AHF TaLks : “พยาบาล” ผู้ให้ ผู้เสียสละ เพื่อเพื่อนมนุษย์

AHF TaLks : “พยาบาล” ผู้ให้ ผู้เสียสละ เพื่อเพื่อนมนุษย์

AHF TaLks: May 2024
Title: “พยาบาล” ผู้ให้ ผู้เสียสละ เพื่อเพื่อนมนุษย์
Written By: Komon Sapkunchorn

คนไข้คนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดแล้วพูดว่า “ถ้าวันนั้นหนูไม่ได้เจอพี่ หนูคงตายไปแล้ว” 

มันเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้เรายังทำงานอยู่ตรงนี้ เพราะเรามีโอกาสได้ช่วยใครอีกหลายคน

 

ในโลกนี้มีงานและอาชีพนับร้อย มีหลายอาชีพที่มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจ รายได้ และผลประกอบการ แต่ก็มีอีกหลายอาชีพที่ต้องอาศัยจิตวิญญาณในการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น ในบทความนี้เราจะขอถ่ายทอดเรื่องราวของอาชีพ “พยาบาล” อาชีพที่เกิดมาเพื่อดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์

วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันพยาบาลสากล” หรือ International Nurses Day ซึ่งจุดเริ่มต้นของวันพยาบาลสากลนั้นมาจากวันเกิดของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพพยาบาลที่มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์ จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

โดยในปี 2567 นี้ สภาพยาบาลระหว่างประเทศได้กำหนดคำขวัญวันพยาบาลสากลไว้ว่า Our Nurses. Our Future. The economic power of care. พยาบาล คือ อนาคต และอำนาจทางเศรษฐกิจของระบบสุขภาพ”

 

AHF Thailand จึงขอนำอีกหนึ่งเรื่องราวของผู้ที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาถ่ายทอดเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพพยาบาล งานที่ต้องมีใจรัก ความเสียสละ และความทุ่มเท เป็นการทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างมาก

ผมมีโอกาสได้พูดคุยและสัมภาษณ์พี่พยาบาลหลายท่าน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ทุกท่านมีแรงบันดาลใจในการทำงานที่คล้ายคลึงกัน คือ “มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคน” นี่คือคำตอบที่คนฟังอย่างผมรู้สึกตื้นตันและอิ่มเอมใจทุกครั้งอย่างบอกไม่ถูก มันเหมือนได้รับพลังบวกจากการพูดคุยกับพี่ ๆ พยาบาลเสมอ

พี่หน่อง ทวารัตน์ โคตรภูเวียง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้พูดไว้ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ เป็นคำง่าย ๆ ที่ออกมาจากใจของคนทำงาน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่อุดมการณ์ของพี่หน่องไม่เคยเปลี่ยนไปเลย พี่หน่องมีความสุขทุกวันที่ได้มาทำงาน การได้ช่วยเหลือคนเป็นเหมือนการได้เติมพลังให้ชีวิต ทำให้มองโลกนี้เป็นบวกเสมอ

คุณทวารัตน์ โคตรภูเวียง

“คนไข้คนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดแล้วพูดว่า “ถ้าวันนั้นหนูไม่ได้เจอพี่ หนูคงตายไปแล้ว” มันเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้เรายังทำงานอยู่ตรงนี้  เพราะเรามีโอกาสได้ช่วยใครอีกหลายคน”

งานที่เราทำมันเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คนไข้หลายคนจากนอนมา โทรม ๆ เกือบปางตายมา พอเราช่วยให้เขาได้รับการรักษาประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี เขาก็จะเริ่มเดินได้ ทำให้เราและทีมมีกำลังใจ พี่เคยถามน้องผู้ชายคนนึงเวลาที่เขามาตามนัด ก็ถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรจะเล่าให้พี่ฟังมั้ย เขาตอบว่า “ผมลืมไปแล้วว่ามีเชื้อในร่างกาย ทุกวันนี้ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว และยังทำงานได้ปกติ”

เราจะเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลอุดรธานี อีกหนึ่งสถานพยาบาลเครือข่ายของ AHF ในภาคอีสานกันครับ ที่นี่เป็นอีกหนึ่งทีมที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการป้องกันและดูแลรักษาด้านเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) นำโดย พี่แป๋ม ประภาภรณ์ กิจวัฒนาชัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการสุดสตรองที่รับผิดชอบด้านเอชไอวีและหัวหน้านภาคลินิก โรงพยาบาลอุดรธานี ที่ให้ความสำคัญและยึดเอาผลประโยชน์ของผู้รับบริการหรือคนไข้เป็นที่ตั้งเช่นเดียวกันกับพี่หน่อง

คุณประภาภรณ์ กิจวัฒนาชัย

“หลายคนแปลกใจและสงสัยว่าทำไมพี่ถึงไม่เบื่องานนี้ เพราะคิดว่างานน่าจะหนัก พี่อยากจะบอกว่า พี่มีความสุขในทุก ๆ วันที่ตื่นมาทำงาน มันคือความอิ่มใจ เวลาที่เราได้ช่วยเหลือคนเหล่านี้ รู้สึกภูมิใจในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องไปบอกใคร”

“พี่แป๋มยังเล่าต่อว่า การช่วยคนไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องรวยหรือจน แต่เราช่วยคนที่เขากำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ คนไข้พี่มีทุกอาชีพ หลายคนจบการศึกษาสูง หลายคนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เวลาเราช่วยเคสไหนสำเร็จมันจะรู้สึกภูมิใจ”

การให้ความช่วยเหลือที่ไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร หรือมีอาชีพใดก็ตาม นี่คือจิตวิญญาณของคนที่เรียกตัวเองว่า “พยาบาล” เป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ และเติมพลังใจให้ชีวิตพวกเขาได้ดีจริง ๆ

ต่อไปขอข้ามไปยังภาคตะวันออก ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีกันบ้าง พี่ปิง นาวาโทหญิง นวรัตน์ ฉัตรอินทร์ พยาบาลฝ่ายบริการสุขภาพ “พยาบาลทหารเรือ” ที่มีหัวใจของผู้ให้บริการ และปฏิบัติต่อผู้รับบริการทุกคนอย่างเท่าเทียม

นาวาโทหญิง นวรัตน์ ฉัตรอินทร์

“เราให้บริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นทหารหรือพลเรือน การที่คนไข้ได้รับเชื้ออาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ และเราควรช่วยเขาให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ พี่ถือว่าคนไข้ทุกคนเป็นครูที่จะสอนประสบการณ์ของแต่ละคนให้พี่ได้เรียนรู้ แค่ประสบการณ์ของคนไข้หนึ่งคนมันสามารถต่อยอดไปให้พี่ช่วยเหลือคนไข้ได้อีกหลายคน”

พี่ปิงบอกว่าประโยชน์อีกข้อ คือ การได้ร่วมงานกับ AHF ทำให้ได้ข้อมูลที่ช่วยสะท้อนการให้บริการว่าเราให้บริการคนไข้ได้ดีแล้วหรือยัง เป็นการเช็คระบบการให้บริการว่าจุดใดที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ภารกิจของทีมและองค์กร

และนี่ก็คือมุมมองจากฝั่งภาคตะวันออกที่ทำให้รู้สึกมีความสุขเช่นเดียวกันกับสองโรงพยาบาลแรก ลำดับสุดท้ายจะขอพาลงภาคใต้ เพื่อไปฟังเรื่องราวของโรงพยาบาลพัทลุงกันครับ

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ พี่ท่อน ปาจรีย์ หนูอินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานให้การปรึกษาจากโรงพยาบาลพัทลุงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ตอนที่ทีม AHF เดินทางลงไปโซนภาคใต้เพื่ออบรมการทำรายงานให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งพี่ท่อนก็ได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานที่ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการให้เราฟัง

คุณปาจรีย์ หนูอินทร์

“คนไข้ที่เราดูแลอยู่ไม่ใช่ผู้ป่วย เขาคือคนที่มาตรวจสุขภาพ เราอยากให้คิดแบบนี้มากกว่า หากตรวจแล้วพบเชื้อก็สามารถรับยาต้านไวรัสภายในวันนั้นได้เลย สะดวกกับคนไข้มาก เพราะเขาคือคนสำคัญของเรา ดังนั้นเราจึงดูแลผู้รับบริการอย่างดีที่สุด”

นี่คือ 4 เรื่องราวและจิตวิญญาณของคนที่อยู่ในวิชาชีพ “พยาบาล” อาชีพแห่งการเสียสละและทุ่มเท เพื่อให้คนไข้ของพวกเขาได้รับการรักษา มีอาการดีขึ้น และหายจากความเจ็บป่วยต่าง ๆ สิ่งที่ทั้ง 4 ท่านใช้เป็นพลังในทุก ๆ วันของการทำงาน คือ รอยยิ้มและคำขอบคุณจากคนไข้” รวมถึงการได้เห็นพวกเขากลับมาใช้ชีวิตได้ ทำงานได้ มีครอบครัวที่อบอุ่น แค่นี้ก็เพียงพอให้พยาบาลคนนึงอิ่มเอมใจ และมีกำลังใจที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป

ผมเชื่อว่าเรื่องราวของพี่พยาบาลทุกท่านที่เราได้นำมาแบ่งปันนี้ จะสะท้อนให้หลายคนเห็นถึงพลังและคุณค่าของการเป็นผู้ให้ อีกทั้งได้เห็นว่าการให้นี้ยิ่งใหญ่เพียงใด และเชื่ออีกว่าเราทุกคนซึ่งต่างก็เป็นคนธรรมดาคนนึง ก็สามารถเป็นผู้ให้และแบ่งปันแก่ผู้อื่นได้

เนื่องในโอกาสวันพยาบาลสากลในปีนี้ AHF Thailand ขอชื่นชมพยาบาลทุกท่านที่อุทิศแรงกายแรงใจเพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการอย่างสุดความสามารถ เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ภารกิจของพยาบาลทุกคนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป