AHF TALKS : อนาคตเยาวชนไทยกับเป้าหมายการยุติเอดส์

AHF TALKS : อนาคตเยาวชนไทยกับเป้าหมายการยุติเอดส์

หากเราลองมองลึกลงไปในระดับชุมชนและสังคม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเยาวชนไทยช่วงอายุ 15-29 ปี ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง สาเหตุและสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พฤติกรรมทางเพศของเยาวชนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยและไม่ปลอดภัย จากข้อมูลยังพบอีกว่า มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำกว่าเป้าหมายในกลุ่มนักเรียน และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วทั้งโลกยังคงต้องทำงานหนักเพื่อยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเยาวชน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมากเพราะเราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 ปี ในการทำงานเพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2030 ตามที่ประชาคมโลกร่วมกันตั้งเป้าหมายไว้

เมื่อพูดถึงเรื่องของเยาวชน หนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ AHF Thailand ที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง นั่นก็คือ “ลิตเติ้ลเบิร์ด” ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณนิว พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds และผู้ประสานงานโครงการ Girls Act ของ AHF ที่ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว เธอยอมรับว่าปัจจุบันยังพบปัญหาของเยาวชนกับเอชไอวีหลายข้อที่องค์กรยังต้องทำงานหนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างของคนทำงาน ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดยังคงเดินหน้าเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดเจอในเยาวชนโดยเฉพาะเพศหญิง คือ เคสที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่เด็กและเติบโตมาจากสถานสงเคราะห์ เคสที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และเคสที่ติดยาเสพติด หลายเคสที่ครบกำหนดออกจากมูลนิธิหรือสถานสงเคราะห์ไปแล้วมักจะเจอปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เพราะสถานที่แรกที่น้อง ๆ เยาวชนที่เป็นผู้หญิงเหล่านี้จะไปอยู่อาศัยคือบ้านแฟน และกลายเป็นปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวตามมา”

ปัญหาเหล่านี้คือเรื่องจริงที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งคุณนิวบอกว่าช่วยกันคิดและหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่ตลอด แต่ก็ยังไม่เจอวิธีที่ทำให้ปัญหานี้หมดไป แม้จะมีท้อบ้าง แต่เมื่อเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วก็ตั้งใจว่าจะทำเต็มที่ เพราะอยากเห็นเยาวชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ในชุมชนที่นิวอาศัยอยู่ จะมีทั้งเพื่อนและคนรู้จักที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่กล้าไปหน่วยบริการชุมชน เพราะกลัวว่าจะเจอคนรู้จัก หรืออาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะกลัวคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น MSM ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด นิวก็จะเข้าไปคุยกับเค้าให้คำแนะนำและข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง โดยสัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับ จนเค้าไว้ใจเราก็พาไปตรวจและเข้าสู่กระบวนการรักษา”

เมื่อการทำงานมีทั้งเรื่องที่ง่ายและเรื่องยาก แต่คุณนิวก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคนั้น ตรงกันข้าม ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานมากขึ้น เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้ก้าวข้ามฝันร้าย หรือตราบาปในชีวิตของพวกเขา สมดังที่เธอตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่นี่

ปัญหาเยาวชนหยุดกินยาต้าน

“อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เจอคือ น้องที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายคนเมื่อออกจากมูลนิธิไปแล้ว หยุดยากันเยอะมาก จากสถานะสีเขียวกลายไปเป็นสีเหลือง และจากสีเหลืองกลายเป็นสีแดง เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก เราจึงออกไปหาน้อง ๆ เหล่านี้ และได้คำตอบว่า ส่วนหนึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเขายอมทำงานเพื่อให้มีรายได้เป็นรายวัน แลกกับการไปหาหมอเพราะคิดว่าเสียเวลาทั้งวัน แถมไม่ได้เงิน”

“อีกสาเหตุหนึ่งเพราะสภาพแวดล้อม เช่น เพื่อนร่วมงานในสถานบันเทิงที่มีค่านิยมว่ากินยาต้านแล้วรู้สึกว่าป่วย สุขภาพแย่ลงกว่าตอนไม่กิน รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับแขกแบบไม่ป้องกัน เพราะเพื่อนบอกต่อ ๆ กันมาว่า เคยมีอะไรกับแขกคนนี้มาแล้ว แต่ไม่เห็นติดเชื้อหรือมีอาการป่วย”

จะเห็นได้ว่าทัศนคติของเยาวชนเหล่านี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก หากปล่อยให้เด็กมีค่านิยมผิด ๆ ต่อไป การยุติเอดส์ภายในปี 2030 ก็คงเป็นแค่เป้าหมายลอย ๆ ซึ่งในเคสลักษณะนี้ ทีมลิ้ตเติ้ลเบิร์ดต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยและติดตามน้อง ๆ กลุ่มนี้ถึงหน้างาน (สถานบันเทิง สถานที่ทำงาน) เป็นระยะเวลานานและใช้งบประมาณไปมากพอสมควร จนได้มาซึ่งความไว้ใจ ได้คำตอบ และคำมั่นสัญญาว่าจะมาตรวจสุขภาพปีละครั้ง นั่นคือความสำเร็จสเต็ปแรกที่ลิ้ตเติ้ลเบิร์ดทำได้

เคสที่ทำให้ยังคงต่อสู้เพื่อชุมชน

“ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงาน นิวตั้งใจว่าจะทำงานเพื่อเยาวชนไปจนกว่าโรคเอดส์จะหมดไป ถ้าถามถึงเคสที่เป็นแรงบันดาลใจ ขอเลือกเคสที่ยากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา คือ น้องผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบันอายุ 19 ปี แล้ว คบกับแฟนที่มีอารมณ์รุนแรง ทำให้น้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด ตกอยู่ในสภาพปางตายหลายครั้งแต่เลิกกับแฟนไม่ได้ นิวเข้าไปช่วยน้อง ไปเอาน้องออกมาจากตรงนั้น แต่น้องก็กลับไปคบกันเหมือนเดิม เราให้คำปรึกษาน้องทุกวัน ๆ จนรอบที่ 4 ตัดสินใจว่าจะไม่ช่วยแล้ว สุดท้ายน้องตัดสินใจเดินออกมาเอง มาขอบคุณเราที่ทำให้รู้ว่าเขาเป็นอะไรบ้าง และสัญญาว่าจะไม่กลับไปอีก นิวได้ยินแบบนั้นก็ใจฟูอย่างบอกไม่ถูก มันทำให้เราคิดได้ว่าที่ทำมาไม่เสียเปล่า แถมเป็นแรงผลักดันให้เราคิดจะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป”

อนาคตการทำงานด้านเอดส์กับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน

“จากสถานการณ์ที่พบในปัจจุบันคิดว่าการทำงานด้านเอดส์กับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนยังเป็นงานที่ยากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตน้อยกว่า วุฒิภาวะและข้อมูลความรู้ประกอบการตัดสินใจที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยังคงเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถทลายลงได้ แต่ลิตเติ้ลเบิร์ดจะยังคงทำงานต่อไป และจะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับโรคเอดส์ ตราบใดที่ยังมีเป้าหมาย ยังมีทุนจากผู้สนับสนุนในระดับประเทศและระดับโลก”

กองทุนโลกกับภารกิจด้านเอชไอวี

“ในฐานะที่ลิตเติ้ลเบิร์ดทำงานด้านเอชไอวีกับเยาวชน อยากให้กองทุนโลก (Global Fund) สนับสนุนเงินทุนให้หลายประเทศทั่วโลกได้ทำงานเพื่อต่อสู้กับเอชไอวีและโรคเอดส์ต่อไป เพราะถ้าไม่มีกองทุนนี้ ก็จะไม่มีคนทำงานด้านนี้ และอาจทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้”

คุณภาพยาดีขึ้น แต่ทำไมคนไม่กิน ?

แม้ว่าปัจจุบันจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของเป้าหมายการยุติเอดส์ในปี 2030 แล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 ปี แต่คุณนิวเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ความสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 90% จะไปถึงจุดที่ U=U  (Undetectable = Untransmittable) ซึ่งหมายถึงไม่พบเชื้อเท่ากับไม่แพร่เชื้อ

“ตอนนี้ เรายังเจอปัญหาที่ว่า แม้ปัจจุบันมีการผลิตยาต้านไวรัสที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ทำไมพบว่ามีจำนวนคนที่หยุดกินยาหรือไม่กินยังคงมีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีค่านิยมในการหยุดกินยา รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยและไม่ปลอดภัย จะมีการให้ความรู้อย่างไร การดูแลเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้ออย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องนำไปศึกษาร่วมกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป”

แม้ว่าลิตเติ้ลเบิร์ดจะเป็นองค์กรเล็ก ๆ แต่ก็มีพลังอย่างมากต่อการขับเคลื่อนงานภายในชุมชนและสังคม พวกเขายังคงทำงานหนักเพื่อต่อสู้กับเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หมดไปจากเยาวชนและคนไทยทุกคน แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หากขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง AHF Thailand หวังว่าประชาคมโลกจะช่วยกันสนับสนุนกองทุนโลกในการระดมทุนรอบที่เจ็ดนี้ เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการยุติเอดส์ได้พร้อมกันภายในปี 2030

                             “อยากให้กองทุนโลก (Global Fund) สนับสนุนเงินทุนให้หลายประเทศทั่วโลก

                ได้ทำงานเพื่อต่อสู้กับเอชไอวีและโรคเอดส์ต่อไป เพราะถ้าไม่มีกองทุนนี้ก็จะไม่มีคนทำงานด้านนี้

                                  และอาจทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้”

                                                              พิมพ์ผกา พยัคใหม่ 

                                           ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds

                                                   และผู้ประสานงานโครงการ Girls Act