“คนที่ติดเชื้อเอชไอวีก็มีพ่อ แม่ พี่ น้อง มีครอบครัวที่ต้องดูแล
ดังนั้น ชีวิตของคนที่ติดเชื้อ กับ คนที่ไม่ติดเชื้อจึงเหมือนกัน
ถ้าหากคุณเลือกปฏิบัติกับเขา ก็จะมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย”
ในเดือนมีนาคมนี้ ยังคงอยู่ในห้วงของการรณรงค์ “วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล” ซึ่งทั้งในประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศทั่วโลก ต่างมีการจัดกิจกรรมรณรงค์และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งปีนี้บ้านเราชูประเด็น “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงานหยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมกันแสดงออก
ถือเป็นสัญญาณอันดีที่ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน แต่หากได้ฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนทำงานด้านเอชไอวีแล้ว พบว่ายังมีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการขอผลตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานในบางองค์กรและบางหน่วยงานอยู่
นั่นเท่ากับว่า “การเลือกปฏิบัติ” ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย โดยไม่ได้มองคนเป็นคนเท่ากัน ไม่ได้มองคนที่ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ทำงานจริง ๆ
บทความครั้งก่อน AHF Thailand ได้นำเสนอมุมมองของนายจ้างที่ปฏิบัติต่อลูกจ้างและผู้สมัครงานอย่างโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ หนึ่งในองค์กรชั้นนำของไทยที่มีนโยบายเคารพสิทธิและความเท่าเทียมของพนักงานอย่างชัดเจนมากว่า 30 ปี โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้อยู่ร่วมเอชไอวีหรือไม่ ครั้งนี้ เราอยากชวนท่านผู้อ่านมารับฟังมุมมองในฝั่งของลูกจ้างกันบ้างครับ พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ว่าจะมีมุมมองที่เหมือนหรือแตกต่างกับนายจ้างอย่างไร อะไรที่ทำให้การเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่
คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้รู้ว่าตนเองมีสุขภาพพร้อมทำงาน แต่หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ขณะที่ผลตรวจสุขภาพควรเป็นความลับเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
นโยบายที่ล้าหลัง
“ผมคิดว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องนี้ สำหรับประเด็นการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดออก เพราะมีแนวคิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระหรืออุปสรรคในการทำงาน ส่วนประเด็นในเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ค่อนข้างคลุมเครือและเปิดช่องว่างให้องค์กรละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยภาพรวมคิดว่าบ้านเรามีปัญหานี้มานานพอสมควร ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน นำมาซึ่งนโยบายการบังคับกีดกันให้มีการตรวจสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ซึ่งกีดกันโอกาสการทำงานของพวกเขา และเป็นนโยบายที่ล้าหลังไปแล้วในปัจจุบัน” คุณอภิวัฒน์ ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและน่าคิด
แม้ภาครัฐจะลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเพื่อสร้างการยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยบริษัทหรือนายจ้างไม่มีสิทธิปฏิเสธการรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งมองว่านี่เป็นเพียงแค่นโยบายที่ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ต้องยอมรับความจริงว่ายังคงมีองค์กรที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และเลือกที่จะไม่รับพวกเขาเข้าทำงานด้วยเหตุผลอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสในระดับดีจนไม่พบเชื้อแล้ว สามารถทำงานได้ปกติเหมือนคนอื่น ๆ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า นายจ้าง องค์กร หรือบริษัทมีความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์แค่ไหน
ละเมิดจนเป็นเรื่องปกติ
“เขายังไม่ได้ลงแข่งเลย แต่ถูกคัดออกเพียงเพราะว่ามีเชื้อเอชไอวี”
“นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังส่งผลกระทบไปยังผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีด้วย นี่คือสิ่งที่ผิดปกติ แต่เราก็อยู่กับความผิดปกติ ความไม่เท่าเทียมและการละเมิดแบบนี้จนเคยชิน โดยมีฐานคิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพราะว่าเขาเป็นนายจ้าง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างทำอะไรกับลูกจ้างก็ได้ คำถาม คือ คุณจะเลือกคนที่ความสามารถ หรือที่ผลเลือด ? และคิดว่านโยบายลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีกับธุรกิจหรือองค์กรที่จะไปตอบโจทย์เรื่องสิทธมนุษยชน” คุณอภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
“คนที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็มีพ่อ แม่ พี่ น้อง มีครอบครัวที่ต้องดูแล
ดังนั้น ชีวิตของคนที่ติดเชื้อ กับ คนที่ไม่ติดเชื้อจึงเหมือนกัน
ถ้าหากคุณเลือกปฏิบัติกับเขา ก็จะมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย”
อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+)
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังคงมีองค์กรที่มีนโยบายตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานอยู่จริง คุณนิว-พิมพ์ผกา พยัคใหม่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds & Girls Act Thailand ได้เล่าให้เราฟังถึงเรื่องที่เธอทราบจากเยาวชนที่เธอดูแลอยู่
“สำหรับนายจ้าง หากปฏิเสธที่จะรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน ก็ไม่มีผลอะไร แต่สำหรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ถ้าเขาไม่ได้งานก็จะส่งผลกระทบต่ออีกหลายชีวิตในครอบครัวของเขา ซึ่งน้องส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาจากมูลนิธิ ไม่มีพ่อแม่คอยสนับสนุน นั่นอาจทำให้พวกเขาไม่กล้าไปสมัครงานที่ไหนอีกเลย เหมือนเป็นการบังคับและปิดโอกาสไม่ให้เขาเลือกอาชีพที่สุจริต”
“จากการทำงานกับน้อง ๆ เยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้รู้ว่ามีหลาย ๆ องค์กรกีดกันน้องเพราะผลตรวจสุขภาพซึ่งมีผลตรวจเอชไอวีรวมอยู่ด้วย น้องถูกละเมิดในการดูผลตรวจสุขภาพ ทำให้ถูกปฏิเสธในการรับเข้าทำงานโดยไม่แจ้งสาเหตุใด ๆ จึงได้แนะนำน้องให้ไปสมัครงานในองค์กรที่เรามีข้อมูลว่าเขาไม่ขอดูผลเลือด และน้อง ๆ ก็ได้เข้าทำงานที่นั่น ที่ที่ไม่ใช่งานในฝันของพวกเขา” คุณนิว เล่าด้วยน้ำเสียงที่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของน้องๆ ที่ถูกกระทำและเลือกปฏิบัติ
“ผมมองว่าในปัจจุบันไม่ควรมีการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานแล้ว มันทำให้หลายคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่สามารถทำงานที่พวกเขาอยากทำได้ ส่วนองค์กรที่ยังมีนโยบายนี้อยู่ก็จะไม่ได้บุคลากรที่มีความสามารถเข้าไปทำงาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม อาจดูเหมือนเป็นบริษัทที่ล้าหลัง ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี ทำให้เสียภาพลักษณ์เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น” อีกหนึ่งเสียงจาก คุณ ป. แกนนำมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds
ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อต้องหยุดตีตราตนเองก่อน
“ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ฉันเป็นผู้ติดเชื้อที่กินยาจนสามารถยับยั้งไวรัสให้อยู่ในปริมาณที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว นั่นคือ การไม่พบเชื้อ เท่ากับ การไม่ส่งต่อเชื้อ (U=U) ฉันก็ใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดคุยกับเพื่อนผู้ติดเชื้อด้วยกัน โดยผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดก็คือโรงพยาบาล ที่จำเป็นต้องให้ข้อมูลและจัดบริการที่เป็นมิตรให้กับผู้รับบริการ ทำให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในระบบการรักษาด้วยความสบายใจ ในขณะที่สภาพแวดล้อมนอกโรงพยาบาล เช่น การรับสมัครงานก็ไม่จำเป็นต้องขอผลตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน โดยถือว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิเรื่องเนื้อตัวและร่างกาย ซึ่งบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับสมัครงานทำได้ง่าย คือ เอานโยบายตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานออก และดูคนที่ความสามารถแทนการดูผลเลือด สุดท้ายคือทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต้องออกมาพูดโดยพร้อมเพรียงกันว่า “เราไม่มีนโยบายการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนเรื่องเอชไอวี” ผมคิดว่านี่คือการปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จะช่วยส่งเสริมการลดการตีตราภายในตนเองและจากสังคมได้” คุณอภิวัฒน์ ฝากถึงผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ความหวังประเทศไทย ยุติการเลือกปฏิบัติ
“อยากฝากไปถึงผู้กำหนดนโยบายให้มีการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจัง อยากให้ออกกฎหมายในเรื่องของการไม่ตรวจเลือดเข้าทำงานให้ชัดเจน ไม่ใช่เป็นแบบขอความร่วมมือ หากองค์กรใดยังเลือกปฏิบัติอยู่ ให้มีมาตรการที่เด็ดขาดในการลงโทษ” พิมพ์ผกา ฝากทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง
“ถึงแม้ในตัวบทกฎหมายจะระบุว่าไม่มีสิทธิปฏิเสธในการรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเข้าทำงาน แต่ไม่ได้มีบทบังคับหรือบทลงโทษที่ชัดเจน จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้บางองค์กรยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ จึงอยากฝากไปถึงองค์กรต่าง ๆ ให้เปิดใจศึกษาข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีให้มากยิ่งขึ้น และฝากถึงภาครัฐให้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง” คุณ ป. เสนอไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“คนที่กำหนดนโยบายต้องออกมาพูดและส่งเสียงให้ดัง ๆ ร่วมกับภาคประชาสังคมว่าข้อเท็จจริงเรื่องเอชไอวีเป็นอย่างไร ต้องออกมาร่วมสร้างบรรยากาศที่ดี อย่าปล่อยให้อยู่ในภวังค์ความกลัวและความไม่เข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ในเรื่องเอชไอวี ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำให้คนกลัว แล้วไปส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี” คุณอภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
และเรื่องราวทั้งหมดนี้ คือโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยยังคงต้องทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป แต่อะไรคือปัจจัยหลักที่นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ และลูกจ้าง ให้เป็นสังคมแห่งการ “เลิก” เลือกปฏิบัติ ได้อย่างแท้จริง คงต้องช่วยกันติดตามและผลักดันการขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย