AHF Thailand Effect the Series: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เสียงสะท้อนของวัยเยาว์

AHF Thailand Effect the Series: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เสียงสะท้อนของวัยเยาว์

วัยรุ่น คือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยแห่งความอยากรู้อยากลองในทุกเรื่อง และเริ่มหัดที่จะรักบุคคลอื่นนอกจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ก้าวออกจากรั้วบ้านเข้าสู่รั้วสถานศึกษา ที่ที่พวกเขาจะได้เริ่มสร้างสังคมในแบบฉบับของตัวเอง แต่ด้วยวัยที่ต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกที่กว้างขึ้น ย่อมอาจทำให้พวกเขาละเลยที่จะรักและรู้จักป้องกันตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่เยาวชนชายและหญิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

นี่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) หนึ่งในภาคีที่ AHF Thailand ให้การสนับสนุน ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและส่งต่อเพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) ในกลุ่ม MSM/TG พื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและวัยรุ่นในสถาบันอุดมศึกษา มีความตระหนัก รู้จักป้องกันตัวเอง และเข้ารับการตรวจรักษา ซึ่งจะช่วยให้อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยลดลงได้

 

รู้จักกับสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ

สมาคมฯ

“อยากให้เขารู้จักคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง และป้องกันตัวเองเป็น” นี่คือวลีที่คุณก้อง-วรโชติ ละมุดทอง รักษาการผู้อำนวยการด้านงานเอดส์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวไว้เมื่อถูกถามว่า ทำไมจึงเลือกทำงานรณรงค์ให้ความรู้ด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคำตอบนี้ ยิ่งทำให้เราอยากรู้จักสมาคมฯ แห่งนี้มากยิ่งขึ้น

คุณก้องเล่าให้ฟังถึงที่มาและเป้าหมายของสมาคมฯ ว่า สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์กรสาธารณกุศลแห่งแรกที่บุกเบิกงานวางแผนครอบครัวในประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 และเป็นผู้นำแห่งการเรียนรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ซึ่งหนึ่งในภารกิจปัจจุบันคือการส่งเสริมการป้องกันการแพร่ระบาดและลดผลกระทบของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ และลดการตีตรา แก่เยาวชนในสถานศึกษา

ปัจจุบันการติดเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีแนวโน้มที่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปมาก ด้วยวิถีชีวิตและบริบทในสังคม อาจทำให้พวกเขาไปเสี่ยงกับการติดเชื้อทางเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อีกทั้งบางส่วนก็ยังขาดความรู้และการเข้าถึงบริการ VCT คือการเข้ารับบริการตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นสถิติของกลุ่มดังกล่าวจึงยังมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

คุณก้องกล่าวย้ำว่า “จริงๆ แล้ว การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการมีพฤติกรรมทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น เราจึงควรต้องระมัดระวัง และตระหนักให้มาก” 

 

เปิดรั้ว เปิดใจ

การทำงานของสมาคมจะเป็นการทำงานเชิงรุกที่บุกเข้าไปให้ความรู้ผ่านกิจกรรมและมีรถโมบายให้บริการตรวจ VCT ร่วมกับหน่วยพยาบาลภาครัฐและศูนย์บริการสาธารณสุขให้กับนักเรียนนักศึกษาถึงในรั้วสถาบัน พร้อมกับการสร้างชุมชนและเครือข่ายอาสาสมัครผ่านกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้ข้อมูลความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเรียนรู้แง่มุมที่หลากหลายและความเลื่อนไหลของเพศวิถี เคารพต่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของทั้งตัวเองและผู้อื่น และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

“กิจกรรมที่เราทำ ไม่ได้ยืนถือไมค์ แล้วเปิดสไลด์อย่างเดียว แต่เรามีเวิร์คช็อป ภาพจริง เสียงจริง รูปจริงที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ระมัดระวัง ซึ่งบางทีเรามีคนไข้มาเป็นวิทยาทานให้น้องเห็น พยายามหารูปแบบหรือดีไซน์กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะไม่เหมือนกัน เช่น การออกบูธกิจกรรมในวันแห่งความรัก มีหน่วยแพทย์โมบายเคลื่อนที่ แคมเปญปั่นจักรยานรอบรั้วมหาวิทยาลัย หรือเดินแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ตามชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย เป็นต้น

“ในเรื่องของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เราก็จะเจาะไปที่ตัว ‘คุณแม่’ เลย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีชมรมต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจะมีรุ่นพี่ที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ เราก็จะพยายามเจาะไปในกลุ่มนั้น ดึงเขามาทำกิจกรรม โดยคิดกิจกรรมที่เขาอยากมีส่วนร่วมด้วย หรือทำแล้วรู้สึกว่าดีต่อชีวิตของเขา”

แต่การทำงานกับเยาวชนและวัยรุ่น ย่อมมีเรื่องไม่คาดฝัน และท้าทายการทำงานของสมาคมฯ ไม่น้อย แต่ด้วยหัวใจทีมงานที่เป็นจิตอาสา ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะเพียงแค่ผู้บรรยายให้ความรู้ แต่สามารถให้คำปรึกษา ตลอดจนส่งต่อการรักษา จนหลายๆ คนมีชีวิตที่ดีขึ้น และตลอดกระบวนการทุกอย่างล้วนเป็นความลับ

“จริงๆ แล้ว เวลาออกตรวจเคลื่อนที่ เด็กๆ ให้ความสนใจเข้ามาตรวจเยอะมาก แต่กลุ่มเสี่ยงจริงๆ จะไม่ค่อยมาตรวจ เพราะหนึ่ง เขากลัวเจอโรค และสอง ถ้าเดินมาเจอเพื่อนก็กลัวเพื่อนถาม กลุ่มเสี่ยงจริงๆ จึงมักจะไม่เปิดเผยตัวตน เราก็จะทิ้งเบอร์โทรหรือไลน์เอาไว้ ใครมีปัญหาหรือไม่สะดวกตอนนี้ ก็สามารถมาปรึกษาทีหลังได้ น้องหลายๆ คนก็เลือกที่จะเข้ามาปรึกษาหลังจากเลิกคลาสไปแล้ว ซึ่งเมื่อเราให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก็สามารถประเมินได้ว่าใครความเสี่ยง จากนั้นเราก็จะบอกให้เขาตระหนักว่า เอชไอวีมันไม่ได้น่ากลัว สามารถรับยาต้านได้ แต่หากไม่รับการรักษา ปลายทางจะน่ากลัวกว่า

“มีหลายเคสที่เราช่วยส่งต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมาย เราก็จะโทรนัดพยาบาลว่าจะมีน้องไปตรวจนะ เพราะบางทีถ้าเราไม่ได้ประสานไป น้องๆ ก็จะเข้าไปแบบผู้ป่วยนอก ก็อาจจะเจอการตีตราจากคนนอกได้ ในรายที่ส่งไป แล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี เราก็จะประสานไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขต่อไป หลายสายโทรมาขอบคุณเรา หรือบางทีน้องเรียนจบไป ทำงานแล้ว ก็มีเคสส่งมาให้ด้วย เหมือนเขาสะดวกใจที่จะคุยกับเรา เพราะเราคุยกันแบบเปิดใจกันและสามารถเก็บความลับของเขาได้”

 

วัยหัวเลี้ยวหัวต่อและความท้าทาย

วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งในเรื่องการคิด การใช้ชีวิต การเรียน และความรัก ซึ่งหลายๆ คนยังขาดความรู้เท่าทันเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณก้องกล่าวว่า ความรู้ที่เด็กๆ มี ยังไม่แน่นพอ เพราะฉะนั้นสมาคมฯ จึงได้มาลุยงานในสถาบันการศึกษา เพราะการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่นนั้นยังมีค่อนข้างสูง

“นอกเหนือจากการส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธ์ที่ดีแล้ว ในเรื่องของการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งที่น้องๆ ควรจะได้รู้ เพราะในสถานศึกษาไม่ได้มีสอนวิชานี้เป็นวิชาหลัก ภารกิจของสมาคมฯ ก็จะพยายามไปหนุนเสริมในรายละเอียดตรงนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นอยากลอง ในการอยากลองอยากรู้ของเขาบางทีเขาก็ลืมเรื่องการป้องกัน เหมือนเราเติมส่วนความรู้ให้มันเต็ม ให้ถูกต้อง รู้จักเอาตัวรอดได้ และรู้จักป้องกันได้”

การให้ความรู้และจัดกิจกรรมของสมาคมฯ แก่วัยรุ่น จึงไม่ใช่การสอนแบบตรงเป็นไม้บรรทัด แล้วบังคับห้ามปราม เพราะธรรมชาติของวัยนี้จะต่อต้านแน่นอน นี่คืออีกหนึ่งความท้าทายที่สมาคมจะต้องก้าวผ่านไปให้ได้

“ถ้าเราบอกว่า อย่าทำ น้องก็จะทำ เพราะเขาอยากรู้ เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างยากตรงที่เราจะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย และให้เขาเชื่อในข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หลายคนคิดว่าอาจจะไม่เกิดกับฉันก็ได้ ชีวิตฉันแค่จากบ้านไปโรงเรียน จากโรงเรียนมาบ้าน เอ๊ะ แล้วมันจะไปพลาดมีเพศสัมพันธ์ตอนไหนได้ เด็กๆ เขาจะคิดอย่างนี้จริงๆ

“เขาลืมไปว่า วันนี้เขาอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา แต่วันหนึ่งเขาจะต้องโตออกจากรั้วตรงนี้ไป เพราะฉะนั้นการให้องค์ความรู้เป็นภูมิคุ้มกันให้เขา จึงค่อนข้างเป็นงานที่ท้าทาย เพื่อให้เขารู้จักตระหนัก เพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมที่เขาเคยได้ยินได้ฟังมาอาจจะผิดก็ได้ แต่หน้าที่ของเราคือพยายามส่งเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องแบบที่ควรจะเป็นให้ได้”

 

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ x มหาวิทยาลัยศรีปทุม

การทำงานในรั้วสถาบันการศึกษาจะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือกันระหว่างองค์กร ซึ่งอาจารย์วิกานดา เจียมสุข ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาวะ กลุ่มงานกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้บอกเล่าถึงการทำงานร่วมกันกับสมาคมฯ มาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี ซึ่งเกิดจากการทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างกัน จนเกิดเป็นนโยบายเชิงรุกของทางมหาวิทยาลัยเพื่อดูแลนักเรียนนักศึกษาในเรื่องการท้องไม่พร้อม และเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ และมีการจัดกิจกรรมร่วมกันกับสมาคมฯ ไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการส่งแกนนำนักศึกษาไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเครือข่าย พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์การทำงานต่างๆ เพื่อนำกลับไปปรับใช้ที่มหาวิทยาลัยของตัวเองด้วย

“หลังจากไปทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมฯ เด็กๆ ก็จะมาเขียนโครงการค่ะ หากต้องการอะไรเราก็จะร้องขอกับทางสมาคมฯ เขาก็จะเข้ามาสนับสนุนเราเสมอ เช่น การบรรยายให้ความรู้ การจัดนิทรรศการ การให้ถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นกับเรา เพื่อนำไปแจกกับเด็กๆ ต่อไป เป็นต้น”

สำหรับศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาวะที่อาจารย์วิกานดาดูแลอยู่นั้น นอกจากจะทำกิจกรรมในลักษณะชมรมแล้ว ยังเป็นเหมือนบ้านพักใจของนักศึกษาหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยแต่ละคณะก็จะมีการประชุมกันและส่งเคสต่างๆ มาให้อาจารย์วิกานดาดูแลต่อ เช่น เคสเด็กซึมเศร้า หรือเคสเด็กที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ทางมหาวิทยาลัยจะไม่ได้มีแพทย์ แต่ก็ยังสามารถส่งต่อการรักษาไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย

“เราจะทำร่วมกันกับสมาคมฯ พอมีเคสเราก็จะส่งไป อาจารย์จะโทรปรึกษาได้เลย ความสำเร็จของการดูแลเด็กๆ ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีคือ เขาสามารถจบการศึกษาและทานยาร่วมไปด้วยได้โดยไม่มีความเครียดหรือกังวล ก็เหมือนเราเป็นโรค เราก็ดูแลตัวเอง แค่นั้น เราก็มีชีวิตที่มีความสุข แม้เชื้อจะอยู่กับเขา แต่เขาก็มีชีวิตที่ดีได้ เราก็ภูมิใจ

“ที่สำคัญในแง่ของการทำงานกับสมาคมฯ ไม่ว่าเราร้องขออะไร สมาคมฯ ก็สนับสนุนตลอด เรารู้สึกว่าเขาเป็นองค์กรที่มีความเป็นจิตสาธารณะ เราทำงานด้วยกันมานาน เหมือนเป็นเพื่อนกันค่ะ

“สุดท้ายอาจารย์ขอบคุณมากๆ ที่สมาคมฯ และ AHF Thailand ทำงานกับเด็กและเยาวชน เขาก็คืออนาคตของชาติ ไม่ว่ายังไงก็อยากให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นสิ่งสำคัญ อยากให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดี และเรื่องของเพศ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในวัยเขาเลย เขาคือวัยที่จะต้องรู้ และรัก คือรักสุขภาพ รักตัวเอง ป้องกันตัวเอง จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ค่ะ” 

 

รับมือกับโควิดและชีวิต New Normal

เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโควิด-19 ที่สามารถเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่เคยชินของเราไปเกือบ 100% การทำงานของสมาคมฯ ที่ทำงานในเชิงรุก ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน

“หลักๆ การทำงานของเราจะอยู่ในรั้วสถานศึกษา ในแง่การทำงาน การเข้าไปสอนก็จะลำบาก เราก็เลยต้องวางแผนการทำงานในลักษณะออนไลน์แทน โดยตอนนี้กำลังวางแผนสร้างเพจขึ้นมา ชื่อว่า FUN FACT HIV เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงความรู้ทั่วไปต่างๆ เราก็จะนำเพจไปแชร์ไว้ให้กับอาจารย์ตามสถาบันต่างๆ และอาจมีเรื่องของการเปิดคลาสสอนในแต่ละกลุ่มที่สนใจ นอกจากนี้ในสมาคมก็ยังมีสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ มากมายด้วย

“อย่างน้อยแม้โควิดยังไม่หายไป สมาคมฯ เข้าไปในรั้วสถานศึกษาไม่ได้ แต่เราก็ยังเจอกันได้ โดยเปลี่ยนมาช่องทางออนไลน์แทน ซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยประมาณกลางเดือนมิถุนายน”

 

จับมือ และก้าวไปด้วยกัน

การทำงานนั้น หากมีเพื่อนคู่คิด มีพาร์ทเนอร์เคียงข้าง ต่างคนต่างคอยช่วยกันพยุงและก้าวเดินเพื่อไป ก็จะทำให้การบรรลุเป้าหมายหรือการไปถึงเส้นชัยนั้นง่ายดายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากการทำงานนั้นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกเพศวัย ซึ่งคุณก้องมองว่าการทำงานร่วมกับ AHF Thailand นั้น ไม่ใช่แค่การทุ่มเงิน แต่เราต่างก็ทุ่มแรงกายและแรงใจลงไป เป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน

“ทุกๆ ปีทางทีมของ AHF Thailand ก็จะลงมาให้คำปรึกษา คือเหมือนมาคุยกัน โดยใน 1 ปี จะมีการรีวิวกัน 2 ครั้ง คือก่อนเริ่มโครงการ ครึ่งปีต่อมาก็จะมาดูผลว่าที่เราทำไปเป็นอย่างไร มันโอเคหรือเปล่า ทางทีมเขาจะช่วยเราผลักดันและหนุนเสริมแผนกิจกรรมที่เราทำและกำลังจะทำ เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เหมือนเป็นพี่เป็นน้องที่สนับสนุนในการทำงานของสมาคมฯ ช่วยกันคิดงาน วางกรอบงาน วางยุทธศาสตร์ว่าจะเดินไปแบบไหน เพื่อจะได้ตอบโจทย์มากที่สุด ที่สำคัญ AHF Thailand ยังให้เราทำงานได้อย่างเต็มที่ตามบริบทและสไตล์การทำงานของเราด้วย

“การทำงานร่วมกันของทั้งสมาคมฯ และ AHF Thailand ยังสร้างคุณค่าที่สำคัญด้วยคือ การช่วยสร้างคุณค่าของตนเอง ของคนทำงาน ถ้าเรารู้จักคุณค่าตนเอง เราก็จะสามารถต่อยอดไปสร้างคุณค่าของคนรอบข้างได้ รวมไปถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมได้ เมื่อเราเดินจับมือไปด้วยกัน

“หากเรามองในภาพรวม AHF Thailand เป็นเหมือนผู้สนับสนุนให้เงินงบประมาณในการทำงาน แต่จริงๆ แล้วในเรื่องการทำงานที่ผ่านๆ มา ทางทีมได้ให้ความช่วยเหลือมากกว่านั้น ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นเจ้านาย คุณต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่เขาลงมาคลุกคลีกับเราด้วย ลงมาช่วยแก้ไขปัญหากับเราเสมอ มาโค้ชชิ่งให้เรา เพื่อให้การทำงานระหว่างเรากับเขาประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้”

การทำงานของสมาคมฯ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่ยังมองไกลและขยายวงกว้างมากกว่ากลุ่มเยาวชน เพื่อพัฒนาคนทุกกลุ่มทุกเพศวัย ให้มีอนามัยเจริญพันธุ์และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน คุณก้องได้กล่าวถึงแผนงานในอนาคตที่จะขยายการทำงานออกไปในชุมชนที่เข้าไม่ถึง หรืออาจถูกละเลยไปด้วยความมุ่งมั่นว่า

“ตอนนี้เราอาจใส่ใจแต่รั้วมหาวิทยาลัย แต่อนาคตก็จะค่อยๆ ขยับขยายเข้าไปในชุมชนต่างๆ เพราะงานของสมาคมฯ คืองานพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกกลุ่มประชากร ไม่ว่าประชากรกลุ่มไหนเราก็จะเข้าไปถึงให้ได้” 

 

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานกรุงเทพ

8 ถนนวิภาวดีรังสิต ซอยวิภาวดีรังสิต 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร: 02 941 2320
Facebook: PPATBANGKOK