AHF Thailand Effect The Series: เสียงเล็กๆ จากชายแดน…PPAT แม่สอด

AHF Thailand Effect The Series: เสียงเล็กๆ จากชายแดน…PPAT แม่สอด

ในขณะที่เราใช้ชีวิตในสังคมใหญ่ มีระบบสุขภาพที่มีมาตรฐาน หากติดเชื้อเอชไอวี เราก็สามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้ไม่ยาก และยังรักษาได้ฟรี แต่ในบริเวณพื้นที่ชายขอบของไทยนั้น กลับไม่มีโอกาสแม้แต่การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มแรงงานชาวพม่าที่อพยพเข้ามาทำงานในไทยแบบผิดกฎหมาย จึงมีกลุ่มองค์กรเล็กๆ ในอำเภอแม่สอดที่พร้อมทุ่มเททั้งแรงกายและหัวใจ เป็นด่านหน้าลงไปช่วยเหลือเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ความรู้และเข้าถึงการรักษา แม้จะยากลำบากทั้งการเดินทาง พื้นที่ห่างไกล และการสื่อสารคนละภาษา ทำไม และเพราะอะไร เรามาเปิดใจให้กว้าง แล้วรับฟังเสียงเล็กๆ จากกลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้กัน

แม่สอด

AHF Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณนุช-ปรียานุช อ่อนทุวงค์ ผู้ประสานงานจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานจังหวัดตาก หรือ PPAT แม่สอด ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงาน อุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงการเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ด้วยน้ำเสียงที่กระตือรือร้นและเปี่ยมด้วยพลังจนเรารู้สึกได้ ว่างานที่ทำอยู่นี้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้ผู้คนและสังคมได้จริงๆ

เริ่มต้น PPAT แม่สอด ยังไม่ได้ทำงานด้านเอชไอวีอย่างเต็มตัวนัก แต่เน้นไปที่การวางแผนครอบครัวให้กับกลุ่มผู้อพยพและกลุ่มแรงงานต่างชาติมานาน โดยทำงานเชิงรุกคือ การลงพื้นที่ไปหากลุ่มเป้าหมาย จนกระทั่ง AHF Thailand ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้ปัจจุบัน PPAT แม่สอด เป็นองค์กรเดียวในอำเภอแม่สอดที่สามารถให้บริการตรวจไปแล้วกว่า 8,000 ราย และสามารถส่งต่อการรักษาเอชไอวีได้จนถึงปลายทางกว่าร้อยคน

“เมื่อก่อนเราเน้นเรื่องวางแผนครอบครัวมากกว่า ไม่ได้โฟกัสเรื่องการตรวจเอชไอวี ตอนที่ยังไม่ได้ทำงานกับ AHF Thailand ก็จะให้บริการด้านการวางแผนครอบครัว ให้ความรู้เรื่องยาคุมกำเนิดและการทำหมัน พอ AHF Thailand เข้ามา ก็เลยทำให้กลุ่มผู้อพยพและแรงงานต่างชาติได้รับบริการด้านเอชไอวีมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราให้บริการด้านความรู้อย่างเดียว แต่ว่าในแม่สอดหรือบริเวณใกล้เคียง ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนที่ให้บริการด้านนี้กับกลุ่มผู้อพยพครบเหมือนของเรา ที่ให้ทั้งความรู้ ตรวจหาเชื้อ ส่งต่อการรักษา และติดตามผลด้วยค่ะ”

 

เข้าหา เข้าถึง ส่งต่อ

คุณนุชเล่าให้ฟังว่า การทำงาน PPAT แม่สอด ไม่ได้ทำงานกันแค่ในสำนักงานเท่านั้น แต่ลงพื้นที่ไปหากลุ่มเป้าหมายเลย เพราะว่ากลุ่มแรงงานอพยพนั้นเข้ามาแบบผิดกฎหมาย การเดินทางเพื่อเข้ามารับบริการที่ศูนย์จึงเป็นไปไม่ได้ แต่การเดินทางไปหาพวกเขานั้นง่ายกว่า แม้ว่า PPAT แม่สอด จะมีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียง 5 คน แต่ทุกคนต่างทุ่มเทเต็มที่เพื่อให้กลุ่มแรงงานอพยพเหล่านี้ได้เข้าถึงบริการมากที่สุด

เบื้องต้นนั้น PPAT แม่สอดจะประเมินข้อมูลร่วมกันกับทาง AHF Thailand ว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยง และมีจำนวนผู้อพยพมากแค่ไหน จากนั้นจึงวางแผนเป็นไตรมาสว่าชุมชนไหนที่จะลงพื้นที่ไปได้บ้าง เมื่อประเมินเสร็จแล้วก็จะวางแผนเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาพม่าได้

“มีเจ้าหน้าที่อยู่ 2 คนที่พูดภาษาพม่าได้เข้าใจเยอะที่สุดค่ะ เขาก็จะไปในชุมชนที่ผู้อพยพอยู่กัน ประสานไปทางผู้นำชุมชนว่าเราจะให้บริการด้านเอชไอวี การวางแผนครอบครัว และสุขภาพเบื้องต้น ชุมชนนี้สนใจไหม หากชุมชนโอเค เราก็จะนัดว่าวันไหนที่ลูกบ้านพร้อมจะรับบริการ เมื่อถึงวันนัด ก็จะถามว่า ใครสนใจอยากตรวจเชื้อหาเอชไอวีบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละคนค่ะ”

แม่สอด

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีนั้นใช้เวลาไม่นาน รู้ผลในวันนั้นเลย หากใครมีความเสี่ยงเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจซ้ำ และขอข้อมูลติดต่อไว้เพื่อแจ้งผลเป็นการส่วนตัว เพื่อรักษาสิทธิส่วนบุคคล จากนั้นจึงนัดเพื่อให้คำปรึกษา และสอบถามความสมัครใจในการเข้ารับการรักษาต่อไป ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันขององค์กรระหว่างประเทศ โดยมี AHF Thailand เป็นสื่อกลาง สนับสนุนและส่งเสริมให้ PPAT แม่สอดได้ออกตรวจและส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลเมียวดี ในขณะที่ AHF ประเทศพม่า ก็ได้เข้าไปพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลเมียวดี เพื่อรองรับการส่งต่อจากไทย

“เมื่อเขาตกลงเข้าสู่กระบวนการการรักษา เราก็จะส่งเขาไปที่โรงพยาบาลเมียวดี หรือหากเขามีประกันหรือมีสิทธิ์การรักษาที่โรงพยาบาลในแม่สอด เราก็จะส่งไป จากนั้นเราก็จะมีการติดตามผลว่าการกินยาเป็นอย่างไร แพ้ไหม เราติดตามผลตลอดค่ะ”

 

ฝ่าฟันอุปสรรค และความประทับใจ

ทีม PPAT แม่สอด ต้องพบเจออุปสรรคมากมายหลายอย่าง จนคนทำงานรู้สึกท้อใจจนอยากเลิกก็มี นอกจากจะเป็นเรื่องฟ้าฝน ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางซึ่งปกติก็ยากลำบากอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากเพิ่มทวีคูณ ยังมีอุปสรรคก้อนใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความเข้าใจของผู้นำในชุมชนและการเปิดใจของคนในชุมชนด้วย

“บางที่ ผู้นำชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเขาก็กลัว นึกว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่สายลับมาจับลูกบ้านเขาหรือเปล่า บางที่ ผู้นำให้ความร่วมมือแต่ลูกบ้านไม่ให้ก็มี บางชุมชนมีคนประมาณ 50 คน อาจจะมีแค่ 10 กว่าคนที่มารับบริการ หรือไม่มีเลยก็ได้ บางทีเราคาดการณ์แค่ 30 คน แต่ก็มาเยอะกว่านั้น หรือบางทีกว่าจะเข้าถึงชุมชนได้ต้องแบกอุปกรณ์และชุดตรวจเดินลัดทุ่งนาค่ำๆ มืดๆ พอไปถึงก็ตรวจกันใต้แสงไฟสลัวๆ เลยก็มี เพราะเราอยากให้เขาเข้าถึงการตรวจ ไกลแค่ไหนเราก็ต้องไป ยิ่งช่วงนี้มีปัญหาโควิด จึงมีปัญหาเรื่องการเดินทางเป็นหลัก ทำให้ส่งผลต่อการไปรับยาเพราะเขาปิดชายแดน ไม่สามารถไปรับยาได้ ก็ต้องหาวิธีแก้ไขตามสถานการณ์ไปเรื่อยๆ พยายามหาช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทางเมียวดีส่งมาให้บ้าง วิธีสุดท้ายถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็จะซื้อยาให้คนไข้ โดยใช้งบฉุกเฉิน ปัญหาเยอะเหมือนกัน บางทีไปหาคนไข้ แต่คนไข้ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการรักษา บางคนบอกว่าจะเข้าสู่กระบวนการรักษา ไปๆ มาๆ ก็ไม่เข้า ปิดมือถือหนีบ้างก็มี บางทีก็ทำให้เราเหนื่อย เจอคนไข้ดื้อๆ แต่มันก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราก็ทำได้สุดความสามารถของเราแล้ว”

แม่สอด

แม้จะพบเจออุปสรรคท้าทายมากมาย แต่พอได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำค่อยๆ เริ่มผลิดอกออกผล คนที่ป่วยเจียนตายกลับหายดีจนเดินได้อีกครั้ง ก็ทำให้หัวใจพองฟูขึ้นมา และเป็นแรงใจให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อช่วยชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นต่อไป

“บางเคสสุขภาพของเขาแย่มาก ไม่สามารถเดินได้ โอกาสรอดน้อยมาก พอมาเจอเราก็ดีใจ ไม่ได้ดีใจว่าเจอคนไข้นะคะ แต่ดีใจที่เราได้เจอแล้วจะได้รักษาเขาให้หาย เราส่งต่อการรักษาเขาประมาณ 2 ปี จนวันหนึ่งเขาหายดี กลับมาขอบคุณเรา ที่ทำให้เขากลับมาเดินได้เป็นปกติ เราก็ดีใจ เหมือนเราได้ช่วยชีวิตคน จากเดินไม่ได้นอนติดเตียง เป็นผู้ติดเชื้อสภาพแย่มาก หรือเราไปเจอชุมชนที่ดี เจอคนไข้ที่ใส่ใจสุขภาพตัวเอง ก็ทำให้เรามีแรง เราได้ช่วยคน การเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี เจ้านายที่ดี ก็ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานค่ะ”

 

พูดคุยกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อชาวพม่า

หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณนุช ทำให้เราอยากรู้ว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่ได้รับความช่วยเหลือจาก PPAT แม่สอด และ AHF Thailand นั้นรู้สึกหรือประทับใจกับโครงการนี้อย่างไรบ้าง คุณนุชได้พาเราไปรู้จักกับแรงงานอพยพหญิงชาวพม่าท่านหนึ่ง แม้การสื่อสารที่ต้องแปลจากภาษาไทย กะเหรี่ยง และพม่า แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพูดคุยครั้งนี้เลย เราได้รับรู้ถึงกำลังใจที่ดี และความรู้สึกขอบคุณที่โครงการนี้ทำให้เขาและครอบครัวมีสุขภาพที่ดีขึ้น

สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้เราขอใช้นามสมมติว่า คุณเอ เพื่อรักษาสิทธิส่วนบุคคลค่ะ คุณเอ เล่าว่า ได้เริ่มเข้าโครงการเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพราะ PPAT แม่สอด ได้ลงพื้นที่ที่ตลาดนัดแห่งหนึ่ง ตอนนั้นก็มาจับจ่ายซื้อของเป็นปกติ แล้วเห็นหน่วยงานนี้ให้บริการสุขภาพฟรี ก็เลยให้ความสนใจ ลองมาตรวจดู

“จริงๆ ตอนแรกก็เริ่มป่วยแล้ว คือเป็นพวกโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ก็มีอาการท้องเสีย ปวดหัว มีไข้ แต่ท้องเสียเป็นเวลานาน นึกว่าเป็นท้องเสียธรรมดา ปวดหัว เมื่อยตามหัว เวียนหัว ก็ไปหาหมอปกติ ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็น ก็เลยไม่ได้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก็เสียเงินเยอะเหมือนกัน รักษายังไงก็ไม่หายสักที”

หลังจากที่ได้รับการตรวจที่ตลาดนัดจากทีม PPAT แม่สอด วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่จึงโทรแจ้ง นัดให้เข้ามาที่สำนักงานเพื่อบอกผล

“ตอนแรกที่ทราบผล ก็ตกใจ แต่พอได้รับคำปรึกษา ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้น มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ เจ้าหน้าที่ก็บอกวิธีเข้าสู่กระบวนการรักษา ถามความสมัครใจว่าจะเข้าสู่กระบวนการรักษาไหม เราตกลง เขาก็ดำเนินการต่อ”

แม้คุณเอจะคลายกังวลเรื่องการรักษา แต่การบอกครอบครัวก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่น้อย โดยเฉพาะลูก ในที่สุดจึงบอกสามี และสามีก็ได้เข้ารับการรักษาเช่นกัน

“ตอนนี้ก็จะรู้แค่สามี แต่ลูกไม่รู้ รวมถึงเจ้านายด้วย กังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพในการทำงานหรือเปล่า แต่พอได้รับคำปรึกษาก็อุ่นใจ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ ไปรักษาที่เมียวดี ได้กินยาต่อเนื่อง ทำให้สุขภาพดีขึ้น”

การทำงานของ PPAT แม่สอด ไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจหาผู้มีความเสี่ยง และส่งต่อการรักษาเท่านั้น แต่ยังคอยติดตามผลและไปเยี่ยมบ้านของผู้อยู่ร่วมกับเชื้ออีกด้วย เพื่อให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ราบรื่น และเกิดปัญหาน้อยที่สุด เช่นในเคสของคุณเอ หลังจากที่ PPAT แม่สอดได้ติดตามผล จึงพบว่า คุณเอได้รับผลข้างเคียงจากยาเล็กน้อย แต่สามีของคุณเอมีอาการมากกว่า

“สามีจะเป็นเยอะ มีอาการเบลอๆ กลางคืนไม่นอน ไม่กินข้าว ก็เป็นกังวลว่าสามีเป็นหนักแบบนี้จะให้กินยาต่อดีไหม เจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่าให้กินต่อสัก 2 อาทิตย์ อาการจะดีขึ้น พอกินยาได้ 1 อาทิตย์ก็ดีขึ้นจริงๆ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีอาการแล้ว”

ก่อนการพูดคุยจบลง คุณเอก็ได้พูดทิ้งท้ายว่า “ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มาเจอ เพราะถ้าไม่ได้เจอเจ้าหน้าที่ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไร จะอยู่จะตายยังไง เราไม่รู้ว่าเป็นโรค การได้เจอเจ้าหน้าที่ทำให้ได้ชีวิตใหม่ อยากให้องค์กรนี้ทำงานด้านนี้ต่อไป เพื่อคนที่เป็นเหมือนเรา ที่ไม่รู้ว่าป่วย จะได้รู้ว่าเป็นอะไร และได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และมีชีวิตอยู่ต่อไป”

 

การทำงานกับ AHF Thailand

แม่สอด

เป้าหมายหลักของ AHF Thailand คือการยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวีและเอดส์ ด้วยการควบคุม ให้ความรู้ ส่งเสริมการตรวจหาการติดเชื้อ ส่งต่อเพื่อเข้าถึงการดูแลรักษา และติดตามผล ดังนั้นการจะทำให้งานนี้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะกลุ่มมดงานระดับบุคคลที่คอยขับเคลื่อนให้เป้าหมายนั้นสัมฤทธิ์ผล แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณคือองค์ประกอบที่ทำให้องค์กรและบุคลากรสามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นได้ แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ PPAT แม่สอด และ AHF Thailand เราต่างก็มีหัวใจเดียวกัน มองอนาคต และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน คุณนุชกล่าวถึงการทำงานร่วมกันว่า

AHF Thailand ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะด้านเอชไอวี ทำให้ผู้มารับบริการเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น เพราะในพื้นที่แม่สอดยังไม่มีองค์กรไหนที่ทำได้ครบวงจรแบบนี้ ส่วนมากจะให้ความรู้อย่างเดียว รู้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่สามารถให้บริการได้ แต่พอ AHF Thailand เข้ามา ทำให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการรักษาได้มากขึ้น ชีวิตของพวกเขาก็ดีขึ้น

แม่สอด

“ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการต่างได้รับผลกระทบกันหมด เพราะด่านปิดไม่สามารถข้ามไปรับยาที่พม่าได้ ทาง AHF Thailand ก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทั้งการประสานงานกับทางพม่า เพื่อให้การทำงานของเราเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แม้กระทั่งการปรับโยกงบต่างๆ มาซื้อยาก่อนเพื่อให้คนไข้ยังได้กินยาอย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ปกติเราจะทำงานเชิงรุก แต่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้เราไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้ ทาง AHF Thailand ก็ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ร่วมกันปรับแผนงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ แม้ทุกวันนี้จะลงพื้นที่ไม่ได้เหมือนเดิม แต่เรายังคงติดต่อกับคนไข้ กับหัวหน้าชุมชนได้อย่างสม่ำเสมอค่ะ

“นอกจากนี้ ยังช่วยเรื่องการทำงานร่วมกันกับภาคีอื่นๆ ด้วยค่ะ โดยแต่ละปีก็จะให้แต่ละพื้นที่มาแชร์ประสบการณ์หรือปัญหาต่างๆ เพื่อให้แต่ละองค์กรมาปรับใช้ในชุมชนของตัวเองได้ อย่างที่แม่สอดก็ทำงานร่วมกันกับกลุ่มราชบุรี ก็มาแชร์กันว่า ถ้าเจอคนไข้แบบนี้ต้องทำอย่างไร ทำให้เราได้ประสบการณ์มากขึ้น มีเครือข่าย รู้จักคนที่ทำงานด้านนี้มากขึ้นค่ะ

AHF Thailand ช่วยซัพพอร์ตตลอดเวลาจริงๆ ที่เราเจอปัญหา ทีมจะมาช่วยให้คำปรึกษาตลอด ไม่ปล่อยให้เราเผชิญปัญหาคนเดียว ให้องค์ความรู้กับเราในเรื่องที่ไม่รู้มาก่อน และตอนนี้ก็กำลังดำเนินโครงการเกี่ยวกับการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมผู้อยู่ร่วมกับเชื้อตามบ้านให้กับ PPAT แม่สอดด้วยค่ะ”

 

การลดช่องว่างในการดูแลรักษาและการเข้าถึงการตรวจสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นสิ่งที่ AHF Thailand และภาคีไม่เคยมองข้าม เราไม่เคยมองว่าเขาเป็นคนสัญชาติใด แต่มองว่าเขาคือมนุษย์ คือชีวิตที่ไม่อาจทอดทิ้งได้ และนี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่เราได้ยิน AHF Thailand และ PPAT แม่สอดจึงจับมือกัน ช่วยกันอุดช่องว่างนั้นให้เล็กลงเรื่อยๆ เพื่อการยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและเอดส์ให้ได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานจังหวัดตาก (PPAT แม่สอด)

ที่อยู่: 147/5 ถนนอินทรคีรี ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 63110
โทร: 091 032 4253