Category: กิจกรรม AHF Thailand

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES: เพียงแค่ได้ให้ ก็สุขใจแล้ว
Post

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES: เพียงแค่ได้ให้ ก็สุขใจแล้ว

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “อาสาสมัคร” หลายคนอาจคิดว่าคน ๆ นั้นต้องเป็นคนเสียสละ ชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่างประกอบกันจนหล่อหลอมคนเหล่านี้ให้กลายเป็นบุคคลที่พร้อมจะทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อจุดหมายปลายทางอันเดียวกันนั่นก็คือ “การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์” วันนี้ AHF Thailand ขอนำเสนอมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจของบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นจิตอาสาตัวพ่อในจังหวัดขอนแก่น คุณประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่มเอ็มแคน (M-CAN) ผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 15 ปี จนเกิดภาพจำที่คนไข้หรือคนทั่วไปมักได้พบเห็นจนชินตา คือ พี่ยุทธเป็นอาสาสมัครที่ให้ความรู้ด้านเอชไอวีในโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆ และมักจะนำทีมลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีถึงบ้านอยู่เสมอ ซึ่งหลายคนทำงานและหยุดวันเสาร์หรืออาทิตย์ นั่นคือสาเหตุที่พี่ยุทธแทบจะไม่ค่อยมีวันหยุดกับเขา “คำว่าอาสาสมัครในมุมมองของพี่คือ มันต้องมีใจรักในงานบริการมาเป็นอันดับแรก ที่สำคัญต้องมีความรู้ มีสติ มีหัวใจของการเป็นผู้ให้ เช่น ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเจอคนไข้แบบไหนเราต้องเอาอยู่” พี่ยุทธบอกว่าหลายคนต้องเลิกเป็นอาสาสมัครเพราะไม่มีค่าตอบแทน หลายคนทำงานประจำและใช้เวลาว่างเพื่อมาทำงานจิตอาสา แล้วแต่บริบทและความจำเป็นของแต่ละคน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “อาสาสมัครมักจะอยู่ไม่ได้นาน นอกจากจะมีใจรักจริงๆ” “สมัยก่อนอาสาสมัครจะได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท เวลาเราไปเยี่ยมคนไข้ก็ไม่มีค่าน้ำมันหรือค่าข้าวให้ ก็ต้องไปขอแม่ แม่ก็ถามกลับมาว่าทำงานยังไงทำไมไม่มีค่าข้าวค่าน้ำมัน (หัวเราะ)” นอกจากเป็นคนมีจิตอาสา มีทุนทรัพย์ของตัวเองแล้ว การทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับจากสังคม โรงพยาบาล หรือคนไข้ ก็เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่อาสาสมัครควรต้องมี “การจะทำให้เขายอมรับเราได้ เราต้องมีศักยภาพมากพอ พี่ยุทธพยายามมา 10 กว่าปี เพื่ออบรมหาข้อมูลความรู้ในด้านต่าง ๆ ฝึกทักษะที่จำเป็นอย่างหนัก จนได้รับการยอมรับว่า อาสาสมัครก็สามารถทำหน้าที่บางอย่างเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของหมอและพยาบาลได้” เมื่อเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว พี่ยุทธและทีมงานก็ได้ตั้งกลุ่มเพื่อทำงานด้านจิตอาสาชื่อ “M-CAN (เอ็มแคน)” ซึ่งมีที่มาและความหมายที่น่าสนใจมาก โดย เอ็ม (M) ย่อมาจากคำว่า MSM คือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ประกอบกับคำว่า แคน ซึ่งหมายถึงเครื่องดนตรีของชาวอีสานบ้านเราที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี “กลุ่มเอ็มแคน จะดูแลรับผิดชอบด้านการให้คำปรึกษาและการส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่วัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน ซักประวัติและคัดกรองคนไข้ โดยเฉพาะเคสใหม่เราก็จะเป็นคนคอยให้คำปรึกษา การดูแลรักษาป้องกัน ตลอดจนการกินยาและผลข้างเคียงจะมีอะไรบ้าง ซึ่งเราจะแจกนามบัตรให้คนไข้ก่อนกลับบ้านเผื่อเขามีอะไรสงสัยก็โทรหาพวกเราได้ตลอดเวลา อีกหน้าที่หนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพี่ยุทธคนเดียว คือ การประสานและส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีไปตามสิทธิ์ประกันสังคม โดยเราจะแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 2 3 ต้องทำยังไง เตรียมเอกสารอะไรบ้าง แล้วก็พาไปส่งด้วยตัวเอง ส่วนอีก 2 ที่ คือ โรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลชุมแพนั้น เอ็มแคนจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครในโรงพยาบาล” นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับคนที่ต้องอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้พวกเขามีกำลังที่จะต่อสู้และลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง เปลี่ยนความหวังที่ริบหรี่ให้กลายเป็นแสงสว่างนำทางที่เกิดขึ้นในใจพวกเขา และนี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ใด้อยู่ในรูปแบบของเงินที่อาสาสมัครส่วนใหญ่มักได้รับกลับมา ซึ่งพี่ยุทธได้เล่าถึงเคสที่ประทับใจที่สุดเคสหนึ่งจากประสบการณ์ทำงานให้เราฟัง “เคสนี้เป็นใบ้ทั้งน้องผู้หญิงและน้องผู้ชาย น้องไม่รู้ว่าตัวเองท้อง พอไปตรวจก็พบว่าผลเลือดเป็นบวก โชคดีที่น้องผู้ชายผลเลือดเป็นลบ พี่ยุทธก็ให้คำปรึกษาไปว่าถ้าไม่อยากกินยาคุมก็ต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งตอนที่นัดน้องมาตรวจก็จะเตรียมถุงยางอนามัยกล่องใหญ่ๆ ใส่ถุงไว้ให้ เพราะนานๆ จะมาที ต้องบอกว่าเคสนี้แตกต่างจากเคสอื่นนิดนึง คือ ต้องสื่อสารด้วยการเขียนและการพิมพ์ข้อความคุยกันเพราะน้องพูดไม่ได้ทั้งคู่ พอน้องคลอดไม่กี่วันเราก็ขอไปเยี่ยมที่ห้องเช่าเลย ประจวบเหมาะที่ลูกของน้องถูกส่งไปให้ย่าเลี้ยงที่ต่างจังหวัด เลยมีเวลาได้ให้คำปรึกษาและแนะนำกัน” “ปัญหาต่อมาคือหลังจากตรวจพบเชื้อ น้องก็ถูกให้ออกจากงาน น้องเครียดมากที่แฟนต้องทำงานหาเลี้ยงเธอและลูกเพียงคนเดียว พี่ยุทธก็คิดอยู่นานว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง เพราะน้องบอกว่าอยากทำงานที่เดิมซึ่งอยู่ที่เดียวกับแฟน จะได้ขี่รถมอเตอร์ไซต์ไปทำงานพร้อมกัน” ถ้าจะช่วยแล้วก็ต้องช่วยให้ถึงที่สุด เพราะนี่คือหัวใจของอาสาสมัคร ทำให้พี่ยุทธมีความกล้าที่จะทำทุกอย่างเพื่อทำให้น้องคนนี้ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งนี้ไปให้ได้ “เหมือนฟ้าเป็นใจ ล่าสุดค่า VL หรือปริมาณไวรัสในเลือดของน้อง undetectable คือ ตรวจไม่พบ น้องเลยถามว่าแบบนี้แสดงว่าหายแล้วใช่มั้ย พี่ยุทธจึงตอบไปว่าต้องกินยาตลอดไปนะ ห้ามหยุดยาเด็ดขาด แล้วน้องก็ถามต่อว่าทำงานได้แล้วใช่มั้ย พี่ยุทธจึงตัดสินใจขอเข้าไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทเดิมที่น้องเคยทำ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องการติดต่อ การป้องกันและรักษา ในที่สุดบริษัทก็รับน้องกลับเข้าทำงานอีกครั้ง เพราะน้องกับแฟนเป็นคนขยันทำงาน ผู้จัดการจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนั้นพี่ยุทธรู้สึกตื้นตันและดีใจจนบอกไม่ถูก ภูมิใจที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือน้อง ต้องขอบคุณ AHF Thailand ด้วย ที่ทำให้เกิดโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา” แค่ได้ให้ก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับเสมอไป “พี่ยุทธคิดว่า การได้ช่วยเหลือ การได้ให้ การที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุขและได้เห็นรอยยิ้มของคนอื่น จากแววตาเศร้าหมองจากน้ำตาที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม จากคนที่ซูบผอมกลับมาแข็งแรง กลับมาทำงาน ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือสังคมได้ อันนี้แหละที่เป็นทั้งพลังและแรงบันดาลใจให้เรายังคงทำงานตรงนี้ต่อ ซึ่งพี่คิดว่าแค่ได้ให้ก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรับเสมอไป” นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายร้อยเรื่องราวที่พี่ยุทธหยิบยกมาเล่าให้เราฟัง เชื่อว่าน่าจะเป็นกำลังใจให้กับใครอีกหลายคน ไม่ว่าคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหรือคนที่สิ้นหวังก็ตาม ได้เห็นถึงเรื่องราวและมุมมองที่น่าประทับใจของคนที่เรียกตัวเองว่า “จิตอาสา หรือ อาสาสมัคร” ซึ่งรางวัลแห่ง “รอยยิ้มและคำขอบคุณ”  ที่พวกเขาได้รับนั้นก็มากเพียงพอแล้วที่จะเป็นพลังในการทำงานต่อไป

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES : เรื่องเล่าจากชายแดน ภายใต้แรงกดดันจากโควิด-19
Post

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES : เรื่องเล่าจากชายแดน ภายใต้แรงกดดันจากโควิด-19

เชื่อว่าหลายหน่วยงานต้องทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ด้วยความยากลำบาก AHF Thailand ขอแชร์เรื่องราวดี ๆ จากคุณปรียานุช อ่อนทุวงค์ ผู้ประสานงานจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดตาก กับองค์กรเล็ก ๆ ในชายแดนไทยเมียนมาที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย..

