สวมโลกใบใหม่ให้ Condom ผ่าน 2 กิจกรรมสุดเจ๋งจาก AHF Thailand

สวมโลกใบใหม่ให้ Condom ผ่าน 2 กิจกรรมสุดเจ๋งจาก AHF Thailand

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ถุงยาง” ภาพที่เกิดขึ้นในหัวของคนส่วนใหญ่อาจไม่ใช่แค่อุปกรณ์ป้องกันโรคและการตั้งครรภ์ แต่คือทัศนคติบางอย่างรายล้อมครอบถุงยางที่เรารู้จัก มองผ่านสายตาอคติที่มีอยู่ไม่น้อย หากเปรียบเทียบเป็นคน คุณถุงยางที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อม ก็น่าสงสารไม่ใช่น้อย เพราะทั้งชีวิตถูกตราหน้าและตีตราว่าเป็นสิ่งไม่ดี มีแต่คนรังเกียจ ไม่กล้าพกพา หรือแม้แต่ขัดขวางความสุขสมระหว่างชายหญิง แต่รู้หรือไม่ว่า ด้วยทัศนคติในแง่ลบต่างๆ เหล่านี้กำลังทำให้สังคมไทยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อมมากยิ่งขึ้น

AHF Thailand จึงเล็งเห็นความสำคัญ และคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติที่เป็นลบต่อถุงยางอนามัยให้กลับกลายเป็นแง่บวกได้ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด สนุกมากที่สุด และเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด เป็นที่มาของกิจกรรมสุดเจ๋ง ด้วยการผลิตสื่อและศิลปะเป็นตัวเชื่อมประสาน ได้แก่ AHF Media Award: การประกวดคลิปสั้น สวมโลกใบใหม่ให้ CONDOM” และเปิดมุมมองใหม่ต่อถุงยางอนามัยผ่านงานศิลปะและงานดีไซน์กับงาน Let’s Love มาเลิฟกันเถอะ

 

AHF Media Award: การประกวดคลิปสั้น สวมโลกใบใหม่ให้ CONDOM”

ถุงยางอนามัย

AHF Media Award คือโครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี เป็นโครงการที่มีหลายหน่วยงานร่วมดำเนินงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Blued Application และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรับสมัครเยาวชนกว่า 120 คน เข้าร่วมอบรมและผลิตคลิปสั้นส่งเสริมการเปลี่ยนมุมมองให้เป็นบวกต่อถุงยางอนามัย ซึ่งได้ประกาศผลผู้ชนะและมอบรางวัลไปแล้วในวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และจะเผยแพร่ผลงานคลิปสั้นของน้องๆ ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์อย่างน้อยตลอด / เดือนข้างหน้านี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ตลอดระยะเวลาที่จัดกิจกรรมนี้ น้องๆ จากทั่วประเทศได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับเอชไอวี การตีตรา และเลือกปฏิบัติ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวมาถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนาศิริ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย รวมไปถึงกระบวนการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และสื่อสารออกไปให้โดนใจคนดูมากที่สุด โดยได้วิทยากรที่เป็นไอดอลของน้องๆ มาให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแบบไม่มีกั๊ก อาทิ คุณโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์และโฆษณามากฝีมือ, คุณปาร์ตี้-วัชรพล นนท์ภักดี เจ้าของเพจ Papapartyvoice นักพากย์ฟีลกู้ด, คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ เจ้าของเพจ Toolmorrow คุณสุรชัย ปานน้อย Executive Producer สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นต้น

หนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมอบรมบอกเล่าถึงความรู้สึกก่อนเข้ารับการอบรมว่าตัวเองเคยมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อถุงยางอนามัยมาก่อน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้ความคิดก็เปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนเรามองว่าถุงยางเป็นเรื่องที่น่าอาย มันเป็นสิ่งที่สกปรกสำหรับเรา แต่พอมาฟังความรู้ มันเป็นสิ่งที่คนต้องรู้ มันไม่ใช่เรื่องสกปรก ถ้าเรามีความรู้ระดับหนึ่งเกี่ยวกับถุงยาง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายค่ะ”

และน้องเยาวชนอีกคนที่มองเห็นว่าเพราะความไม่รู้ทำให้เรากลัว การมีสื่อที่ดีจะทำให้เข้าใจมากขึ้น

“สำหรับเรื่องถุงยางอนามัย เราอาจสงสัยว่ามันจะป้องกันได้จริงเหรอ จะปลอดภัยจริงไหม ทำไมเรายังรู้สึกกังวล เพราะว่าเรายังได้ความรู้ไม่มากพอเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย เราจึงจำเป็นต้องผลิตสื่อขึ้นมา เพื่อที่จะให้เกิดความรู้ที่มากพอค่ะ”

หลังจากที่น้องๆ เข้าอบรมและเก็บเกี่ยวทักษะ รวมถึงประสบการณ์การผลิตสื่อ จึงได้สร้างสรรค์ผลงานคลิปสั้นที่ให้แง่คิดที่ดีต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยผ่านถุงยางอนามัย ซึ่งผลงานของน้องๆ แต่ละคนนั้นไม่ธรรมดาเลย ทั้งแนวคิดและกระบวนการผลิตที่ผ่านการบ่มมาอย่างดี กลั่นกรองออกมาจนเป็นผลงานที่โดนใจผู้ชมได้ไม่น้อย

น้องป๋อน-พีรพัฒน์ พรหมมลมาศ ตัวแทนจากทีม UNIIX STUDIO ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดคลิปสั้น AHF Media Award ครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกและไอเดียต่างๆ ที่หยิบมาใช้ในการผลิตคลิปสั้นเรื่อง “ไอ้แดงพระโขนง” จนประทับใจคณะกรรมการว่า

“มันเกิดจากการที่วิทยากร พี่โต้ง บรรจง กับพี่ปาร์ตี้ Papapartyvoice ได้พูดไว้ พี่โต้งบอกว่า ไอเดียมันอยู่ในอากาศ อยู่ที่เราจะหยิบมันออกมา ส่วนพี่ปาร์ตี้บอกว่า พี่โต้งเขายังหยิบพี่มากมาทำเป็นหนังได้เลย ผมก็เลยคิดว่าในเมื่อมีพี่มาก มีแม่นากแล้ว มันก็น่าจะมีไอ้แดง (ลูกของพี่มากและแม่นาก) เป็นตัวเอกได้ ก็เลยระดมความคิดกับเพื่อน วางแผนไม่นาน ทีมก็ส่งบทไปให้ทางทีมงาน พอผ่านปุ๊บก็เริ่มถ่ายกันเลย โดยผมมีหน้าที่เขียนบทและแสดง กำกับนิดหน่อย อีกสองคนก็กำกับภาพ แล้วก็ตัดต่อครับ

“สำหรับเรื่องถุงยางอนามัย ส่วนตัวครอบครัวผมเปิดรับเรื่องนี้อยู่แล้ว เลยไม่ค่อยอคติอะไรกับถุงยางอนามัย แต่คนอื่นจะชอบมาปรึกษาผมเรื่องการซื้อ ซึ่งผมก็จะบอกว่ามันไม่มีอะไรน่าอาย เพราะผมถูกอบรมถูกสอนมาไม่ให้อายเรื่องอย่างนี้ครับ หลายคนเขากลัวคนมองไม่ดีครับ กลัวสายตา มันเป็นเรื่องของทัศนคติครับ

“AHF Media Award ผมว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ เลยครับ เพราะว่าสนับสนุนเรื่องป้องกันโรค ป้องกันอะไรต่างๆ มีประโยชน์ต่อสังคม ส่วนตัวคิดว่า การผลิตสื่อแบบนี้ มันน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่งเลยครับ ผมมองว่า ถ้าคลิปผมมันสามารถช่วยให้คนคนหนึ่งสามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ ผมว่าก็ประสบความสำเร็จแล้วครับที่ช่วยเปลี่ยนความคิดคนได้ แม้แค่คนเดียวก็มีประโยชน์แล้วครับ อยากขอบคุณ AHF Thailand มากๆ เลยครับ ไม่คิดว่าเราจะได้รางวัลกันขนาดนี้ ขอบคุณที่ให้โอกาส ขอบคุณมากๆ เลยครับ”

สำหรับใครที่สนใจอยากชมคลิปสั้นของน้องๆ ที่ส่งเข้าประกวด รอติดตามชมกันได้ ขอบอกว่าเจ๋งและเท่กันทุกคน เพราะแต่ละคลิปมีทั้งมุขตลก ความรู้ ความเข้าใจเรื่องทัศนคติ และมุมมองใหม่ๆ ที่เราควรมีต่อถุงยางอนามัย ที่หน่วยงานที่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องถุงยางอนามัยอยากสื่อสารไปถึงผู้คนมากที่สุดอีกด้วย

โครงการ AHF Media Award จึงไม่ใช่แค่การมาแข่งขันกัน ไม่ใช่แค่การผลิตสื่อ ไม่ใช่แค่การเข้ามาอบรม หรือว่าไม่ใช่แค่การมารับรางวัล แต่เป้าหมายจริงๆ ของ AHF Thailand และภาคีทุกองค์กรก็คือ เราอยากให้มีการสื่อสารว่าเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยมันคือเรื่องปกติจริงๆ และมันเป็นการป้องกันโรค หรือที่เราพยายามเรียกว่า normalize condom จะทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นลดลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเราไม่ได้ป้องกันแค่โรคอย่างเดียว แต่ป้องกันเรื่องของการตั้งครรภ์ด้วย

ชมคลิปภาพความประทับใจงาน AHF Media Award: การประกวดคลิปสั้น สวมโลกใบใหม่ให้ CONDOM”

Let’s Love มาเลิฟกันเถอะ เปิดมุมมองใหม่ต่อถุงยางอนามัยผ่านงานศิลป์และการดีไซน์

นอกจากการผลิตสื่อสร้างสรรค์อย่างการทำคลิปสั้นแล้ว การใช้ศาสตร์และศิลป์ในด้านงานดีไซน์ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อถุงยางอนามัยได้ดีมากขึ้นเช่นกัน AHF Thailand จึงได้จัดงานวันถุงยางอนามัยสากล ในวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้ธีม Always in Fashion: Let’s Love ถุงยางอนามัย ทันสมัยอยู่เสมอ: มาเลิฟกันเถอะ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยถุงยางอนามัย

ในงานนี้ได้ชักชวนศิลปินมากฝีมือมาช่วยกันเปลี่ยนถุงยางอนามัยให้เป็นงานดีไซน์และกลายเป็นของสะสม ผ่านการออกแบบแพ็คเกจให้ชวนมอง ชวนจับต้อง ชวนซื้อ และชวนใช้ เพื่อลดการตีตราและลดอคติ เปลี่ยนความคิดคนที่มีต่อถุงยางอนามัยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับศิลปินที่มาร่วมออกแบบและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของถุงอย่างอนามัย อาทิ คุณฟลุ้ค-ณทัช ศิริพงษ์ธร นักแสดงจากซีรี่ส์ด้ายแดง Until We Meet Again the series, คุณหมี-จิรณรงค์ วงษ์สุนทร นักวาดภาพประกอบ, คุณน้ำ-รัตนินท์ สุพฤติพานิชย์ และคุณแก๊ป-ธนเวทย์ วิริวัฒน์ธนกุล นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ a piece(s) of paper, คุณชาติ-สุทธิชาติ ศราภัยวานิช นักเขียนการ์ตูน และอาจารย์ประจำคณะดิจิตอลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต และเดอะดวง วิระชัย ดวงพลา นักวาดภาพประกอบ ซึ่งผลงานการออกแบบของทุกท่านจะจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพ พร้อมคำอธิบายแนวคิดของแต่ละคน เช่น คุณหมี-จิรณรงค์ ที่ดีไซน์เป็นรูปปลาหมึก เพราะปลาหมึกและน้ำหมึกมักถูกอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับเรื่องเพศของผู้ชาย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอาวุธในการป้องกันตัวเองด้วย เป็นต้น

ในฐานะตัวแทนของวัยรุ่น คุณฟลุ้ค ได้ฝากข้อคิดเอาไว้ว่า “วัยรุ่นไม่ควรที่จะอายเกี่ยวกับถุงยางอนามัย เราควรที่จะป้องกันตัวเองดีกว่าที่จะเสี่ยง เพราะตอนนี้โลกของเรามันเปลี่ยนไปแล้ว ทัศนคติของเราเกี่ยวกับถุงยางอนามัยก็ควรเปลี่ยนไปด้วย”

แม้งานจะจบลงไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าจุดเริ่มต้นไอเดียที่เราทำนั้นจะช่วยจุดประกายความคิดของสังคมได้ อาจเป็นกุญแจดอกเล็กๆ ที่ช่วยไขประตูหัวใจให้เปิดออก เพื่อมองถุงยางอนามัยในมุมใหม่ ด้วยการเปลี่ยนถุงยางผ่านศิลปะเพื่อเปลี่ยนใจคน

ชมคลิปภาพความประทับใจงาน Let’s Love มาเลิฟกันเถอะ

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันทลายอคติที่มีต่อถุงยางให้เบาบางจวบจนหมดสิ้นลง แล้วช่วยกันสวมโลกใบใหม่ให้กับถุงยางอนามัย ด้วยความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ลดการตีตรา ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น และเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญและมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยกัน