AHF TaLks : ค่าของ “ฅน” อยู่ที่อะไร ?

AHF TaLks : ค่าของ “ฅน” อยู่ที่อะไร ?

ยินดีด้วยค่ะ คุณผ่านการสอบสัมภาษณ์งาน

พรุ่งนี้ให้คุณไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลที่เราแจ้ง แล้วนำเอกสารมาส่งในวันเริ่มงานนะคะ

เชื่อว่าประโยคข้างต้นนี้คงทำให้ผู้สมัครงานที่เปี่ยมไปด้วยความหวังหลายคนใจฟูสุด ๆ เพราะนั่นหมายถึงการเดินตามความฝันของเขากำลังจะเริ่มต้นขึ้น ความรู้ความสามารถของเขาที่สั่งสมมาทั้งชีวิตกำลังจะได้นำมาใช้พิสูจน์ตัวเอง แต่ในชีวิตจริงความหวังของบางคนกลับดับลงเพียงเพราะเงื่อนไขการขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะระบุการรับรอง 5 โรค ได้แก่ วัณโรคระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีการแสดงอาการอย่างชัดเจน แต่บางแห่งกลับละเมิดสิทธิของผู้สมัครงานด้วยการตรวจสถานะเอชไอวีโดยไม่สมัครใจ

มันยุติธรรมแล้วหรือที่ศักยภาพของคนหนึ่งคนและโอกาสที่เขาจะได้สร้างอนาคตเพื่อดูแลครอบครัวจะต้องถูกปิดกั้นเพียงเพราะกระดาษแผ่นเดียว ?

 

บทความนี้ AHF Thailand อยากเชิญผู้อ่านทุกคนร่วมคิดอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ในประเด็นการขอผลตรวจเลือด (HIV) ก่อนเข้าทำงาน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร และมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานของคน ๆ หนึ่ง 

เราได้รับเกียรติจาก คุณสุวัฒน์ วงศ์โชติวัฒนา ผู้อำนวยการภาคพื้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลประจำประเทศไทย กัมพูชา และมัลดีฟส์ ของเครือไฮแอทที่นอกจากจะยึดมั่นเคารพสิทธิและความเท่าเทียมของพนักงานทุกคนแล้ว ยังเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่มีนโยบายไม่ขอดูผลเลือดของพนักงานมากว่า 30 ปี อะไร…ที่ทำให้โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ กล้าที่จะคิดต่างจากองค์กรอื่นในยุคที่เอชไอวีและเอดส์กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ?

ไฮแอทมีธุรกิจโรงแรมทั่วโลก  สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มก่อตั้งเมื่อ 31 ปี ที่แล้ว ปัจจุบันมีโรงแรมชั้นนำหลายแห่ง เช่น โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี กรุงเทพฯ หัวหิน สมุย และภูเก็ต เป็นต้น มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติทำงานที่นี่ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ อายุ สถานศึกษา วุฒิการศึกษา ทุกคนเป็นพนักงานเท่าเทียมกับหมด ไม่มีคำว่า ผมเป็นผู้บริหาร หรือคุณเป็นลูกจ้าง เพราะวัฒนธรรมองค์กรของไฮแอทให้ความสำคัญในเรื่องการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ เราเป็นองค์กรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือ Cross Culture ไม่ว่าพนักงานจะศาสนาอะไรก็ตาม แต่เราขอให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถสื่อถึงอัตลักษณ์ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร มีการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและการเติบโตในสายงาน โดยไม่ได้พิจารณาที่วุฒิการศึกษาเป็นหลัก แต่เราดูที่ความสามารถของพนักงานว่ามีศักยภาพพอมั้ย ยกตัวอย่างน้อง ๆ ชาวเขาที่เรารับมาจากภาคเหนือ ปัจจุบันเป็นถึงซูส์เชฟ (Sous Chef) ซึ่งเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าแผนกครัวเลยทีเดียว” คุณสุวัฒน์ เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของพนักงานคนนั้น และอีกหลาย ๆ คน

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ 30 ปี กับนโยบายไม่ตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน

ในยุคนั้นการดำเนินธุรกิจไม่เพียงแต่สายงานโรงแรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีและเอดส์ ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ขณะนั้นโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เริ่มก่อตั้งในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2535 เรื่องเอดส์เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย มีคำพูดฮิตติดหูว่า “เอดส์เป็นแล้วตาย” เป็นโรคที่คนไทยกลัวที่สุดในสมัยนั้น

“ตอนนั้น แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (Thailand Business Coalition on AIDS: TBCA) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ตอกย้ำความชัดเจนให้กับนโยบายด้าน HR ของเรา ที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยเราเชื่อว่าศักยภาพและความสามารถของพนักงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลเลือด และมันก็เป็นจริงเช่นนั้นเสมอมา เราไม่เคยขอดูผลเลือด (HIV) ของพนักงานมา 31 ปีแล้ว และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้คนดีมีความสามารถเข้าทำงาน”

“หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายนี้ เริ่มต้นจากการที่ผมตระหนักว่าการแก้ปัญหาต้องเน้นไปที่การป้องกันไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ จึงได้เสนอให้ผู้บริหารได้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมให้พนักงานทุกคนได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี ซึ่งผู้บริหารได้ตอบรับข้อเสนอนี้ ผมจึงได้เชิญ ดร. สุปัญญา ล่ำซำ ผู้อำนวยการสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) ในขณะนั้น มาบรรยายให้ความรู้ด้านเอชไอวีกับผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งหลังจากจบการบรรยาย ทุกคนมีความเข้าใจเรื่องเอชไอวีมากขึ้น และรู้ว่าโรคนี้ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ สามารถใช้ชีวิตได้ ทำงานร่วมกันได้”

 

“พนักงาน” คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอันดับหนึ่ง

ในยุคเริ่มต้นของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ในประเทศไทย ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง “เรามองว่าพนักงานของเราคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอันดับแรกขององค์กร เพราะถ้าไม่มีพนักงาน เราก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น เราจึงดูแลพนักงานของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้เขาได้ส่งต่อการดูแลลูกค้าของเราได้ดีที่สุดเช่นกัน” คุณสุวัฒน์ เล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น 

คุณสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เครือไฮแอทของเรามีวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า Our company purpose” คือ We care for people so they can be their best ซึ่งมีความหมายว่า เราใส่ใจในตัวผู้คนเพื่อช่วยให้พวกเขาพร้อมที่สุด ที่จะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต เมื่อพนักงานมีความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งออกมาจากภายในสู่ภายนอก เกิดเป็นบุคลิกภาพที่สะท้อนคุณค่าขององค์กรสู่พนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้อย่างชัดเจน

การยอมรับความแตกต่าง คือ จุดเริ่มต้นความเท่าเทียม

เครือไฮแอทมีค่านิยม (Core Values) ที่ทำให้บรรลุจุดประสงค์ขององค์กร 6 ข้อ คือ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy), ความซื่อสัตย์ (Integrity), การให้เกียรติ (Respect), การเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ (Experimentation), การดูแลสุขภาพใจกาย (Wellbeing) และ การยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น (Inclusion)  ซึ่งข้อสุดท้ายนี้ เป็นการสร้างจิตสำนึกของพนักงานทุกคนให้เข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง กระตุ้นให้เกิดความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การช่วยเหลือกันและกัน สร้างความก้าวหน้าให้กับองค์กร  

“เรามีกิจกรรม Hyatt Talks ทุกเดือน เป็นโอกาสที่พนักงานจะได้พูดคุยกับผู้บริหาร เพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งสะท้อนว่าไฮแอทพร้อมรับฟังและ ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมจริง ๆ” คุณสุวัฒน์ กล่าว

คุณสุวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ค่านิยมการยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น (Inclusion) นั้น เป็นพื้นฐานการไม่เลือกปฏิบัติ โดยถือว่าทุกคนเป็นพนักงานของไฮแอทเหมือนกัน แตกต่างกันตรงหน้าที่และความรับผิดชอบเท่านั้น เราไม่ได้สนใจหรือเพ่งเล็งว่าใครจะมีเชื้อเอชไอวี ดังนั้นทุกคนจะได้รับการปฏิบัติเทียบเท่ากับผู้อื่นในฐานะที่เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ ขณะเดียวกันก็มีบทลงโทษพนักงานที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อผู้อื่น (Harassment) อย่างเด็ดขาด หากพิจารณาแล้วว่ามีความผิดจริง จะถูกเชิญให้ออกจากงานโดยไม่มีข้อยกเว้น

เพียงเปิดใจ ให้โอกาสซึ่งกันและกัน

ในฐานะที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เป็นผู้นำนโยบายไม่ตรวจเลือดก่อนเข้าทำงานเข้าสู่ปีที่ 31 ทางไฮแอทมองว่าองค์กรได้กำหนดนโยบายมาถูกทางตอบโจทย์วิสัยทัศน์ขององค์กร สร้างโอกาสให้คนได้มีงานทำโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้องค์กรเป็นตัวอย่างในการบริหารทรัพยากรบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากสถิติที่ผ่านมาโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่มีอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate) ต่ำที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย

“ผมคิดว่านโยบายด้านทรัพยากรบุคคลของเราชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียม หรือการประกาศว่าเราเป็นองค์กรที่ไม่ขอดูผลเลือดก่อนเข้าทำงาน เราสนับสนุนให้ทุกคนรู้จักการป้องกันตนเองเมื่อมีความเสี่ยง และหากเราทราบว่าใครเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อก็ต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน ให้กำลังใจและให้โอกาสซึ่งกันและกัน ซึ่งจะยิ่งสร้างพลังบวกให้กับองค์กร”

 

เปลี่ยน Mindset ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

คุณสุวัฒน์มองว่า แม้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเอชไอวีของคนในสังคมจะมีมากขึ้นกว่าในอดีต แต่มีข้อมูลที่จำเป็นอีกมากมายที่ยังคงไปไม่ถึงประชาชนทุกกลุ่ม หากแก้ปัญหาจุดนี้ได้ เชื่อว่าคนในสังคมจะมีการเปลี่ยนมุมมองความคิดอย่างมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น นำไปสู่การเลิกตีตราและเลือกปฏิบัติต่อการรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานในที่สุด

“สิ่งที่ผมทำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ การเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ และครั้งใดที่ผู้ฟังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เช่น ในสถานศึกษาหรือสถานประกอบการ ผมจะพูดถึงนโยบายไม่ตรวจเลือด (HIV) ก่อนเข้าทำงานสอดแทรกเข้าไปด้วย เพื่อเป็นกำลังใจหากมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อรับฟังอยู่ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาว่ายังมีอีกหลายองค์กรที่พร้อมจะรับเข้าทำงานโดยพิจารณาจากความรู้และความสามารถ มากกว่าการดูผลเลือด”

“ในฐานะขององค์กรและนายจ้าง ผมอยากจะส่งเสียงไปยังผู้ที่กำหนดนโยบายและองค์กรร่วมวิชาชีพ ตลอดจนองค์กรทั่วไปในสังคมให้เปิดใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นชนกลุ่มน้อย ชาวต่างชาติหรือต่างศาสนา รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี อยากให้ทุกคนเข้าใจและให้โอกาสเขา อยากให้มองที่ความสามารถในการทำงานมากกว่า และอยากให้สังคมมองอย่างเปิดกว้างมากขึ้น” คุณสุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย