AHF TALKS : อนาคต Sex Work  ในวันที่เรามองคน “ไม่” เท่ากัน

AHF TALKS : อนาคต Sex Work  ในวันที่เรามองคน “ไม่” เท่ากัน

…เรากล้าที่จะมองคนทุกคน..เป็นคน “เท่ากัน”  รึเปล่า ?

 

เมื่อ Sex work คืองานอาชีพหนึ่ง

ดังนั้น คนที่เป็น Sex worker ก็ควรจะได้รับสิทธิพื้นฐานเทียบเท่ากับคนที่ทำงานอาชีพอื่น ๆ หรือไม่ ?

นี่คือคำถามที่อยู่ในใจคนที่ประกอบอาชีพนี้ ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็คือ “อาชีพขายบริการทางเพศ” ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง และในบ้านเรายังถือว่าเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะดีกว่าไหม ? ถ้าทำให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ในเมื่อเขาใช้ร่างกายของเขาในการประกอบอาชีพ และไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้อื่น

เมื่อต้นเดือนธันวาคม AHF Thailand มีโอกาสได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ในหัวข้อ “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน อนาคต Sex Worker ประเทศไทย” ประกอบกับวันที่ 17 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อยุติความรุนแรงต่อพนักงานบริการ (International Day to End Violence Against Sex Workers) งานนี้จึงถูกจัดขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้สังคมไทยรู้ว่ายังมีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคมของเรา เราเคยสงสัยไหมว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้พวกเขาเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป..

 

ในเมื่ออาชีพงานบริการมีหลากหลายประเภท และหนึ่งในนั้นคือ “อาชีพขายบริการ” ถ้าพูดกันตรง ๆ มันก็คืออาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง แต่สังคมไทยเราเปิดใจยอมรับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เราทุกคนรับรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ทั่วทุกหนแห่งบนโลกใบนี้ แต่ด้วยกำแพงมายาคติแห่งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม ทำให้เราเลือกที่จะซุกเรื่องนี้ไว้ใต้พรมมาช้านาน ซึ่งถูกกฎหมายตีตราว่า การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ผิด แต่ทำไม ผู้ซื้อบริการกลับไม่มีความผิด ? นี่คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิและเสรีภาพในการประกอบสัมมาอาชีพ นำมาสู่การที่เรามอง “คน” ไม่เท่ากัน

“ในเส้นทาง 32 ปี ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพี่น้อง sex worker จะเห็นความยากในทุกมิติ จนมาถึงจุดหนึ่งที่เราเสนอให้นำเรื่องนี้ขึ้นมาบนดิน ก็จะมีเสียงสะท้อนกลับมาหนาหูว่า ต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนค้าประเวณีหรือ ? อยากให้ประเทศเป็นที่น่าอับอายมากกว่านี้หรือ ? ซึ่งในความเป็นจริงก็มีพี่น้องในผับบาร์ที่ยืนขายบริการอยู่ มีคนได้ประโยชน์ แต่ไม่สามารถพูดได้เลย เชื่อว่าท่ามกลางความยากนี้ มันต้องมีหนทางให้เราไปต่อ” คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา

แม้รู้ว่าหนทางนี้ยากลำบากแค่ไหน แต่เราเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กรที่ทำงานด้านนี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่น่ากังวลอีกต่อไป ขอเพียงแค่เราจับมือกันเดินหน้าทำงานต่อ จนกว่าจะถึงวันที่ “ปลดล็อก” ให้กับพี่น้องพนักงานบริการได้ แต่กลับเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

 

พิษโควิด ทุบเศรษฐกิจพัง Sex worker ตกงาน

ต้องยอมรับว่าในช่วงที่โควิดกระหน่ำเข้ามาในบ้านเรา ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงชาวบ้านตาดำ ๆ ต่างได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายคนที่รอด และมีอีกหลายคนที่ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “ทันทีที่ได้รู้ว่าพี่น้อง sex worker ได้รับผลกระทบจากโควิด และกลายเป็นคนตกงานทันทีหลังจากสถานบริการปิดตัวลง ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน จึงได้จัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อพนักงานบริการ COVID-19’ ขึ้นมาในนามของ SWING เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพี่น้อง sex worker ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ปรากฎว่ามีผู้บริจาคเข้ามารวดเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เราจึงรู้ว่าสังคมไทยมีคนใจเปิดเยอะมาก พร้อมให้การช่วยเหลือโดยไม่มีการตีตราหรือประณามใด ๆ ต้องบอกว่าเครือข่ายที่คนไทยช่วยเหลือกันเองนี้ ทำให้พี่น้องเรารอดจากวิกฤติครั้งนั้นมาได้”

 

คนขายผิด แต่ทำไมคนซื้อไม่ผิด ?

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ให้ความหมายของ “การค้าประเวณี” ไว้ว่า “การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำ และผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ” ซึ่งถ้าอ่านทั้งฉบับแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ผู้ที่ขายบริการจะมีความผิด แต่ผู้ซื้อบริการจะไม่มีความผิดที่ชัดเจน ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นข่าว คนที่ไปซื้อบริการทางเพศถูกจับ

“เราคิดว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และสังคมส่วนหนึ่งก็ยอมรับที่มันเป็นแบบนี้ พี่น้องที่เข้ามาทำงานนี้เพราะว่าเขาต้องการมีงานทำ ต้องการมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว เขาใช้เนื้อตัวร่างกายของเขา และพยายามรับผิดชอบตัวเองไม่ให้เป็นภาระของสังคม แต่ทำไมสิ่งที่ sex worker ทำ ถึงเป็นสิ่งที่ผิด และก็มีคนมาเก็บเบี้ยบ้ายรายทางกับเขา ส่วนใหญ่พี่น้อง sex worker คิดที่จะทำอาชีพนี้ชั่วคราวเพื่อเก็บเงิน แต่เท่ากับว่ากฎหมายนี้ยืดอายุให้เขาถูกกฎขี่ และต้องอยู่ในอาชีพนี้นานขึ้น” คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม กล่าว

Photo 01 by AHF Thailand and SWING
งานเปิดตัวสารคดี “GIANT SWING” และการเสวนาหัวข้อ “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน อนาคต Sex Worker ประเทศไทย” (8 ธ.ค. 65)

หยุดล่อซื้อ หยุดลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ในฐานะที่ทำงานเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายมาหลายปี ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมอาชีพขายบริการถึงผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญา ทั้ง ๆ ที่ใช้ร่างกายตัวเองไปให้บริการเพื่อแลกเงิน ซึ่งไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ ที่ทำงานเพื่อแลกเงินเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่ากฎหมายนี้ถูกคนบางกลุ่มนำไปใช้เป็นเครื่องมือหาเงิน ซึ่งตัวกฎหมายไม่ได้ดูแลคุ้มครอง sex worker เลย ดังนั้นจะมีกฎหมายนี้ไปทำไม หรือมันถึงเวลาที่จะต้องยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แล้วจริง ๆ เพราะมันไม่เป็นคุณกับใครเลย” 

“เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้พิจารณาเสนอให้ยกเลิกการล่อซื้อบริการทางเพศ ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุม sex worker ขณะเปลือยกาย และสื่อต่าง ๆ มีการถ่ายภาพนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่ง กสม. เห็นว่าเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

“การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าแก้ได้ก็จะเป็นหลักประกันที่ทำให้คนได้รับการคุ้มครองสิทธิที่เท่าเทียมกัน ตราบใดที่ยังมีพนักงานบริการ (sex worker) เขาก็ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ควรมีใครต้องได้รับการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

 

ทำอาชีพขายบริการให้ถูกกฎหมายแบบต่างชาติ

ในหลายประเทศมีการทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมายมานานแล้ว เช่น ฝรั่งเศส กำหนดให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพถูกกฎหมาย แต่การเปิดซ่องและระบบมาม่าซังยังผิดกฎหมายอยู่, ในเยอรมัน อาชีพขายบริการ ธุรกิจซ่อง และมาม่าซัง เป็นอาชีพที่ถูกกฏหมาย ได้รับประกันสุขภาพและเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่ต้องเสียภาษี ส่วนออสเตรเลีย ทั้งการขายบริการ ธุรกิจซ่อง และมาม่าซัง ในแต่ละรัฐมีความแตกต่างกัน เช่น วิคตอเรีย, รัฐควีนแลนด์ และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี จะถือว่าไม่ผิดกฏหมายเลย คนที่ต้องการทำอาชีพนี้สามารถเดินทางไปทำงานที่รัฐเหล่านี้ได้โดยมีสิทธิและความเท่าเทียมเท่ากับอาชีพทั่วไป

“Sex คือเรื่องธรรมชาติ คนที่แต่งงานกันเขาก็จะมีเซ็กส์กันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้แต่งงานเขาจะไปมีเซ็กส์กับใครล่ะ ก็ต้องไปหาคนที่ขายบริการ มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เมื่อมีคนซื้อ มันก็ต้องมีคนขาย ในเมื่อพนักงานบริการ (sex worker) เป็นอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายจะดีกว่าไหม” คุณต้น ธนษิต จตุรภุช ศิลปิน นักร้องค่าย เลิฟ อีส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

 

สิทธิ ความเท่าเทียม คือ “คำตอบสุดท้าย”

และอะไรจะเป็นคำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่ความเท่าเทียม..

เอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากแบบที่คุณต้นกล่าวนั่นแหละ ถ้าเราเอาความเท่าเทียมเป็นตัวตั้ง เอาสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ที่ทุกคนพึงมีมาเป็นบรรทัดฐาน เราก็จะพบทางออกที่เหมาะสมที่สุด

“สิ่งที่พวกเราทุกคนกำลังขับเคลื่อน เราไม่ได้ต้องการให้พนักงานบริการมีอะไรพิเศษมากกว่าคนทั่วไป แต่เราแค่อยากให้เขาได้รับอะไรในสิ่งที่ทุกคนได้รับในฐานะที่เขาก็เป็นคน ๆ หนึ่งเหมือนกัน” คุณกฤษสยาม อารยะวงค์ไชย ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย

Photo 02 by AHF Thailand and SWING
งานเปิดตัวสารคดี “GIANT SWING” และการเสวนาหัวข้อ “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน อนาคต Sex Worker ประเทศไทย” (8 ธ.ค. 65)

ซึ่งบทสรุปของการเสวนาครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า “Sex Work is Work” การขายบริการทางเพศก็เป็นอาชีพหนึ่ง Sex Work Rights is Human Rights” มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และมีเกียรติเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ และได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลและสังคมไทยโดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้

  1. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
  2. ยุติมาตรการ “ล่อซื้อ” จากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของพี่น้องพนักงานบริการ
  3. ยุติการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ต่อผู้ค้าบริการ และมีมาตรการป้องกันแก่เรา
  4. ยอมรับ “การค้าบริการ” เป็นอาชีพที่สุจริต

 

ถึงเวลาที่สังคมไทยควรเปิดใจยอมรับความจริง และมองคนทุกคนเป็น “คน” เหมือนกัน บนพื้นฐานจิตใจ ร่างกาย สิทธิและเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเราทุกคนที่อยู่ในสังคม ที่จะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ และหวังว่าอีกไม่นาน วันที่เรามองคนทุกคน..เป็นคน “เท่ากัน” จะมาถึง

….เรากล้าที่จะมองคน “ทุกคน” เป็นคน “เท่ากัน” รึเปล่า ?

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)