AHF Thailand Effect The Series: เสียงสะท้อนจากภาคี กลุ่มสายรุ้งราชบุรี

AHF Thailand Effect The Series: เสียงสะท้อนจากภาคี กลุ่มสายรุ้งราชบุรี

หลายคนคงเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect) กันมาบ้างแล้ว โดยทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เฉกเช่นเดียวกับการทำงานของกลุ่มองค์กรที่พร้อมเป็นทัพหน้า ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานกับกลุ่มประชากรที่ถูกมองข้าม เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ต้องขัง ฯลฯ เพื่อรณรงค์และยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและเอดส์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ถูกต้องให้กับสังคม

AHF Thailand จึงเล็งเห็นว่า หากกลุ่มองค์กรพร้อมใจกัน ช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคม แม้เพียงน้อยนิดเช่นผีเสื้อกระพือปีก ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่สังคมได้ไม่มากก็น้อย และ AHF Thailand ก็พร้อมเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมช่วยเป็นสายพานให้องค์กรต่างๆ นั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการทำงานร่วมกันเป็นภาคี เป็นพันธมิตร ที่ต่างก็จับมือกันทำงานกันด้วยหัวใจอย่างเหนียวแน่น

กลุ่มสายรุ้ง

สำหรับ AHF Thailand Effect The Series เรื่องแรกนั้น เราจึงอยากพาไปรู้จักกับภาคีของเรา ซึ่งองค์กรนี้อยู่ในจังหวัดราชบุรี ทำงานเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างยาวนาน จนเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมชาวราชบุรีให้เกิดความรู้และความเข้าใจ รวมถึงช่วยกันยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและเอดส์ได้เป็นอย่างดี

 

เสียงสะท้อนจากภาคี กลุ่มสายรุ้งราชบุรี จ.ราชบุรี

จุดเริ่มต้น

กลุ่มสายรุ้ง

คุณต้น-ชวชล บุณโยประการ ผู้บริหารกลุ่มสายรุ้งราชบุรี ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า กว่ากลุ่มสายรุ้งราชบุรีจะแข็งแรงได้ขนาดนี้ ก็ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย ทั้งการไม่ได้งบที่ต่อเนื่องและการทำงานที่ต้องลงพื้นที่ไปสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชน

เริ่มต้น กลุ่มสายรุ้งทำงานอยู่ในโรงพยาบาล พบปัญหาว่าผู้ที่จะเข้ามาตรวจรักษานั้นไม่สะดวกเข้าไปรับบริการ จนทางกลุ่มได้รับงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้ออกมาเปิดเป็นศูนย์ดร็อปอินข้างนอกโรงพยาบาลแทนจนถึงปัจจุบัน

“สมัยก่อนการทำงานหลักๆ ของกลุ่มสายรุ้งจะเป็นเรื่องการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย การให้ความรู้เรื่องเอชไอวีและเอดส์เป็นหลัก เรายังไม่พูดถึงการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีในคนที่มีโอกาสเสี่ยง แต่ก็ได้ประสานกับทางโรงพยาบาลให้มีการตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือน เราขอความสนับสนุนจากโรงพยาบาลโพธาราม แต่ด้วยความที่ตอนนั้นมันยังไม่สามารถตรวจแล้วรู้ผลได้ภายในวันเดียว เพราะฉะนั้นปัญหาที่เจอก็คือ คนยังมีความกังวลกับการมาตรวจเอชไอวีค่อนข้างเยอะ แนวทางการรักษายังไม่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มาฟังผลและไม่ได้กลับมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง”

ต่อมาทางกลุ่มสายรุ้งก็ได้รับการติดต่อจากทางกองทุนโลก เพื่อนำร่องในเรื่องของการตรวจเลือดแบบรู้ผลภายในวันเดียว ทางกลุ่มจึงเริ่มมีการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองจากความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าแค่การแจกถุงยางอนามัยกับสารหล่อลื่น คุณต้นมองว่า ถ้าตรวจเจอ ค้นพบ พบไว รักษาเร็ว ทุกอย่างมันจะควบคุมได้ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษา การแพร่เชื้อก็จะน้อยลง

“เรื่องนี้ย้อนไป น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2550 ได้ ปรากกฎว่าคนให้ความสนใจในการมาตรวจเลือดเยอะมาก เกินจากยอดที่เขาให้มา แสดงว่าจริงๆ แล้ว การประชาสัมพันธ์ของเรา มันทำให้คนเข้าใจในเรื่องเอชไอวีได้จริงๆ ทำให้สังคมเข้าใจจริงๆ คนจะกล้าเดินเข้ามาตรวจกับเรา เพราะเขารู้ว่า หลังจากตรวจแล้ว เขาต้องได้รับการรักษา แต่ประเด็นอย่างหนึ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปด้วยคือ เราไม่ได้ทำแค่เรื่องการป้องกันหรือตรวจอย่างเดียว แต่เราต้องส่งต่อเขาได้ด้วย หากเขาได้รับผลกระทบจากเอชไอวี”

การทำงานกับ AHF Thailand

กลุ่มสายรุ้ง

กลุ่มสายรุ้งได้เดินหน้าทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาไม่นานกองทุนโลกลดงบประมาณในการสนับสนุนลง งานของกลุ่มสายรุ้งจึงชะงักไปด้วย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ กลุ่มสายรุ้งยังคงยืนยันเดินหน้าทำงานต่อมาเรื่อยๆ ตามที่ได้งบจากภาครัฐมา ในขณะที่องค์กรอื่นๆ ในพื้นที่ต่างทยอยปิดตัวลง

หลังจากนั้นประมาณ 1-2 ปี AHF Thailand จึงได้เข้ามาสนับสนุนการทำงานต่างๆ เพราะมองเห็นศักยภาพและความมุ่งมั่นของกลุ่มสายรุ้ง อีกทั้งจังหวัดราชบุรียังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ จนทำให้เกิดเป็นความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เพราะ AHF Thailand ไม่ได้ทำงานในฐานะแหล่งเงินทุนเท่านั้น แต่เราทำงานร่วมกันในฐานะพาร์ทเนอร์

AHF Thailand เข้ามาสนับสนุนตรงนี้ มันทำให้เราเข้าถึงกลุ่มประชากรเหล่านี้ได้มากขึ้น สนับสนุนให้เราทำงานในพื้นที่ร่วมกับรัฐได้อย่างดี ไม่ได้ปิดกั้นว่าเราจะต้องมีคลินิกของตัวเอง ต้องมีนักเทคนิคการแพทย์เอง แต่เขาเปิดโอกาสสามารถนำรัฐมาทำงานร่วมกับเราได้ ทำให้เห็นว่ามันมีการทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน แล้วก็จะต่อไปด้วยกัน รัฐเองก็จะเห็นเรา แล้วเราเองก็เห็นรัฐ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นด้วยกัน เราทำงานคู่กันไปได้

“นอกจากนี้ยังสนับสนุนในเรื่องของน้ำยาตรวจที่สามารถรู้ผลได้ภายในวันเดียว และยังสนับสนุนในเรื่องของบุคลากรให้เขาออกมาทำงานกับเราที่ศูนย์ดร็อปอินได้ สนับสนุนในเรื่องของประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เช่น เรื่องการรณรงค์ การแจกสื่อ มันก็ทำให้กลุ่มประชากรเข้าถึงเราได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ AHF Thailand สนับสนุนรถโมบายให้เรา 1 คัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาว่า ศูนย์ดร็อปอินมันอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นคนที่มาหาเราคือคนที่ไม่ได้อยู่ไกลมาก แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ไกลเขาก็ไม่สามารถเดินทางมาหาเราได้ เพราะฉะนั้นรถโมบาย ทำให้เราเข้าถึงกลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น

AHF Thailand จะคอยดูแลเราว่าติดขัดหรือมีปัญหาอะไรบ้าง แนวทางการแก้ไขเป็นแบบไหน และอะไรที่เราจะต้องทำ ยกตัวอย่าง ทีแรกเราทำงานกับน้องกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายทั้งหมด แต่เรารู้สึกว่ายังไม่ครอบคลุมกลุ่มคนในเรือนจำ ก็เลยมีการพูดคุยกันว่า ถ้าเราทำงานกับทางเรือนจำด้วยดีไหม ซึ่ง AHF Thailand นั้นเปิดกว้าง และรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน ทำให้เราทำงานได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

ลงพื้นที่ เพื่อเปิดใจคน

กลุ่มสายรุ้ง

ต้องยอมรับว่า ทัศนคติเรื่องเพศของสังคมสมัยก่อนนั้น มีการปิดกั้นและขาดความเข้าใจอย่างมาก กลุ่มสายรุ้งจึงหลีกเลี่ยงอคติจากสังคมไม่ได้ ทั้งความเข้าใจผิดที่คิดว่าการแจกถุงยางอนามัยคือการสนับสนุนให้คนในพื้นที่มีเพศสัมพันธ์ การลงพื้นที่ในโรงเรียนที่ไม่สามารถพูดเรื่องเพศสัมพันธ์หรือแจกถุงยางอนามัยได้

“เราพยายามทำความเข้าใจให้ชุมชนว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้สนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่เวลาเรากินข้าว เรายังต้องมีช้อนส้อมเลย เพราะฉะนั้นเราห้ามไม่ได้ เราห้ามคนไม่ให้หิวไม่ได้ เราก็ห้ามคนเรื่องมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเราห้ามเขาไม่ได้ เราก็ต้องแจกอุปกรณ์ให้เขาไว้ในมือ ณ วันหนึ่ง ถ้าเขาจะมี เขาก็มีอย่างปลอดภัย ถ้าเขาไม่มีได้ดีไหม ดี เราก็สนับสนุน แต่เราห้ามไม่ได้ สำคัญคือเราจะให้เขาป้องกันอย่างไร นี่คือสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับทัศนะกับสังคม

“นอกจากนี้ เราก็มีการจัดกิจกรรมประกวดสาวประเภทสอง การประกวดทอม ซึ่งเราจัดกิจกรรมแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เมื่อล่าสุดเพิ่งจัดครบรอบ 10 ปี Miss Queen ราชบุรีไป ซึ่งนอกจากการประกวด เรายังมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กับชุมชน ให้เขาเห็นว่า จริงๆ แล้วเอชไอวีมันเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นเรื่องที่ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาได้ มันไม่ได้เป็นแบบสมัยก่อนที่คุณคิดว่ามันติดง่าย เราลงไปตามตลาดนัดด้วย มันทำให้คนเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำงานรณรงค์เรื่องเอชไอวีมันกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำงานกับชุมชนด้วย โดยเฉพาะการทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ ต้องทำให้ชุมชนยอมรับเรื่องนี้ได้ด้วย”

เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มสายรุ้ง

ในอดีตจังหวัดราชบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่พบปัญหาเยาวชนอายุ 14-15 ปี ขายบริการทางเพศค่อนข้างมาก น้องๆ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของกลุ่มสายรุ้งที่ทางกลุ่มอยากเข้าไปหาและให้ความรู้เรื่องเอชไอวีและเอดส์มากที่สุด แต่การจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องมีแกนนำตัวแม่เป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งตัวแม่ในที่นี้คือ กลุ่มสาวประเภทสองที่อยู่ในแวดวงสังคมและเป็นที่นับถือ

“ประมาณไม่เกิน 5 ปีที่แล้ว มีน้องๆ ขายบริการทางเพศเยอะ มันเหมือนการลอกเลียนแบบ ซึ่งโตขึ้นมาอายุ 12-13 ก็จะเรียนรู้จากพี่ๆ ว่าการขายบริการทางเพศทำให้เราได้เงินนะ แล้วราคาการขายที่นี่มันถูกมาก 200-300 บาทเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนมันจึงบูมมาก แล้วมีการเปิดเป็นสถานบริการหลายที่มาก

“แกนนำตัวแม่คือสิ่งสำคัญ เราทำงานโดยไม่มีตัวแม่หรือแกนนำไม่ได้ ถ้าถามว่าเราจะสามารถเข้าถึงกลุ่มน้องๆ 100% ได้ไหม เป็นไปไม่ได้ แต่เราอาศัยตัวแม่เหล่านี้ เราก็เลยสามารถลงพื้นที่เอาถุงยางไปไว้ให้ ลงไปนั่งพูดคุย จัดอบรมในร้านให้เขาได้ ทำให้เราเข้าถึงน้องๆ เหล่านี้ได้มากขึ้น

“เมื่อก่อนมันจะยากตรงที่การตรวจ หากอายุต่ำกว่า 18 ปี จะตรวจยาก เพราะต้องมีการรับรองจากที่บ้านเพื่อตรวจเลือด แต่เราก็มีการพูดคุยกับทางโรงพยาบาล ว่าในพื้นที่มันเกิดสถานการณ์แบบนี้ เด็กในพื้นที่เรามีเพศสัมพันธ์เร็วมาก มีการซื้อขายบริการ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลตรวจให้เราได้ไหม เราก็มีการคุยกัน สุดท้ายเขาก็พร้อมให้บริการตรวจให้เรา”

จิตอาสานางฟ้า “ตัวแม่”

กลุ่มสายรุ้ง

สำหรับกลุ่มสายรุ้งนั้น มีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียง 5 คนเท่านั้น ดังนั้นการลงพื้นที่ทำงานจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนมาช่วยกัน เพื่อให้การทำงานนั้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงได้เกิดเป็นจิตอาสา “ตัวแม่” เกิดขึ้นในพื้นที่ มีการพาไปอบรม ทำกิจกรรมเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ที่เราสามารถช่วยเหลือสังคมได้

“ใหม่ๆ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะพาคนมาตรวจเพื่ออะไร พามาทำไม แล้วมันจะได้ประโยชน์อะไรกับเขา ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เขาได้เห็นว่า จริงๆ แล้วพลังในการทำงาน มันไม่ได้เกิดขึ้นจากคนทำงานไม่กี่คน แต่เรื่องเอชไอวีมันเป็นเรื่องของทุกคนในชุมชน เขาจึงเป็นคนที่มีโอกาสขับเคลื่อน แล้วหลังจากที่พวกเขาได้มีโอกาสไปอบรม ได้พาน้องๆ มาตรวจสุขภาพ ได้รับบริการ คนไหนติดเชื้อก็ได้รับการรักษา มันทำให้เขาเห็นว่า นอกเหนือจากการเป็นตัวแม่แล้ว มีคนเรียกเขาว่า แม่ กลายเป็นว่าเขามีประโยชน์อย่างอื่นด้วย มันทำให้เห็นว่าเขามีศักยภาพ แล้วก็สร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวแม่มาทำงานกับเรา

“หลักๆ เรามีเจ้าหน้าที่ 5 คน ในศูนย์ดร็อปอิน มีตัวแม่ที่ทำงานจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 30 คน เพราะเราทำกันมานานมากแล้ว เมื่อก่อนจะมีงบประมาณส่วนหนึ่งให้ตัวแม่ช่วยเอาไปแจกถุงยาง แม้หลังจากงบหมด เขาก็ยังคงมาช่วยงานกับทางกลุ่มสายรุ้งอยู่เสมอ ทุกคนมาด้วยใจจริงๆ”

ศูนย์ดร็อปอินครบวงจร

กลุ่มสายรุ้ง

แม้กลุ่มสายรุ้งจะมีเจ้าหน้าที่ทำงานกันไม่มากนัก แต่ก็ให้บริการอย่างครบวงจร เช่น การแจกถุงอย่างอนามัยและสารหล่อลื่น ให้คำปรึกษาเรื่องเอชไอวี สิทธิความหลากหลายทางเพศ หรือปัญหาต่างๆ ก็สามารถเข้ามาพูดคุยปรึกษาได้ รวมถึงมีบริการการตรวจเลือดทุกวันพุธ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลในราชบุรีหมุนเวียนกันมาให้บริการ เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.- 18.00 น.

“ศูนย์ดร็อปอินของกลุ่มสายรุ้งจะต่างจากศูนย์ดร็อปอินใหญ่ๆ เพราะที่นี่เป็นเหมือนบ้านหนึ่งหลัง เป็นเหมือนครอบครัวที่อบอุ่น เข้ามาใช้บริการได้อย่างง่ายดาย เมื่อเราตัดความเป็นทางการออกไป เขาสามารถเข้าถึงเราได้ง่ายมากกว่า

“เราจะมีการตรวจซิฟิลิส หนองใน และเอชไอวี หลังจากตรวจเสร็จเรียบร้อย ถ้าผลเป็นลบ ก็จะมีการติดตามทุก 6 เดือน คือตราบใดที่เขายังมีเพศสัมพันธ์เราก็ยังติดตามเขาในเรื่องการตรวจอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไรที่ผลเขาเป็นบวก ก็จะมีการส่งต่อของโรงพยาบาล เพราะคนที่มาให้คำปรึกษาและแล็บนั้นมาจากโรงพยาบาล

กลุ่มสายรุ้ง

“พอทราบผล เขาก็จะคุยกับน้องๆ ก่อนว่าน้องยินยอมไหม ถ้าจะพูดคุยกับกลุ่มสายรุ้งเพื่อให้กลุ่มสายรุ้งส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็จะส่งต่อมาให้เรา มีการวางแผนว่าเราจะพาเขาเข้าสู่กระบวนการแบบนี้ วันเริ่มต้นคือวันนี้ เราก็จะวางไทม์ไลน์ไปด้วยกัน หลังจากนั้นเราก็จะพาน้องเข้าสู่ระบบการรักษา มีการติดตามไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะกินยาอย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน เราก็จะติดต่อห่างขึ้น เพื่อลดการรบกวนการใช้ชีวิต และแสดงให้เห็นว่าเอชไอวีมันเป็นเรื่องปกติ ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรก็สามารถโทรมาพูดคุยกับเราได้ ติดต่อได้ตลอดเวลา บางคนมีปัญหาไม่สามารถมารับยาได้ ก็จะโทรเข้ามา เราก็จะไปรับยามาให้ น้องก็จะมารับยาต่อจากเราที่ศูนย์ดร็อปอิน”

เสียงสะท้อนเล็กๆ จากกลุ่มสายรุ้ง

กลุ่มสายรุ้ง

สุดท้ายนี้ คุณต้นได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า “เอชไอวีและเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าเรามองว่าทุกปัญหาในโลกใบนี้มันเป็นเรื่องของคนทุกคน พอที่จะช่วยเหลือกันได้ คนละนิดคนละหน่อย มันก็จะทำให้ดีขึ้น เริ่มต้นจากตัวเราก่อน มองว่า สังคมบนโลกใบนี้มีอะไรที่เราพอจะหยิบยื่นและทำได้บ้าง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ทุกคนทำได้ ไม่เฉพาะว่ามีกลุ่มสายรุ้งเท่านั้น เราถึงจะทำได้ แต่ว่าถ้าเรายังไม่ตระหนัก และไม่ช่วยกัน สิ่งเหล่านี้มันก็จะวนเวียนกลับมาหาเราในที่สุด เอาง่ายๆ สถานการณ์โควิดตอนนี้ ถ้าเราช่วยกันคนละนิดละหน่อย ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้น ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ฉันไม่มีผลกระทบฉันไม่ทำ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันก็ต้องวนกลับมา แล้วเราก็ต้องมาเจอปัญหาเดิมๆ อยู่ดี”

 

อย่าลืมติดตาม AHF Thailand Effect The Series ได้ในตอนหน้า เราขอเชิญชวนผู้อ่านมารับฟังเสียงสะท้อนเล็กๆ จากกลุ่มคนทำงานเพื่อยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและเอดส์กัน เพื่อรับฟังและช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้เปลี่ยนทัศนคติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและเกิดความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น

 

กลุ่มสายรุ้งราชบุรี จ.ราชบุรี

ที่อยู่: 186/6-7 หมู่ 4 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120
เบอร์โทร: 032 913 321

Facebook: สายรุ้ง ราชบุรี