AHF Thailand Effect the Series: มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เสียงอันอบอุ่นจากเพื่อนของเรา

AHF Thailand Effect the Series: มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เสียงอันอบอุ่นจากเพื่อนของเรา

“ในตอนนั้นที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ คิดว่าตัวเองตายไปแล้ว ฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่เราควรทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง” พี่เอก-สมชัย พรหมสมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เล่าถึงความหลังย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 เมื่อครั้งที่พี่เอกตัดสินใจหันหลังให้ทุกอย่าง แล้วมาเริ่มต้นทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ล้มลุกคลุกคลาน สั่งสมประสบการณ์เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเป็นมูลนิธิเดอะพอสฯ พื้นที่ที่เป็นแหล่งพักพิงทางใจแก่เพื่อนๆ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อในปัจจุบัน

มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ คอยให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพแบบรอบด้าน เช่น เอชไอวี การรักษา การกินยาต้านไวรัส การดูแลสุขภาพ เป็นต้น การส่งต่อบริการไปยังหน่วยบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเยี่ยมบ้าน การติดตามสุขภาพ การให้ความรู้ ฯลฯ ด้วยแนวคิดที่ว่า เขาเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวของเรา

“The Poz ชื่อภาษาอังกฤษนี้มาจากเพื่อนที่เคยทำงานด้วยกันที่ชมรมเพื่อนวันพุธ เขาเคยไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ ณ ตอนนั้นที่นั่นมีคำว่า Poz เป็นคำที่หมายถึง Positive พอพูดถึงคำว่า Poz คนก็จะเข้าใจได้ว่าเป็นคนอยู่ร่วมกับเชื้อ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโฮมเซ็นเตอร์หลังนี้ที่ต้องการให้เป็นบ้านอีกหลังกับคนที่เข้ามาหาเรา”

ก้าวแรกก่อนจะเป็นมูลนิธิเดอะพอสฯ

เดอะพอสฯ

“พี่ติดเชื้อตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ตอนนั้นก็ขอเลิกกับแฟนซึ่งเป็นผู้ชายเหมือนกัน เราเป็นห่วงเขา แต่เขาไม่ยอมและเขากลับรักเรามากขึ้น ห่วงใยเรามากขึ้น เขาวิ่งเต้นหายาทุกอย่างเพื่อที่จะดูแลรักษาเรา และทางครอบครัวของพี่เองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกคนเป็นห่วงหมดเลย ในตอนนั้นคือทุกคนช็อก และกังวลกลัวว่าเราจะเสียชีวิต จนช่วงหลังๆ เวลาเจอกันก็จะทักกันว่าไม่เห็นตายสักที กูคงจะตายเสียก่อนแล้ว” พี่เอกเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เมื่อเอ่ยถึงคนรักและครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้างด้วยความเข้าใจเสมอมา

“พี่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันจนถึงปี พ.ศ.2555 แล้วแฟนก็ป่วย มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก เขาเลยเป็นอัมพฤกษ์นอนติดเตียงอยู่ประมาณ 6 ปี พี่ก็ดูแลเขาจนเขาเสียชีวิต ซึ่งช่วงที่เขาเสียชีวิตก็มีความยากลำบากว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ เลย และเราในฐานะที่ไม่ใช่คนต่างเพศทำให้ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น”

หลังจากที่พี่เอกรู้ตัวว่ามีเชื้อ ก็ตั้งปณิธานว่าจะทำงานให้ตัวเองอีก 5 ปีเท่านั้น เพราะชีวิตมีครบทุกอย่างแล้ว และพี่เอกก็ทำอย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ พอครบ 5 ปี พี่เอกได้ไปตรวจ CD4 ทำให้เจอใบประกาศรับสมัครงานของชมรมเพื่อนวันพุธ ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และนี่คือจุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้

“พี่ทำไปได้ประมาณสัก 3 ปี ก็เปลี่ยนไปอยู่ที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ทำอยู่ที่นั่นได้ 2 ปีก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเรา สิ่งที่เราคิดอยากจะทำคือทำงานเพื่อเพื่อนๆ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อของเรา ก็เลยตัดสินใจมาเปิดเดอะพอสฯ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548 เป็นองค์กรเล็กๆ โดยใช้ทุนของตัวเองและแฟน”

บ้านหลังที่สองของเพื่อนๆ

เดอะพอสฯ

“พี่จ้างเพื่อนๆ ที่เป็นอาสาสมัครที่รู้จักเข้ามารับโทรศัพท์ และทำงานส่วนต่างๆ ช่วงแรกเราเปิดแค่ 2 วัน คือวันเสาร์กับวันอาทิตย์ เพราะในยุคนั้นแต่ละโรงพยาบาลจะมีกลุ่มมีองค์กรต่างๆ แบบนี้อยู่แล้ว อย่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์สามารถติดต่อที่ชมรมเพื่อนวันพุธได้เลย ส่วนเสาร์-อาทิตย์ เผื่อคนที่มีปัญหา อยากปรึกษาอะไรต่างๆ ในวันหยุดขึ้นมา อย่างน้อยเรามาปิดช่องว่างตรงนี้ได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงทำงานเสาร์-อาทิตย์ พอทำได้ครึ่งปี ปรากฏว่ามีคนเข้ามาใช้บริการเยอะเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นเปิดทำการ 7 วัน”

จากการบอกปากต่อปากถึงการให้บริการของเดอะพอสฯ ที่มองเห็นผู้รับบริการเป็นเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเซฟโซนที่พวกเขารู้สึกปลอดภัย เป็นบ้านที่สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ทุกเรื่อง จึงทำให้เดอะพอสฯ ค่อยๆ เติบโตขึ้น

“สุดท้ายเราก็เพิ่มกิจกรรมเข้ามา เรียกว่า กิจกรรมวันครอบครัว มีเดือนละครั้ง กลยุทธ์ก็คือ เราจะเตรียมผักและอุปกรณ์สำหรับทำกับข้าว ตั้งใจเพื่อจะให้มากินข้าวด้วยกัน พอเขามารวมตัวกัน แบ่งเป็นกลุ่มนี้ปอกหอมปอกกระเทียม กลุ่มนั้นหั่นผัก กลุ่มนั้นเข้าครัวปรุงอาหาร ในแต่ละกลุ่มเราจะมีเจ้าหน้าที่ของเรานั่งอยู่ด้วย ระหว่างที่เขาปอกหอมปอกกกระเทียม เราก็จะพูดคุยสอบถามว่าสุขภาพเป็นยังไงบ้าง คนมาใหม่เขาก็จะเห็นว่าทำไมคนนั้นดูแข็งแรงจัง คนนี้ดูดีจัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เขาพูดคุยกับคนเก่า ซึ่งเราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เขาพูดคุยกันเอง สุดท้ายเขาก็จะได้เป็นเพื่อนกัน ซึ่งทำให้เราสามารถทำงานและติดตามสุขภาพของเพื่อนเราได้”

ต่อมาเดอะพอสฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองควบคุมโรคเอดส์ กรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการดูแลเจ้าหน้าที่และการทำงาน พี่เอกจึงตัดสินใจจดทะเบียนให้เป็นมูลนิธิ ที่นอกจากจะมีโอกาสได้รับงบจากองค์กรต่างประเทศมากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญกว่าก็เพื่อให้เดอะพอสฯ เป็นองค์กรที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ไม่มีพี่เอก และยังเป็นสถานที่ที่สามารถสร้างคนให้ทำงานเพื่อสังคมต่อไปได้อย่างยาวนาน

ดูแลรอบด้าน กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

เดอะพอสฯ

“สิ่งที่เราถนัดคือ งาน Care and Support เราดูแลทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ กาย ก็คือถ้าสุขภาพกายของคุณไม่ดี หรือไม่พร้อม เราจะต้องหาวิธี ทำอย่างไรก็ได้ พาไปหาหมอ ไปรักษา เพื่อให้กายของคุณดี ใจ ยังไงก็ต้องมาก่อน จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว เพราะฉะนั้นกำลังใจจึงสำคัญเป็นอันดับแรก

“เรามีทีมน้องๆ ลงพื้นที่ไปถึงบ้าน ดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมในบ้าน ความเป็นอยู่ เข้าไปพูดคุยในฐานะเพื่อน ส่วนสังคมคือ การไปละลายความคิดกับคนในครอบครัวของเขาด้วย เขาต้องอยู่กับครอบครัวให้ได้ ครอบครัวต้องยอมรับให้ได้ เพราะเราเคยเจอปัญหาเอาไปทิ้งที่วัดพระบาทน้ำพุบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ เหมือนปล่อยให้เขาอยู่ตามยถากรรม

“เราอาจจะคิดผิดก็ได้นะที่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานว่าครอบครัวเรารับได้ ทุกคนไม่รังเกียจเราเลย แถมยังนั่งกินข้าวด้วยกัน กินน้ำด้วยกัน ไม่มีใครรู้สึกรังเกียจหรือตีตรา เราเลยรู้สึกว่าตรงนี้เป็นพลังอย่างหนึ่งสำหรับคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อ แล้วก็เป็นกำลังใจที่ทำให้เราสู้ต่อ ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะสร้างพลังแบบนี้ให้กับคนอื่นได้

“เราต้องการให้คนกลุ่มนี้ไปอยู่ร่วมกับครอบครัวให้ได้ อยู่กับสังคมให้ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ หรือว่าน่ากลัวอีกต่อไปแล้ว ขอแค่ดูแลรักษาสุขภาพก็สามารถอยู่ได้ตามปกติ เราพยายามปลดแอกเขา สังคมมันก็ไม่ได้เลวร้าย สิ่งที่เลวร้ายที่สุด อยู่ที่ใจของเรา คิดให้ร้ายมันก็ร้าย

“สุดท้ายคือจิตวิญญาณ ให้เขาสามารถรักษาการมีชีวิตอยู่ให้อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งก็มาจากใจ กาย และสังคม ถ้าคุณไม่เอาสามอย่างนี้มากระทบ คุณก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องตระหนักถึงการกินยาให้ตรงเวลา มีวินัย ก็จะทำให้สุขภาพของเราดีขึ้น ถามว่าสังคมรู้ไหม เราไม่ได้เขียนติดอยู่ตรงหน้าผากให้ใครรู้ว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากเราดูแลตัวเอง สุขภาพของเราก็จะสมบูรณ์แข็งแรงทุกอย่าง”

หัวใจ 3 ดวง

เดอะพอสฯ

จุดเด่นการทำงานของเดอะพอสฯ นั้นคือการทำงานด้วยหัวใจ ผู้เข้ารับบริการคือเพื่อนของเรา ดังนั้นเดอะพอสฯ จึงได้สร้างระบบงาน 3 หัวใจขึ้นมา ซึ่งได้แก่ หัวใจดวงที่ 1 คือผู้รับบริการ หัวใจดวงที่ 2 คือเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัคร และหัวใจดวงที่ 3 คือผู้ให้บริการ

“สมมติ เอ เป็นคนไข้ บี เป็นเจ้าหน้าที่ของเรา และซี เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เอ มาหา บี เพื่อปรึกษาว่าจะรับการรักษายังไง รับยายังไง บี และ ซี รู้จักกันดี ดังนั้น หัวใจดวงที่หนึ่งก็มาเจอหัวใจดวงที่สอง และก็พามาเจอดวงที่สาม ดังนั้น การดูแลมันก็จะราบรื่นขึ้น เพราะบีห่วงใยเขา ซีก็ห่วงใยด้วย มันทำให้เรื่องของการเลือกปฏิบัติลดน้อยลง นี่ก็คือระบบ 3 หัวใจ ซึ่งจะมีกิจกรรมภายใต้ระบบนี้หลายอย่าง เช่น พาไปตรวจเลือด พาไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พาไปพบแพทย์ พาไปย้ายสิทธิ์การรักษา และพาเข้าสู่กระบวนการการรักษา”

ขั้นตอนการดูแลเพื่อนๆ ของเดอะพอสฯ นั้น จะพิจารณาสิ่งที่เขาต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และอยู่ดูแลจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

“เวลาคนไข้เข้ามาปรึกษา เราต้องดูว่าเขาต้องการอะไรแบบเฉพาะเจาะจงลงไป เราเข้าใจว่าคนที่เข้ามาปรึกษาเขาต้องการหลายอย่าง แต่เราไม่สามารถช่วยหลายอย่างในคราวเดียวได้ เราจึงต้องดูว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคืออะไร อย่างเช่น ต้องไปทำเรื่องย้ายสิทธิ์ เราก็จะพาไปที่สำนักงานเขต ทำเรื่องย้ายสิทธิ์แล้ว ก็ต้องรอให้สิทธิ์ขึ้นประมาณ 15-28 วัน ระหว่างนั้นเขาต้องไปที่โรงพยาบาลเก่า เพื่อที่จะขอประวัติการรักษามาเก็บไว้ พอสิทธิ์ขึ้นก็จะมีคนพาเขาไปศูนย์ปฐมภูมิเพื่อที่จะขอใบนัดไปที่โรงพยาบาล พอต้องไปโรงพยาบาลก็จะมีคนพาไปด้วย

“ทุกขั้นตอนเรามีคนพาไปเหมือนที่พูดเรื่อง 3 หัวใจ เราไม่ทิ้งเขา ระหว่างที่เขาตื่นเต้นกังวลละล้าละลัง เราก็จะชวนเขาคุยเป็นเพื่อน เขาจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เราก็คอยกำชับเขาเรื่องวันนัดที่รับยา คอยถามไถ่ว่าให้ช่วยเตือนไหม จะเป็นในลักษณะนี้ จนกระทั่งส่งเขาขึ้นรถกลับบ้านถึงจะจบงานของเรา จากนั้นก็จะติดตามผลทุกๆ 3 เดือน”

แม้กระบวนการการดูแลของเดอะพอสฯ จะสิ้นสุดที่ 3 ปีแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกดูแลกัน ทางเดอะพอสฯ จะยังคงคอยเฝ้าติดตามสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ ในฐานะความเป็นเพื่อนและความห่วงใยที่มีให้แก่กัน

ปัญหาและอุปสรรค

เดอะพอสฯ

จากการทำงานด้านเอชไอวีมาเกือบ 20 ปี ทำให้พี่เอกได้พบเจอปัญหา อุปสรรค และความท้าทายนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากทัศนคติของผู้รับบริการเอง จากสังคมที่ขาดความเข้าใจ และนโยบายภาครัฐที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

“ลดการตายทำได้ไหม ทำได้ ลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ทำได้ แต่ลดการตีตรานั้นมีความซับซ้อน มันไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มของคนเป็นเอชไอวี แม้แต่เพื่อนก็ยังตีตรากันเอง

“คนในกลุ่มของเราก็เจอปัญหาทับซ้อน ประเด็นที่หนึ่ง ถ้าเป็นสาวประเภทสองก็โดนตีตราอย่างหนึ่ง แล้วยิ่งถ้าน้องทำงานบริการแถวพัฒน์พงษ์ แถวพัทยา น้องก็จะโดนตีตราสองเด้ง น้องติดเชื้อเป็นสามเด้ง น้องยังต้องใช้ยาเพื่อไปทำงานบริการก็รวมเป็นสี่เด้ง และถ้าน้องเป็นสาวประเภทสองมาจากชายขอบ ก็โดนอีกเด้ง

“เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมันเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร สิ่งที่ท้าทายมากกว่าก็คือคนที่ปิดกั้นตัวเอง คนที่ไม่เปิดเผยสถานะ เพราะมีฐานะทางสังคม เป็นเรื่องของความยากลำบากที่จะเข้าถึง รวมถึงคนที่ต่างศาสนาด้วย โดยเฉพาะเรื่องของคนข้ามเพศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างที่จะยาก แม้ทุกเคสเราสามารถที่จะจัดการได้หมดก็ตาม

“ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐ ยกตัวอย่าง เช่น นโยบายของทางภาครัฐระบุออกมาว่าห้ามตรวจเลือดโดยไม่สมัครใจ แต่น้องไปสมัครงาน โดนตรวจเลือดทั้งนั้น เราส่งไปสมัครงานหลายที่บอกว่าไม่ตรวจเอชไอวี แต่พอไปถึงโรงพยาบาลมีบังคับให้ตรวจเอชไอวีด้วย ซึ่งหมายความว่าอย่างไร สุดท้ายน้องก็ไม่ได้งาน นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น

“แม้แต่บางช่วงที่มีประกาศนโยบายออกมาว่าให้จ่ายยาได้โดยไม่มีการจำกัด CD4 แล้ว แต่ก็มีบางโรงพยาบาลที่ทำไม่ได้ หรือนโยบายที่ไม่เอื้อให้คนไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยตรงได้ ต้องผ่านศูนย์ปฐมภูมิก่อน ศูนย์ปฐมภูมิก็คือคลินิกย่อยๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน ถ้าเกิดต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็ต้องไปขอใบส่งตัวก่อนทุกครั้ง เสร็จแล้วไปพบหมอ ปวดหัวตัวร้อนอะไร ถ้าคลินิกเขาทำไม่ได้เขาก็ส่งต้องตัวไปโรงพยาบาล หรือพอส่งไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะทำได้อีก คือมันหลายขั้นตอนมาก ไม่เหมือนประกันสังคมที่เราสามารถเข้าโรงพยาบาลได้เลย สามารถที่จะจัดการกับชีวิตของตัวเองได้”

การร่วมงานกับ AHF Thailand

เดอะพอสฯ

AHF Thailand สนับสนุนการทำงานของเดอะพอสฯ โดยให้เดอะพอสฯ เป็นองค์กรเชื่อมประสานและสนับสนุนการทำงานในด้านการให้คำปรึกษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อแก่โรงพยาบาลที่ AHF Thailand ให้การสนับสนุนอยู่ ซึ่ง AHF Thailand ได้ร่วมงานกับเดอะพอสฯ มามากกว่า 3 ปีแล้ว

“ที่ผ่านมาเราทำงานกับหลายที่ แต่ไม่มีความสุขนัก เพราะเขามีกฎเกณฑ์และนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับของเรา จนกระทั่งมาเจอ AHF คุณสามารถทำในสิ่งที่คุณทำได้เลย ขอเพียงแค่ให้คุณช่วยเหลือเพื่อนของคุณได้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่เราทำงานแล้วมีความสุขมาก

“ตัว AHF เองไม่เพียงสนับสนุนเฉพาะในกิจกรรมที่เราทำ แต่เขาให้อิสระและหนุนเสริมเราด้วยซ้ำไป เช่น งานอีเว้นท์ งานพัฒนาศักยภาพ งานเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งเรื่องโปรแกรมการจัดเก็บฐานข้อมูลคนไข้เกือบสองพันคนที่เราดูแลอยู่ ซึ่ง AHF ก็เป็นผู้ดูแลและทำให้

“เราก็เลยมองว่าการทำงานกับ AHF ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้ทุนกับผู้รับทุน แต่เหมือนเป็นองค์กรพี่องค์กรน้องที่ได้ทำงานด้วยกัน หนุนกัน มันเป็นการทำงานที่มีความสุข

“นอกจากนี้ตอนที่เราทำงานกับ AHF มีสิ่งหนึ่งที่เราคาดไม่ถึงคือก่อนหน้านั้นเราไม่เคยทำกับโรงพยาบาลเอกชนเลย พอทำกับ AHF เราได้มีโอกาสทดลองทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเราพบว่าที่โรงพยาบาลมีช่องว่างในเรื่องนี้เยอะพอสมควร เพราะเมื่อเป็นเอกชน ธุรกิจก็สำคัญ แต่พยาบาลยังไงก็มีหัวใจของการเป็นพยาบาล จะทำยังไงเพื่อจะช่วยคนไข้ได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ขัดกับนโยบายของโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราเข้าไปทำตรงนี้คือพยาบาลแฮปปี้มาก เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนเขาจะแฮปปี้กับเราได้มากขนาดนี้

“การที่ AHF เข้ามามันเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงต้นหญ้าต้นข้าวที่กำลังเหี่ยวเฉาให้มากลับฟื้นฟูขึ้นมา คุณทำให้เราเติบโตได้ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ และยังส่งความสุข ทั้งกายใจกับเพื่อนๆ ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อนที่กำลังจะเกิดใหม่ เพื่อนที่กำลังจะตามมาอีก เราไม่ได้มองว่านี่คือผลงานของเดอะพอสฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการตรงนี้ ล้วนเป็นความสำเร็จของทุกคน ไม่ใช่ของเดอะพอสฯ เท่านั้น”

เสียงสะท้อนจากผู้รับบริการ

เดอะพอสฯ

เราได้ฟังมุมมองการทำงานของเดอะพอสฯ ในฐานะผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลเพื่อนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อกันไปบ้างแล้ว พี่เอกเลยแนะนำให้เราได้รู้จักกับเพื่อน 2 ท่าน ผู้ที่เคยรับบริการและความช่วยเหลือจากเดอะพอสฯ การพูดคุยครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การทำงานของเดอะพอสฯนั้น คือการทำเพื่อเพื่อนด้วยหัวใจอย่างแท้จริง

เพื่อนของเราท่านนี้เข้ารับบริการกับเดอะพอสฯ มา 10 กว่าปีแล้ว ด้วยความที่เดอะพอสฯ ให้ความช่วยเหลือทั้งสุขภาพและด้านจิตใจ ที่นี่จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองที่ให้ความอบอุ่นและความเข้าใจ ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข พร้อมส่งต่อความสุขนั้นให้เพื่อนคนอื่นๆ ต่อไป

“ที่นี่เราสามารถพูดคุยได้ทุกอย่าง ในเมื่อเราไม่สามารถบอกกับครอบครัวได้ เพราะเขาอาจกลัว แต่มาที่นี่เราสามารถเปิดใจได้ ได้มาเจอกับเพื่อนๆ ที่มาแชร์ประสบการณ์ ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราดูแลตัวเอง เราก็แข็งแรงเหมือนคนทั่วไป หากไม่มีเดอะพอสฯ บอกเลยว่าป่านนี้ไม่รู้จะอยู่สภาพไหน เดอะพอสฯ เหมือนบ้านหลังหนึ่งของเรา เหมือนพี่น้องของเรา

“ทุกวันนี้ก็มีความสุขดีครับ พอเราแข็งแรง เราก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้ ได้มีโอกาสให้คำแนะนำเพื่อนๆ ที่เพิ่งพบเชื้อให้เขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อยากให้องค์กรแบบนี้ทำงานด้านนี้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าอีก 5 ปี 10 ปีเขาจะมียาที่ดีกว่านี้ แต่ก็ขอให้ยังดูแลกันไปแบบนี้เช่นเคย องค์กรนี้ช่วยเสริมร่างกายและจิตใจของเรา แรกๆ ก็กลัวว่าจะไปยังไง หาหมอยังไง รับยาที่ไหน แต่ที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่คอยติดต่อช่วยเหลือเรา ดูแลเราตั้งแต่ต้นจนจบ และดูแลให้เรามีสุขภาพที่ยืนยาวเหมือนคนอื่นได้”

ส่วนเพื่อนของเราท่านนี้ จากที่เคยเป็นผู้รับมาก่อน ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้ให้แก่เพื่อนคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือและการดูแล เพราะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเพื่อนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อนั้นต้องการการดูแลอย่างไรบ้าง

“ช่วงนั้นทราบผลเลือดตัวเองและตกงานด้วย ด้วยความที่เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ ค่อนข้างมีความรู้ด้านนี้ เลยไม่ค่อยเครียดมาก แต่ก็รู้สึกนอยด์ตัวเองว่าติดเชื้อมาได้อย่างไร ก็เลยอยากเปลี่ยนวิถีชีวิต ตัดสินใจเข้ามาที่กรุงเทพฯ และได้มาเจอพี่ๆ ที่เดอะพอสฯ เขาก็ให้การช่วยเหลือเรื่องที่อยู่ ที่พัก หางานด้วย แต่ก็เกิดปัญหาตรงที่พอเราไปสมัครงานที่ไหน เขาจะขอผลตรวจเลือด บางทีเขาไม่แจ้งมาว่าต้องตรวจเอชไอวีด้วย พอไปถึงโรงพยาบาลก็จับให้เราเซ็นตรวจให้หมดเลย เราก็จะหางานค่อนข้างยาก

“ปัจจุบันได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เดอะพอสฯ มีหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพของเคสต่างๆ พาไปย้ายสิทธิ์บ้าง พาไปหาหมอบ้าง ติดตามสัมภาษณ์ว่าปีนี้เจาะเลือดหรือยัง ตรวจครั้งล่าสุดมาเมื่อไร มีเบาหวาน ความดัน ไขมันไหม ประมาณนี้ ถ้ามีสิทธิ์การฉีดวัคซีนพวกไข้หวัดใหญ่ หรือตรวจไวรัสตับเราก็จะบอกหรือแนะนำเพื่อนๆ ครับ

“เดอะพอสฯ ช่วยให้เราได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เหมือนชีวิตเก่าเสียไปแล้ว เรามาเริ่มใหม่ ทั้งการทำงาน ทั้งการคบเพื่อน ได้ความรู้ใหม่ๆ ที่จะไปบอกต่อ และทำให้คนอื่นได้มีโอกาสที่ดีเหมือนกับเราครับ”

เดอะพอสฯ ในอนาคต

เดอะพอสฯ

การทำงานของมูลนิธิเดอะพอสฯ และ AHF Thailand จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพื่อให้เพื่อนๆ ของเราที่พบปัญหา จะได้รับการดูแลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จึงมีแผนจะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเพิ่มเติม อีกทั้งยังเพิ่มการทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นเพื่อสามารถค้นพบเคสและส่งต่อการรักษาไปยังเครือข่ายของเดอะพอสฯ ได้

“นอกจากนี้ เราอยากทำกิจกรรมรำลึกถึงคนที่เขาต่อสู้ฝ่าฟันมาเพื่อคนรุ่นใหม่ สมัยก่อนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ราคายาพวกนี้มันแพง เราเคยมีคุยกันในเครือข่ายว่าจะทำยังไงให้ราคายาถูกลง เราไปที่เชียงใหม่ ไปเรียกร้องสิทธิ์ หลายคนไม่ได้กินยา พอเรียกร้องเสร็จ กลับมาก็เสียชีวิตกันมากมาย

“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มียาฟรีแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่คนยุคเก่าต้องจ่ายกันเดือนละสองแสนบาท พอยาฟรี กลายเป็นว่าคนไม่ตระหนัก ถ้าเราไม่จัดการเรื่องจิตวิญญาณให้เกิดการตระหนัก ให้มีวินัย คุณก็จะไม่มีสุขภาพที่ดีและอายุที่ยืนยาว นี่เป็นเรื่องที่พี่รู้สึกเจ็บปวดและคิดว่าอยากจะทำแต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ทำมั้ย”

ก่อนการพูดคุยจะจบลง พี่เอกได้ทิ้งท้ายข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า

“สุดท้าย สิ่งที่อยากจะขอ ก็ขอเพียงแค่เปิดใจยอมรับว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะใด คนติดเชื้อ หรือคนหลากหลายทางเพศต่างก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับทุกคน ในเมื่อเราคือคน เขาก็คือคน เขามีเลือดเนื้อ เราก็มีเลือดเนื้อ เขามีจิตใจ เราก็มีจิตใจ เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน เรามองคนให้เป็นคนอย่างไร ก็ทำให้เรามีความสุขเท่านั้น”

 

มูลนิธิเดอะพอส โฮม เซ็นเตอร์

ที่อยู่: เลขที่ 38 ซอยอุดมสุข 13 ถนนสุขุมวิท 103 แขวงบางนาเหนือ เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260

เบอร์โทร: 02 747 5638-9
Facebook: thepozhome