AHF TaLks : คำตอบสุดท้าย…ว่าเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อใคร

AHF TaLks : คำตอบสุดท้าย…ว่าเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อใคร

“การตรวจเจอเอชไอวี ไม่ใช่การตรวจเพื่อหยุด

  แต่เป็นการตรวจเพื่อไปต่อ แล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข”

 

นี่ไม่ใช่คำพูดที่แต่งเติมให้สวยหรู หรือประดิดประดอยขึ้นมาเพื่อสร้างภาพ แต่มันคือคำพูดที่กลั่นออกมาจากใจของคนที่ได้ชื่อว่า “พยาบาล” ในฐานะผู้ให้บริการแก่คนไข้หรือผู้รับบริการ ที่มีความมุ่งหวังให้คนไข้ทุกคนได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น เธอเป็นหัวหน้างานควบคุมโรค และรับผิดชอบงานเอชไอวี/เอดส์ (HIV Co) ด้วย ซึ่งดูเหมือนเป็นตำแหน่งงานที่มีคนสนใจไม่มากนัก “แต่ทุกโรงพยาบาลต้องมี” มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านน่าจะอยากรู้กันแล้ว ว่าทำไมเธอจึงเลือกทำงานนี้ งานที่ท้าทาย และต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าที่หลายคนคิด

AHF TaLks ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “เอชไอวีโค” หรือ ผู้ประสานงานด้านเอชไอวีของโรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี คุณฟ้า พรทิพย์ แซ่ลิ้ม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หญิงแกร่งแห่งวงการเอชไอวีอีกท่านหนึ่ง ที่มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ ผู้ที่คิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษา มีเรื่องราวน่าสนใจและมีคุณค่ามากมายเกิดขึ้นที่นี่ และเราจะขออนุญาตเรียกเธอว่า “พี่ฟ้า” เหมือนที่คนไข้เรียก

โรงพยาบาลบ้านบึง มีคนไข้เอชไอวีที่อยู่ในการดูแลเกือบ 800 คน แบ่งออกเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ต้องขังเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี ซึ่งในภาพรวมจะมีจำนวณคนไข้เอชไอวีสูงกว่าโรงพยาบาลทั่วไป โดยมีภารกิจหลักในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีผลเลือดเป็นบวกให้เข้าสู่กระบวนการรักษา

“คลินิกเอชไอวีจะเปิดให้บริการสัปดาห์ละหนึ่งวัน แต่สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกวัน ซึ่งปกติจะมีคนไข้เข้ามาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุก ๆ วันอยู่แล้ว ส่วนในแต่ละวอร์ดของโรงพยาบาล หากตรวจพบคนไข้ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะส่งเข้ามาที่คลินิกเอชไอวีได้ทุกวัน โดยจะนัดให้พบคุณหมอก่อนที่จะเริ่มการรักษา” พี่ฟ้าเกริ่นให้ฟังถึงภารกิจหลัก

 

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไข้เอชไอวี

“พี่คิดว่าในแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น เรื่องสิทธิการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมไปถึงค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ประกอบกับในพื้นที่ของเราเป็นเขตอุตสาหกรรม คนไข้ของโรงพยาบาลบ้านบึงจึงเป็นกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิรักษาได้น้อยมาก เมื่อตรวจพบเชื้อเอชไอวีแล้วจะเป็นกลุ่มที่ยากลำบากที่สุดในการเข้าสู่กระบวนการรักษา เริ่มจากเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา เรื่องนี้จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาที่ต่อเนื่อง”

“ส่วนปัญหาของคนไข้กลุ่มประชาชนทั่วไปจะอยู่ในช่วงเริ่มและหลังการรักษา ตลอดจนการคงอยู่ในระบบ สาเหตุหลัก คือ ต้องทำงาน ไม่สะดวกมารักษา หลายรายเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งในกรณีนี้ บางรายยังไม่มีสิทธิการรักษาเพราะเพิ่งมาเริ่มงาน บริษัทยังไม่สามารถขึ้นสิทธิประกันสังคมให้ ทำให้มี อัตราคนไข้ที่ขาดการติดตาม (Lost to follow up) เกิดขึ้นบ้างในช่วงจังหวะของการเปลี่ยนผ่าน ก็จะทำให้คนไข้ได้เริ่มยาช้าลง” พี่ฟ้ามีสีหน้าและแววตาที่กังวลเมื่อพูดถึงคนไข้กลุ่มนี้

 

จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลบ้านบึงและโรงพยาบาลอีกหลายแห่งประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ซึ่งแม้จะเป็นช่องว่างสำคัญที่ผู้ให้บริการหน้างานมักพบเจอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามในการหาทางช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้ลดลง บางครั้งพี่ฟ้าต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าเดินทางให้คนไข้ แต่หลัง ๆ มีคนไข้กรณีนี้มากขึ้นจนไม่สามารถช่วยได้ทุกราย

“ช่วงแรกที่ AHF ติดต่อเข้ามาก็ไม่รู้ว่าองค์กรนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร ตอนนั้นพี่เพิ่งจะเข้ามารับผิดชอบงานเอชไอวีได้เพียง 2 ปี เลยไปสอบถามพี่เอชไอวีโคคนเก่าเขาก็บอกว่าไม่รู้จัก เพราะปกติจะทำงานตอบโจทย์ตัวชี้วัดของจังหวัดเท่านั้น เราก็เลยสงสัยว่าเป็นมูลนิธิอะไร จึงเปิดโอกาสให้เข้ามาคุย พอได้ฟังแล้วเหมือนจะเป็นประโยชน์กับคนไข้และผู้รับบริการ ดูแล้วน่าจะช่วยสนับสนุนการทำงานของคลินิกเอชไอวีได้” พี่ฟ้าเริ่มเห็นโอกาสในการช่วยคนไข้ที่ดูแลอยู่ได้มากขึ้น

 

ทีมจิตอาสา กำลังหนุนสำคัญ

“ปกติแล้วพี่ไม่ได้ทำงานคนเดียว มีทีมอาสาสมัครที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาช่วยสนับสนุนงานของคลินิก ไม่ว่าจะเป็นงานติดตาม ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ซึ่งเดิมทีเราไม่มีค่าตอบแทนให้เขาเลย เขาต้องเสียสละหยุดงาน 1 วันต่อสัปดาห์เพื่อมาช่วยงานที่คลินิก นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านคนไข้ที่หายไป หรือไม่มาตามนัด ถ้าจะอาศัยทีมของโรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่สามารถติดตามได้ทั่วถึงแน่ ๆ ตอนนั้นคิดว่าหาก AHF สามารถสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ อาสาเหล่านี้ได้บ้าง ก็จะทำให้เขาอยู่ช่วยงานคลินิกได้นานขึ้น เพราะเขาช่วยเราได้มาก และนั่นจะทำให้ปัญหาคนไข้ที่ขาดการติดตามการรักษา (Lost to follow up) ลดน้อยลง” พี่ฟ้าเริ่มมีรอยยิ้ม

 

เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง

“หลังจากที่ AHF ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของคลินิก สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนไข้ขาดนัดน้อยลงและเริ่มยาได้เร็วขึ้น เพราะภารกิจหลักของเราคือ ต้องการให้คนไข้เริ่มยาได้เร็วที่สุดหลังจากทราบผลเลือด ยกตัวอย่าง เช่น คนไข้บางรายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติสิทธิการรักษา แต่จ่ายค่าตรวจเลือดไปหมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะเริ่มยาได้ยังไง เพราะยาก็ราคาเม็ดละ 30 บาท เราก็บอกคนไข้ว่า ไม่มีปัญหา เราจะเริ่มยาให้ แล้วไปจัดการสิทธิของตัวเองให้เรียบร้อย โดยใช้งบประมาณจาก AHF ช่วยเหลือเขาไปก่อนในครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกว่ายอดการทำโครงการ Same Day ART มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามตัวชี้วัดเลย” พี่ฟ้ายิ้มมากกว่าครั้งแรก

นอกจากกรณีแรกแล้ว คนไข้เอชไอวีในเรือนจำก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน บางรายต้องโทษจากที่อื่นและถูกส่งเข้ามาที่เรือนจำ ทำให้สิทธิการรักษาจะยังไม่ย้ายตามมาทันทีในช่วงแรก จึงทำให้กลายเป็นคนไข้ไร้สิทธิโดยอัตโนมัติ

“เดิมทีทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองทั้งหมด แต่พอ AHF เข้ามาสนับสนุน เราก็สามารถนำงบประมาณตรงนี้มาช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล เช่น ค่าตรวจรักษาและค่ายา ดังนั้น หากตรวจพบว่าคนไหนมีเชื้อเราก็จะให้เริ่มยาทันที เพราะการอาศัยอยู่ในสถานที่ปิดในเรือนจำอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ง่าย” นี่คือสิ่งที่พี่ฟ้าเน้นย้ำเสมอว่า ทำยังไงก็ได้ให้คนไข้ในเรือนจำได้เริ่มยาเร็วที่สุด

 

ทำไมถึงเลือกทำงานเอชไอวี ?

พี่ฟ้าบอกกับเราว่าเธอไม่ได้รับผิดชอบงานเอชไอวีเพียงอย่างเดียว เธอยังรับผิดชอบงานคลินิกวัณโรค และเป็นหัวหน้างานควบคุมโรคด้วย เช่น งานโควิด-19, งาน EPI หรืองานวัคซีน ซึ่งเป็นงานหลักและเป็นงานใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งงานโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ส่วนงานวัณโรคนั้นอาจดูว่าเป็นงานไม่ใหญ่ แต่สำหรับโรงพยาบาลบ้านบึงที่ต้องดูแลคนไข้ในเรือนจำด้วย พี่ฟ้าถือว่างานนี้เป็นงานใหญ่

จะคิดว่าเป็นหน้าที่ก็คือหน้าที่ แต่ถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่แล้วทำได้ไม่ดี ก็ไม่ต้องทำ.. เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดี และสนุกกับงานที่ทำ นี่คือคำพูดที่สื่อสารออกมาได้อย่างจับใจ และเป็นความจริงที่พี่ฟ้าพูดออกมาอย่างหนักแน่น

ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครทำ ?

“ในสมัยก่อนคนไข้วัณโรคและเอชไอวีจะมีเรื่องการตีตรา (Stigma) ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของสังคมสักเท่าไหร่ แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงทำงานนี้ ไม่กลัวติดโรคเหรอ ก็จะตอบว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครทำล่ะ ? เพราะฉันมีความสุขไง ฉันอยากทำ และคิดว่าคนไข้ไม่ได้เป็นภาระฉันเลย พอคนไข้เอชไอวีกินยาไปนาน ๆ ก็สนิทกัน ไม่มีใครเรียกว่าคุณพยาบาลหรือคุณหมอเลย ทุกคนจะเรียกพี่ว่า พี่ฟ้า แม้มีอายุมากกว่าก็จะเรียกพี่ว่าพี่ฟ้าหมด พี่จะให้ความสนิทสนมกับคนไข้เหมือนคนรู้จัก เหมือนญาติ มากกว่าการเป็นเจ้าหน้าที่กับผู้รับบริการ” พี่ฟ้าตอบพร้อมสีหน้ายิ้มแย้ม และเสียงหัวเราะที่บ่งบอกถึงความสุขใจเมื่อได้ทำงานที่รัก

 

ทำข้อตกลงกับคนไข้

เมื่อคนไข้ไว้ใจ ก็จะเชื่อใจและยินยอมเข้าสู่ระบบการรักษาตามคำแนะนำ แต่คนเราย่อมต้องแบ่งเวลา อันไหนเป็นเวลางาน อันไหนเป็นเวลาส่วนตัว พี่ฟ้าจึงมีข้อตกลงกับคนไข้เล็กน้อย

“คนไข้สามารถเข้าถึงพี่ได้ด้วยสายตรง ก็จะบอกคนไข้ทุกคนว่านี่คือเบอร์ส่วนตัวของเรานะ ในกรณีที่ดูแล้วมีปัญหาแน่ ๆ หรือมีความลำบากใจในการใช้ยาต่อเนื่อง ก็จะตัดสินใจให้เบอร์ส่วนตัวไปเลย แล้วก็ขออนุญาตคนไข้ว่าให้โทรเฉพาะในเวลางาน หากเลยเวลางานไปแล้วก็ต้องขอเวลาให้ครอบครัวเหมือนกัน ซึ่งคนไข้ทุกคนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือ ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนเขาก็จะไลน์ทิ้งไว้ และหากเรามีเวลาก็จะเข้าไปตอบหรือโทรกลับไปหาเขา”

 

ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว แล้วจะมีสุขภาพดีเร็ว

เมื่อเอชไอวียังคงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาหากเรามีพฤติกรรมเสี่ยง ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนักก็คือ การป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสหรือคู่นอนของตนเอง ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีป้องกันเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน รวมไปถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้อีกด้วย

“ในฐานะพยาบาลที่เป็นผู้ให้บริการกับคนไข้โดยตรง พี่อยากบอกกับผู้ที่มีความเสี่ยงว่า การตรวจพบเชื้อเอชไอวีนั้น ไม่ใช่เป็นการตรวจเจอเพื่อหยุด แต่เป็นการตรวจเพื่อต่อ ต่อแล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็เสียชีวิตเหมือนกัน จะช้าหรือเร็วแค่นั้น ถ้าหากเราตรวจพบเชื้อเอชไอวีแล้วเลือกที่จะหยุดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็อาจทำให้เราเสียชีวิตเร็วกว่าปกติได้ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเดินต่อ แล้วตัดสินใจเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด เราอาจมีชีวิตได้นานกว่าปกติ ขอเพียงเปิดใจและยอมรับ แล้วทุกสิ่งจะเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง”

พี่ฟ้าเล่าต่อว่า ถ้าจะรอให้มีอาการหนักแล้วค่อยมาโรงพยาบาล มันอาจจะช่วยหรือรักษาไม่ทัน แล้วจะมานั่งเสียดายเวลาไม่ได้ ดังนั้น “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว แล้วจะมีสุขภาพดีเร็ว” นี่คือสิ่งที่พี่ฟ้าอยากจะบอกคนทุกคน

 

คุณค่าของการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

“รู้สึกขอบคุณ AHF Thailand ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในการดูแลคนไข้เอชไอวี ช่วยปิดช่องว่างและปัญหาที่เรามี ถึงแม้ไม่ได้มากมาย แต่สามารถช่วยทุกคนที่รับการรักษาอยู่กับเรา ยกตัวอย่างรายที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อทั้งคู่ แต่สามีไม่ได้มาดูแลแล้ว ป้าจึงอยู่กับลูกสองคน อาการหนักมากและไม่ค่อยมาตามนัด เราก็ให้อาสาไปตามจนแกยอมมาหาหมอ ตอนกลับจึงได้ช่วยค่าเดินทางกับถุงยังชีพของAHF อีกหนึ่งถุงมอบให้ เขาก็เดินยิ้มกลับบ้านทั้งแม่ทั้งลูก แล้วแกก็พูดว่า ขอบคุณนะคะ วันนี้ฉันมีข้าวให้ลูกกินแล้ว เราก็เลยตอบไปว่าถ้าหมดแล้วก็มาเอาอีกนะป้า”

พี่ฟ้าบอกอีกว่า เมื่อก่อนเวลาที่ป้ามาโรงพยาบาลถึงกับต้องนั่งรถเข็นมา ทุกวันนี้เดินตัวปลิวเลยทีเดียว หากวันนั้นไม่มี AHF ป้าก็อาจไม่ยอมมาหาหมอ และอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว

เราอาจไม่รู้เลยว่ายังมีคนที่ยากลำบากอีกมาก ในจำนวนนั้นอาจมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งดูเหมือนโชคชะตาจะใจร้ายกับพวกเขา แต่หากเอาใจเราไปใส่ใจเขา ลองคิดว่าหากวันนึงเราตกที่นั่งลำบากแบบพวกเขา เราจะเข้าใจและยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่จะตามมาได้มากแค่ไหน เมื่อเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ ดังนั้น การเผชิญหน้ากับปัญหาและก้าวเดินไปข้างหน้า จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เริ่มต้นใหม่เพื่อตัวเองและคนที่เรารัก เข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด นั่นคือคำตอบสุดท้ายว่า “เราควรมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อใคร”

…………………………………………………………………………….