FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY

FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY

วันที่ 10 กันยายน 2562 ในงาน ASEAN Civil Society Conference/ ASEAN People Forum 2019 Thailand หรือ ACSC/APF 2019 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต AHF Thailand ได้จัดกิจกรรม FILM SCREENING: DRUG$ THE PRICE WE PAY พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ยาในประเทศไทย โดยจากคุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และคุณเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ราคายาในปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพในปัจจุบัน ยาสำคัญหลายตัวที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้ทุกวันมีราคาที่สูงเกินกว่าที่จะสามารถจ่ายไหวได้ ทำให้คนตกอยู่ในสภาวะยากจนเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าบริษัทยามีวิธีการอย่างไรในการกำหนดราคายา และในขณะเดียวกันผู้บริโภคกลับไม่มีอำนาจต่อรองราคายาเลยแม้แต่น้อยเหมือนกับที่สามารถต่อรองราคาสินค้าอื่น ๆ ในตลาดทั่วไปได้

ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา หรือ TRIPS ถูกใช้เป็นเครื่องมือของประเทศที่พัฒนาแล้วในการบังคับให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยาขนาดใหญ่ ทำให้คนในประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็นต่อชีวิตได้น้อยลง อาทิ ยารักษาเบาหวานบางตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นราคาจากเดิมถึง 17 เท่า ทั้งที่เป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ทุกวัน โดยอ้างว่าเป็นการยาที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ที่จริงคือการนำเอาสารตั้งต้นต่าง ๆ นำมาทำส่วนผสมใหม่ โดยส่วนใหญ่บริษัทยามักจะทำในลักษณะนี้แล้วอ้างว่าเป็นยาตัวใหม่นำมาจดทะเบียนสิทธิบัตรยาในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่รัฐตามไม่ทัน ซึ่งจริง ๆ แล้วยาเหล่านี้แม้นักศึกษาเภสัชกรรมปีสุดท้ายก็สามารถผลิตขึ้นเองได้

ในประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญญาราคายาเช่นกัน โดยจากการผลักดันของภาคประชาสังคมทำให้เกิดการทำ Compulsory licensing (CL) หรือมาตรการทางกฎหมายที่อนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถใช้สิทธิในการผลิต การใช้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข เราได้มีประสบการณ์ในประเทศไทยจากยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาโรงมะเร็ง และล่าสุดคือยารักษาไวรัสตับอักเสพซี ซึ่งมาเลเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำ CL ซึ่งมีผลทำให้ยารักษาไวรัสตับอักเสพซีถูกลงมาถึงร้อยละ 50

ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงมีความสำคัญต่อการเข้ามามีบทบาทในการติดตาม และการที่จะตั้งคำถามต่อการตั้งราคายาของบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก การใช้ข้อมูลวิจัยและข้อมูลทางยุทธศาสตร์ในการเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อน ประการที่สอง การใช้เวทีสาธารณะเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ปัญหาไปพร้อมกัน และประการที่สาม การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่จะต้องมีการทำงานไปด้วย

สามารถรับชมหนังสั้น DRUG$ THE PRICE WE PAY ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lZQe1eDuUeU