนอง ประเทศไทย และเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ โดยมีการจัดทำร่างแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีผู้ประสานงานหลัก และเจ้าหน้าที่ส่งต่อ มีระบบการติดตามผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนอย่างมีประสิทธิภาพ เวทีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนจำนวน 35 ท่าน ได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง โรงพยาบาลระนอง หน่วยประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ 6 จังหวัดระนอง กระทรวงสาธาณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลเชียงแสน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์

ประชุมร่วมกับทีมพยาบาลโรงพยาบาลบางนา 1
Post

ประชุมร่วมกับทีมพยาบาลโรงพยาบาลบางนา 1

วันที่ 29 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่ AHF Thailand และมูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ เข้าพบเพื่อแนะนำองค์กรและโครงการกับทีมพยาบาลโรงพยาบาลบางนา 1 พร้อมทั้งหารือเรื่องแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โรงพยาบาลบางนา 1 เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ AHF Thailand ให้การสนับสนุนในการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี โดยมีมูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ เป็นองค์กรประสานงานและสนับสนุนการทำงานในด้านการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่มารับบริการร่วมกับโรงพยาบาล

MR GAY WORLD THAILAND 2020 เปิดรับสมัครแล้ว
Post

MR GAY WORLD THAILAND 2020 เปิดรับสมัครแล้ว

การประกวด MR GAY WORLD THAILAND เวทีที่เฟ้นหาเกย์ไทยที่มีศักยภาพเพื่อเป็นตัวแทนไปร่วมประกวดเวทีระดับโลก AHF Thailand ในฐานะผู้สนับสนุนหลักการประกวด Mr Gay World Thailand 2019 จากประสบการณ์การมีส่วนร่วมและเฝ้ามองเวทีมาตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการจัดขึ้น ได้เห็นวิวัฒนาการและการเติบโตของเวทีมาตามลำดับ ไม่ใช่แค่เติบโตในเชิงปริมาณที่มีผู้สนใจเข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้น หรือมีหน่วยงาน องค์กร ให้การสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการเติบโตด้านคุณภาพ ซึ่งเวทีนี้ไม่ได้เน้นที่หน้าตา รูปร่าง หรือบุคลิก แต่เน้นที่การแสดงศักยภาพและทัศนคติที่มีในตัวผู้เข้าร่วมประกวด ผ่านการสร้างสรรค์แคมเปญกิจกรรมดีดีเพื่อสังคม ที่เหล่าผู้เข้าร่วมประกวดต้องคิดขึ้นเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมพิจารณา ในปี 2562 ที่ AHF Thailand ได้ให้การสนับสนุนหลัก เป็นปีที่มีผู้สนใจมาสมัครมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และมีความหลากหลายทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ สาขาอาชีพ และอายุ นั่นเป็นเพราะกองประกวดไม่ได้ปิดกั้น เปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยากแสดงศักยภาพของตัวเองให้สังคมได้รับรู้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีแห่งนี้ ด้วยความหลากหลายที่เกิดขึ้น จึงทำให้เวทีนี้แตกต่างจากเวทีประกวดอื่น สื่อต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ และผู้ชนะในปี 2019 คือ นัท ชโยดม สามีบัติ ก็เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดเวทีโลก ณ เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ สามารถคว้ารางวัลรองอันดับ 3 และรางวัล The Best Interview มาให้ประเทศไทยได้ชื่นชม แม้เป็นเวทีเล็กๆ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เป็นอีกพื้นที่ที่ทำให้เกย์ไทยได้แสดงศักยภาพและความสามารถของตนเองให้สังคมได้ประจักษ์ ซึ่ง AHF Thailand ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์กิจกรรมดีดีในครั้งนี้ สำหรับปีนี้ทางกองประกวดเขาเปิดรับสมัคร Mr Gay World Thailand 2020 แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม ท่านใดสนใจก็สมัครกันได้ที่ https://mrgaythai.com/th/contestants/apply หรือ inbox สอบถามรายละเอียด www.facebook.com/mrgaythailand

วันถุงยางอนามัยสากล 2561
Post

วันถุงยางอนามัยสากล 2561

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงเอชไอวีด้วย โดยจะเห็นได้จากการรณรงค์ที่เข้มข้นในช่วงปี 2532-2544 ส่งผลให้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในพนักงานบริการหญิงสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ปัจจุบัน มีนวัตรรมการป้องกันใหม่ๆ ออกมามากมาย เช่น PEP หรือ Post Exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นยาที่รับประทานหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสเชื้อ หรือยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี, PrEP หรือ PreExposure Prophylaxis หรือการให้ยาต้านไวรัสก่อนการรับหรือสัมผัสเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดย PrEP นั้นสามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบของยากิน หรือสารฆ่าจุลินทรีย์ (microbicides) ในรูปของเจลผสมยาต้านไวรัสใส่ในช่องคลอดหรือทวารหนัก เป็นต้น แม้จะมีนวัตกรรมการป้องกันใหม่ๆ ออกมาก็ตาม เอเอชเอฟเชื่อว่า ถุงยางอนามัยยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อป้องกันการต่อเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพราะถุงยางอนามัยมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง ดังนั้น ทุกๆ ปีเอเอชเอฟทั่วโลกจึงได้จัดงานวันถุงยางอนามัยสากลขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และที่สำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักว่าการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าอาย แต่คือการดูเองตัวเองและมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ สำหรับในปี พ.ศ. 2561 เอเอชเอฟ ได้ร่วมกับ SCB ART Box เพื่อจัดงานวันถุงยางอนามัยสากลหรือ International Condom Day ขึ้น โดยในปีนี้ธีมของงานก็เหมือนเช่นทุกๆ ปี นั่นคือ Always in fashion หรือ “ถุงยางอนามัย ทันสมัยอยู่เสมอ” เพื่อเน้นย้ำว่า ไม่ว่าเราจะมีเครื่องมือในการป้องกันใหม่ๆ อะไรออกมาก็ตาม แต่ถุงยางอนามัยก็ยังไม่เคยล้าสมัย งานในปีนี้เราจัดขึ้นในงาน SCB ART Box ข้างสถานี Airport Rail Link มักกะสัน โดยบรรยากาศในวันนั้นคราครำไปด้วยนักช็อปที่ชื่อชอบบรรยากาศของตลาดฮิปๆ อย่าง ART Box ที่เต็มไปด้วยของสวยๆ งามๆ และอาหารอร่อยๆ บูธของเอเอชเอฟในวันนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ มากมายที่นำนักช็อปในวันนั้นย้อนกลับไปยังอดีตในสมัยที่ถุงช็อบปิ้งลัคกี้ยังคงเป็นที่นิยม ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบงานในวันนั้นว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนสามารถมอบให้กับตัวเองได้เช่นกัน นอกจากกกิจกรรมสนุกๆ และของรางวัลมากมายแล้ว เอเอชเอฟยังมีบริการตรวจเลือดเพื่อหารการติดเชื้อเอชไอวีแบบรู้ผลเร็วอีกด้วย โดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย การตรวจในวันนั้นทำให้หลายคนโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยังไม่เคยตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนได้รู้ว่าจริงๆ แล้วการตรวจเอชไอวีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ดังเช่น เสียงสะท้อนจากน้องนักศึกษาคนหนึ่งในวันนี้นบอกว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าการตรวจเอชไอวีจะง่ายขนาดนี้ แต่ก่อนคิดมาตลอดว่ามันเจ็บและใช้เวลามาก เสียดยที่น่าจะจัดงานนี้ตั้งแต่เช้าๆ จะได้ลองพาเพื่อนมาตรวจด้วย” นั่นคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และเอเอชเอฟจะมุ่งมั่นต่อไปเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ ให้สมกับธีมของวันถุงยางอนามัยสากลที่เอเอชเอฟเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ว่า Always in fashion

Post

กิจกรรมวันเอดส์โลก 2561

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเป็นวันแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในปี พ.ศ. 2524 ทุกๆ ปี มูลนิธิเอดส์เฮ็ลท์แคร์จึงได้จัดงานรณรงค์ขึ้นทั่วโลกเพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เกิดความตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับเอชไอวีได้ ขอเพียงมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่กีดกัน ตีตรา หรือเลือกปฏิบัติ ก็จะช่วยให้นำไปสู่การป้องกันและดูแลรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น ในปี 2561 เอเอชเอฟได้ร่วมกับ ART Box จัดงานวันเอดส์โลกขึ้นที่ตลาดสามย่าน ซึ่งเป็นงานแรกที่ทั้งเอเอชเอฟและ ART Box ได้จับมือกันอย่างเป็นทางการ ตลอดระยะเวลาสี่วัน นอกจากนักช็อปนักชิมทั้งหลายจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารมากมายและสนุกกับการจับจ่ายซื้อสินค้าฮิปๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตลาด ART Box แล้ว นักช็อปกว่าหนึ่งพันคนยังได้ร่วมกิจกรรมที่บูธของเอเอชเอฟที่เต็มไปด้วยเกมมากมายที่ไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชไอวี และการตรวจเลือดอีกด้วย ภายในงานนอกจากบูธกิจกรรมแล้ว เรายังมีบูธตรวจเลือดแบบรู้ผลเร็ว ซึ่งตลอดระยะสี่วันมีผู้รับบริการตรวจเลือดทั้งหมด 229 และแจกจ่ายถุงยางอนามัยไปกว่า 8.000 ชิ้น จริงๆ แล้วการที่เอเอชเอฟจัดให้มีบูธตรวจเลือดกลางตลาดขนาดใหญ่เพราะเราต้องการสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับรู้ว่าการตรวจเลือดเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการดูแลและรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด ซึ่งเจตนาของเราในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จ เพราะเราได้เห็นภาพของแม่ที่พาลูกมาตรวจ เพื่อนพาเพื่อนมาตรวจ พ่อค้าแม่ค้าภายในงานหรือแม้แต่กระทั่งช่างไฟก็ยังให้ความสนใจมาตรวจเลือดที่บูธของเราด้วย จนกระทั่งมีเสียงสะท้อนจากผู้มาร่วมงานว่า “นี่แหละ normalization ของจริง” “ไม่น่าเชื่อว่าจะมีบูธตรวจเลือดอยู่กลางชุมชนที่คนพลุกพล่านขนาดนี้ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ” “นี่แหละคือสิ่งที่เราควรทำ ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การทำงานกับกลุ่มเสี่ยง โปรโมทแต่กลุ่มเสี่ยง แล้วคนทั่วไปจะไปตรวจที่ไหน พี่ไม่คิดว่าจะมีตรวจเลือดที่นี่ด้วยนะ มันเริศมาก” บนเวทีหลักเรายังมีกิจกรรมของเอเอชเอฟ ซึ่งไฮไลต์ของงานเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่เอเอชเอฟได้ให้การ สนับสนุนคนไข้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีครบจำนวน 1,000,000 คนทั่วโลกเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลานั้นนักช็อปนักชิมหน้าเวทีต่างยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพร้อมเปิดไฟเพื่อร่วมฉลองกับเอเอชเอฟ จนทาง ART Box เองถึงกับบอกว่า “ตั้งแต่จัดอาร์ตบ็อกซ์มานอกจาก The Toy ที่ทำแบบนี้ได้ก็มีเอเอชเอฟนี่แหละ” ในวันสุดท้ายเรายังมีไฮไลต์พิเศษ เพราะได้รับคิวจากคุณศานิต ช่างภาพชื่อดัง พร้อมทั้งน้องเป๊กน้องกาย และแม่เอ๋ จากโครงการ Love Lens ที่มาถ่ายทอดมุมมองความคิดดีๆ ที่มีต่อเอชไอวี/เอดส์ ท่ามกลางคนจำนวนมากโดยไม่รู้สึกเลยว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สมกับความตั้งใจที่เราต้องการให้สังคมมองว่าเอชไอวีเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งที่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ขอเพียงมีความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องเท่านั้น เอเอชเอฟจะยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ต่อไปทุกๆ ปี เพื่อช่วยให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคุณได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้สังคมของเราได้ตระหนักว่าความเข้าใจเท่านั้นที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ได้