STAYING ALIVE The Series: ก้าวข้ามอคติด้วย “ความจริง” บทพิสูจน์ของ “คนจิตอาสา”
Post

STAYING ALIVE The Series: ก้าวข้ามอคติด้วย “ความจริง” บทพิสูจน์ของ “คนจิตอาสา”

วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้จัดงาน “วันสตรีสากล หรือ International Women’s Day” ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Break the Bias : ทลายอคติ” เพื่อยกย่องในบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก ครั้งนี้ AHF Thailand ขอหยิบยกเรื่องราวของหญิงแกร่งคนหนึ่งที่พบเจอกับเรื่องราวแง่ลบในชีวิต จนวันนึงได้ตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอคติจากคนรอบข้างและสังคม วันนี้เธอได้ก้าวข้ามเหตุการณ์ที่บั่นทอนจิตใจในอดีต มายืนอยู่ในจุดที่เป็นผู้ให้ความรู้และสร้างคุณประโยชน์ต่อคนในชุมชนและสังคมได้อย่างสง่างาม “ตั้งแต่ทำงานที่มูลนิธิเครือข่าวเยาวชน Little Birds มา ทำให้เรามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง และกล้าที่จะเผชิญกับคำถามต่างๆ ที่ไม่เคยกล้าตอบ และที่สำคุญที่สุด มันทำให้เรากล้าออกจาก safe Zone ของตัวเอง” นี่คือคำพูดของคุณนิว-พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds ที่เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ลดการตีตรา ก้าวข้ามอคติ ต่อสู้กับคำถาม “เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าให้ข้อมูลความรู้เรื่องเอดส์เชิงบวกที่ถูกต้องกับใครเลย เพราะกลัวเขาจะสงสัยว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ HIV รึเปล่า จุดเริ่มต้นอยู่ตรงที่การรวบรวมความกล้าที่จะตอบคำถามกับคนคนหนึ่ง ซึ่งปรากฎว่าเขาหยุดฟังเราแม้ว่าเขาจะยังมีทัศนคติด้านลบอยู่ก็ตาม แต่เมื่อเขาได้รับฟังข้อมูล ที่ถูกต้องก็ทำให้เขาคิดในแง่ลบน้อยลงกว่าเดิม ถือว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราลดการตีตราตัวเองและมองว่าตัวเองมีคุณค่า” “ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามจากสังคมเหมือนกันว่าเราเป็น HIV รึเปล่าเลยมาทำงานตรงนี้ เราก็จะตอบแบบนี้ไปทุกครั้งว่า “คนที่มาทำงานตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ติดเชื้อ HIV เสมอไป” แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็พยายามให้ชุดข้อมูลเชิงบวกมากกว่าข้อมูลเชิงลบตลอด จนในที่สุดก็เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากคนในชุมชน และคนเหล่านั้นยังนำข้อมูลการป้องกัน HIV ไปบอกต่อกับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย” ลูกตั้งคำถาม ? “หลังจากที่ก้าวข้ามทุกอย่างมาได้แล้ว สิ่งที่เรากังวลที่สุดก็มาถึง คือ ลูกเริ่มสงสัยและถามเราว่า “แม่ทำงานอะไร ?” เราจึงตอบลูกไปว่า “แม่ทำงานด้าน HIV” หลังจากนั้นเวลาที่เขาไปเจอโลโก้ Little Birds เขาก็จะพูดว่า “ที่ทำงานแม่หนู” เขาพูดแบบภูมิใจในตัวเรามาก “ตั้งแต่เด็กๆ จะถูกยายและแม่สอนว่าห้ามไปมีอะไรกับผู้ชายเด็ดขาด แต่ไม่เคยพูดว่ามีอะไรได้แต่ต้องใช้ถุงยางอนามัยนะ ถ้าวันนั้นเราได้ยินข้อมูลแบบนี้อาจจะไม่ต้องกลายเป็นคุณแม่วัยใสก็ได้ ทุกวันนี้เลยพูดเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างไม่อาย ในเมื่อผู้ชายไม่พกเราจะเป็นคนพกเอง ตอนนี้ลูกอายุ 9 ขวบแล้ว เราก็จะสอนลูกแบบนี้เสมอว่า “เป็นผู้หญิงอย่าอายที่จะพกถุงยาง” จนตอนนี้ลูกรู้จักการใช้ถุงยางอนามัยแล้วด้วยซ้ำ แม้ผู้ใหญ่จะบ่นว่าสอนลูกเร็วเกินไปก็ตาม” เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ นิวคิดว่า “ที่ผ่านมาเราได้รับสิ่งดีๆ จากคนอื่นมาเยอะแล้ว ถึงเวลาแล้วที่นิวจะมอบสิ่งนั้นให้กับคนอื่นบ้าง” กว่า 7 ปีที่เริ่มก่อตั้งและทำงานที่มูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds มา ถือว่าตัวเองเดินมาถึงจุดที่คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยเริ่มจากการเข้ามาเป็นอาสาสมัครจนทุกวันนี้กลายเป็นผู้นำด้านสุขภาวะและความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ให้กับคนในชุมชน ทำให้เรามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง กล้าที่จะเผชิญกับคำถามที่ไม่เคยกล้าตอบ และพยายามให้ข้อมูลเชิงบวกให้มากที่สุด “เราสามารถเป็นทูตที่ให้คำปรึกษาด้านเอดส์โดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีกต่อไป” เอดส์ก็เหมือนโควิด เป็นไม่เป็น ก็อยู่ร่วมกันได้ นิวคิดว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนทุกคนได้ แต่ความพยายามของเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนจากลบเป็นบวกได้” แต่อาจจะไม่ 100% และรู้สึกภูมิใจที่เรามีความรู้ด้านนี้ เราจะไม่โอเคกับคนที่พูดถึงโรคเอดส์ในด้านลบ หากได้ยินจะรีบเข้าไปบอกข้อมูลที่ถูกต้องกับเขาทันที” “ปัจจุบันที่มีโรคโควิด-19 เข้ามา ยิ่งทำให้เราเปรียบเทียบได้ดีมากๆ “โรคเอดส์กับโรคโควิดก็เหมือนกัน ตรงที่ตอนนี้ยังไม่มียารักษาให้หาย แต่เราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันได้ยังไง” ดังนั้น เราไม่ควรไปพูดไปถามเขาว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่คิดว่าการให้คำปรึกษาโดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ทุกคนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ HIV เชิงบวกมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ว่า “เป็นไม่เป็น ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้” “เมื่อเราเห็นคนที่เราให้ข้อมูลเขามีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เรารู้สึกมีพลังและอยากทำงานต่อ “รู้สึกใจฟูมาก” วันที่ได้ยินคนเหล่านั้นพูดว่า “คนที่เป็นเอดส์ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเนาะ เขาอาจจะเป็นแค่ HIV ก็ได้” ดีใจกับสิ่งที่เราทำมามันไม่สูญเปล่า แค่เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง” ความจริง : หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติ “คนที่ไม่มีความรู้เรื่อง HIV ไม่ได้แปลว่าเขาผิด และคนที่ถูกถามก็ไม่ผิดเช่นกัน ต่างคนต่างไม่ผิด แล้วทำไมเราจะให้ข้อมูลที่เป็นความจริงและถูกต้องกับคนเหล่านี้ไม่ได้ล่ะ ดังนั้นนิวจึงคิดว่า “หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนทัศนคติของคนก็คือ ความจริงและความถูกต้อง” ไม่มีใครผิดใครถูก แค่เขาไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไร “เราจะบอกกับครอบครัวหรือคนอื่นๆ เสมอว่า ถ้าได้ยินในสิ่งที่เราไม่มีข้อมูล อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรออกไปในทันที เพราะสิ่งที่เราคิดผิดหรือเข้าใจไปเองอาจทำร้ายคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว “เพราะคำพูดของคน สามารถฆ่าคนให้ตายได้เช่นกัน” “เราไม่อยากให้ใครมาพูดแบบลบๆ กับผู้ติดเชื้อ HIV” ถ้าหากคนคนนั้นไปพูดกับผู้ติดเชื้อที่มีจิตใจไม่แข็งแรงพอ เขาอาจจะฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ เราไม่อยากให้คนคนนึงต้องมาจบชีวิตเพียงเพราะลมปากคน จะเห็นได้ว่าคุณนิวเป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่ง ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ในวัยเด็กจนเติบโต รวมถึงอคติจากคนรอบข้างและสังคม วันนี้ เธอจึงได้ตั้งปณิธานที่จะเป็นผู้ให้กับคนอื่น AHF Thailand จึงขอยกย่องคุณนิวให้เป็นสตรีที่สตรองคนหนึ่ง เนื่องในวันสตรีสากลปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Break the Bias : ทลายอคติ” ซึ่งเราได้รับฟังหลากเรื่องราวและทัศนคติที่เธอใช้ทำลายกำแพงอคติต่างๆ...

STAYING ALIVE The Series: มูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds บ้านที่พร้อมโอบกอดและปลอบโยน “นกตัวน้อย” ด้วยความรัก
Post

STAYING ALIVE The Series: มูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds บ้านที่พร้อมโอบกอดและปลอบโยน “นกตัวน้อย” ด้วยความรัก

“พวกเขายังเป็นนกตัวเล็กๆ ที่ยังต้องพึ่งพาและยังต้องการมีต้นไม้ให้เกาะ Little Birds เป็นเหมือนบ้าน แม้กระทั่งบินออกไปแล้ว ไม่ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาก็สามารถกลับมาที่บ้านหลังนี้ได้เสมอ” คุณนิว-พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds บอกเล่าให้ฟังถึงความหมายของชื่อมูลนิธิฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจในการทำงานของมูลนิธิฯ ได้เป็นอย่างดี

STAYING ALIVE The Series: เรื่องเล่าจากใจชาวอาสา
Post

STAYING ALIVE The Series: เรื่องเล่าจากใจชาวอาสา

คุณคิดว่า คำว่า “อาสาสมัคร” มีความหมายและคุณค่าอย่างไรบ้าง ในโลกที่ผู้คนมากมายยังต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาสาสมัครคือหนึ่งในคนที่พร้อมจะยื่นมือและช่วยพากันเดินออกมาจากหนทางที่มืดมน อาสาสมัครจึงไม่ใช่เพียงแค่อาชีพ แต่อาจเป็นอะไรที่มากกว่านั้น

V-IDOL – We Love to Share 7 ไอดอลจิตอาสา สร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
Post

V-IDOL – We Love to Share 7 ไอดอลจิตอาสา สร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

หลายคนคงมีภาพไอดอลในใจว่าเป็นอย่างไร มีแรงบันดาลใจกับเราอย่างไรบ้าง แต่ไอดอลที่ AHF Thailand จะพาทุกท่านมารู้จัก มีความพิเศษมากไปกว่านั้น เพราะพวกเขาคือเหล่าไอดอลจิตอาสา ที่ขอมาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความตระหนักในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและความสำคัญของการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีผ่านโครงการ V-IDOL พวกเขาคือกลุ่มไอดอลที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า อยากให้ชีวิตของเพื่อนๆ และสังคมของเราดีขึ้นกว่าที่เคย สำหรับโครงการ V-IDOL นี้ ได้จัดมาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว ซึ่งเกิดจากความต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับด้านเอชไอวีและประชาสัมพันธ์การบริการเรื่องการตรวจให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพราะทุกวันนี้การทำงานจริงๆ ค่อนข้างมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด แต่การมี  V-IDOL จะสามารถรณรงค์และให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ลึกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ลดช่องว่างในการทำงานป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ V-IDOL ได้รับการสนับสนุนจาก AHF Thailand ร่วมกับองค์กรบางกอกเรนโบว์ ที่เป็นหัวเรือใหญ่สำคัญของโครงการนี้ โดย พี่อ๋อ-นิกร ฉิมคง ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดในการทำโครงการนี้ให้ฟังว่า “ทางบางกอกเรนโบว์เป็นผู้ดำเนินโครงการโดยมี AHF Thailand เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เราอยากส่งเสริมและรณรงค์การตรวจเอชไอวีในกลุ่มของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายผ่านออนไลน์มากขึ้น เพราะสื่อออนไลน์มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของเราเลยเป็นเรื่องของการหาช่องทางที่ทำให้เกิดอิทธิพลในการเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ เพราะโดยปกติกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ค่อยกล้าไปปรึกษาใครตัวต่อตัว เขาก็จะไปหาข้อมูลทางสื่อออนไลน์ ก็อยากให้หากวันหนึ่งเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เรื่องเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พอเสิร์ชข้อมูลเขาก็มาเจอโครงการเรา” แต่การจะเป็น V-IDOL ที่พร้อมจะแชร์ความรู้และความห่วงใยให้คนรอบข้างได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมียอดติดตามในสื่อโซเชียลมากกว่า 5,000 คนเท่านั้น แต่ V-IDOL จะต้องมีใจที่เป็นจิตอาสาด้วย รวมถึงวิธีการทำงานที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ผู้เป็น V-IDOL สามารถลงมือช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง “เราลงประกาศและบอกเงื่อนไขไปเลยว่า 1. คุณต้องมีจิตอาสา 2. มีทัศนคติที่ดีกับเรื่องของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 3. มีเวลา และ 4. มียอด follower 5,000 คนขึ้นไป ในปีแรกๆ ที่เราทำ มันจะเป็นการสื่อสารฝ่ายเดียว เป็นภาพแห้งๆ มีเพียงแบนเนอร์หรือโปสเตอร์เท่านั้น ครั้งนี้เราจึงเพิ่มความเข้มข้นเรื่องของความรู้พื้นฐาน มีการจัดเทรนนิ่ง โดยผู้ที่เป็น V-IDOL ต้องเข้าใจว่าวัตถุประสงค์โครงการคืออะไร คุณต้องทำอะไร เจออะไรบ้าง ภารกิจคืออะไร และต้องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เวลาคน inbox เข้ามาถาม คุณจะจัดการอย่างไร ระบบการประสานงาน ส่งต่อ การซัพพอร์ตของเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ไม่อยากให้เขาเข้ามาแล้วโดดเดี่ยว หลายๆ คนที่เป็น follower ของเหล่า V-IDOL จะได้รับรู้ว่ามีโครงการนี้ มองเห็นความสำคัญของการตรวจเอชไอวี รวมทั้งข้อความอื่นๆ ที่เราจะสื่อสารไปให้เขาในแต่ละอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งเรื่องการดูแล การป้องกัน การรักษา อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับเอชไอวี นอกจากเขาจะได้เรื่องความตระหนักรู้แล้ว เขายังรับรู้ว่าหากเขามีปัญหา เขาจะไปขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน” มารู้จักกับ 7 V-IDOL กัน! คุณอรรถพล ถนอมเกียรติ์ (เบียร์) อายุ: 34 ปี อาชีพ: ธุรกิจส่วนตัว ช่องทางการติดต่อ: Facebook: Beer Attaphon, IG: beer.3t, Twitter: 3t.beer ได้รู้จักพี่ที่เคยร่วมโครงการนี้ ซึ่งปัจจุบันเขาเสียไปแล้ว พอมีประกาศมาเราเลยสนใจ อยากสานต่อ เพราะว่าเป็นโครงการที่ดี และคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้ นึกถึงใครไม่ออกอยากให้นึกถึงเรา แล้วเดี๋ยวเราช่วยได้ไม่ได้อย่างไร อย่างน้อยเราก็เป็นตรงกลางให้ได้ อันนี้แหละถือเราประสบความสำเร็จแล้ว อย่างน้อยเราสามารถบอกต่อ หรือส่งต่อ ช่วยเหลือเขาได้ นอกจากเราเป็นเซ็นเตอร์ที่คนมองเห็นแล้ว อนาคตยังสามารถกระจายหรือเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไปก็ได้ มันก็เหมือนเป็นอีกหน่วยหนึ่งที่ส่งต่อความรู้ ส่งต่อเมตตาจิตให้กัน แผ่ไปเรื่อยๆ ให้กับสังคม คุณวุฒิชัย ไชยคม (ตุ้ม) อายุ: 32 ปี อาชีพ: Assistant Manager โรงแรม เดอะ สุโขทัย บางกอก ช่องทางการติดต่อ: Facebook: Chaiyakom WC, IG: Wuttcha_official จริงๆ มองว่า การที่เรามีความสุขกับวัตถุ เช่น กระเป๋า รองเท้า มันก็เป็นความสุขที่ทุกคนสัมผัสได้ แต่ตุ้มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ก็คือมีความสุขเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนอื่นในสังคม และอยากรู้ว่าความสุขนั้นเป็นอย่างไร ก็เลยลองเปิดโอกาสให้ตัวเองมาในจุดนี้ ก่อนจะเข้าโครงการนี้ ตุ้มเป็นเหมือนกล่องเปล่าๆ ใบหนึ่ง ไม่ค่อยรู้เรื่องโรคนี้เท่าไหร่ แต่พอได้มาเข้าร่วม ก็ได้พบเจอผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ ที่มาแชร์ความรู้ข้อมูลกัน ซึ่ง พอได้เห็นว่าการที่เรามีความรู้ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือสังคม สิ่งดีๆ ในตัวเราก็จะแผ่ไปสู่สังคม แผ่ไปสู่คนรอบข้าง...

AHF Thailand Effect the series: โรงพยาบาลเลิดสิน เสียงแห่งความเข้าใจเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ
Post

AHF Thailand Effect the series: โรงพยาบาลเลิดสิน เสียงแห่งความเข้าใจเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ

ห้องตรวจ 502 และให้คำปรึกษา โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นหนึ่งในหน่วยงานของโรงพยาบาลรัฐที่มีการดูแลและรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งกาย จิต และสังคม รวมถึงการให้บริการแบบ one stop service

AHF Thailand Effect the Series: มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เสียงอันอบอุ่นจากเพื่อนของเรา
Post

AHF Thailand Effect the Series: มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เสียงอันอบอุ่นจากเพื่อนของเรา

“ในตอนนั้นที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ คิดว่าตัวเองตายไปแล้ว ฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่เราควรทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง” พี่เอก-สมชัย พรหมสมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เล่าถึงความหลังย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2535

AHF Thailand Effect the Series: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เสียงสะท้อนของวัยเยาว์
Post

AHF Thailand Effect the Series: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เสียงสะท้อนของวัยเยาว์

วัยรุ่น คือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยแห่งความอยากรู้อยากลองในทุกเรื่อง และเริ่มหัดที่จะรักบุคคลอื่นนอกจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ก้าวออกจากรั้วบ้านเข้าสู่รั้วสถานศึกษา ที่ที่พวกเขาจะได้เริ่มสร้างสังคมในแบบฉบับของตัวเอง แต่ด้วยวัยที่ต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกที่กว้างขึ้น ย่อมอาจทำให้พวกเขาละเลยที่จะรักและรู้จักป้องกันตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่เยาวชนชายและหญิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย นี่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) หนึ่งในภาคีที่ AHF Thailand ให้การสนับสนุน ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและส่งต่อเพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) ในกลุ่ม MSM/TG พื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและวัยรุ่นในสถาบันอุดมศึกษา มีความตระหนัก รู้จักป้องกันตัวเอง และเข้ารับการตรวจรักษา ซึ่งจะช่วยให้อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยลดลงได้   รู้จักกับสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ “อยากให้เขารู้จักคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง และป้องกันตัวเองเป็น” นี่คือวลีที่คุณก้อง-วรโชติ ละมุดทอง รักษาการผู้อำนวยการด้านงานเอดส์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวไว้เมื่อถูกถามว่า ทำไมจึงเลือกทำงานรณรงค์ให้ความรู้ด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคำตอบนี้ ยิ่งทำให้เราอยากรู้จักสมาคมฯ แห่งนี้มากยิ่งขึ้น คุณก้องเล่าให้ฟังถึงที่มาและเป้าหมายของสมาคมฯ ว่า สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์กรสาธารณกุศลแห่งแรกที่บุกเบิกงานวางแผนครอบครัวในประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 และเป็นผู้นำแห่งการเรียนรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ซึ่งหนึ่งในภารกิจปัจจุบันคือการส่งเสริมการป้องกันการแพร่ระบาดและลดผลกระทบของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ และลดการตีตรา แก่เยาวชนในสถานศึกษา ปัจจุบันการติดเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีแนวโน้มที่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปมาก ด้วยวิถีชีวิตและบริบทในสังคม อาจทำให้พวกเขาไปเสี่ยงกับการติดเชื้อทางเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อีกทั้งบางส่วนก็ยังขาดความรู้และการเข้าถึงบริการ VCT คือการเข้ารับบริการตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นสถิติของกลุ่มดังกล่าวจึงยังมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ คุณก้องกล่าวย้ำว่า “จริงๆ แล้ว การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการมีพฤติกรรมทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น เราจึงควรต้องระมัดระวัง และตระหนักให้มาก”    เปิดรั้ว เปิดใจ การทำงานของสมาคมจะเป็นการทำงานเชิงรุกที่บุกเข้าไปให้ความรู้ผ่านกิจกรรมและมีรถโมบายให้บริการตรวจ VCT ร่วมกับหน่วยพยาบาลภาครัฐและศูนย์บริการสาธารณสุขให้กับนักเรียนนักศึกษาถึงในรั้วสถาบัน พร้อมกับการสร้างชุมชนและเครือข่ายอาสาสมัครผ่านกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้ข้อมูลความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเรียนรู้แง่มุมที่หลากหลายและความเลื่อนไหลของเพศวิถี เคารพต่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของทั้งตัวเองและผู้อื่น และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย “กิจกรรมที่เราทำ ไม่ได้ยืนถือไมค์ แล้วเปิดสไลด์อย่างเดียว แต่เรามีเวิร์คช็อป ภาพจริง เสียงจริง รูปจริงที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ระมัดระวัง ซึ่งบางทีเรามีคนไข้มาเป็นวิทยาทานให้น้องเห็น พยายามหารูปแบบหรือดีไซน์กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะไม่เหมือนกัน เช่น การออกบูธกิจกรรมในวันแห่งความรัก มีหน่วยแพทย์โมบายเคลื่อนที่ แคมเปญปั่นจักรยานรอบรั้วมหาวิทยาลัย หรือเดินแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ตามชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย เป็นต้น “ในเรื่องของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เราก็จะเจาะไปที่ตัว ‘คุณแม่’ เลย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีชมรมต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจะมีรุ่นพี่ที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ เราก็จะพยายามเจาะไปในกลุ่มนั้น ดึงเขามาทำกิจกรรม โดยคิดกิจกรรมที่เขาอยากมีส่วนร่วมด้วย หรือทำแล้วรู้สึกว่าดีต่อชีวิตของเขา” แต่การทำงานกับเยาวชนและวัยรุ่น ย่อมมีเรื่องไม่คาดฝัน และท้าทายการทำงานของสมาคมฯ ไม่น้อย แต่ด้วยหัวใจทีมงานที่เป็นจิตอาสา ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะเพียงแค่ผู้บรรยายให้ความรู้ แต่สามารถให้คำปรึกษา ตลอดจนส่งต่อการรักษา จนหลายๆ คนมีชีวิตที่ดีขึ้น และตลอดกระบวนการทุกอย่างล้วนเป็นความลับ “จริงๆ แล้ว เวลาออกตรวจเคลื่อนที่ เด็กๆ ให้ความสนใจเข้ามาตรวจเยอะมาก แต่กลุ่มเสี่ยงจริงๆ จะไม่ค่อยมาตรวจ เพราะหนึ่ง เขากลัวเจอโรค และสอง ถ้าเดินมาเจอเพื่อนก็กลัวเพื่อนถาม กลุ่มเสี่ยงจริงๆ จึงมักจะไม่เปิดเผยตัวตน เราก็จะทิ้งเบอร์โทรหรือไลน์เอาไว้ ใครมีปัญหาหรือไม่สะดวกตอนนี้ ก็สามารถมาปรึกษาทีหลังได้ น้องหลายๆ คนก็เลือกที่จะเข้ามาปรึกษาหลังจากเลิกคลาสไปแล้ว ซึ่งเมื่อเราให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก็สามารถประเมินได้ว่าใครความเสี่ยง จากนั้นเราก็จะบอกให้เขาตระหนักว่า เอชไอวีมันไม่ได้น่ากลัว สามารถรับยาต้านได้ แต่หากไม่รับการรักษา ปลายทางจะน่ากลัวกว่า “มีหลายเคสที่เราช่วยส่งต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมาย เราก็จะโทรนัดพยาบาลว่าจะมีน้องไปตรวจนะ เพราะบางทีถ้าเราไม่ได้ประสานไป น้องๆ ก็จะเข้าไปแบบผู้ป่วยนอก ก็อาจจะเจอการตีตราจากคนนอกได้ ในรายที่ส่งไป แล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี เราก็จะประสานไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขต่อไป หลายสายโทรมาขอบคุณเรา หรือบางทีน้องเรียนจบไป ทำงานแล้ว ก็มีเคสส่งมาให้ด้วย เหมือนเขาสะดวกใจที่จะคุยกับเรา เพราะเราคุยกันแบบเปิดใจกันและสามารถเก็บความลับของเขาได้”   วัยหัวเลี้ยวหัวต่อและความท้าทาย วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งในเรื่องการคิด การใช้ชีวิต การเรียน และความรัก ซึ่งหลายๆ คนยังขาดความรู้เท่าทันเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณก้องกล่าวว่า ความรู้ที่เด็กๆ มี ยังไม่แน่นพอ เพราะฉะนั้นสมาคมฯ จึงได้มาลุยงานในสถาบันการศึกษา เพราะการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่นนั้นยังมีค่อนข้างสูง “นอกเหนือจากการส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธ์ที่ดีแล้ว ในเรื่องของการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งที่น้องๆ ควรจะได้รู้ เพราะในสถานศึกษาไม่ได้มีสอนวิชานี้เป็นวิชาหลัก ภารกิจของสมาคมฯ ก็จะพยายามไปหนุนเสริมในรายละเอียดตรงนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นอยากลอง ในการอยากลองอยากรู้ของเขาบางทีเขาก็ลืมเรื่องการป้องกัน เหมือนเราเติมส่วนความรู้ให้มันเต็ม ให้ถูกต้อง รู้จักเอาตัวรอดได้ และรู้จักป้องกันได้” การให้ความรู้และจัดกิจกรรมของสมาคมฯ แก่วัยรุ่น จึงไม่ใช่การสอนแบบตรงเป็นไม้บรรทัด แล้วบังคับห้ามปราม...

AHF Thailand Effect The Series: เสียงเล็กๆ จากชายแดน…PPAT แม่สอด
Post

AHF Thailand Effect The Series: เสียงเล็กๆ จากชายแดน…PPAT แม่สอด

ในขณะที่เราใช้ชีวิตในสังคมใหญ่ มีระบบสุขภาพที่มีมาตรฐาน หากติดเชื้อเอชไอวี เราก็สามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้ไม่ยาก และยังรักษาได้ฟรี แต่ในบริเวณพื้นที่ชายขอบของไทยนั้น กลับไม่มีโอกาสแม้แต่การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน