AHF TaLks : คลินิกสายใจ ต่อลมหายใจ ให้ชีวิตใหม่ ใครอีกหลายคน

AHF TaLks : คลินิกสายใจ ต่อลมหายใจ ให้ชีวิตใหม่ ใครอีกหลายคน

“เวลามองคนไข้ HIV เราต้องมองเขาเหมือนคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำให้เขาเป็นคนพิเศษหรือแปลกจากคนอื่น”

นี่คือคำพูดของผู้นำองค์กร ที่สะท้อนความคิดในการปฏิบัติและให้บริการกับคนไข้ทุกคนของโรงพยาบาลบางละมุงอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงว่าจะต้องดูแลคนไข้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งในปัจจุบันเอชไอวีเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ และหากคนไข้ที่เข้าสู่การรักษาเร็ว ก็จะสามารถมีชีวิตยืนยาวกว่าบางโรคด้วยซ้ำไป

 

บทความฉบับนี้ AHF Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลบางละมุงเกี่ยวกับภารกิจและการดูแลงานด้านเอชไอวี ซึ่งโรงพยาบาลตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยว (พัทยา) อาจมีโอกาสที่จะเกิดความชุกของโรคสูงกว่าอีกหลายพื้นที่

บุคลากรทุกท่านของที่นี่มีหัวใจของการเป็นผู้ให้สูงมาก เริ่มตั้งแต่ท่านผู้อำนวยการ คุณหมอ ไปจนถึงพี่พยาบาล ที่ถือเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้งสูงสุดในการทำงาน ทำให้เรารับรู้ได้ถึงพลังบวกตลอดการพูดคุย รู้สึกดีใจแทนคนไข้ทุกคนที่ได้พบเจอและได้รับบริการที่ดีจากโรงพยาบาลแห่งนี้

 

ท่านแรกที่ได้พูดคุยคือท่าน ผอ. นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง ท่านเล่าให้เราฟังว่าโรงพยาบาลบางละมุงเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นนำในภาคตะวันออกที่นักท่องเที่ยวเชื่อถือ ประชาชนไว้วางใจ มีนโยบายหลักในการพัฒนาการดูแลทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประชาชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ พร้อมทั้งเน้นยุทธศาสตร์การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ โดยยึดมั่นในมาตรฐาน และบริการด้วยน้ำใจ

“โรงพยาบาลบางละมุงให้ความสำคัญกับงานด้านเอชไอวี/เอดส์มาก เนื่องจากพื้นที่ของเราเป็นลักษณะพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เฉพาะ มีโอกาสเกิดความชุกของเอชไอวีสูงกว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทย นอกจากการดูแลรักษาแล้ว เรายังเน้นการควบคุมป้องกันการเกิดความชุกของโรค จึงมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาให้มากที่สุด เรามีบุคลากรที่เชี่ยวชาญงานด้านเอชไอวีและมีประสบการณ์สูง สามารถขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนได้” ท่าน ผอ.วิชัย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

 

เติมเต็มในส่วนที่ขาด

“โรงพยาบาลได้ให้การดูแลรักษาคนไทยและผู้มีสิทธิการรักษาต่าง ๆ แต่ยังมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาเนื่องจากเป็นคนไข้ไร้สิทธิและประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย องค์กรภาคเอกชนรวมถึงมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ก็จะมาให้ความช่วยเหลือคนไข้ในส่วนนี้ อีกทั้งในกรณีที่เป็นคนไทยที่มีสิทธิในการรักษาแต่มีความขัดสนด้านค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าบริการทางการแพทย์บางรายการ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร AHF ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุนส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ต้องขอบคุณ AHF ที่เข้ามาสนับสนุนได้ถูกที่ถูกเวลา ในการดูแลช่วยเหลือคนไข้เอชไอวีโดยเฉพาะผู้ที่เข้าไม่ถึงการรักษา”

นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง

โดยทั่วไปแล้ว หากผู้บริหารองค์กรมีนโยบายที่ดี แต่ขาดทีมงานที่มีความสามารถและความเข้าใจในเนื้องาน ย่อมจะทำให้งานสะดุดและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอายุรแพทย์ ที่รักษาคนไข้เอชไอวีมากว่า 10 ปี ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วแต่ก็ยังเข้ามาช่วยดูแลรักษาคนไข้เอชไอวีอยู่ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ให้การรักษา

“ส่วนใหญ่ผมกับทีมงานจะเจอคนไข้ที่มีความยากลำบากในการเข้าสู่ระบบการรักษา หลัก ๆ เลยคือเรื่องสิทธิ รองลงมาคือเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นี่คือช่องว่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการรักษาและการนัดหมาย ปัจจุบันเรามีคนไข้เอชไอวีกว่า 3,000 คน ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ส่วนตัวรู้สึกสงสารและเห็นใจคนไข้ที่อยากเข้าสู่กระบวนการการรักษาแต่สิทธิไม่ครอบคลุม เช่น ไม่สามารถตรวจเช็คผลเลือดในบางรายการ หรือมีการเจาะเลือดเพื่อประกอบการวินิจฉัย รวมถึงยาบางตัวที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” คุณหมอโหน่ง นายแพทย์ธนากร อรุณงามวงศ์ รองผู้อำนวยการฯ และอายุรแพทย์ พูดด้วยสีหน้าแววตาที่เห็นใจคนไข้จริง ๆ

ในบางครั้ง พวกเขาอาจไม่ต้องการหมอที่เก่ง เขาแค่ต้องการหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจเขา รับรู้ว่าเขามีปัญหาอะไร เช่น เรื่องเงิน หรือเรื่องเวลาทำงานที่มักเป็นเวลาเดียวกับที่หมอนัด สิ่งเหล่านี้มักเป็นข้อจำกัดในการรักษาอยู่บ่อยครั้ง คุณหมอจึงพยายามหาหนทางเพื่อช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอหากเทียบกับจำนวนคนไข้

 

งบประมาณถูกส่งไปถึงคนไข้โดยตรง

“ก่อนหน้านี้เราพบคนไข้ที่เป็นโรคฉวยโอกาสมาก แต่หลังจาก 5-10 ปี ที่มีการรณรงค์ให้กินยาต้านไวรัส กินยา PrEP, PEP ตลอดจนการส่งเสริมให้มี One-Stop Service และ Same-Day ART จำนวนคนไข้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสที่ต้องนอนโรงพยาบาลก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับมีโครงการของ AHF เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ บางคนอาจคิดว่าเราเอาไปจัดอบรมหรือกิจกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แต่สำหรับที่นี่ บอกได้เลยว่าโครงการของ AHF มีประโยชน์มาก เราส่งงบประมาณไปถึงคนไข้โดยตรงไม่ว่าจะเป็นการซื้อถุงยังชีพ, เครื่องอุปโภคบริโภค, ค่าใช้จ่ายในการเจาะเลือดเพื่อร่วมการวินิจฉัย, ค่าเดินทางในการมารับการตรวจ ซึ่งทำให้คนไข้ที่ขาดการติดตามกลับมามีกำลังใจเข้าสู่การรักษาได้อย่างต่อเนื่อง และไม่กลัวเอชไอวีอีกต่อไป” คุณหมอโหน่งพูดด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเมื่อพูดถึงคนไข้ที่ท่านได้ให้การช่วยเหลือ

 

ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด แล้วก้าวไปด้วยกัน

“ผมอยากให้ผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคน ปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวีว่าเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ และอยากให้บุคลากรทางการแพทย์คิดว่าเอชไอวีก็เป็นเหมือนโรคธรรมดาทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน หากเป็นแล้วก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เหมือนโรคอื่น ๆ ต้องมีการคัดกรองหรือการอธิบายให้คำปรึกษาที่ดีเพื่อให้คนไข้เข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วที่สุด ส่งเสริมให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ ทั้งนี้ อยากให้สังคมเปิดใจ ให้เขายืนได้ ทำงานได้ เชื่อว่าสังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้น และเอชไอวีก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป” คุณหมอพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวัง

นายแพทย์ธนากร อรุณงามวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง และอายุรแพทย์

และอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนำพาคนไข้เข้าสู่ระบบการรักษา คนที่ใกล้ชิดและคอยให้คำปรึกษาคนไข้มากที่สุดก็คือ “พยาบาล” ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องมีความรู้เรื่องเอชไอวีและมีความเข้าใจคนไข้เป็นอย่างมาก เพราะการให้คำปรึกษาของพยาบาลมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การรักษาของคนไข้

 

“พัทยา” เมืองท่องเที่ยว คนไข้หลากหลาย

“คลินิกสายใจจะดูแลคนไข้ 2 กลุ่ม คือ เอชไอวีและวัณโรค เป้าหมายของเรา คือ ต้องการให้คนไข้เอชไอวีเริ่มการรักษาเร็ว ทานยาต่อเนื่อง ไม่เจ็บป่วยและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ส่วนคนไข้วัณโรคก็เช่นกันอยากให้การดูแลรักษาจนหาย ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว เราจึงมีกลุ่มคนไข้ที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่ประชาชนทั่วไป, กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด, กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ, กลุ่มเรือนจำ, กลุ่มพนักงานบริการ, กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นี่คือความท้าทายของคลินิกเรา” พี่ปุ๋ย ศิริภัณฑ์ สุทธิ์จิตต์จูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ พูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและแววตาที่มุ่งมั่น

 

คลินิกที่ต่อลมหายใจให้ใครหลายคน

“เมื่อก่อนเราเจอคนไข้ที่มารักษาแล้วเขาไม่มีเงินจ่ายเพราะเขาไม่มีงานทำ จนหายไปจากระบบการรักษา ทำให้เรารู้สึกว่าเราช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย จึงคิดว่าอยากมีใครสักคนเข้ามาช่วยตรงนี้ พอ AHF เข้ามาสนับสนุน ปัญหาตรงนี้ก็ได้รับการเยียวยาแก้ไข เรารู้แล้วว่าเราสามารถนำงบส่วนไหนไปช่วยเหลือเขาได้ ที่จะช่วยทำให้คนไข้เข้าสู่การรักษาได้อย่างต่อเนื่อง”

โควิด-19 บุกพัทยา ทำคนไข้ตกงาน ไม่มารับยา

“ในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งทำให้สถานประกอบการปิดลงเกือบ 100% แรงงานก็ตกงาน บางคนย้ายกลับถิ่นฐาน บางคนไม่มีเงินกลับจึงต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก ก็จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละวันและไม่มีค่าเดินทางเพื่อมารับยา เราจึงนำงบที่ AHF สนับสนุนไปช่วยดูแลช่วยเหลือค่าเดินทางพร้อมทั้งมอบถุงยังชีพให้คนไข้เหล่านี้ด้วย ถือว่าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนไข้ในช่วงนั้นได้มาก” พี่ปุ๋ยรู้สึกขอบคุณแทนคนไข้ของเขา

คนไข้ในเรือนจำส่วนใหญ่ไร้สิทธิการรักษา

“คนไข้เรือนจำพิเศษเมืองพัทยาก็อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของเราซึ่งมีจำนวนเยอะมาก บางรายเป็นผู้ต้องขังใหม่และจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการรักษาทันที ในช่วงแรกของการคุมขังบางทีคนไข้ยังไม่สามารถย้ายสิทธิได้ หลายคนไม่มีสิทธิอะไรเลยก็จะไม่สามารถรับยาได้ รวมถึงคนไข้แรงงานข้ามชาติที่มีระยะเวลารอคอยสิทธิเป็นเวลานาน บางคนก็ไร้สิทธิ เราจึงนำงบประมาณจาก AHF มาใช้เพื่อให้คนไข้ได้เริ่มยาได้ทันที ถือเป็นการปิดช่องว่าง (Gap) ในเรื่องการเข้าไม่ถึงระบบการรักษาคนไข้เอชไอวีในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี”

พี่ปุ๋ยเล่าเรื่องราวมากมายให้เราฟัง การที่โรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นการต่อชีวิตให้ใครหลายคนได้จริง ๆ ซึ่งนอกจากจะได้ช่วยคนไข้เอชไอวีแล้ว เราได้ช่วยเหลือคนในครอบครัวของพวกเขาอีกหลายชีวิตให้อยู่รอดด้วย

 

ปิด Gap ใหญ่สำคัญ 2 จุด

“ก่อนหน้านี้เราเป็นโรงพยาบาลใหญ่ก็จริง แต่เราไม่มีแพทย์เฉพาะทางหรือหมอไอดี (Infectious Disease Doctor) ซึ่งถ้าคนไข้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เราก็จะต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งบางรายมีอาการป่วยก็ไม่สามารถไปได้ เดินทางลำบาก ไม่มีคนไปส่ง บางรายไปแค่ครั้งเดียวแล้วไม่ได้ไปอีกเลยเพราะมีข้อจำกัดเรื่องค่าเดินทาง จึงเรียนเชิญอาจารย์จุรีรัตน์, ผศ.(พิเศษ) พญ.จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ ท่านเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคติดเชื้อ ตรวจรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี ให้มาช่วยตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลบางละมุงเดือนละครั้ง ซึ่งท่านตอบรับ ทำให้เราแก้ไขปัญหาและดำเนินการตรงนี้มาได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปัจจุบันคนไข้ที่อยู่ในการดูแลของอาจารย์มีอาการดีขึ้นและยังมีชีวิตอยู่ หากไม่มีงบตรงนี้มาช่วยคนไข้อาจจะเสียชีวิตไปนานแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือ เมื่อก่อนงานเราเยอะมากจนไม่มีเวลาจัดเก็บหรือรวบรวมข้อมูลคนไข้ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีการนำข้อมูลกลับมาคุยและวิเคราะห์กัน พอช่วงที่ AHF เข้ามาสนับสนุน ก็ได้ช่วยจัดสรรงบประมาณจ้างบุคลากร 1 อัตรา เพื่อดูแลจัดการข้อมูลของคนไข้อย่างเป็นระบบ ทำให้งานต่าง ๆ ภายในคลินิกมีความถูกต้องสมบูรณ์และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”

 

ความสุขของการทำงานคือ “การได้มาเจอคนไข้”

“ต้องบอกว่าตนเองโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก พี่จะบอกกับน้อง ๆ ในทีมเสมอว่าเราไม่ต้องไปทำบุญที่ไหนเลย เราถือว่าได้ทำบุญกับเพื่อนมนุษย์ทุกวัน ตอนที่เราเห็นคนไข้ดีขึ้น เห็นเขามีรอยยิ้ม เขากลับไปใช้ชีวิตได้ ทำงานได้ ช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ อีกอย่างเรารับรู้ได้ว่างานที่เราทำมันช่วยขัดเกลาจิตใจของเราให้ค่อย ๆ ละเอียดขึ้น เราก็เลยรักงานนี้ เหมือนเราได้มาเจอเพื่อน เจอกัลยาณมิตรที่เป็นคนไข้และผู้ร่วมงาน นี่คือกำลังใจที่สำคัญที่สุดในการทำงานของพี่”

คุณศิริภัณฑ์ สุทธิ์จิตต์จูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบางละมุง

เราได้รับฟังมุมมอง ความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณของคนที่เป็นผู้ให้บริการ ที่ล้วนคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นอันดับแรก ทำอย่างไรถึงจะช่วยคนไข้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของทุกคนตลอดเวลา

AHF รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดูแลรักษาคนไข้ แต่ที่เรารู้สึกปลาบปลื้มและภาคภูมิใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เราอยากขอบคุณบุคลากรทุกท่าน ที่มีจิตใจงดงาม พร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเชื่อว่ายังมีคนแบบนี้ในสังคมไทยอีกมาก หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน “เรา” ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ได้ในที่สุด

…………………………………………………………………………….