สวัสดิการแรงงานฯ สมุทรปราการ ร่วมกับ AHF และ TBCA ส่งเสริมนโยบายการจัดการด้านเอชไอวีและวัณโรคในสถานประกอบการ สร้างค่านิยม 3 ไม่ “ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ละเมิดสิทธิต่อบุคคล”

สวัสดิการแรงงานฯ สมุทรปราการ ร่วมกับ AHF และ TBCA  ส่งเสริมนโยบายการจัดการด้านเอชไอวีและวัณโรคในสถานประกอบการ  สร้างค่านิยม 3 ไม่ “ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ละเมิดสิทธิต่อบุคคล”

 

สมุทรปราการ 25 กันยายน 2567–สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) และ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร เจ้าของกิจการและแกนนำ ในหัวข้อ “การป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการ” เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรคอย่างถูกต้อง สร้างความตระหนักในการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สร้างค่านิยมองค์กรด้านการไม่ตีตรา การไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีการละเมิดสิทธิต่อบุคคล นำไปสู่การมีมาตรฐานสากล ASO-T THAILAND และกำหนดเป็นนโยบายขององค์กร เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) โดยได้รับเกียรติจาก นายพัฒนชาต ชุมทอง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ นายพรชัย จิรวินิจนันท์ ผู้อำนวยการ/กรรมการผู้จัดการ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ และนายกฤษสยาม อารยะวงค์ไชย ผู้อำนวยการ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (ประเทศไทย) ณ ห้อง Ballroom 2 โรงแรมเดอะคัลเลอร์ ลิฟวิ่ง จังหวัดสมุทรปราการ

นายพัฒนชาต ชุมทอง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เป็นองค์กรหลักมืออาชีพในการคุ้มครองแรงงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างเป็นมาตรฐานและสร้างสันติสุขในวงการแรงงานด้วยความเป็นธรรม การประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการ” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของเอชไอวีและโรคติดต่ออื่น ๆ อย่างถูกต้อง ผมขอชื่นชมกับการเอาใจใส่ของหน่วยงานและสถานประกอบกิจการในจังหวัดสมุทรปราการที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และขอชื่นชมผู้แทนที่เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและเพื่อนร่วมงานต่อไป

นายพรชัย จิรวินิจนันท์ ผู้อำนวยการ/กรรมการผู้จัดการ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักในการที่จะร่วมกันลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ โรคอุบัติใหม่ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงและรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่มีการละเมิดสิทธิต่อบุคคล และเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีแนวทางป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคอย่างถูกต้อง ตามนโยบายของกระทรวงแรงงานและขอขอบคุณ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (ประเทศไทย) ผู้สนับสนุนสำคัญหลักที่ทำให้เกิดกิจกรรมดี ๆ ในครั้งนี้

นายกฤษสยาม อารยะวงค์ไชย ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า AHF เป็นองค์กรหนึ่งที่ขับเคลื่อนงานเพื่อมุ่งสู่การยุติเอชไอวีเอดส์มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันดำเนินโครงการอยู่ใน 45 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเราได้ทำงานร่วมกับภาคีมากกว่า 30 องค์กรทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมในวันนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เอเอชเอฟให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้นำและผู้แทนองค์กรที่เข้าร่วมอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค ซึ่งปัจจุบันเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ หากรู้วิธีการป้องกัน ประกอบกับวิวัฒนาการด้านการรักษาก็ก้าวหน้าไปมากจนทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิต ทำงาน และมีครอบครัวแบบคนทั่วไปได้ ดังนั้น เราต้องช่วยกันส่งต่อความรู้ความเข้าใจนี้ไปยังคนรอบตัว ซึ่งสถานประกอบการเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเข้าใจดังกล่าว เมื่อพนักงานทุกคนมีความตระหนักรู้ก็จะช่วยลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิต่อบุคคลให้หมดไป รวมทั้งสามารถสื่อสารต่อไปยังคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ ต่อไป

มาตรฐาน ASO-T THAILAND คือ มาตรฐานการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์/วัณโรคในสถานประกอบกิจการ มอบให้กับสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) และองค์กรภาคี โดยมีผู้บริหารและแกนนำในองค์กรภาคธุรกิจในจังหวัดสมุทรปราการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ถึง 14 บริษัท ซึ่งจะเกิดการขับเคลื่อนงานในประเด็นนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วยการกำหนดเป็นนโยบายไม่เลือกปฏิบัติภายในองค์กร และมีการสื่อสารไปยังพนักงานทุกคนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมและเคารพสิทธิซึ่งกันและกันภายในสถานประกอบกิจการอย่างยั่งยืน

………..

ภาพ/ข่าว : โกมล ทรัพย์กุญชร

25 กันยายน 2567