AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES: เพียงแค่ได้ให้ ก็สุขใจแล้ว

AHF THAILAND STAYING ALIVE THE SERIES: เพียงแค่ได้ให้ ก็สุขใจแล้ว

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “อาสาสมัคร” หลายคนอาจคิดว่าคน ๆ นั้นต้องเป็นคนเสียสละ ชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่างประกอบกันจนหล่อหลอมคนเหล่านี้ให้กลายเป็นบุคคลที่พร้อมจะทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อจุดหมายปลายทางอันเดียวกันนั่นก็คือ “การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์”

วันนี้ AHF Thailand ขอนำเสนอมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจของบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นจิตอาสาตัวพ่อในจังหวัดขอนแก่น คุณประยงยุทธ ลีสิงห์ ประธานกลุ่มเอ็มแคน (M-CAN) ผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 15 ปี จนเกิดภาพจำที่คนไข้หรือคนทั่วไปมักได้พบเห็นจนชินตา คือ พี่ยุทธเป็นอาสาสมัครที่ให้ความรู้ด้านเอชไอวีในโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆ และมักจะนำทีมลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีถึงบ้านอยู่เสมอ ซึ่งหลายคนทำงานและหยุดวันเสาร์หรืออาทิตย์ นั่นคือสาเหตุที่พี่ยุทธแทบจะไม่ค่อยมีวันหยุดกับเขา

“คำว่าอาสาสมัครในมุมมองของพี่คือ มันต้องมีใจรักในงานบริการมาเป็นอันดับแรก ที่สำคัญต้องมีความรู้ มีสติ มีหัวใจของการเป็นผู้ให้ เช่น ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเจอคนไข้แบบไหนเราต้องเอาอยู่”

พี่ยุทธบอกว่าหลายคนต้องเลิกเป็นอาสาสมัครเพราะไม่มีค่าตอบแทน หลายคนทำงานประจำและใช้เวลาว่างเพื่อมาทำงานจิตอาสา แล้วแต่บริบทและความจำเป็นของแต่ละคน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “อาสาสมัครมักจะอยู่ไม่ได้นาน นอกจากจะมีใจรักจริงๆ”

“สมัยก่อนอาสาสมัครจะได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท เวลาเราไปเยี่ยมคนไข้ก็ไม่มีค่าน้ำมันหรือค่าข้าวให้ ก็ต้องไปขอแม่ แม่ก็ถามกลับมาว่าทำงานยังไงทำไมไม่มีค่าข้าวค่าน้ำมัน (หัวเราะ)”

นอกจากเป็นคนมีจิตอาสา มีทุนทรัพย์ของตัวเองแล้ว การทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับจากสังคม โรงพยาบาล หรือคนไข้ ก็เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่อาสาสมัครควรต้องมี

“การจะทำให้เขายอมรับเราได้ เราต้องมีศักยภาพมากพอ พี่ยุทธพยายามมา 10 กว่าปี เพื่ออบรมหาข้อมูลความรู้ในด้านต่าง ๆ ฝึกทักษะที่จำเป็นอย่างหนัก จนได้รับการยอมรับว่า อาสาสมัครก็สามารถทำหน้าที่บางอย่างเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของหมอและพยาบาลได้”

เมื่อเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว พี่ยุทธและทีมงานก็ได้ตั้งกลุ่มเพื่อทำงานด้านจิตอาสาชื่อ M-CAN (เอ็มแคน)” ซึ่งมีที่มาและความหมายที่น่าสนใจมาก โดย เอ็ม (M) ย่อมาจากคำว่า MSM คือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ประกอบกับคำว่า แคน ซึ่งหมายถึงเครื่องดนตรีของชาวอีสานบ้านเราที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มเอ็มแคน จะดูแลรับผิดชอบด้านการให้คำปรึกษาและการส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่วัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน ซักประวัติและคัดกรองคนไข้ โดยเฉพาะเคสใหม่เราก็จะเป็นคนคอยให้คำปรึกษา การดูแลรักษาป้องกัน ตลอดจนการกินยาและผลข้างเคียงจะมีอะไรบ้าง ซึ่งเราจะแจกนามบัตรให้คนไข้ก่อนกลับบ้านเผื่อเขามีอะไรสงสัยก็โทรหาพวกเราได้ตลอดเวลา อีกหน้าที่หนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพี่ยุทธคนเดียว คือ การประสานและส่งต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีไปตามสิทธิ์ประกันสังคม โดยเราจะแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 2 3 ต้องทำยังไง เตรียมเอกสารอะไรบ้าง แล้วก็พาไปส่งด้วยตัวเอง ส่วนอีก 2 ที่ คือ โรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลชุมแพนั้น เอ็มแคนจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครในโรงพยาบาล”

นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับคนที่ต้องอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้พวกเขามีกำลังที่จะต่อสู้และลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง เปลี่ยนความหวังที่ริบหรี่ให้กลายเป็นแสงสว่างนำทางที่เกิดขึ้นในใจพวกเขา และนี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ใด้อยู่ในรูปแบบของเงินที่อาสาสมัครส่วนใหญ่มักได้รับกลับมา ซึ่งพี่ยุทธได้เล่าถึงเคสที่ประทับใจที่สุดเคสหนึ่งจากประสบการณ์ทำงานให้เราฟัง

“เคสนี้เป็นใบ้ทั้งน้องผู้หญิงและน้องผู้ชาย น้องไม่รู้ว่าตัวเองท้อง พอไปตรวจก็พบว่าผลเลือดเป็นบวก โชคดีที่น้องผู้ชายผลเลือดเป็นลบ พี่ยุทธก็ให้คำปรึกษาไปว่าถ้าไม่อยากกินยาคุมก็ต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งตอนที่นัดน้องมาตรวจก็จะเตรียมถุงยางอนามัยกล่องใหญ่ๆ ใส่ถุงไว้ให้ เพราะนานๆ จะมาที ต้องบอกว่าเคสนี้แตกต่างจากเคสอื่นนิดนึง คือ ต้องสื่อสารด้วยการเขียนและการพิมพ์ข้อความคุยกันเพราะน้องพูดไม่ได้ทั้งคู่ พอน้องคลอดไม่กี่วันเราก็ขอไปเยี่ยมที่ห้องเช่าเลย ประจวบเหมาะที่ลูกของน้องถูกส่งไปให้ย่าเลี้ยงที่ต่างจังหวัด เลยมีเวลาได้ให้คำปรึกษาและแนะนำกัน”

“ปัญหาต่อมาคือหลังจากตรวจพบเชื้อ น้องก็ถูกให้ออกจากงาน น้องเครียดมากที่แฟนต้องทำงานหาเลี้ยงเธอและลูกเพียงคนเดียว พี่ยุทธก็คิดอยู่นานว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง เพราะน้องบอกว่าอยากทำงานที่เดิมซึ่งอยู่ที่เดียวกับแฟน จะได้ขี่รถมอเตอร์ไซต์ไปทำงานพร้อมกัน”

ถ้าจะช่วยแล้วก็ต้องช่วยให้ถึงที่สุด เพราะนี่คือหัวใจของอาสาสมัคร ทำให้พี่ยุทธมีความกล้าที่จะทำทุกอย่างเพื่อทำให้น้องคนนี้ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งนี้ไปให้ได้

“เหมือนฟ้าเป็นใจ ล่าสุดค่า VL หรือปริมาณไวรัสในเลือดของน้อง undetectable คือ ตรวจไม่พบ น้องเลยถามว่าแบบนี้แสดงว่าหายแล้วใช่มั้ย พี่ยุทธจึงตอบไปว่าต้องกินยาตลอดไปนะ ห้ามหยุดยาเด็ดขาด แล้วน้องก็ถามต่อว่าทำงานได้แล้วใช่มั้ย พี่ยุทธจึงตัดสินใจขอเข้าไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทเดิมที่น้องเคยทำ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องการติดต่อ การป้องกันและรักษา ในที่สุดบริษัทก็รับน้องกลับเข้าทำงานอีกครั้ง เพราะน้องกับแฟนเป็นคนขยันทำงาน ผู้จัดการจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนั้นพี่ยุทธรู้สึกตื้นตันและดีใจจนบอกไม่ถูก ภูมิใจที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือน้อง ต้องขอบคุณ AHF Thailand ด้วย ที่ทำให้เกิดโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา”

แค่ได้ให้ก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับเสมอไป

“พี่ยุทธคิดว่า การได้ช่วยเหลือ การได้ให้ การที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุขและได้เห็นรอยยิ้มของคนอื่น จากแววตาเศร้าหมองจากน้ำตาที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม จากคนที่ซูบผอมกลับมาแข็งแรง กลับมาทำงาน ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือสังคมได้ อันนี้แหละที่เป็นทั้งพลังและแรงบันดาลใจให้เรายังคงทำงานตรงนี้ต่อ ซึ่งพี่คิดว่าแค่ได้ให้ก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรับเสมอไป”

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายร้อยเรื่องราวที่พี่ยุทธหยิบยกมาเล่าให้เราฟัง เชื่อว่าน่าจะเป็นกำลังใจให้กับใครอีกหลายคน ไม่ว่าคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหรือคนที่สิ้นหวังก็ตาม ได้เห็นถึงเรื่องราวและมุมมองที่น่าประทับใจของคนที่เรียกตัวเองว่า “จิตอาสา หรือ อาสาสมัคร” ซึ่งรางวัลแห่ง “รอยยิ้มและคำขอบคุณ”  ที่พวกเขาได้รับนั้นก็มากเพียงพอแล้วที่จะเป็นพลังในการทำงานต่อไป