AHF TaLks: March 2024
“เอชไอวีรักษาได้ ไม่ต้องกลัว ทุกวันนี้สามารถอยู่ร่วมกัน ทานข้าวด้วยกัน ใช้ชีวิตร่วมกันได้ตามปกติ”
คำพูดของผู้ใหญ่บ้านที่มีทั้งความจริงใจ เข้าใจง่าย เป็นตัวอย่างของการสื่อสารในชุมชนที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจว่าเอชไอวีไม่ได้ติดกันได้ง่าย ๆ และถึงแม้จะเป็นก็สามารถรักษาได้ ทำให้ปัจจุบันทุกคนในชุมชนใช้ชีวิตและอาศัยอยู่กับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติ พูดคุยกัน กินข้าวกินน้ำร่วมกันได้ ไม่มีใครรังเกียจใคร เพราะเกิดจากความเข้าใจ เปิดใจยอมรับ และให้โอกาสผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน..
จากวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายและธรรมดาของผู้คนในแดนดินถิ่นอีสานในอดีต ต้องพบเจอกับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ย่อมต้องเกิดเป็นความหวาดกลัวเป็นธรรมดา ความท้าทายใหม่เริ่มเกิดขึ้นในชุมชนเมื่อ “เอชไอวี” เข้ามาเป็นบททดสอบใหม่ในช่วงแรก ๆ ในยุคที่ผู้คนล้มตายจากโรคนี้ราวกับใบไม้ร่วง เกิดเป็นภาพจำฝังใจของคนในชุมชนที่ว่า “เอดส์ = เป็นแล้วตาย”
AHF Thailand ขอทำหน้าที่กระบอกเสียงในการรณรงค์และส่งเสริมความสำคัญของ “วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านเรื่องราวของความธรรมดาที่มีความหมายและคุณค่าต่อใครอีกหลายคนอย่างมากมาย ในสังคมของการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนในชุมชน เรียนรู้จากอดีตและเติบโตสู่ปัจจุบันจนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความโอบอ้อมอารี ความเข้าอกเข้าใจ เป็นสังคมที่เรียบง่าย ธรรมดา ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และคนในชุมชนต่างมีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่
การตีตรา (Stigma) คืออะไร ?
การตีตรานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ที่มีต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลในสังคมที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม นำไปสู่การปฏิบัติที่แสดงถึงการรังเกียจ กีดกัน ทั้งทางสายตา คำพูด การกระทำ ทำให้บุคคลเหล่านั้นถูกแบ่งแยก ถูกจำกัดพื้นที่ทางสังคม หรือที่เราเรียกว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
“เอดส์” บททดสอบใหม่ในชุมชน
ช่วงแรกที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย เป็นช่วงที่คนในสังคมเกิดความหวาดระแวงสูง กลัวติดเชื้อ เกิดการตีตราและรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ บ้านโคกน้อย ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้
“ถ้ามีเพื่อนในหมู่บ้านมาบอกว่าคนนี้น่าจะเป็นโรคเอดส์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง ใครเห็นก็กลัว ก็น่าสงสารอยู่แต่ก็ไม่อยากเข้าใกล้” คุณแม่พิมลศรี ทำสิมมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าถึงสถานการณ์เอชไอวีช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาในชุมชน
“คนจะไม่กล้าเข้าใกล้เลย แม้แต่เดินสวนกันก็ต้องเดินไกล ๆ ต้องกลัวไว้ก่อน” คุณแม่นงนุช สีเทา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวจริง ๆ
“ญาติพี่น้องรับไม่ได้ เพราะตอนนั้นเอชไอวีเข้ามาใหม่ ๆ บางคนเป็นแล้วก็ปล่อยตัวเอง อยู่ไปตามยถากรรม ยังไม่มีใครเข้ามาช่วย ช่วงนั้นหมอก็กลัวและไม่กล้าเข้าใกล้เหมือนกัน” คุณปุณยวีย์ ฤาชา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกน้อย ย้ำถึงความน่ากลัวของเอชไอวีในขณะนั้น
“คนสมัยก่อนถ้ารู้ว่ามีบ้านผู้ป่วยเอชไอวีอยู่ใกล้เขาก็จะไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากเข้าไปใกล้ชิด ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเลย” คุณพิเชฐ พรหมนารท ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน พูดถึงสถานการณ์ตอนนั้นเป็นเสียงเดียวกันกับทุกคน และนั่นคือความจริงที่สังคมต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่ชื่อว่า “เอชไอวี/เอดส์”
สังคมแห่งการไม่ตีตรา
น่าสนใจว่า จากวันที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในชุมชน ผู้นำและคนในชุมชนต่างมีการจัดการและรับมือกับเอชไอวีและเอดส์อย่างไร แน่นอนว่าการจะปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนในชุมชนเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี ทัศนคติของคนก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจ เกิดการยอมรับ เห็นอกเห็นใจและให้โอกาสกัน
“แม่ไปอบรมแล้วก็กลับมาคุยให้ทุกคนฟังว่าเอชไอวีมันไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ไปหากันคบกันได้ พอรู้แล้วเราก็รับกันได้ในชุมชน เดี๋ยวนี้เขาก็อยู่ร่วมกันกับเราได้ ก็ธรรมดา คนที่เป็นโรคอื่นก็อาจจะตายไวกว่าโรคเอดส์” คุณแม่นงนุช สีเทา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าถึงจุดเปลี่ยนของตัวเองและชุมชนที่นำไปสู่การไม่ตีตรา
“แม่เป็น อสม. รับรู้เรื่องเอชไอวีจากคุณหมอ โรคนี้ถ้าผู้ป่วยมีการเข้ารับการรักษา เราก็สามารถพูดคุยกับเขาได้ ไปกินข้าวกินน้ำ ไปเยี่ยมเขาได้ ไม่กลัวเอดส์เลย” คุณแม่พิมลศรี ทำสิมมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย เล่าไปพรางทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
“อสม. ก็กระจายข่าวประชาสัมพันธ์ว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ ไม่ต้องกลัว และก็ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ทุกวันนี้ครอบครัวเขาก็อยู่ด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน ทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันได้ตามปกติ” คุณปุณยวีย์ ฤาชา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกน้อย หมู่ 4 คิดว่าปัจจุบันเกิดเปลี่ยนแปลงไปมาก จากตอนนั้นถ้าใครเป็นแล้วต้องแยกห้องอยู่คนเดียว ใช้ชีวิตเพียงคนเดียวไป
“เขาเป็นเราก็ไม่ได้ติดจากเขาง่าย ๆ หรอก สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ให้กำลังใจกันได้ ถ้าเราไปรังเกียจเขา เขาก็จะไม่มีกำลังใจต่อสู้กับโรคของเขา ก็เลยเป็นปกติแล้วทุกวันนี้ คนเป็นไม่เป็นก็อยู่ร่วมกันได้” คุณผ่องศรี โพโน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านโคกน้อย พูดด้วยสีหน้าแววตาที่แฝงด้วยรอยยิ้มจริงใจตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่าทุกคนในชุมชนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งการไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ ผู้นำและแกนนำชุมชนมีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชน ประกอบกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ไม่ตีตราตนเองและเปิดเผยสถานะของตนเอง เพราะโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ และหากเข้ารับการรักษาเร็วก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ทำงานเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนทุกคน ความเข้าใจและทัศนคตินี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอยู่ร่วมกันของทุกคนในชุมชน ไม่ว่าจะมีเชื้อหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นเรื่องธรรมดา
ในชุมชนบ้านโคกน้อย หมู่ 4 และ 14 จะมีสถานที่ที่ชื่อว่า “สุขศาลา” ใช้เป็นจุดนัดพบของผู้นำและอาสาสมัครเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวีและเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับอาสาสมัครนำไปสื่อสารต่อให้คนในชุมชนของตัวเอง
จากผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ สู่แกนนำขับเคลื่อนงานเอชไอวี
“จุดเปลี่ยนเริ่มจากการที่ทำงานป้องกันเอชไอวีมา 3 ปี ส่งเพื่อนไปตรวจแล้วพบเชื้อก็เข้าสู่ระบบรักษา ผู้ให้ทุนเลยแนะนำว่าน่าจะทำงานแคร์ด้วย คือการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหรือไม่ จนงานแคร์มันชัดขึ้น แข็งแรงขึ้น มีการไปเยี่ยมผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ติดเตียง มีหลายคนรอดชีวิตจากการช่วยเหลือของเรา รู้สึกอิ่มใจ เห็นสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า ทำให้ตัวเองมีพลังมากขึ้น จนเกือบ 17 ปีแล้วที่ทำงานด้านนี้” คุณประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่มเอ็มแคนขอนแก่น เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และติดตามผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีให้คงอยู่ในระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้ติดเชื้อรายใหม่และบุคคลทั่วไป
“เริ่มจากการช่วยดูแลเพื่อน ๆ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในโรงพยาบาลควบคู่กับการเข้ารับการอบรมจนมีความรู้มากขึ้น ได้ทำงานภาคสนาม ติดตาม ลงพื้นที่หาแกนนำ ออกค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ในสถานศึกษา ซึ่งบางคนยังไม่กล้าตรวจเลือด เราก็เลยบอกสถานะเลือดของตัวเองให้น้อง ๆ ฟังว่าเราติดเชื้อเอชไอวีมาเกือบ 10 ปีแล้วทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเกิดจากการตรวจและการรักษาที่รวดเร็ว” คุณวิลล่า ปริบุญณะ เจ้าหน้าที่กลุ่มเอ็มแคนขอนแก่น ใช้ตัวเองเป็นแบบอย่างของคนที่ได้รับการรักษาเอชไอวีแล้วสามารถมีชีวิตต่อเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมได้จนถึงปัจจุบัน
“คนที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการเปิดตัวให้สังคมรู้ แต่พี่วิลล่าเขาจะเป็นคนที่สกรีนและให้คำปรึกษากับเคสก่อนส่งต่อมาให้ผม เขาสามารถพูดคุยกับเคสให้เกิดความสบายใจและใช้ชีวิตต่อได้เหมือนกับคนอื่นในสังคม” คุณพิเชฐ พรหมนารท ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน เล่าถึงกระบวนการทำงานที่จำเป็นต้องมีแกนนำที่สามารถให้ข้อมูลและความไว้วางใจกับคนที่จะมาตรวจหรือรักษาเอชไอวี
ความธรรมดา ที่มีคุณค่ามหาศาล
พี่ประยงยุทธเล่าว่า “ในยุคก่อนที่ออกไปทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น อบรม อสม. ก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญคือแหล่งทุน เลยทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้บ่อย ๆ แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ หมอ พยาบาลเริ่มเข้าใจมากขึ้น เริ่มรู้ว่าการสื่อสารของเรามีประโยชน์กับชุมชนอย่างไร ประกอบกับการได้รับงบประมาณจากองค์กร NGO ต่าง ๆ มาสนับสนุนการทำงาน มันก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ คนเริ่มมีข้อมูลความรู้มากขึ้น รู้ว่าเป็นแล้วไม่ตาย ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ กินอยู่หลับนอนได้ปกติ”
“ขอแค่กำลังใจ ความเข้าใจ ให้โอกาสเขาได้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม คนรอบข้าง และครอบครัวต่อไป”
คุณประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่มเอ็มแคนขอนแก่น
“อยากเป็นกระบอกเสียง และอยากให้ทุกคนเปิดกว้าง เปลี่ยนทัศนคติใหม่ มองโลกในแง่บวก
เพื่อให้คนในชุมชนมองภาพของผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีให้เป็นแง่บวกมากขึ้น”
คุณวิลล่า ปริบุญณะ เจ้าหน้าที่กลุ่มเอ็มแคนขอนแก่น
หากเรามองว่าเรื่องราวร้าย ๆ เป็นปัญหาหรืออุปสรรค เราก็จะหมดกำลังใจในการต่อสู้ แต่ถ้าเราปรับมุมมองใหม่ว่าเรื่องราวนั้นเป็นเพียงบททดสอบที่ผ่านเข้ามาท้าทาย และเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ เราก็จะเอาชนะอุปสรรคนั้นได้ ดังนั้น การเปิดใจ เข้าใจ ให้กำลังใจ และให้โอกาสซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง พร้อมเป็นคนที่จะส่งต่อพลังบวกและสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอันเรียบง่ายและธรรมดา ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลให้กับใครอีกหลายคน AHF Thailand ขอสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยก้าวข้ามการตีตราและเลือกปฏิบัติได้สำเร็จ