ผ่านไปแล้ว กับ “Pride Month” เดือนแห่งการให้เกียรติและยอมรับในตัวตนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ซึ่งปัจจุบันมีการยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น โดยตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันถึง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มากจนกลายเป็น Talk of the town ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ จนขึ้นแท่นติดอันดับ Twitter Trend in Thailand อยู่หลายสัปดาห์
AHF Thailand จึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่เกิดในช่วงเดือนมิถุนายน หรือ “Pride Month” มาชวนคิดชวนคุยกับเพื่อนๆ โดยคอลัมน์นี้ได้รับเกียรติจากบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหลายท่าน มาร่วมแชร์มุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ
ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ทั้งร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ. คู่ชีวิต “แบบแยกฉบับ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ฉบับ คือ 1) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม 2) ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (เสนอโดย ครม.) และ 3) ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์) ซึ่งข้อ 2) กับ 3) มีจุดแตกต่างเล็กน้อยตรงนิยามของเพศที่จดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิต ซึ่งฉบับ ครม. นิยามไว้ว่าเป็น “ผู้ที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน” ส่วนฉบับพรรคประชาธิปัตย์นิยามไว้ว่าเป็น “บุคคลกับบุคคล”
อย่างไรก็ดี ถือว่าประสบความสำเร็จในวาระที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องไปพิจารณาในรายละเอียดกันต่อในชั้น กมธ. ในวาระที่สอง และตอนที่ สส. จะลงมติในวาระที่สาม ไปจนถึงการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาอีกสามวาระ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าหลายฝ่ายมีความเข้าอกเข้าใจ เปิดใจยอมรับ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันจริง ๆ ในสังคมไทย
คุณฐิติญานันท์ หนักป้อ (ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์)
“พี่คิดว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมตอบโจทย์กว่า เพราะมีหลักการที่ครอบคลุมและง่ายต่อการผลักดัน คือเราแค่เปลี่ยนแปลงชายหญิงในนั้นเป็นบุคคลกับบุคคล ก็จะสามารถปลดล็อกเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ ส่วน พ.ร.บ. คู่ชีวิตเป็นการทำกฎหมายแยกออกมาในทางปฏิบัติ เสมือนว่าเราเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งที่มีความไม่เทียบเท่าและเสมอภาคกัน ดังนั้น ในมุมของคนข้ามเพศมองว่าการสมรสเท่าเทียมจะไม่เป็นปัญหาใดๆ หากมีการแก้ไขระหว่างบุคคลกับบุคคลที่ไม่ยึดโยงคำนำหน้านามและตัดคำว่านายกับนางสาวออกไป”
คุณภัทรพล ใจเย็น (Mr. Gay World Thailand อันดับ 1)
“โก้คิดว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมตอบโจทย์มากกว่า เพราะให้สิทธิมากกว่าเน้นด้านความเสมอภาค รวมไปถึงการเซ็นรับรองการรักษาหรือการใช้สิทธิประกันสังคมของคู่ครอง เป็นต้น สำหรับธนาคารเอกชนที่โก้ทำงานอยู่ ก็มีการสนับสนุนกิจกรรม LGBTQ+ ทั้งในเดือน Pride Month ตลอดจนการรณรงค์ให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น สาวทรานส์สามารถแต่งกายเครื่องแบบหญิงและมีส่วนร่วมผลักดันส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของชาว LGBTQ+ ได้โดยไม่ถูกปิดกั้น”
คุณพรพัฒน์ จิโรจวงศ์ (V-IDOL 6)
“จริงๆ แล้วผมสนับสนุนทั้งสอง พ.ร.บ. เพราะมันคือการแสดงออกถึงความเท่าเทียมและการได้รับสิทธิ์ต่างๆ ที่พวกเราควรได้รับ แต่โดยส่วนตัวสนใจ พ.ร.บ. คู่ชีวิตมากกว่า ที่พูดถึงการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีบุตรบุญธรรม มรดก การมีสิทธิ์การจัดการในทรัพย์สิน หรือเราคือผู้ปกป้องสิทธิ์ดูแลสิทธิ์ของคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเหมือนกับชายหญิง”
คุณกฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์ (รองอันดับ 1 V-IDOL 6)
“กฎหมายสมรสเท่าเทียมตอบโจทย์มากกว่า เพราะคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดการสมรส เท่ากับเราใช้กฎหมายสมรสเดียวกับชายหญิง ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกว่าเป็น LGBTQ+ เราเห็นตัวอย่างพัฒนาการการออกกฎหมายในต่างประเทศมาแล้ว ก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อออกกฎหมายครั้งเดียวให้สมบูรณ์ได้ เพื่อให้การใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกัน ถือเป็นการสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง”
คุณสุรชัย ด่านผาสุกกุล (อาจารย์ / วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและงานโรงแรม)
“ทั้งสอง พ.ร.บ. มีจุดแตกต่างกันเพียงนิดเดียว แต่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะเป็นการสมรสที่ระบุว่า ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถสมรสกันได้ มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกอย่าง เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันให้กับบุคคลในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สามารถปกป้องและดูแลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม รวมทั้งสามารถรับมรดกที่สร้างร่วมกันมา หรือรับสวัสดิการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคู่สมรสในปัจจุบัน”
คุณวิภาดา กุลธนาโชติวุฒิ และคุณวันวิสาข์ วัชโรบล (พนักงานออฟฟิศและนักจิตวิทยาระบบดูแลนักเรียน)
“คิดว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิตตอบโจทย์มากกว่า เพราะต้องการสิทธิทั่วไปเหมือนชาย-หญิง ในการจดทะเบียนสมรสหรือการร่วมชีวิตด้วยกัน”
นี่คือมุมมองและเสียงสะท้อน จากเพื่อน ๆ ของเราจากหลากหลายเพศสภาพและอาชีพ ที่มาร่วมแชร์ความคิดเห็นที่มีต่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งหากมองภาพรวมแล้ว พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ มีหลักการและจุดประสงค์ที่สอดคล้องกัน แน่นอนว่าต้องใช้เวลา ใช้พลังเสียง ใช้ความร่วมมือจากคนไทยทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดสิทธิและความเท่าเทียมอย่างแท้จริงขึ้นในสังคมไทย
(ฐิติญานันท์ หนักป้อ) “การขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ถึงแม้จะผ่านวาระแรก แต่จากบทเรียนทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเราพบว่า เฉพาะเสียงของคนที่เป็น LGBT นั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องการเสียงและการสนับสนุนของเพื่อนชายหญิงที่อยู่ในทุกสถาบันทางสังคม ร่วมสนับสนุนประเด็นนี้ไปกับเรา และนั่นจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ค่ะ”
(ภัทรพล ใจเย็น) “ส่วนตัวอยากเน้นให้คนไทยมีความเข้าใจ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ว่านี่คือการยอมรับในสิทธิ และความคิดต่าง ในการอยู่ร่วมกันของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยเป็นสิทธิที่พึงได้ ตามความเสมอภาคของมนุษย์คนนึงควรได้รับ”
(พรพัฒน์ จิโรจวงศ์) “อยากให้มีการสนันสนุนกิจกรรมของ LGBTQ+ อย่างต่อเนื่อง และบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เด็ก ๆ หรือเยาวชนได้เข้าใจในเพศสภาพของตนเองและคนอื่น ๆ ในสังคม”
(กฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์) “ผมเข้าใจที่มีผู้คัดค้านสมรสเท่าเทียมเพราะอาจขัดต่อบรรทัดฐานความคิดหรือความเชื่อทางศาสนาของเขา แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายควรมีความครอบคลุมเพื่อผู้ที่ต้องการใช้ และจำเป็นต้องใช้ด้วย จึงอยากให้สังคมเปิดใจ มองปัญหาของการที่คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้สิทธิสมรสเท่าเทียมอย่างเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และสนับสนุนกฎหมายนี้”
(สุรชัย ด่านผาสุกกุล) “โลกในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว การยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งสำคัญ การจัดทำ พ.ร.บ. หรือกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมก็อยากให้รองรับความหลากหลายเหล่านี้ด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงจะได้รับ”
(วิภาดา กุลธนาโชติวุฒิ / วันวิสาข์ วัชโรบล) “อยากให้เปิดใจและเข้าใจ พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือกฎหมายเบื้องต้นของการใช้ชีวิตแบบ หญิง-หญิง หรือ ชาย-ชาย ทุกคนมีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตที่ดีและมีคุณภาพไม่ว่าจะมีความรักในรูปแบบใดก็ตาม”
ทั้งหมดนี้ คือมุมมองความคิดเห็นของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง และเป็นคนในครอบครัวของเรา ถึงเวลาแล้วหรือยัง ? ที่ประชาชนคนไทยจะมีสิทธิและความเท่าเทียมกันในทุก ๆ ด้าน AHF Thailand ขอสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย เปิดใจยอมรับ เข้าใจในอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ และหวังว่าเราจะได้ พ.ร.บ. ที่เหมาะสมและตอบโจทย์สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยที่สุดในเร็ววันนี้