AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES : เรื่องเล่าจากชายแดน ภายใต้แรงกดดันจากโควิด-19

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES : เรื่องเล่าจากชายแดน ภายใต้แรงกดดันจากโควิด-19

จากวันแรกที่เราได้รู้จักกับคำว่า “โควิด-19” มาจนถึงวันนี้ เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 มากว่า 2 ปีแล้ว ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงถึง 513 ล้านคน เสียชีวิต 6.26 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565) ซึ่งโรคนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การคมนาคมและขนส่งเท่านั้น แต่ยังสร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกชนชั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่โควิด-19 ระบาดอยู่นั้น ยังคงมีโรคอื่น ๆ ที่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น โรคเอดส์ ที่แม้ผู้คนอาจจะให้ความสนใจลดลงไปบ้าง แต่ทั่วโลกก็ยังตรวจพบผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยู่ทุกวัน แม้จะมีอุปสรรคที่เกิดจากโควิด-19 ที่ทำให้การทำงานยากขึ้นก็ตาม แต่การทำงานเพื่อตรวจหาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และนำเข้าสู่ระบบการรักษายังเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินต่อไป

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ AHF Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณนุช ปรียานุช อ่อนทุวงค์ ผู้ประสานงานจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดตาก หรือเรียกสั้นๆ ว่า PPAT แม่สอด” อีกครั้ง ที่มาแชร์ประสบการณ์การทำงานบนพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะมีทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย มีทั้งแรงงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งพอมีโควิด-19 เข้ามา ก็ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานขึ้นมากมาย เนื่องจากเป็นงานที่ต้องลงพื้นที่ไปพบปะผู้คนจำนวนมาก

อุปสรรคที่แต่ละองค์กรเจอคงคล้าย ๆ กัน คือ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้ตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากไม่สามารถรวมตัวหรือจัดทำกิจกรรมได้ แต่ปัญหาใหญ่ที่ PPAT แม่สอดพบอีกก็คือ เราไม่สามารถส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV รายใหม่และรายเก่าที่ต้องรับยา ARV ต่อเนื่องได้ เนื่องจากปกติ PPAT แม่สอดจะส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลเมียวดี ประเทศเมียนมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการระงับการเดินทางเข้าออก ณ จุดผ่านแดนถาวรและช่องทางอื่น ๆ ตลอดแนวชายแดนจังหวัดตากเป็นการชั่วคราว จึงไม่สามารถส่งต่อผู้ติดเชื้อทั้งรายใหม่และรายเก่าได้ โชคดีที่ AHF Thailand เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ PPAT แม่สอดดำเนินการจัดหายา ARV ให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถส่งกลับไปรักษาที่ประเทศเมียนมาเหล่านี้ได้

นอกจากปัญหาที่คุณนุชได้กล่าวไปแล้ว PPAT แม่สอดยังพบเจออุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ แน่นอนว่าการจัดหน่วยบริการเชิงรุกเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และให้บริการตรวจหาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ทำได้ในขอบเขตที่จำกัด ประกอบกับผู้นำแต่ละชุมชนค่อนข้างระมัดระวังและป้องกันลูกบ้านไม่ให้ออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น PPAT แม่สอดจึงต้องปรับตัว ปรับวิธีการทำงานใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้สามารถทำงานกับชาวบ้าน และชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้มากที่สุด

“เนื่องจากโควิด-19 มีการแพร่ระบาดหลายระรอกมาก PPAT แม่สอดจึงได้ปรับตัวตามสถานการณ์และนโยบายของภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม ได้แก่  การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์, การประชาสัมพันธ์เชิญชวนกลุ่มแรงงานที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง, การติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และการจัดรายการวิทยุเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการตรวจหาการติดเชื้อ HIV ณ ศูนย์สุขภาพชุมชน แรงงานข้ามชาติ โดย PPAT แม่สอดได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง ผู้นำแต่ละชุมชนยินดีให้ลูกบ้านออกมาร่วมกิจกรรมและรับการตรวจมากขึ้น แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม”

เมื่อมีการแก้ปัญหาในการออกหน่วยบริการได้แล้ว ก็มีอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การติดตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหายไป หรือขาดยา อันจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดน้อยลง สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญในการรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV หากรับประทานยาครบและตรงเวลาก็จะสามารถมีอายุยืนยาวไปอีกหลายปี และใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไปเลยทีเดียว

“เราติดตามผู้ป่วยผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และการรับประทานยา ซึ่งจะมีการติดต่อเป็นประจำทุกเดือน บางคนต้องไปติดตามที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีโทรศัพท์ หรือมีแต่ติดต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะลงพื้นที่ไปตรวจติดตามด้วยตัวเอง”

เมื่อทีมติดโควิด

แม้มีการป้องกันตัวเองดีแค่ไหน เมื่อเกิดการระบาดหลายระรอก ก็ไม่อาจต้านทานไหว สมาชิกในทีมของ PPAT แม่สอดก็ติดเชื้อโควิด-19 จนได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ทีมได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ถึงเราจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ของเราติดเชื้อ 3 คน ซึ่งก็ได้มีการวางแผนในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยกำหนดให้กักตัวให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง ส่วนคนที่ไม่ติดเชื้อก็ให้คอยเฝ้าระวังดูอาการจนครบกำหนดจึงค่อยกลับมาทำงานตามปกติ เราต้องรักษาตัวเองให้หายเร็ว ๆ เพราะเรายังมีหน้าที่ที่ต้องทำต่อไป การที่เราได้เห็นคนในชุมชนและสมาชิกในทีมของเราติดโควิดทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานมากขึ้น และรู้ว่าเราจะต้องปรับตัว เราพยายามป้องกันตัวเองมากขึ้น ค้นหาแหล่งชุมชนให้มากขึ้น หาพื้นที่ใหม่ ๆ ที่กลุ่มแรงงานจะไปใช้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ตลาด หอพัก และโรงงาน นอกจากนั้น เรายังพยายามแก้ปัญหาเรื่องการขาดยาในสภาวะที่การเดินทางทำได้ยากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดอะไรก็ตาม เราจะปล่อยให้ผู้รับบริการของเราหยุดยาไม่ได้”

รอยยิ้มของเพื่อนมนุษย์  คือกำลังใจในการทำงาน

จากเดิมที่การทำงานก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว และยิ่งมีโควิด-19 เข้ามายิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ทีม PPAT แม่สอดกลับไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น เพราะการทำงานของทุกคนในทีมไม่ใช่แค่เรื่องของการป้องกันและรักษา แต่มันหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาเราเจออุปสรรคเยอะมาก แต่สิ่งที่ทำให้เรายังคงมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้ คือ การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยังห่างไกลสิทธิการรักษา ผู้ที่มีรายได้ที่ไม่มั่งคง มีที่อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง เราอยากให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ได้รับการรักษาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข บางครั้งเราอาจรู้สึกเหนื่อยเพราะการทำงานที่นี่ไม่ง่าย มีข้อจำกัดมากกว่าที่อื่น แต่ “การได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขา คือกำลังใจในการทำงานของพวกเรา”

ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้ออยู่ได้  แม้ไม่มี PPAT คอยช่วยเหลือ

“PPAT แม่สอด มองถึงอนาคตไว้ว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป เราจะวางแผนงานเพิ่มขึ้น เช่น การหาพื้นที่ให้บริการ การให้ความรู้ทั้งในแหล่งชุมชนและโรงเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขยายพื้นที่การทำงานใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษาได้มากยิ่งขึ้น และการปลูกจิตสำนึกให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ตระหนักถึงสุขภาพตนเอง สามารถทานยาต่อเนื่องและอยู่ได้ด้วยตัวเอง เผื่อว่าวันหนึ่งอาจจะไม่มี PPAT แม่สอดคอยช่วยเหลืออีกต่อไป”

แม้ว่าการมาของโควิด-19 นั้น จะส่งผลกระทบให้ทุกหน่วยงานทำงานได้ยากขึ้น แต่ในวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ PPAT แม่สอดได้เรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงานมากมาย ถึงแม้จะเป็นองค์กรเล็ก ๆ ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ แต่ก็มีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ขาดโอกาสหรือได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือเมียนมาก็ตาม AHF Thailand ขอชื่นชม PPAT แม่สอด ที่ยังคงยืนหยัดมุ่งมั่นทำประโยชน์เพื่อคนในพื้นที่จังหวัดตากตลอดมาและตลอดไป