AHF TaLks : HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส

AHF TaLks : HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส

AHF TaLks: January 2024
Title: HON House บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส
Written By: Komon Sapkunchorn

 

“คนที่อยากทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ตต้องทำให้สุด ไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วจบ เพราะชีวิตคนมันไม่จบง่ายขนาดนั้น ต้องช่วยให้เขาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่และดูแลตัวเองได้”

เมื่อพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงได้หรือที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” ก็จะประกอบไปด้วยสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิตามกฎหมาย ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ และความเสมอภาค สิทธิดังกล่าวรวมถึงสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

เชื่อว่า..เกือบทุกคนรู้ว่าตนเองมีสิทธิประเภทใด แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้เรื่องนี้..

เพราะคิดว่าถ้าไปโรงพยาบาลจะต้องมีค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายาที่แพง พอเจ็บป่วยจึงไม่อยากไปรักษา… และมีอีกหลายคนที่รู้ว่าตนเองมีสิทธิบัตรการรักษา แต่ก็ไม่มีแม้กระทั่งค่ารถเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล…

 

AHF Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House) องค์กรชุมชนที่ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่เมืองพัทยามากว่า 16 ปี เมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยประชากรที่หลากหลายทั้งคนไทยและคนต่างชาติ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการสนทนาครั้งนี้

“HON: Health and Opportunity Network (เครือข่ายสุขภาพและโอกาส) เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต (Care and Support) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ดูแลสุขภาพและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดหรือด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เริ่มต้นภารกิจหลักด้วยการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเน้นกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันเพิ่มมิติการทำงานออกไปอีกหลายด้าน เช่น เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ และยาเสพติด ในอนาคตมีแผนจะเปิดให้บริการตรวจเอชไอวีด้วย” พี่ทิดเกริ่นถึงภารกิจของ HON สั้น ๆ

คุณทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House)

เมืองพัทยากับความท้าท้ายในการทำงาน
“พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายของประชากรมาก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา และความหลากหลายทางเพศ หลายธุรกิจที่นี่เป็นสถานบันเทิงและธุรกิจขายบริการทางเพศ ในอดีตผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าเข้ามาหางานทำเพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงคนที่บ้าน อาจจะเรียกว่ามา “ตกทอง” ก็ได้ สมัยนั้นพัทยาเปรียบดั่งเมืองซิวิไลซ์ มีงานมีอาชีพให้ทำมากมาย เป็นสวรรค์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มาใช้ชีวิตอย่างอิสระ ได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง แต่สิ่งที่ตามมาและไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ พบการติดเชื้อเอชไอวีสูงในพื้นที่นี้” พี่ทิดย้อนเวลากลับไปเพื่อเล่าให้เห็นภาพพัทยาในขณะนั้น

ทำงานกับสาวประเภทสองและเกย์
“เราทำงานกับกลุ่มน้อง ๆ สาวประเภทสองและเกย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มากในพัทยา และองค์กรเราก็เข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุด คิดว่างานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต (Care and Support) มันมีสเน่ห์ ทำให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลากับวิถีชีวิตของเคส เช่น การที่ทีมลงไปทำงานที่โรงพยาบาลก็จะเจอเคสที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ก็จะกลับมาแชร์กัน และช่วยกันคิดหาวิธีหรือแนวทางในการช่วยเหลือ กระบวนการแก้ไขปัญหาเคสต่อเคสที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเติบโตไปกับงานที่เราทำ”

เคสหญิงไร้บ้าน ยากที่สุดในการช่วยเหลือ
“คือ เคสนี้เป็นหญิงไร้บ้าน อาสาสมัครของเราไปเจอเธออาศัยอยู่ใต้สะพานที่ข้ามไปแหลมบาลีฮาย ช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดด้วย พอทีมเราลงพื้นที่ไปถึง ดูเหมือนเธอจะมีอาการป่วยทางจิตที่เป็นผลมาจากการใช้สารเสพติด เพราะชอบพูดคนเดียว บางทีก็คุยกับเสาไฟฟ้า ประเมินจากภายนอกแล้วน่าจะเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วยเพราะเริ่มมีอาการป่วยบางอย่าง พอได้พูดคุยกันก็รู้ว่าเธอเพิ่งออกจากเรือนจำมาอาศัยอยู่แถวนี้ แล้วก็ขายบริการแบบอิสระด้วย ที่สำคัญเธอไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่รู้ว่าเธอเป็นใครมาจากไหน เคสนี้จึงเป็นเคสที่ยากมาก ๆ ถึงมากที่สุดที่เราเคยเจอมา”

แค่เริ่มเรื่องก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เราคิดไม่ออกเลยว่าทีม HON จะเริ่มช่วยเหลือเคสนี้ที่จุดไหนก่อน..

 

“สิ่งเดียวที่เธอมีติดตัวคือใบประวัติจากโรงพักคล้ายรูปถ่ายผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี พูดหรือสื่อสารได้ยาก เราทำงานกับเคสนี้เป็นปี จุดประสงค์ไม่ใช่แค่พยายามให้เธอได้เข้าสู่ระบบการรักษาเท่านั้น แต่เรายังช่วยให้เธอได้มีบัตรประชาชนเพราะเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้เธอมีสิทธิในการรับการรักษาได้ เราจึงเริ่มจากจุดแรกด้วยการสืบหาญาติ ก็ค่อย ๆ ถามไป เพราะเธอจะเล่าได้เป็นท่อนสั้น ๆ จึงรู้ว่าเคยมีญาติอยู่ที่อำเภอพานทอง เลยรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีเพื่อไปทำบัตรประชาชน พอไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทำให้ไม่ได้เพราะเอกสารที่มีไม่สามารถระบุตัวตนได้”

ค้นทะเบียนราษฏร์เพื่อทำบัตรประชาชน

“เราจึงไปขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสวัสดิการสังคมเมืองพัทยา เพื่อขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ให้ช่วยค้นหาเอกสารทะเบียนราษฏร์ โชคดีที่เอกสารจากโรงพักมีเลข 13 หลักติดอยู่ด้วย ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าเธอเป็นคนไทยแน่นอน ต่อมาก็พบข้อมูลว่าเธอมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และเคยมีสิทธิรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ขณะที่เธอก็เริ่มมีอาการป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยให้น้องในทีมไปช่วยประสานในการคัดทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอ พร้อมทั้งเตรียมเอกสารของ HON ไปยื่นด้วยเพื่อรับรองว่าเราทำงานด้านนี้จริงและกำลังให้การช่วยเหลือคนนี้ให้เข้าสู่ระบบการรักษาจริง ๆ ในที่สุดเธอก็ได้บัตรประชาชน”

พี่ทิดทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กังวลต่อจากนั้นเรื่องแรก คือ บัตรประชาชนจะหายอีกมั้ยถ้ากลับไปอยู่อาศัยที่เดิม เรื่องที่สอง คือ เธอยังไม่ยอมเข้าสู่ระบบการรักษา

“เราพยายามพูดคุยเพื่อให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจและไว้วางใจไปเรื่อย ๆ สักระยะหนึ่งจนเธอตัดสินใจเข้ารับการรักษา รวมเวลาเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่ไปเจอ ผ่านช่วงโควิด จนถึงวันที่ได้บัตรประชาชน ได้ยากิน สิ่งที่สำคัญต่อจากนั้น คือ แล้วเธอจะกินยาได้มั้ย ตรงเวลามั้ย และจะเก็บยาที่ไหน” พี่ทิดพูดพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างเอ็นดูกับเคสนี้ ซึ่งเรารับรู้ได้ว่า HON ไม่ได้ทำเพียงเพราะมันเป็นแค่หน้าที่ แต่พวกเขาทำด้วยแพชชั่นที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ๆ นึงให้ดีขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้จริง ๆ นั่นคือสิ่งที่พวกเขายึดมั่นในการทำงานเสมอมา

“เราจึงใช้ระบบเดียวกับที่อาสาสมัครของเราไปดูแลเคสอื่น ๆ คือ ช่วงแรกเอายาไปให้เธอกินทุกวัน และนั่งดูด้วยว่ากินจริงมั้ย หลัง ๆ จึงแบ่งยาให้เธอเก็บส่วนหนึ่งและสอนการกินยาให้ตรงเวลาเพราะมีนาฬิกาแล้ว ประคับประคองกันไปจนทุกวันนี้เธอกินยาได้เองและเริ่มดีขึ้น คิดว่าเป็นความสำเร็จไม่ใช่แค่ด้านภารกิจขององค์กร แต่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเคสให้ดีขึ้นได้จริง ๆ เพราะทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ สิ่งนี้แหละที่เป็นจุดมุ่งหมายและปลายทางของการดูแลคุณภาพชีวิตคน ถือเป็นเคสของการเรียนรู้สำหรับทีมด้วย”

คุณสมบัติของคนทำงานด้าน Care and Support

“คนที่อยากทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ตต้องทำให้สุด ไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วจบ เพราะชีวิตคนมันไม่จบง่ายขนาดนั้น ต้องช่วยให้เขาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่และดูแลตัวเองได้” พี่ทิดฝากข้อคิดสำหรับคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้

 

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งเรื่องราวอันมีค่าที่ HON ทำ จะเห็นได้ว่า HON เป็นองค์กรที่ทำงานหนักเพื่อตอบโจทย์ภารกิจหลักเพื่อดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และนำพาผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เข้าสู่ระบบรักษา ปัจจุบันเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากสังคม และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

ช่องว่างที่พบ และจำเป็นต้องรีบแก้ไข
“ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นทำงานในกลุ่มประชากรหลัก (Key populations) ดังนั้นกลุ่มนี้จะได้เปรียบกลุ่มคนทั่วไป เขามีความรู้เพียงพอในการป้องกันตนเอง มีทางเลือกในการรักษาและดูแลสุขภาพแล้ว เช่น U=U, PrEP หรือ PEP เป็นต้น แต่คนทั่วไปยังไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก ดังนั้นประเทศไทยควรเน้นการให้ความรู้เชิงลึกในระดับ Mass ให้มากขึ้น”

“เรื่องที่สองคือบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานด้านเอชไอวียังมีน้อย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนที่อยากทำงานด้านนี้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ จึงเลือกไปทำอาชีพอื่นที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นคือขาดความต่อเนื่องของบุคลากรจิตอาสารุ่นสู่รุ่น ซึ่งทำให้การพัฒนาศักยภาพเป็นไปได้ยากเช่นกัน”

“อีกปัญหาที่เราพบตอนนี้ไม่ใช่ระบบรักษา แต่เป็นปัญหาความซับซ้อนในชุมชนและตัวผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอง เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ หลายคนเป็นผู้สูงอายุ ป่วยติดเตียง เป็นโรคความจำเสื่อม สายตาไม่ดีมองไม่เห็นนาฬิกา คนกลุ่มนี้ยังอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและต้องกินยา เราจะดูแลเขายังไงและองค์กรแคร์แอนด์ซัพพอร์ตมันจะเดินไปในทิศทางไหนอย่างไร”

 

โอกาสที่ได้รับ เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้อื่น
“ต้องบอกว่า AHF เข้ามาในช่วงที่เราใกล้จะปิดองค์กรแล้วนะ เหมือนเข้ามาช่วยชุบชีวิต ตอนนั้นคิดอยู่นานว่าองค์กรจะเดินต่อไปอย่างไรเพราะขาดงบประมาณสนับสนุน ถึงเราจะไปควานหางบประมาณจากที่ต่าง ๆ มา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงาน ก็คุยกับทีมว่าลดงานลงให้เหลือเฉพาะงานสำคัญ ๆ ก็เป็นจังหวะที่ AHF เข้ามาพอดี ไม่ใช่แค่ช่วยต่อชีวิตองค์กรนะ มันยังช่วยสานต่องานที่สำคัญ คือ งานแคร์แอนด์ซัพพอร์ตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” พี่ทิดเล่าด้วยสีหน้าแววตาที่กลับมามีความหวังอีกครั้ง

องค์กรฟื้น เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
“หลังจาก AHF เข้ามาสนับสนุน งานในองค์กรมันเปลี่ยนไปพอสมควร มีความมั่นคงมากขึ้น องค์กรอยู่ได้และสามารถออกแบบงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น สามารถทำงานที่ซับซ้อนหรือสนันสนุนปัญหาในอนาคตได้มากขึ้น หลังจากที่เราฟื้นงานแคร์แอนด์ซัพพอร์ตกลับมามันทำให้เราเห็นว่างานของเราจะไปช่วยสนับสนุนงานอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม อาสาสมัครของเราที่ทำงาน 5 โรงพยาบาลได้ช่วยดูแล ให้คำปรึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเพื่อน ๆ ให้ดีขึ้นได้ราว 8,000-9,000 คน”

“เราคิดว่าการที่ AHF ได้เข้ามาสนับสนุนมันทำให้การทำงานด้านเอชไอวีเอดส์ของประเทศเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากส่วนตัวทำงานด้านนี้มานานและเป็นคนที่เสนอปัญหาด้านการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตลอด จะเรียกว่า AHF มาก่อนกาลก็ได้นะที่ให้ความสำคัญกับงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต อย่างในช่วงโควิดเริ่มแพร่ระบาดและยังไม่มีใครเข้ามาช่วย AHF ก็สนับสนุนถุงยังชีพเข้ามาทันที AHF มักจะมองเห็นปัญหาเป็นคนแรก ๆ มันตอกย้ำว่า AHF เห็นความสำคัญของชีวิตคนนะ และสามารถที่จะขับเคลื่อนเชิงนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อีกมหาศาลจากการที่เราได้ทำงานร่วมกัน”

แพชชั่นในการทำงานของ HON

ความมุ่งมั่น (Passion) ในการทำงาน
“สิ่งที่เราทำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันทำให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงาน
หรือกับเคสที่เราได้ช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจตลอดเวลาและเป็นแรงผลักดันทำให้ทีมสามารถทำงานต่อไปได้ยาว ๆ รู้สึกสนุกกับการทำงานด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ต นอกจากทำให้หลาย ๆ เคสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว มันยังทำให้ชีวิตเรามีความหมายด้วย และยังคงต้องทำต่อไป”

“AHF ไม่ได้ทำงานเป็นผู้ให้ทุนอย่างเดียว แต่ทำงานด้าน Care and Support เราด้วย
และเราก็ส่งต่อการดูแลนี้ไปยังเพื่อน ๆ ในชุมชน ไปจนถึงระบบสุขภาพ
ประเทศนี้โชคดีที่มี AHF และ HON ก็โชคดีที่ AHF เข้ามาสนับสนุนการเราทำงานของเรา
ประชาชนก็โชคดีที่พบ HON ก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราไม่ปิดองค์กร”
……………………………………………………………..
ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON House)

 

นั่นคือสิ่งที่ผู้นำองค์กรด้านแคร์แอนด์ซัพพอร์ตได้บอกเล่าและสื่อสารให้เราฟัง เป็นเรื่องดีที่ยังมีองค์กรแบบนี้คอยดูแลประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คอยขับเคลื่อนงานระดับชุมชนและร่วมกำหนดนโยบายของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น AHF Thailand ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ HON ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเพื่อสังคมแบบนี้ต่อไป