เมื่อเอ่ยถึง “พลังบวก” (Positive Energy) คำคำนี้มีความหมาย มีความสำคัญกับคุณและคนรอบข้างอย่างไร ? เมื่อคนเราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อใครอีกหลายคน “พลังบวก” จึงเปรียบเสมือนพลังงานที่คอยหล่อเลี้ยง เติมเต็มคนที่หลายคนเรียกว่า “จิตอาสา” ให้มีพลังที่จะขับเคลื่อนงานที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก สำหรับหัวใจของคนที่เป็น “ผู้ให้”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ AHF Thailand ได้เชิญกลุ่มคนจิตอาสาที่เป็นภาคีเครือข่ายมาร่วมกิจกรรม “เวทีพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV” ซึ่งเราเรียกทีมนี้ว่า “Care & Support Team” เวทีครั้งนี้ เต็มไปด้วยการแชร์องค์ความรู้ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ รวมทั้งเหตุการณ์เกี่ยวกับ HIV ในประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาที่พบในการทำงานจริงของอาสาสมัครแต่ละคน เพื่อรวบรวมตกผลึกเป็นชุดองค์ความรู้และแนวทาง ในการสนับสนุนการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
AHF Thailand อยากจะนำเสนอแนวคิดพลังบวกที่ได้จากการแบ่งปันของเหล่าอาสาสมัครทั้งรุ่นบุกเบิกและรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่านหรือผู้ที่ทำงานด้านการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ตลอดจนผู้ที่ทำงานอาสาสมัครด้านอื่นๆ เรามาฟังแนวคิดและประสบการณ์ทำงานจากพี่ ๆ อาสารุ่นบุกเบิกกันว่าสมัยนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง และพวกเขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร
สมชัย พรหมสมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิ เดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์
“ยุคแรกที่เชื้อ HIV เข้ามาในไทย พี่ขอเรียกว่า “ยุคปี๊บคลุมหัว” คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อไม่สามารถบอกใครได้เลย แม้กระทั่งคนในครอบครัว จะออกจากบ้านทีต้องสวมอุปกรณ์ปกปิดหน้าตาและร่างกายอย่างมิดชิด เพราะกลัวเจอคนรู้จัก แต่ด้วยความจำเป็นต้องเดินทางไปพบหมอ ไปรับยาที่โรงพยาบาล จึงไม่มีทางเลือก ค่ายาปีละเป็นแสน คนที่ได้รับยาต้องเข้าระบบโครงการวิจัยเท่านั้น
นี่คือเรื่องจริงในอดีตที่ พี่ๆ อาสาสมัครรุ่นก่อนได้พบ และมักจะได้ยินประโยคที่ว่า “เอดส์..เป็นแล้วตาย” จึงเป็นอะไรที่คนค่อนข้างกลัวมาก
ประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่มเอ็มแคน – ขอนแก่น
“ในปี 2549 มีการประชุมระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่โรงแรมเชอราตันเชียงใหม่หลายประเด็น อาทิ ข้อตกลง TRIPS ที่ส่งผลกระทบต่อระบบยา ในกรณีสิทธิบัตรยานั้น หากไทยยินยอมขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไป จะทำให้ยามีราคาแพงขึ้น และผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ไม่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส เช่น Indinavir และ Efavirenz ได้”
“ตอนนั้นมีคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะ HIV เยอะมาก เพราะยามีราคาแพงและมีผลข้างเคียงสูง พอเรารู้ว่าเขาจะมีการเจรจาพูดคุยเรื่องจดสิทธิบัตรยาต่อเนื่อง ประกอบกับทีมหมอไร้พรมแดนเข้ามากระตุ้นให้พวกเราเรียกร้องสิทธิ์ในการเข้าถึงยาเพื่อตนเองและคนรุ่นหลัง ตอนนั้นพวกเราฮึกเหิมมาก ทางเครือข่ายที่ดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและผู้อยู่ร่วมกับเชื้อทั่วประเทศได้กระจายข่าวออกไป จึงเกิดการชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงจุดยืนไม่ให้เกิดการจดหรือขยายเวลาสิทธิบัตรยา”
ชัยชนะเพื่อคนรุ่นหลัง
“สุดท้ายพวกเราก็ชนะ หลังจากนั้น ช่วงต้นปี 2550 ไทยได้ซื้อยาจากอินเดียในราคาถูกลงกว่าครึ่ง ต่อมาองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาได้เอง และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุเป็นยาในบัญชีหลักแห่งชาติ ทำให้พี่น้องเราเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ จำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลง นี่คือ อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่รุ่นพี่ ๆ ตั้งใจรวมพลังกันผลักดัน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มียาราคาถูกและมีสิทธิ์ได้รับยาฟรีไปรักษาตนเอง”
ประสบการณ์ของรุ่นพี่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าจิตอาสาที่รวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือช่วยชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้ แต่ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกอ่อนแรงและกำลังไปตามกาลเวลา จะมีใครมาสานต่อพันธกิจที่สำคัญเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามี คนรุ่นใหม่ ๆ จะมีแรงบันดาลใจและมีความมุ่งมั่นในการสานต่องานนี้แค่ไหน..
ฐิติญาณ ไชยรัตน์สัมพันธ์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางละมุง ชลบุรี
“ตอนแรกตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามาทำอะไรที่นี่ ? เราไม่มีความรู้ด้าน HIV มาก่อน แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการคนไข้ จึงพยายามศึกษาหาความรู้ จนวันนึงมีความคิดที่ว่า อยากให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราได้เห็นคนไข้เคสที่อาการหนัก และเราดูแลตั้งแต่การพาเข้าสู่ระบบการรักษา ติดตาม ปัจจุบันเราเห็นเขาดีขึ้นมาก แล้วเขาเดินมาขอบคุณเรา ก็รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ทำให้มีพลังที่จะทำงานนี้ต่อไป”
น้องฟลุ๊คยังเล่าให้เราฟังว่า การมาเวทีนี้ทำให้รู้ว่าอาสาสมัครรุ่นก่อน ต้องผ่านการต่อสู้กันมาอย่างยากลำบาก นั่นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้น้องฟลุ๊ค ตั้งมั่นที่จะนำ Case study และประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ กลับไปพัฒนางานของตัวเองอย่างเต็มความสามารถต่อไป
วรัญญา ประเสริฐ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ (สวท)
“รู้สึกชื่นชมพี่ ๆ อาสารุ่นบุกเบิกที่ทำงานกันอย่างจริงจัง เพราะพี่ ๆ ไม่ได้แค่ต่อสู้ให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อได้เข้าถึงสิทธิการรักษาที่ดี แต่ยังต้องสู้กับการตีตราและเลือกปฏิบัติของคนทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจและยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันตนได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านป้องกันการติดเชื้อ HIV ทำให้มีโอกาสได้ให้ความรู้ด้านการป้องกัน การสร้างทัศนคติที่ดีต่อ HIV และสนับสนุนให้เข้าถึงบริการ VCT ในหลาย ๆ กลุ่มประชากร เช่น เยาวชน MSM, TG และกลุ่มพนักงานบริการ”
“การได้มาร่วมอบรมครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสก้าวข้ามไปเรียนรู้งานอีกด้าน คือ ด้าน Care and Support โดยตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานการให้ความรู้ให้เชื่อมโยงกับงาน Care and Support มากขึ้น เช่น หากตรวจ VCT ผลเลือดเป็นบวกต้องทำอย่างไร ต้องทานยาและดูแลตัวเองอย่างไร และพัฒนางานการติดตามและส่งต่อ เช่น ช่วยประคับประคองให้ผู้มีผลเลือดบวกมีสภาพจิตใจดีขึ้นและตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด”
น้องอ้อมเอ๋ยได้เปิดใจว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมงานและชื่นชมทีมผู้จัดงาน ที่เห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนทำงานไปพร้อม ๆ กับการทำงานร่วมกัน โดยกิจกรรมทั้ง 3 วัน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีการร้อยเรียงเรื่องราว ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น มีการระดมความคิดร่วมกัน ทำให้เห็นความหมายและคุณค่าของงาน Care and Support ได้เป็นอย่างดี
ไพรัช สมใจ อาสาสมัคร เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House)
“กิ๊ฟคิดว่า คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ไม่ได้ต่างอะไรกับผู้ป่วยทั่วไปที่ต้องการคนดูแลเช่นกัน เค้าไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง”
“เราเป็นคนใหม่ เจนเนอเรชั่นใหม่ที่สุดในองค์กร ที่เข้ามาทำงานด้านนี้ และได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ HIV มาระดับนึงแล้ว แต่พอได้มาฟังพี่ ๆ ทำให้รู้ว่าเรื่องราวและเส้นทางทั้งหมดกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทำให้เราเห็นวิธีการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งยอมรับว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกมาก ทำอย่างไรให้คนรุ่นก่อนไว้วางใจ และส่งมอบภารกิจที่มีคุณค่านี้ให้เราอย่างเต็มตัว เราจะนำสิ่งที่ได้จากเวทีนี้ไปพัฒนางานดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ที่ใช้สารเสพติดต่อไป”
ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการ เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House)
“ในเวทีนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการพาอาสาสมัครรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเจอกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้รับฟังแรงบันดาลใจของแต่ละคนที่ทำให้เข้ามาทำงานด้านนี้ และแรงผลักดันที่ทำให้พวกเรายังคงทำงานด้านนี้ต่อไป ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่พวกเราทำล้วนมีคุณค่า มีความสุข ทั้งตัวเราและผู้อื่น”
“สำหรับงานด้าน HIV จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านการป้องกัน (Prevention) กับ ด้านการดูแลและสนับสนุน (Care & Support) เรียกได้ว่าเป็นงานปริมาณและงานคุณภาพ ซึ่งงานปริมาณก็จะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ ที่ยังมีพละกำลังในการต่อสู้กับหน้างานที่หลากหลายและปริมาณมาก ประกอบกับมีความรู้ใหม่ มีทักษะ มีความสร้างสรรค์อยากทำอะไรใหม่ ๆ ในทางกลับกัน งานด้านการดูแล (Care & Support) ก็จะเหมาะกับคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ทำงานมาหลายปี ดังนั้น เราจะเชื่อมสิ่งที่เป็นรอยต่อระหว่าง Prevention กับงาน Care & Support เข้าด้วยกันอย่างไร ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
เราได้เห็นถึงความยากลำบากในการทำงานของอาสาสมัครรุ่นพี่ในหลาย ๆ เหตุการณ์ ตั้งแต่พบผู้อยู่ร่วมกับเชื้อคนแรกในไทยเมื่อปี 2527 จนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 38 ปีที่ได้ต่อสู้กันมา ถึงเวลาแล้วที่จะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาพัฒนางานด้านนี้ต่อไป AHF Thailand เชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของอาสาสมัครรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ล้วนมีทั้งพลังกาย พลังใจ จะสามารถสานต่อเจตนารมณ์ของอาสารุ่นพี่ได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อ HIV มีการเข้าถึงสิทธิ์การรักษาได้มากขึ้น มียาต้านไวรัส มียาเพร็พและเป็ป แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อะไรคือจุดอ่อนที่เรายังมี ยังติดขัดตรงไหนอย่างไร จนทำให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้เราไม่สามารถยุติ HIV ได้ นี่คือสิ่งที่หลายภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน และเราชาวอาสา พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการแก้ไขปัญหาและเติมเต็มงานด้านการดูแลและสนับสนุน…ด้วย “พลังบวก” พลังแห่งการให้ที่ไม่สิ้นสุด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อย่างเต็มความสามารถต่อไป