AHF TALKS : ยุติเอดส์ปี 2030 เป้าหมายสำคัญของประชาคมโลก

AHF TALKS : ยุติเอดส์ปี 2030 เป้าหมายสำคัญของประชาคมโลก

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) ให้หายขาดได้ และยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ยังไม่ได้รับยาต้าน ที่น่าเป็นห่วงคือหลายคนไม่รู้สถานะตนเอง ทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อไปยังผู้อื่น ประชาคมโลกจึงได้ร่วมกันตั้งเป้ายุติการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งประเทศไทยเอง ก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” และสอดคล้องกับเป้าหมาย 95-95-95 ภายในปี พ.ศ. 2573

AHF Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยมาเกือบทั้งชีวิต คุณพร้อมบุญได้เล่าถึงความสำคัญในการสานต่องานของ Care International (ประเทศไทย) จากอดีตจนกลายมาเป็นมูลนิธิรักษ์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย

 

“เมื่อ 40 ปีที่แล้วเราคือ องค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศกัมพูชาและขยายขอบเขตการดำเนินงานเรื่อยมา จนเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิรักษ์ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยยังคงสานต่องานขององค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย”

“ปัจจุบันองค์การแคร์ดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชนทั้งในประเทศและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสากลในระดับโลก มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ประชาคมเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิความเสมอภาค สามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนด้อยโอกาส ชุมชนยากจน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในงานพัฒนา”

มูลนิธิรักษ์ไทยมีภารกิจที่สอดคล้องกับภารกิจของ AHF Thailand ในงานด้าน HIV/AIDS ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักเพื่อตรวจหาเชื้อและพาเข้าสู่การรักษาโดยเร็วที่สุด โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ “การยุติเอดส์ภายในปี 2030” ซึ่งหลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า จะยุติเอดส์ได้จริงหรือ ?

“UNAIDS เริ่มวิตกว่าการยุติเอดส์อาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่องานด้าน HIV/AIDS ทำให้หลายประเทศคิดว่า การยุติเอดส์อาจมีแนวโน้มไม่สำเร็จตามเป้าหมาย”

ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สูงมาก ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถชะลอผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ซึ่งในการทำงานก็จำเป็นต้องมีงบประมาณเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PR ประเทศไทย

“ในอดีตประเทศไทยมีองค์กรที่เป็นแหล่งทุนภาคประชาสังคมน้อยมาก มูลนิธิรักษ์ไทยจึงสมัครเป็นผู้รับทุนหลัก (Principal Recipient : PR) กับกองทุนโลก (Global Fund) ตั้งแต่การระดมทุนรอบที่ 2 โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลไกความร่วมมือในประเทศ (Country Coordinating Mechanism: CCM) เพราะต้องการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและบทบาทสำคัญในฐานะ PR ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือครอบคลุมไปถึง Key populations ที่สำคัญอีกหลายกลุ่ม เช่น ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ”

คุณพร้อมบุญเล่าให้ฟังว่า Global Fund เป็นองค์กรทุนนานาชาติเดียวที่ยืนหยัดมุ่งมั่นในการยุติโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากแหล่งทุนอื่นที่มักเป็นระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 3 ปี ประกอบกับการมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) หลากหลายกลุ่มเข้ามาช่วยพัฒนาโครงการ

“Global Fund เน้นเรื่องความโปร่งใสของการนำงบประมาณไปใช้ แต่ละโครงการจะมีการชี้แจงรายละเอียดในเอกสารงบประมาณที่มีความละเอียดกว่า 300 รายการ ซึ่งเราได้ทำตามมาตรฐานอย่างเต็มที่จนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเหตุผลที่รักษ์ไทยให้คุณค่าและความสำคัญกับ Global Fund”

“ในแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศก็จะมีบริบทและความสามารถแตกต่างกัน ซึ่ง Global Fund จะมีกลไกให้แต่ละประเทศวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง เช่นในไทยเองมีความพร้อมเรื่องการรักษา มียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาวัณโรคเพียงพออยู่แล้ว Global Fund จึงให้งบประมาณสนับสนุนงานเชิงรุกด้านการเข้าถึงประชากรหลักที่ไทยยังเข้าถึงได้น้อย”

บทบาทภาคประชาสังคมต่อการยุติเอดส์

“ปัจจุบัน Global Fund ได้กำหนดให้แต่ละประเทศมี PR แค่ 2 ประเภท คือ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ (ในประเทศไทย คือ กรมควบคุมโรค) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 PR ได้รับทุนและร่วมกันขับเคลื่อนงานมุ่งไปสู่เป้าหมายการยุติเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย และนี่ถือเป็นบทบาทสำคัญของรักษ์ไทยในฐานะ PR ของภาคประชาสังคม”

เมื่อรักษ์ไทยทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในระดับสากล ก็ย่อมต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

“Global Fund เน้นให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่มประชากร และคิดว่าไม่มีองค์กรใดที่มี Scale เทียบเท่ากับ Global Fund ที่มีการให้ทุนทั่วโลกราวพันล้านดอลลาร์ต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศสมาชิกและเอกชนที่บริจาคเงินตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน”

ข้อจำกัดในการทำงานด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

“การเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ถึงแม้จะมีงบประมาณจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาสนับสนุนการเข้าถึงการตรวจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ NGO สามารถทำงานได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

“นอกจากการให้ทุนกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ยังไม่เพียงพอ การตีตรา (Stigma) ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ในสังคมไทย ส่วนเรื่องของกฎหมายสำหรับผู้ที่ใช้สารเสพติดยังไม่เอื้อต่องานลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) สุดท้ายเป็นเรื่องกฎหมายประกันสังคมและประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ครอบคลุม”

ยังมีข้อจำกัดไม่น้อย ที่รอคอยการแก้ไข ซึ่งแต่ละประเด็นมีความจำเพาะและแตกต่างกันออกไป ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นอกจากต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนแล้ว จำเป็นต้องมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้งานเดินต่อไปได้

“ข้อดีของกองทุนโลก (Global Fund) คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าต้องการแก้ปัญหาด้านใด แล้วจึงจัดสรรงบประมาณไปให้แต่ละประเทศ ปัจจุบันเราได้งบประมาณจาก Global Fund มาเพื่อบริหารจัดการงานหลัก 4 ด้าน คือ ค่าดำเนินการในองค์กร, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานผู้รับทุนรอง (Sub-recipient : SR), ค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Outreach) นอกจากนั้น Global Fund ยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อลดการตีตรา และการทำงานรณรงค์เพื่อเกิดนโยบายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากร ช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น Global Fun ได้เพิ่มค่าดำเนินงานด้านการป้องกันโควิด-19 เพื่อไม่ให้ภารกิจหลักชะงัก ดังนั้น หากไม่มีงบประมาณของ Global Fund มาสนับสนุน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการยุติเอดส์ภายในปี 2030”

ศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร

“ประเทศไทยทำงานด้านการรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ได้ดีอยู่แล้ว Global Fund จึงเข้ามาเติมเต็มด้านการป้องกัน และหาวิธีการเข้าถึงประชากรกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง (Left behind) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเขา สร้างพื้นที่ให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการรักษา”

คุณพร้อมบุญบอกกับเราว่า สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ  การได้เห็นแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาต้านไวรัสได้ยาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่าในอดีตแรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 60 ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ถ้าให้ยาต้านไปแล้วเขาจะหาย จะเกิดปัญหาดื้อยาและกลายเป็นเคราะห์ร้ายกับแรงงานคนนั้น ๆ เอง หลังจากทำงานไประยะหนึ่ง ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรคจึงมองเห็นและยอมรับว่า NGO สามารถเข้าถึงผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้ ติดตามและพามารักษาได้จริง”

“เรามี Sub-recipient (SR) ที่มีอาสาสมัครเป็นแรงงานข้ามชาติในพื้นที่คอยดูแลและทำงานตรงนี้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่นั้นมาภาครัฐจึงตัดสินใจเปิดประตูให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงยาต้านโดยผ่านกลไก NGO พามา และทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ซึ่งกลไกเหล่าเองนี้ถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากงบประมาณของกองทุนโลก (Global Fund)”

เราได้เรียนรู้และเห็นถึงความสำคัญของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านเอดส์ วัณโรค หรือด้านใดก็ตาม ที่ควรต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ เงินทุนหรืองบประมาณ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้ภารกิจเดินไปได้อย่างราบรื่นและสมบูรณ์

“ปัจจุบันมีหลายประเด็นที่เข้ามาแข่งขันกับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ถ้าหาก Global Fund ไม่สามารถระดมทุนได้ตามแผนถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะปริมาณการทำงานเชิงรุกจะลดลงแน่นอน และอาจส่งผลให้ทิศทางของการยุติเอดส์ (Ending AIDS) ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก”

นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทย ที่ยังคงได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่องจากแหล่งทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพื่อดำเนินภารกิจสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2030 พร้อมกับประชาคมโลก AHF Thailand ขอแสดงความชื่นชมมูลนิธิรักษ์ไทยที่ทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและกลุ่มคนด้อยโอกาส จนได้รับความไว้วางใจและได้รับคัดเลือกให้เป็น PR ของประเทศไทยตลอดมา ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองท่ามกลางพันมิตรจากหลายองค์กร ที่ต่างมุ่งขับเคลื่อนภารกิจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้เอดส์หมดไปจากโลกใบนี้

              “ไม่มีองค์กรใดที่มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลเหมือน Global Fund”

                            พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย