STAYING ALIVE The Series: ก้าวข้ามอคติด้วย “ความจริง” บทพิสูจน์ของ “คนจิตอาสา”

STAYING ALIVE The Series: ก้าวข้ามอคติด้วย “ความจริง” บทพิสูจน์ของ “คนจิตอาสา”

วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้จัดงาน “วันสตรีสากล หรือ International Women’s Day” ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Break the Bias : ทลายอคติ” เพื่อยกย่องในบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก ครั้งนี้ AHF Thailand ขอหยิบยกเรื่องราวของหญิงแกร่งคนหนึ่งที่พบเจอกับเรื่องราวแง่ลบในชีวิต จนวันนึงได้ตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอคติจากคนรอบข้างและสังคม วันนี้เธอได้ก้าวข้ามเหตุการณ์ที่บั่นทอนจิตใจในอดีต มายืนอยู่ในจุดที่เป็นผู้ให้ความรู้และสร้างคุณประโยชน์ต่อคนในชุมชนและสังคมได้อย่างสง่างาม

“ตั้งแต่ทำงานที่มูลนิธิเครือข่าวเยาวชน Little Birds มา ทำให้เรามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง และกล้าที่จะเผชิญกับคำถามต่างๆ ที่ไม่เคยกล้าตอบ และที่สำคุญที่สุด มันทำให้เรากล้าออกจาก safe Zone ของตัวเอง” นี่คือคำพูดของคุณนิว-พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds ที่เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

ลดการตีตรา ก้าวข้ามอคติ ต่อสู้กับคำถาม
“เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าให้ข้อมูลความรู้เรื่องเอดส์เชิงบวกที่ถูกต้องกับใครเลย เพราะกลัวเขาจะสงสัยว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ HIV รึเปล่า จุดเริ่มต้นอยู่ตรงที่การรวบรวมความกล้าที่จะตอบคำถามกับคนคนหนึ่ง ซึ่งปรากฎว่าเขาหยุดฟังเราแม้ว่าเขาจะยังมีทัศนคติด้านลบอยู่ก็ตาม แต่เมื่อเขาได้รับฟังข้อมูล ที่ถูกต้องก็ทำให้เขาคิดในแง่ลบน้อยลงกว่าเดิม ถือว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราลดการตีตราตัวเองและมองว่าตัวเองมีคุณค่า”

“ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามจากสังคมเหมือนกันว่าเราเป็น HIV รึเปล่าเลยมาทำงานตรงนี้ เราก็จะตอบแบบนี้ไปทุกครั้งว่า “คนที่มาทำงานตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ติดเชื้อ HIV เสมอไป” แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็พยายามให้ชุดข้อมูลเชิงบวกมากกว่าข้อมูลเชิงลบตลอด จนในที่สุดก็เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากคนในชุมชน และคนเหล่านั้นยังนำข้อมูลการป้องกัน HIV ไปบอกต่อกับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย”

ลูกตั้งคำถาม ?
“หลังจากที่ก้าวข้ามทุกอย่างมาได้แล้ว สิ่งที่เรากังวลที่สุดก็มาถึง คือ ลูกเริ่มสงสัยและถามเราว่า “แม่ทำงานอะไร ?” เราจึงตอบลูกไปว่า “แม่ทำงานด้าน HIV” หลังจากนั้นเวลาที่เขาไปเจอโลโก้ Little Birds เขาก็จะพูดว่า “ที่ทำงานแม่หนู” เขาพูดแบบภูมิใจในตัวเรามาก

“ตั้งแต่เด็กๆ จะถูกยายและแม่สอนว่าห้ามไปมีอะไรกับผู้ชายเด็ดขาด แต่ไม่เคยพูดว่ามีอะไรได้แต่ต้องใช้ถุงยางอนามัยนะ ถ้าวันนั้นเราได้ยินข้อมูลแบบนี้อาจจะไม่ต้องกลายเป็นคุณแม่วัยใสก็ได้ ทุกวันนี้เลยพูดเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างไม่อาย ในเมื่อผู้ชายไม่พกเราจะเป็นคนพกเอง ตอนนี้ลูกอายุ 9 ขวบแล้ว เราก็จะสอนลูกแบบนี้เสมอว่า “เป็นผู้หญิงอย่าอายที่จะพกถุงยาง” จนตอนนี้ลูกรู้จักการใช้ถุงยางอนามัยแล้วด้วยซ้ำ แม้ผู้ใหญ่จะบ่นว่าสอนลูกเร็วเกินไปก็ตาม”

เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้

นิวคิดว่า “ที่ผ่านมาเราได้รับสิ่งดีๆ จากคนอื่นมาเยอะแล้ว ถึงเวลาแล้วที่นิวจะมอบสิ่งนั้นให้กับคนอื่นบ้าง” กว่า 7 ปีที่เริ่มก่อตั้งและทำงานที่มูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds มา ถือว่าตัวเองเดินมาถึงจุดที่คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยเริ่มจากการเข้ามาเป็นอาสาสมัครจนทุกวันนี้กลายเป็นผู้นำด้านสุขภาวะและความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ให้กับคนในชุมชน ทำให้เรามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง กล้าที่จะเผชิญกับคำถามที่ไม่เคยกล้าตอบ และพยายามให้ข้อมูลเชิงบวกให้มากที่สุด “เราสามารถเป็นทูตที่ให้คำปรึกษาด้านเอดส์โดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีกต่อไป”

เอดส์ก็เหมือนโควิด เป็นไม่เป็น ก็อยู่ร่วมกันได้
นิวคิดว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนทุกคนได้ แต่ความพยายามของเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนจากลบเป็นบวกได้” แต่อาจจะไม่ 100% และรู้สึกภูมิใจที่เรามีความรู้ด้านนี้ เราจะไม่โอเคกับคนที่พูดถึงโรคเอดส์ในด้านลบ หากได้ยินจะรีบเข้าไปบอกข้อมูลที่ถูกต้องกับเขาทันที”

“ปัจจุบันที่มีโรคโควิด-19 เข้ามา ยิ่งทำให้เราเปรียบเทียบได้ดีมากๆ “โรคเอดส์กับโรคโควิดก็เหมือนกัน ตรงที่ตอนนี้ยังไม่มียารักษาให้หาย แต่เราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันได้ยังไง” ดังนั้น เราไม่ควรไปพูดไปถามเขาว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่คิดว่าการให้คำปรึกษาโดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ทุกคนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ HIV เชิงบวกมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ว่า “เป็นไม่เป็น ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้”

“เมื่อเราเห็นคนที่เราให้ข้อมูลเขามีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เรารู้สึกมีพลังและอยากทำงานต่อ “รู้สึกใจฟูมาก” วันที่ได้ยินคนเหล่านั้นพูดว่า “คนที่เป็นเอดส์ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเนาะ เขาอาจจะเป็นแค่ HIV ก็ได้” ดีใจกับสิ่งที่เราทำมามันไม่สูญเปล่า แค่เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง”

ความจริง : หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติ

“คนที่ไม่มีความรู้เรื่อง HIV ไม่ได้แปลว่าเขาผิด และคนที่ถูกถามก็ไม่ผิดเช่นกัน ต่างคนต่างไม่ผิด แล้วทำไมเราจะให้ข้อมูลที่เป็นความจริงและถูกต้องกับคนเหล่านี้ไม่ได้ล่ะ ดังนั้นนิวจึงคิดว่า “หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนทัศนคติของคนก็คือ ความจริงและความถูกต้อง” ไม่มีใครผิดใครถูก แค่เขาไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไร

“เราจะบอกกับครอบครัวหรือคนอื่นๆ เสมอว่า ถ้าได้ยินในสิ่งที่เราไม่มีข้อมูล อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรออกไปในทันที เพราะสิ่งที่เราคิดผิดหรือเข้าใจไปเองอาจทำร้ายคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว “เพราะคำพูดของคน สามารถฆ่าคนให้ตายได้เช่นกัน”

“เราไม่อยากให้ใครมาพูดแบบลบๆ กับผู้ติดเชื้อ HIV” ถ้าหากคนคนนั้นไปพูดกับผู้ติดเชื้อที่มีจิตใจไม่แข็งแรงพอ เขาอาจจะฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ เราไม่อยากให้คนคนนึงต้องมาจบชีวิตเพียงเพราะลมปากคน

จะเห็นได้ว่าคุณนิวเป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่ง ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ในวัยเด็กจนเติบโต รวมถึงอคติจากคนรอบข้างและสังคม วันนี้ เธอจึงได้ตั้งปณิธานที่จะเป็นผู้ให้กับคนอื่น AHF Thailand จึงขอยกย่องคุณนิวให้เป็นสตรีที่สตรองคนหนึ่ง เนื่องในวันสตรีสากลปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Break the Bias : ทลายอคติ” ซึ่งเราได้รับฟังหลากเรื่องราวและทัศนคติที่เธอใช้ทำลายกำแพงอคติต่างๆ จนสามารถมูฟออน และก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านสุขภาวะและ HIV ในชุมชนและสังคมได้อย่างสง่างาม…