Behind the scene: AHF Thailand เราอยากให้คุณรู้จักเรามากขึ้น

Behind the scene: AHF Thailand เราอยากให้คุณรู้จักเรามากขึ้น

ชื่อของ AHF Thailand อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก หลายคนอาจเคยเห็นกิจกรรมที่จัดตามที่สาธารณะ หรือในหน้าสื่อบ้างประปราย ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “พี่แจ็ค-กฤษสยาม อารยะวงค์ไชย หนึ่งในกำลังขับเคลื่อนสำคัญของ AHF Thailand ที่จะมาบอกเล่าที่มา พร้อมเรื่องราวขององค์กรแห่งนี้ให้เราได้ฟังกัน

AHF หรือมูลนิธิ เอดส์ เฮลท์ แคร์ คือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในชุมชนแห่งหนึ่งที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อ 32 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ. 2530) สมัยนั้นเทคโนโลยีการรักษายังไม่ก้าวหน้า เชื้อ HIV คร่าชีวิตผู้คนในชุมชนวันแล้ววันเล่า ทำให้คนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพราะไม่สามารถนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ได้อีกต่อไป” พี่แจ็คเริ่มต้นเล่าความเป็นมาของ AHF ให้เราฟัง ซึ่งจากจุดเริ่มต้นขององค์กรเล็กๆ ในชุมชน AHF ค่อยๆ ขยายวงกว้าง ไปทั่วโลกรวมถึงในเอเชีย และประเทศไทย ในปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ 43 ประเทศทั่วโลก

“ในส่วนของประเทศไทย AHF เริ่มต้นเข้ามาทำกิจกรรมจริงๆ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งจุดเริ่มต้นของเราคือ การเห็นช่องว่างในการดูแลรักษาและการเข้าถึงการตรวจสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เราจึงเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ แต่ปัจจุบันเราทำงานกับทุกกลุ่มประชากร ทั้งเยาวชน ผู้ต้องขัง ผู้ใช้สารเสพติด ชายหญิงทั่วไป หญิงข้ามเพศ ชายรักชาย พนักงานบริการ และผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี รวมถึงมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”

ถ้าต้องการยุติการแพร่ระบาด ต้องควบคุมให้ได้

เป้าหมายของ AHF คือการยุติการแพร่ระบาดของ HIV แต่ก่อนที่จะยุติได้ต้องควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดเสียก่อน ดังนั้นหัวใจหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานของ AHF คือการส่งเสริมการตรวจหาการติดเชื้อ และส่งต่อเพื่อเข้าถึงการดูแลรักษา

“กิจกรรมหลักของเราอันแรกคือ ส่งเสริมการตรวจ ซึ่งเราได้ทำร่วมกับองค์กร และชุมชน เพราะการเข้าถึงประชากรบางกลุ่มต้องอาศัยคนที่เข้าใจเขา อย่างเช่น กลุ่มชายรักชาย เราก็ต้องทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ และอีกส่วนเราก็ทำงานร่วมกับกับภาคีที่เป็นโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลรักษา เราจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเรามีทั้งหมด 9 โรงพยาบาล ที่เป็นภาคีกับเรา”

นอกจากการทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อแล้ว การสร้างความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมและการสร้างความตระหนักรู้ก็เป็นงานอีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

“งานอีกด้านที่เราทำ คือการทำการตลาดแต่ไม่ใช่เรื่องการตลาดทั่วไปที่คนเข้าใจกัน เราเรียกว่า การตลาดเพื่อสังคม หลักๆ คือการจัดอีเว้นท์เพื่อสร้างความเข้าใจ ตระหนักในประเด็นนี้ ไม่ให้คนลืมหรือคิดว่ามันไม่สำคัญนะ หรือโรคนี้มันหายไปแล้ว ยกตัวอย่างงานหลักที่เป็นงานใหญ่คือ งาน International Condom Day ซึ่งจะตรงกับวันวาเลนไทน์ และงานเอดส์โลก ซึ่งเราได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ถุงยางอนามัย ในงานเราจะมีกิจกรรมเพื่อรับถุงยางอนามัยฟรี และการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีด้วย ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ก็ทำให้เราเข้าถึงคนทั่วไปในสังคมมากขึ้น”

 

การร่วมมือระหว่างองค์กรคือการขับเคลื่อนที่สำคัญ

 

“เราอยากให้ความร่วมมือขององค์กรตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการมากที่สุด

นี่คือหัวใจในการทำงานของเรา”

 

แม้ว่า AHF Thailand จะเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนองค์กรอื่นๆ ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พี่แจ็คยังคงย้ำกับเรานั่นคือ การร่วมมือกันระหว่างองค์กร ไม่ใช่แค่การให้ทุนและวัดผลจากตัวเลขเท่านั้น

เวลาที่เราจะทำงานกับองค์กรไหน เราจะพยายามพูดคุยกันก่อนว่า ความต้องการในพื้นที่คืออะไร เช่น เราจะเข้าไปทำงานกับโรงพยาบาลนี้ ไม่ใช่ว่าเรามีงบเท่านี้ เอาตัวเลขมาไม่ใช่ แต่เราจะเข้าไปคุยว่า ในการทำงานด้าน HIV ของโรงพยาบาล ยังมีข้อจำกัดอะไร ยังมีช่องว่างตรงไหน แล้วเราจะเอาความต้องการตรงนั้นเป็นจุดตั้งต้นในการทำงาน เราจะเข้าไปร่วมคิดร่วมทำกับเขา เพราะเราอยากให้ความร่วมมือขององค์กรตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการมากที่สุด นี่คือหัวใจในการทำงานของเราครับ”

สิ่งเล็กๆ กับความตั้งใจมหาศาล

“การทำงานในกลุ่มประชากรข้ามชาติมันยากมาก ตรงที่พอเขาไม่มีสิทธิ์ มันยากที่จะส่งต่อ

พอไม่ใช่คนไทยมันยากที่เข้าถึงเขา พอเขาพูดไทยไม่ได้ คือทุกอย่างมันยากไปหมด”

 

ตั้งแต่ก่อตั้ง AHF Thailand สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด คือการทำจริง ลงมือจริง เกิดผลจริง ใช้งานได้จริง และการลงลึกถึงรายละเอียด

“บางพื้นที่ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ไม่มีใครเข้าไปหาเขาเลย แต่ภาคีเราลงพื้นที่แบกกระเป๋าชุดตรวจ เดินลัดทุ่งนาไปหาถึงบ้าน บางทีไปหาเขามืดๆ ก็ไปจุดไฟตรวจเลือดกัน สิ่งเหล่านี้มันช่วยเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล มันเป็นจุดเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่เราไม่เคยมองข้าม ซึ่งถ้าเขาไม่มี AHF เขาก็จะไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเหล่านี้เลย อย่างบางคนเขาไม่มีสิทธิ์อะไรเลย เพราะเขาไม่ใช่คนไทย ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีกำลังทรัพย์จะไปตรวจ และต่อให้เขาตรวจเจอ เขาก็ไม่สามารถรักษาตัวเองได้ แต่นี่คือชีวิตเราไม่สามารถทิ้งเขาได้

ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่แม่สอด เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติในบ้านตัวเองด้วย เพราะย้ายมาอยู่นี่ตั้งแต่เด็กๆ เรียกว่าเป็นบุคคลไร้ตัวตนเลย ปรากฏว่าตัวเองก็ติดเชื้อ สามีก็ติดเชื้อ แล้วหันหน้าไปไหนก็ไม่ได้ แต่ภาคีของเราที่ได้รับการสนับสนุนจาก AHF ก็คอยดูแลช่วยเหลือ คอยให้กำลังใจเขา คือ ณ วินาทีนั้น กำลังใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”

อนาคตของ AHF Thailand

การเติบโตของ AHF Thailand ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งพี่แจ็คยังคงยืนยันว่าทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่จะขยายความร่วมมือและมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกับคนในสังคมมากขึ้น

“ปีที่แล้วเรามีภาคีแค่ 2 โรงพยาบาล แต่ปีนี้เรามี 9 โรงพยาบาล จากการดูแลคนไข้ 300 คน การสนับสนุนของเราในปัจจุบันเป็นประโยชน์กับคนไข้กว่า 35,000 คน คือโตเกือบ 12,000 % ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองปี เราก็ทำอย่างนี้จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเพราะเป้าหมายของเราคือการยุติเอดส์ แต่อีกสิ่งที่อยากจะทำมาก แม้ว่ากำลังคนเราจะน้อย แต่ก็จะทำเท่าที่เราทำได้ คือเราอยากขับเคลื่อนทางสังคมมากขึ้น อย่างโครงการ AHF Media Award ที่เราต้องการส่งเสริมเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะการตีตราในบ้านเราก็ยังคงมีมากพอสมควร จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนมากกว่านี้ สิ่งที่เราขาดในสังคมไทยคือเรื่องการสื่อสาร การปรับเปลี่ยนทัศนะและพฤติกรรม ถ้าถามว่าทำยังไงสังคมเราถึงจะลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และเข้าใจถูกต้อง เราจำเป็นต้องมีการสื่อสารในประเด็นนี้อย่างสม่ำเสมอหรือมากกว่านี้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในอนาคต AHF จึงอยากขยับขยายทำเรื่องนี้มากขึ้น”

 

พร้อมให้ความช่วยเหลือในทุกช่องทาง

"บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ เขาก็ดูแลคนในครอบครัวได้

แต่ถ้าเขาดูแลตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองป่วย เขาก็ดูแลครอบครัวไม่ได้"

 

ทุกวันนี้ AHF Thailand มีช่องทางการติดต่อที่หลากหลายทั้งโทรศัพท์ ไลน์ ฮอตไลน์ อีเมล์ เฟสบุ๊ค เพื่อให้เข้าถึงคนอย่างมากที่สุด

AHF เราเป็นองค์กรที่ทำงานกับทุกคน เพราะฉะนั้นใครที่ไม่แน่ใจว่าไปมีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรมา อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม อยากจะเข้าใจการดูแลรักษาตัวเองมากขึ้น AHF และภาคีของเราอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา เรายินดีให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง

ล่าสุดมีฝรั่งติดต่อเข้ามา ทำยังไงดี เพื่อนฉันคนไทยเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ แล้วขาดยามาเป็นปี มีปัญหาดื้อยา ไม่มีเงิน ไม่รู้จะทำอย่างไง เคสนี้พี่ก็ประสานกับมูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นภาคีของเรา ช่วยติดต่อเขาเพื่อพาเข้าสู่ระบบการรักษา และให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิ์การรักษา อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น เราโชคดีที่มีภาคีดี น่ารักมาก ร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน

ดังนั้นทุกอย่างที่เราทำ ทำไมเราไม่ท้อ เพราะมันคือการช่วยชีวิต เพราะถ้าคนๆ หนึ่งหากเขาป้องกันตัวเองได้ นั่นก็คือการป้องกันคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ เขาก็ดูแลคนอื่นได้ ลองนึกภาพว่าบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ เขาก็ดูแลคนในครอบครัวได้ แต่ถ้าเขาดูแลตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองป่วย เขาก็ดูแลครอบครัวไม่ได้ หรือคนนั้นเป็นลูก อนาคตเขาก็ต้องดูแลพ่อแม่ แล้วถ้าเขาป่วยใครจะดูแลพ่อแม่ล่ะ”

 

บทส่งท้าย…พี่แจ็คฝากถึงผู้อ่าน

“หากสังคมเราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ เปิดใจยอมรับและไม่ตีตราซึ่งกันและกัน

พี่คิดว่ามันจะช่วยทำให้การยุติเอดส์ เป็นไปได้ไวขึ้น”

 

“สิ่งที่จะทำให้สังคมเราเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ คือความเข้าใจ การเปิดใจยอมรับ บางครั้งที่ผ่านมา ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต หลายๆ คนเขาไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้ จนกระทั่งตัวเขาเองต้องล้มป่วย หรืออาจจะไปแพร่เชื้อให้คนอื่น หรือไม่กล้าเข้าไปรับบริการเพราะทัศนคติและความไม่เข้าใจบางอย่าง เพราะฉะนั้นหากสังคมเราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ เปิดใจยอมรับและไม่ตีตราซึ่งกันและกัน พี่คิดว่ามันจะช่วยทำให้การยุติเอดส์ เป็นไปได้ไวขึ้น ซึ่งเป้าหมายหลักของทั่วโลกและประเทศไทยคือปี ค.ศ. 2030 แต่เราจะทำได้หรือไม่ได้ ไม่มีใครรู้หรอก พี่รู้แต่ว่าตอนนี้ทุกคนพยายามเต็มที่ และต่อให้เราบรรลุเป้าหมายได้ แต่ HIV มันยังไม่จบหรอก เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อจำนวนไม่น้อย แต่ด้วยวิวัฒนาการ ความก้าวหน้าของการรักษา มันทำให้คนสามารถอยู่กับเชื้อได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นเขาจะมีชีวิตที่ยืนยาว แต่เขาอาจจะต้องเผชิญกับโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) หรือภาวะอื่นๆ ในชีวิต หรืออาจจะมีประเด็นอื่นที่เราจะต้องทำงานกันต่อไป”

ขอขอบคุณ
พี่แจ็ค-กฤษสยาม อารยะวงค์ไชย ผู้จัดการ AHF Thailand

 

คุณสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาฟรีได้ที่โทร. 064 598 6112 หรือ Line ID: ahfthailand
เวลาทำการ
สำนักงาน: จันทร์-ศุกร์ 09.00-17.00 น.
ให้คำปรึกษา: จันทร์-เสาร์ 10.00-19.00 น.
ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/AIDSHealthcareThailand/